สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567)

จัดทำโดย งานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)

ข้อมูล ณ วันที่ 8 ตุลาคม 2567



ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567



  • สถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยทั้งสิ้น 8,668,720 คน ขยายตัวร้อยละ 22 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 455,143 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 หรือฟื้นตัวกลับมาประมาณร้อยละ 90 ของที่เคยได้รับทั้งด้านจำนวนและรายได้ในปี 2562  
  • TOP 10 ตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามามากที่สุด คือ จีน (1.80 ล้านคน) มาเลเซีย (1.21 ล้านคน) อินเดีย (4.81 แสนคน) เกาหลีใต้ (4.77 แสนคน) ลาว (3.10 แสนคน) เวียดนาม (3.04 แสนคน) ไต้หวัน (2.89 แสนคน) ญี่ปุ่น (2.86 แสนคน) ฮ่องกง (2.84 แสนคน) สิงคโปร์ (2.49 แสนคน) ตามลำดับ คิดเป็นสัดส่วนรวมกันร้อยละ 66 ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดของไทย 
  • ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก คือ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนในเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 ของนักท่องเที่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ การเดินทางของนักท่องเที่ยวยุโรปตะวันออก และยุโรปใต้ที่นิยมเดินทางพักร้อนในช่วงนี้ รวมทั้ง การฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวจีนที่ดีขึ้นจากปัจจัยความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัย ผนวกกับการส่งเสริมตลาดผ่านกิจกรรมของ ททท. และพันธมิตรที่ดำเนินการกระตุ้นการเดินทางและการใช้จ่ายในไทยช่วง Low Season 
  • ปัจจัยที่เป็นอุปสรรค  เหตุอุทกภัยพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยในช่วงกลางเดือนสิงหาคม – กันยายน 2567 ไม่เป็นอุปสรรคต่อสถานการณ์การเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์บรรยากาศท่องเที่ยวในพื้นที่ประสบเหตุเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ไม่มีการยกเลิกเที่ยวบินเข้าจังหวัดเชียงใหม่ และไม่มีการประกาศคำเตือนการเดินทาง (Travel Advisory) ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวยกเลิกหรือเลื่อนการเดินทางเข้าไทย 

สรุปสถานการณ์แต่ละภูมิภาคดังนี้:

ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ 

สถานการณ์ท่องเที่ยวฟื้นตัวดีถือเป็นช่วงพีคของการท่องเที่ยวเข้าไทยจากภูมิภาคนี้ โดยคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยในไตรมาสนี้ประมาณ 3.17 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 สร้างรายได้ประมาณ 163,260 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 52 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • ช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน (School Break) สายการบินต่าง ๆ ได้ทำการลดราคาเพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทาง เช่น สายการบิน Air Asia ลดราคาร้อยละ 15 สำหรับการเดินทางในช่วงเดือนกรกฎาคม

  • ข้อตกลงยกเว้นวีซ่าร่วมกันระหว่างจีนและไทย (Visa Free) เป็นแรงส่งให้เกิดการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจีนมากขึ้น โดยมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยในช่วงกรกฎาคม – กันยายน 2567 จำนวน 1.8 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับปี 2566

  • การขยายเวลามาตรการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อการท่องเที่ยว (Visa Exemption) ให้แก่นักท่องเที่ยวไต้หวัน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวไต้หวันเดินทางเข้าไทย ในช่วงกรกฎาคม – กันยายน 2567 เพิ่มขึ้นร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับปี 2566 และ เพิ่มขึ้นร้อยละ 44 เมื่อเทียบกับปี 2562

  • กิจกรรมคอนเสิร์ต-แฟนมีตของศิลปินที่จัดขึ้นในประเทศไทยหรือการเดินทางท่องเที่ยวตามรอยภาพยนตร์ไทย ศิลปินนักแสดง KOL/Influencer สามารถดึงดูดและกระตุ้นกลุ่มนักท่องเที่ยวรุ่นใหม่หรือ Fandom แฟนคลับศิลปินเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

