สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567)
จัดทำโดย งานวิเคราะห์ตลาดในประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)
ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2567
ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567
- สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดในประเทศภาพรวมเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 46.16 ล้านคน-ครั้งเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 2 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 206,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
- ปัจจัยสนับสนุนที่ส่งผลต่อการเดินทางท่องเที่ยว ได้แก่ วันหยุดยาวต่อเนื่องหลายช่วง กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวช่วง Green Season มาตรการภาษีจากรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด
- ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคและส่งผลกระทบต่อการเดินทางอย่างมาก ได้แก่ การเกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แพร่ น่าน ลำปาง สุโขทัย และพะเยา ช่วงปลายเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2567 รวมทั้ง Sentiment ความต้องการออกเที่ยวต่างประเทศของคนไทย และการส่งเสริมตลาดของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนไทย โดยเฉพาะการจัดโปรโมชันราคาบัตรโดยสารที่คุ้มค่า ทำให้คนไทยเลือกตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ โดยระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม- 30 กันยายน 2567 มีจำนวนคนไทยเดินทางออกนอกประเทศอยู่ที่ 2.7 ล้านคน (ที่มา: ข้อมูลสถิติคนไทยเดินทางออกนอกประเทศรายเดือน จากสนง.ตรวจคนเข้าเมือง) เฉลี่ยต่อวัน 29,534 คน
สถานการณ์ท่องเที่ยวรายภูมิภาคเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567
คาดว่า เกือบทุกภูมิภาคมีการเติบโตเพิ่มขึ้น ยกเว้นภาคเหนือที่อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยมีรายละเอียดดังนี้
กรุงเทพมหานคร
มีการฟื้นตัวดีขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 7.62 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 รายได้ 40,334 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4
ปัจจัยสนับสนุน
- กระแส “ตามรอยลิซ่า…เยาวราช” ภายหลังที่มีการปล่อย MV ROCKSTAR ซึ่งใช้ถนนเยาวราชเป็นที่ถ่ายทำหลัก ทำให้เหล่าแฟนคลับตามรอยและเช็คอินจนเกิดเป็นกระแสไวรัลบนโลกออนไลน์ เช่นเดียวกับกระแส “น้องหมีเนย” Mascot แห่งร้าน Butterbear ที่ดึงดูดให้แฟน ๆ มาชมแน่นทุกช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
- กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร อาทิ งาน Amazing Green Fest 2024 ณ ศูนย์การค้าพารากอน (15-18 ส.ค. 67), เส้นทางท่องเที่ยวสายศรัทธา “เป็นบุญตา ครั้งหนึ่งในชีวิต” ด้วยการนำวัตถุโบราณล้ำค่ามาจัดแสดงใน 3 พระอารามหลวง ได้แก่ พระกริ่งปวเรศ (วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร), พระสุนทรีวาณี (วัดสุทัศน์เทพวราราม) และพระแสงราวเทียน (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์) กรุงเทพมหานคร (20-29 ก.ค. 67), สิงหา พาแม่เที่ยว ผ่านการจัดกิจกรรมงาน “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP หลอมดวงใจ ด้วยพระบารมี” ปี 2567 ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี นนทบุรี
ภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก)
คาดว่า จะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 14.79 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 41,964 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566
ปัจจัยสนับสนุน
- กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร อาทิ VIJIT 5 ภาค @ประจวบคีรีขันธ์, AMAZING MUAY THAI EXPERIENCE เจาะลึกแหล่งกำเนิด “มวยลพบุรี” 1 ใน 4 อัตลักษณ์มวยไทยโบราณ มรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทย, กิจกรรมสิงหา พาแม่เที่ยว
- การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวตามความสนใจ อาทิ กิจกรรมวิ่งมหากาพย์รามเกียรติ์ 3 ซีรีส์ 3 จังหวัด (สมุทรสงคราม ราชบุรี ลพบุรี), กิจกรรมท่องเที่ยวด้วยรถไฟไทยสไตล์ญี่ปุ่น KIHA 183 ภายใต้แคมเปญ “สุขทันทีที่เที่ยวกับรถไฟไทย เดินทางครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม” ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวใกล้ ๆ ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ทั้งแบบไปเช้ากลับเย็น และพักค้างคืน อาทิ เส้นทางกรุงเทพฯ สู่ ลพบุรี เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี รวมทั้งการจัดขบวนรถไฟพิเศษ ROYAL BLOSSOM เส้นทางกรุงเทพ – หัวหิน และกรุงเทพ – กาญจนบุรี
- มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด โดยนักท่องเที่ยวสามารถนำค่าบริการที่จ่ายให้กับผู้ประกอบการนำเที่ยว และค่าที่พักในโรงแรม โฮมสเตย์ และสถานที่พักที่ไม่ใช่โรงแรม มาหักลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และบริษัทและห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จัดอบรมสัมมนาในเมืองน่าเที่ยวสามารถนำค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง และรายจ่ายอื่นๆ มาหักลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า ส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก) มีการเติบโตเพิ่มขิ้น
ภาคตะวันออก
ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 6.06 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีรายได้ 38,542 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
ปัจจัยสนับสนุน
-
- กิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร อาทิ กิจกรรมสิงหา พาแม่เที่ยว, กิจกรรม VIJITR 5 ภาค @ชลบุรี, มหกรรมเสน่ห์ไทย “Chonburi International Music Festival in the Rain@Pattaya” กิจกรรมเล่าเรื่องราว Point Of View 9X9 มุมลับ เที่ยวหน้าฝนภาคตะวันออก
- การจัดกิจกรรมท่องเที่ยวตามความสนใจ อาทิ กิจกรรมท่องเที่ยวด้วยขบวนรถไฟ KIHA 183 เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา เพื่อเปิดประสบการณ์ให้นักเดินทางได้สัมผัสการท่องเที่ยวทางรถไฟ
- มาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด
- กระแส“หมูเด้ง” ฮิบโปแคระแห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี ได้สร้างปรากฎการณ์ไวรัลในอินเตอร์เน็ต ถือเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญด้านการตลาดที่เริ่มต้นจากการให้ข้อมูล ครบจบจนสามารถทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาได้และซื้อสินค้า สร้างรายได้ต่อเนื่องจากลิขสิทธิ์สินค้าต่างๆ
ภาคใต้
มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 6.25 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และมีรายได้ 34,713 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566
ปัจจัยสนับสนุน
- กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร อาทิ งานวิจิตร 5 ภาค@ภูเก็ต “Pearl of Andaman The Undiscovered Treasure”, มหกรรมเสน่ห์ไทย Charming KHANOM จ.นครศรีธรรมราช, กิจกรรมสิงหา พาแม่เที่ยว, การจัดโปรโมชัน “เที่ยวฉ่ากับแอร์เอเชีย”ในราคารวมเริ่มต้นที่ 900 บาทต่อเที่ยว โดยมีเส้นทางบินจากกรุงเทพฯ ไปยัง 15 จังหวัดเมืองน่าเที่ยว ได้แก่ เชียงราย พิษณุโลก น่าน เลย อุดรธานี อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด สกลนคร บุรีรัมย์ นครพนม นครศรีธรรมราช ตรัง ชุมพร ระนอง และนราธิวาส
- นโยบายรัฐบาลผ่านมาตรการภาษีเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว 55 จังหวัด
ภาคเหนือ
สถานการณ์ในช่วง 3 เดือน (เดือนกรกฎาคม-กันยายน) หดตัวทั้งด้านจำนวนและรายได้ โดยผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 4.58 ล้านคน-ครั้ง ลดลงร้อยละ 7 และมีรายได้ 30,143 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566
ปัจจัยอุปสรรค
- เกิดอุทกภัยในเดือนสิงหาคม-กันยายน 2567 ในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา สุโขทัย แพร่ น่าน ลำปาง โดยอุทกภัยปีนี้มีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณมวลน้ำที่เพิ่มขึ้นและเกิดดินโคลนที่มากับมวลน้ำมหาศาลโถมทับเกิดความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือน และสถานการณ์ประกอบการต่างๆ ในพื้นที่ โดยจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ซึ่งหลังน้ำลดจะต้องมีการฟื้นฟูและเยียวยาจังหวัดเชียงรายอย่างน้อย 1 เดือน ส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวทั้ง 2 จังหวัดตกอยู่ในภาวะติดลบ
- ผลกระทบด้านจิตวิทยา ส่งผลให้คนไทยไม่มั่นใจในความปลอดภัย และเลื่อนการเดินทางหรือยกเลิกออกไปก่อน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 6.86 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2 และมีรายได้ 20,304 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566
ปัจจัยสนับสนุน
- กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. ร่วมกับพันธมิตร อาทิ
- ส่งเสริมวัฒนธรรมไทย-อีสาน ภายใต้แนวคิด “อีสานไปไสกะแซ่บ” ชูความโดดเด่น “อาหาร”, มหกรรมเสน๋ห์ไทย “เสน่ห์อีสานม่วนชื่น ณ ขอนแก่น” ที่นำหมอลำซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่โดดเด่นมาช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว, การจัดกิจกรรมแสง สี เสียง VIJIT 5 ภาค@อุบลราชธานี, เทศกาลมาฆปูรณมีบูชา ทะเลธุงอีสาน จ.กาฬสินธุ์
- ร่วมกับพันธมิตรจากสายการบินแอร์เอเชีย จัดโปรโมชันเที่ยวฉ่ำ ในราคารวมเริ่มต้นเที่ยวละ 900 บาท บินตรงจากกรุงเทพฯ สู่เมืองน่าเที่ยว ได้แก่ เลยอุดรธานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ สกลนคร นครพนม
กระแสความศรัทธาหลวงปู่ศิลา จังหวัดกาฬสินธุ์ ถือเป็นปรากฎการณ์ที่ประชาชนคนไทยจำนวนมากเดินทางหลั่งไหลเข้ามากราบสักการะและบูชาของขลังของหลวงปู่ ทำให้การท่องเที่ยวกาฬสินธุ์มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด และเชื่อมโยงไปยังจังหวัดใกล้เคียง ทำให้เกิดการพักค้างเพิ่มขึ้น