  • จำนวนที่นั่งเครื่องบินในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเข้าไทย มีจำนวน 5.1 ล้านที่นั่ง (คิดเป็นสัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 76 ของจำนวนที่นั่งในช่วงเวลาเดียวกันปี 2562) โดยนักท่องเที่ยวสามารถกระจายการเดินทางเข้าสู่แหล่งท่องเที่ยวหลักอื่น ๆ นอกเหนือจากกรุงเทพมหานครมากขึ้น เนื่องจากการเปิดเส้นทางบินใหม่เข้าสู่เชียงใหม่ ภูเก็ต และเกาะสมุย อาทิ สายการบิน EASTAR JET เส้นทางโซล-เชียงใหม่ เริ่มทำการบินวันที่ 7 กรกฎาคม 2567 จำนวน 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์ สายการบิน Tibet Airline เส้นทางซีอาน-สมุย เริ่มทำการบินวันที่ 14 สิงหาคม 2567 จำนวน 3 เที่ยวบิน/สัปดาห์ รวมทั้งการเปิดเที่ยวบินเข้าไทยจาก 44 เมืองของจีน ทำให้จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินจากตลาดจีน เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

  • การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท.  

    • การดึงดูดการเดินทางท่องเที่ยวไทยผ่านศิลปินนักแสดง KOL/Infulencer/ภาพยนตร์ของไทยที่มีชื่อเสียง โดย ททท. สำนักงานคุนหมิงใช้โอกาสส่งเสริมการตลาดผ่านภาพยนตร์ฯ “หลานม่า” ที่เข้าฉายทั่วประเทศจีน โดยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์ประเทศไทยที่โรงภาพยนตร์ Premiere Cinema (Spring City 66 Kunming) โดยเชิญสื่อมวลชน ผู้ประกอบการนำเที่ยว และผู้ติดตามโซเชียลมีเดียของสำนักงาน ร่วมรับชมการนำเสนอข้อมูลสินค้าและบริการของไทยก่อนเริ่มการฉายภาพยนตร์เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2567

    • มุ่งเน้นกลุ่มนักท่องเที่ยว First Visit ไปยังเมืองรองในตลาดจีนและญี่ปุ่นมายังประเทศไทย อาทิ ความร่วมมือกับพันธมิตรสายการบินจัดทำ Charter flight พื้นที่เมืองรองของจีน เช่น มณฑล Inner Mongolia, Shanxi และการร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์ประเทศไทยในงาน Thai Festival Fukuoka 2024 ในวันที่ 10 – 11 สิงหาคม 2567 เป็นต้น

 

ภูมิภาคอาเซียน

คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนเดินทางเข้าไทยเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 ราว 2.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 6 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 93,436 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 14 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้ 

  • การยกเลิกยื่นแบบ ตม.6 เป็นการชั่วคราว ณ ด่านหนองคาย มุกดาหาร เชียงราย ตั้งแต่ 15 เมษายน –  ตุลาคม 2567 ก่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางทางบก

  • “เชียงใหม่” ครองแชมป์เมืองปลอดภัยอันดับหนึ่งในอาเซียนจากผลการโหวตใน NUMBEO เว็บไซต์ฐานข้อมูลค่าครองชีพที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งได้จัดทำดัชนีความปลอดภัย (Safety Index) ประจำปี 2567 โดยจังหวัดเชียงใหม่ มีคะแนนดัชนีความปลอดภัยสูงอยู่ที่ 78 คะแนน ทำให้ได้รับการจัดอันดับเป็นเมืองที่มีความปลอดภัยเป็นอันดับที่ 1 ของอาเซียน คาดว่า จะสามารถดึงดูดการเดินทางของนักท่องเที่ยวเข้าเชียงใหม่มากขึ้น

  • ภาพลักษณ์ Soft Power ไทย โดยเฉพาะ Music & Film ช่วยกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวไทยของนักท่องเที่ยวกลุ่มแฟนคลับในตลาดอาเซียน โดยเฉพาะเมื่อภาพยนตร์ชื่อดังของไทย “หลานม่า” เปิดตัวเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ประเทศอาเซียน ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน สิงคโปร์ ในเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งเกิดกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวตามรอยไปยังสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์ดังกล่าวในย่านตลาดพลู กรุงเทพฯ

  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินในภูมิภาคอาเซียนเข้าไทย จำนวนรวม 3.2 ล้านที่นั่ง (คิดเป็นสัดส่วนการฟื้นตัว  ร้อยละ 84 ของจำนวนที่นั่งปี 2562) และมีการเปิดเส้นทางใหม่ของสายการบิน Malaysia Airlines เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-เชียงใหม่ ในเดือนสิงหาคม 2567 สายการบิน Malindo Air เส้นทางกัวลาลัมเปอร์-หาดใหญ่และเส้นทางกัวลาลัมเปอร์-กระบี่ ในเดือนกันยายน 2567 เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้ง การลดราคาบัตรโดยสารของสายการบิน Cebu Pacific เนื่องจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประกาศลดราคาลง

  • การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. เพื่อกระตุ้นการเดินทางเข้าไทยของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียน อาทิ การกระตุ้นการเดินทางในช่วง Low Season โดย ททท. จัดทำ Joint promotion ร่วมกับบริษัท ShopBack มอบสิทธิพิเศษ Cash Back ให้กับลูกค้าในพื้นที่ตลาดอินโดนีเซีย และมาเลเซีย ที่ซื้อบัตรโดยสารเครื่องบินและที่พักในประเทศไทยผ่านพันธมิตร OTA ได้แก่ Agoda Booking.com Trip.com Traveloka และ Tiket.com ในช่วงวันที่ 10 กรกฎาคม – 15 กันยายน 2567 และสามารถเดินทางได้ตั้งแต่กรกฎาคม – ธันวาคม 2567 และ กระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวในช่วง Summer สำหรับกลุ่ม High-income และ กลุ่ม Family โดย ททท. ส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัท TST Tourist เสนอขายแหล่งท่องเที่ยวในเมืองหลัก เช่น กรุงเทพฯ พัทยา เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ กาญจนบุรี และนครนายก

 

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 

  • การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับประเทศต่างๆ เช่น เกาหลี และจีน ทำให้เกิดผลประโยชน์รอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว การเปิดเส้นทางบินใหม่หรือเพิ่มจำนวนเที่ยวบินระหว่างกัน ส่งผลให้ในช่วงกรกฎาคม – กันยายน 2567 จำนวนนักท่องเที่ยวเวียดนามเข้าไทยลดลงประมาณร้อยละ 4 จากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

  • การอ่อนค่าของเงินเยน ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอาเซียนเลือกเดินทางไปญี่ปุ่นมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่นิยมแสวงหาประสบการณ์ สถานที่ใหม่ และเลือกประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบ Luxury

  • แผนและการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมในลาว โดยเฉพาะ รถไฟความเร็วสูง ลาว-จีน ข้ามพรมแดนเชื่อมต่อนครหลวงเวียงจันทน์ ประเทศลาว ไปยังกรุงปักกิ่ง อาจเป็นปัจจัยทางเลือกสำหรับนักท่องเที่ยวลาวที่อยากเดินทางออกต่างประเทศ แสวงหาจุดหมายปลายทางที่สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ มากขึ้น

 

ภูมิภาคยุโรป 

คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 จำนวน 1.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 24 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 93,160 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 30 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ตลาดที่มีการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวสูงกว่าช่วงเวลาเดียวกันปี 2562 คือ ตลาดรัสเซีย ยุโรปตะวันออก สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และฝรั่งเศส

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้ 

  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินในภูมิภาคยุโรปเข้าไทย เพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2566 หรือมีจำนวนที่นั่งรวม 9.1 แสนที่นั่ง โดยมีการเปิดให้บริการเที่ยวบินใหม่ ดังนี้ สายการบิน Iberojet (Charter Flight) เส้นทางกรุงมาดริด-กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายน 2567 สายการบิน Thai Airways เส้นทางมิลาน-กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2567 และ สายการบิน Condor (Charter Flight) เปิดเส้นทางบินตรง แฟรงก์เฟิร์ต – กรุงเทพฯ

  • การเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศของชาวยุโรปช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน เดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2567 ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว/กลุ่มที่มีความสนใจพิเศษเลือกเดินทางออกต่างประเทศในช่วงเวลานี้ เช่น คู่รักแต่งงาน กลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเฉพาะตลาดสเปน อิตาลี ฝรั่งเศส ยุโรปตะวันออก มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้าไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 28 – 50 (สูงกว่าค่าเฉลี่ยภูมิภาคยุโรปซึ่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 24) เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

  • กิจกรรมการดำเนินงานส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. ในยุโรป

    • กระตุ้นการเดินทางช่วง Low Season อาทิ Joint Marketing Campaign และประชาสัมพันธ์ประเทศไทย ผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ ร่วมกับกับบริษัทนำเที่ยวและสายการบิน กระตุ้นการเดินทางกลุ่มผู้มีรายได้สูงกลุ่มกีฬากอล์ฟ กลุ่ม Luxury

    • การเข้าร่วมงานส่งเสริมการขาย อาทิ Luxury Travel Mart 2024 กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย   วันที่ 26 – 27 กันยายน 2567 กิจกรรม Amazing Thailand Golf Cup 2024 ในเดือนเมษายน – กันยายน 2567

    • จัดการแข่งขัน Golf Tournament ทั่วประเทศอิตาลีและกิจกรรม Media Fam Trip (Influencer/Blogger/Trade) Thai Airways First Flight: ร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กระตุ้นการรับรู้ประเทศไทยและประชาสัมพันธ์การเปิดเที่ยวบินตรงจากอิตาลี เส้นทางมิลาน-กรุงเทพฯ ของสายการบินไทย และทำการทดลองบินเส้นทางกรุงมาดริด – กรุงเทพฯ 1 เที่ยวบิน/สัปดาห์ในช่วง Green season ของประเทศไทย โดยสายการบิน Iberojet ในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2567

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 

  • มหกรรมแข่งขันกีฬาระดับโลกที่จัดขึ้นในช่วงกรกฎาคม-สิงหาคม 2567 เช่น การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป The UEFA Euro 2024 เยอรมนี (14 มิถุนายน – 14 กรกฎาคม 2567) และ Olympic Games 2024 ณ กรุงปารีส ฝรั่งเศส (26 กรกฎาคม – 11 สิงหาคม 2567) ทำให้แฟนกีฬาต่างชาติหรือนักท่องเที่ยวยุโรปบางส่วนเลือกเดินทางท่องเที่ยวระยะใกล้/ภายในภูมิภาคในห้วงเวลาที่มีการจัดกิจกรรมดังกล่าวมากขึ้น

 

ภูมิภาคอเมริกา

คาดว่า มีนักท่องเที่ยวในเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2567 เดินทางเข้าไทยจำนวน 2.81 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 15 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 20,616 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันปี 2566

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้ 

  • เศรษฐกิจภายในสหรัฐฯ ยังคงเข้มแข็งและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่มีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะตลาดบราซิล และลาตินอเมริกา ส่วนอาร์เจนตินา สถานการณ์การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้นและอยู่ในช่วงปรับเปลี่ยนนโยบายทางเศรษฐกิจของผู้นำคนใหม่

  • การเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มครอบครัวช่วงปิดภาคเรียนและวันหยุดฤดูร้อน

  • การยกเว้นการขอวีซ่าเพื่อการท่องเที่ยวในไทยสำหรับประเทศในแถบละตินอเมริกา ได้แก่ เม็กซิโก โคลอมเบีย และเอกวาดอร์ สิทธิพำนักในไทยสูงสุด 60 วัน มีผลบังคับใช้วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวไทยง่ายขึ้น

  • การดำเนินงานส่งเสริมตลาดของสำนักงาน ททท. สำหรับกลุ่มตลาด Luxury โดยจัดกิจกรรม Joint Promotion ร่วมกับสายการบินพันธมิตรนำเสนอและสร้างการรับรู้ประเทศไทย เสนอขายแพ็กเกจนำเที่ยว และประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศไทยไปยังกลุ่ม Honeymooner กลุ่ม LGBTQ+ และกิจกรรม Amazing Thailand in ILTM North America 2024 วันที่ 23 – 26 กันยายน 2567

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 

  • Sport Event ในภูมิภาคยุโรป การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 และการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรป 2024 ทำให้นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกาที่ชื่นชอบกีฬาและชมการแข่งขันรายการระดับโลก ชะลอการเดินทางท่องเที่ยวประเทศแถบเอเชียหรือตัดสินใจเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศแถบยุโรปในช่วงที่มีการจัดการแข่งขันดังกล่าว

  • ความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ความไม่แน่นอนสงครามในอิสราเอลและพื้นที่ตะวันออกกลาง ทำให้ราคาบัตรโดยสารเครื่องบินระหว่างประเทศสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตโรคระบาดจึงส่งผลกระทบกลุ่มนักท่องเที่ยวรายได้ระดับกลาง-ล่างของไทยที่มีข้อจำกัดงบประมาณเพื่อใช้จ่ายทางการท่องเที่ยว

 

ภูมิภาคเอเชียใต้

คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้เดินทางเข้าไทย จำนวน 5.8 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 19 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 28,279 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 รวมทั้งมีอัตราการเติบโตมากกว่าปีก่อนเกิดวิกฤตโรคระบาด (Covid-19) ทั้งด้านจำนวนและรายได้

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้ 

  • การขยายระยะเวลามาตรการ Visa Exemption ของไทยอีก 6 เดือนไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567 และขยายวันพำนักในไทยสูงสุดเป็น 60 วัน ยังเป็นผลดีต่อภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะ ตลาดอินเดีย  มีส่วนช่วยให้นักท่องเที่ยวสามารถตัดสินใจเดินทางมาท่องเที่ยวไทยได้สะดวกและพำนักนานขึ้น

  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินจากภูมิภาคเอเชียใต้เข้าไทย มีจำนวน 988,239 ที่นั่ง คิดเป็นสัดส่วนฟื้นตัวร้อยละ 88 ของจำนวนที่นั่งปี 2562 โดยตลาดอินเดีย มีจำนวนที่นั่งสูงสุดอยู่ที่ 729,618 ที่นั่ง (ฟื้นตัวร้อยละ 93 ของปี 2562) (ข้อมูล OAG ณ วันที่ 6 กันยายน 2567) ทั้งนี้ มีการเปิดเที่ยวบินใหม่และเส้นทางบินใหม่เข้าไทยจากตลาดอินเดีย ศรีลังกา เนปาล และภูฏาน ช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าไทยมากขึ้น

  • การดำเนินกิจกรรมด้านการตลาดการท่องเที่ยวของ ททท. เพื่อกระตุ้นการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียใต้เข้าไทย

    • มุ่งเน้นกลุ่มจัดงานแต่งงานและการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel) ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง มีวันพักและค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อทริปสูง โดยดำเนินการจัดกิจกรรม “Special Promotion Scheme” ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม – 15 กันยายน 2567

    • สร้างการรับรู้และกระตุ้นให้เกิดการเดินทางของนักท่องเที่ยวจากเมืองรองของอินเดีย โดยการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายทางการท่องเที่ยวของผู้ประกอบการจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวและสายการบิน เสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ของไทย และการเจรจาธุรกิจร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการไทยและอินเดีย เพื่อผลักดันให้เกิดการเพิ่มจำนวนเที่ยวบิน จำนวนที่นั่งโดยสาร และเส้นทางบินตรงใหม่ประเทศไทย-อินเดียมากขึ้น

    • ส่งเสริมภาพลักษณ์ Gastronomy Tourism โดยการนำเสนออาหารไทย ผลไม้ไทย กิจกรรมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรมและดนตรีในงาน Amazing Thailand Food Festival ระหว่างวันที่ 5 – 7 กรกฎาคม 2567 ณ เมืองมุมไบ อินเดีย

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 

  • ค่าบัตรโดยสารเครื่องบินมาไทยมีราคาสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง อาทิ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย ส่งผลให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนจุดหมายการเดินทางไปยังประเทศอื่นแทนเมื่อเปรียบเทียบราคาและความคุ้มค่าของการเดินทาง

  • ต้นทุนการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลอินเดียสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ร้อยละ 20 (จากเดิมร้อยละ 5) หากมียอดการใช้จ่ายสูงกว่า 7 แสนรูปี (ประมาณ 283,260 บาท) ส่งผลต่อการตัดสินใจเดินทางออกต่างประเทศของกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับกลาง-บน หรือครอบครัวที่เดินทางเป็นกลุ่มขนาดใหญ่

  • การส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งของไทย อาทิ เวียดนาม มุ่งส่งเสริมให้เวียดนามเป็นจุดหมายปลายทางชั้นนำของอาเซียนด้วยการดึงดูดตลาดใหม่ ได้แก่ อินเดีย และประเทศในตะวันออกกลาง รวมทั้งนโยบาย E-Visa ของเวียดนามที่ให้สิทธินักท่องเที่ยวอินเดียพำนักในเวียดนามได้สูงสุด 90 วัน

  • นโยบายส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของรัฐบาลอินเดีย โดยประกาศขอความร่วมมือให้ชาวอินเดียเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแทนการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศมากขึ้น ตามนโยบาย “Travel in India” รวมทั้งแคมเปญ “Wed in India” เพื่อส่งเสริมการจัดงานแต่งงานในอินเดีย ประกอบกับมาตรการจัดเก็บภาษีนำเข้า-นำออกอุปกรณ์งานแต่งงานของชาวอินเดียหากมีการเดินทางจัดงานนอกประเทศ

 

ภูมิภาคโอเชียเนีย 

คาดว่า จะมีนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคโอเชียเนียเข้าไทย จำนวน 2.1 แสนคน ขยายตัวร้อยละ 7 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 17,406 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 15 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวของรัฐบาลไทย โดยการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) เพื่อการท่องเที่ยว การติดต่อธุรกิจ และการทำงานระยะสั้น สามารถพำนักในไทยสูงสุด 60 วัน ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 เป็นต้นไป

  • กระแสการเดินทางช่วงปิดภาคเรียนฤดูหนาว (Winter School Break) ของตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ในเดือนกรกฎาคม 2567 โดยนิยมเดินทางในรูปแบบครอบครัวช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์

  • จำนวนที่นั่งบนเครื่องบินจากภูมิภาคโอเชียเนียเข้าไทย มีจำนวน 237,539 ที่นั่ง ฟื้นตัวเทียบเท่าปี 2562 ซึ่งเป็นจำนวนที่นั่งของเที่ยวบินตรงมาจาก 4 เมืองของออสเตรเลีย คือ ซิดนีย์ เมลเบิร์น เพิร์ท และบริสเบน โดยสายการบิน JetStar, Qantas, Thai Airways และ Thai AirAsiaX (ข้อมูล OAG ณ วันที่ 6 กันยายน 2567) นอกจากนี้ สายการบิน JetStar ได้เปิดเส้นทางบินตรงใหม่ เส้นทางเพิร์ท-ภูเก็ต (เริ่ม 6 ส.ค. 2567) เส้นทางเพิร์ท-กรุงเทพฯ (เริ่ม 6 ก.ย. 2567) โดยทำการบิน 4 เที่ยวบิน/สัปดาห์ และสายการบินไทยได้เพิ่มความถี่เที่ยวบินตรงเป็น 14 เที่ยวบิน/สัปดาห์ (จาก 7 เที่ยวบิน/สัปดาห์) ในเส้นทางซิดนีย์-กรุงเทพฯ

  • การจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวในภูมิภาคโอเชียเนียของ ททท. เพื่อกระตุ้นการเดินทางและการใช้จ่ายในการทำกิจกรรมทางการท่องเที่ยวในไทย อาทิ

    • ดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย Millennial และ Millennial Family โดยจัดทำแคมเปญส่งเสริมการขายประเทศไทยร่วมกับบริษัท Expedia Group Media Solutions นำเสนอขาย Best Deal ห้องพัก และบัตรโดยสารเครื่องบินผ่านช่องทางต่าง ๆ ของบริษัท ระยะเวลาดำเนินงาน วันที่ 17 มิถุนายน – 7 กรกฎาคม 2567 เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทาง เข้าไทยเพิ่มมากขึ้น

    • มุ่งเน้นกลุ่ม Wedding & Honeymoon โดยจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัท Thai the Knot Weddings ในการเสนอขายแพ็กเกจแต่งงานและฮันนีมูนในไทย รวมทั้งแพ็กเกจกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวสำหรับผู้เข้าร่วมงาน ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 20 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2567 เพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายของกลุ่ม Wedding & Honeymoon

    • ส่งเสริมการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Golf เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวคุณภาพ กลุ่มความสนใจพิเศษ โดย Joint Promotion ร่วมกับบริษัท Go Golfing ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งเป็นเอเย่นต์กอล์ฟรายใหญ่ที่ได้รับความไว้วางใจในตลาดออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ เพื่อเสนอขายแพ็กเกจเล่นกอล์ฟในไทย ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 1 มกราคม – 31 สิงหาคม 2567 รวมทั้งการส่งเสริมการขายร่วมกับบริษัท Golf Journeys เพื่อเสนอขายแพ็กเกจกอล์ฟทัวร์นาเมนต์ในไทยปี 2567 ในพื้นที่กรุงเทพฯ หัวหิน พัทยา ภูเก็ต กระบี่ และเขาหลัก ระยะเวลาดำเนินการ วันที่ 20 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2567

ปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง 

  • ค่าครองชีพและเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากการปรับขึ้นราคาของค่าที่พัก ค่าสาธารณูปโภค และค่าขนส่งสาธารณะ ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อครัวเรือนของชาวออสเตรเลียเพิ่มสูงขึ้น

  • สถานการณ์การแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของประเทศคู่แข่งเข้มข้นขึ้น อาทิ ฮ่องกง จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายร่วมกับพันธมิตร บริษัทนำเที่ยว สายการบิน Cathay Pacific และท่าอากาศยานนานาชาติฮ่องกง จัดทำแคมเปญ “Infinity Holidays” นำเสนอทริป 6 วัน แพ็กเกจท่องเที่ยวใหม่สุดพิเศษเพื่อเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวออสเตรเลีย รวมถึงเวียดนามวางแผนส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวโดยรักษาฐานตลาดและขยายขนาดของตลาดเดิม คือ ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ อาเซียน ยุโรป รัสเซีย อเมริกาเหนือ และโอเชียเนีย ซึ่งนักท่องเที่ยวออสเตรเลียถือเป็นตลาดศักยภาพของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเวียดนาม อีกทั้งยังมีเที่ยวบินตรงที่เชื่อมต่อระหว่างเวียดนาม-ออสเตรเลีย จึงมีส่วนช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวออสเตรเลียเดินทางไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้น

 

ภูมิภาคตะวันออกกลาง 

คาดว่าในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 จะมีนักท่องเที่ยวจากตะวันออกกลาง จำนวน 4.1 แสนคน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 36,264 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566

ปัจจัยสนับสนุนการเดินทาง มีดังนี้

  • อากาศร้อนจัดแถบประเทศตะวันออกกลางที่มีอุณหภูมิสูงถึง 40-50 องศา ทำให้นักท่องเที่ยวจากกลุ่มอาหรับต้องการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ รวมถึงประเทศไทย โดยนิยมเดินทางกันเป็นครอบครัว

  • การรุกส่งเสริมตลาดของ ททท. โดยร่วมกับพาร์ทเนอร์ สายการบินและธุรกิจนำเที่ยวกระตุ้นการเดินทาง อาทิ สายการบิน Emirates และ บริษัท Dnata สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) ซาอุดิอาระเบีย โอมาน และบาห์เรน ในช่วงเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567

 

ภูมิภาคแอฟริกา

คาดว่า ในเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567 นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคแอฟริกา จะเดินทางเข้าไทยจำนวน   3.8 หมื่นคน ขยายตัวร้อยละ 23 สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยวประมาณ 2,722 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 23 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 โดย

  • การส่งเสริมการตลาดของ ททท. สำนักงานดูไบ ที่ดูแลตลาดแอฟริกาได้มุ่งเน้นให้กลุ่มท่องเที่ยวเชิงกีฬามายังประเทศไทย โดยจัดกิจกรรมแข่งขันมวยไทย ณ กรุงพริทอเรียน ประเทศแอฟริกาใต้ ในเดือนสิงหาคม 2567

  • อากาศหนาวเย็นของประเทศแอฟริกาใต้ (เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567) นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงแสวงหาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอากาศอบอุ่น ซึ่งประเทศไทยเป็นตัวเลือกจุดหมายปลายทางท่องเที่ยวระยะไกล โดยนิยมเดินทางไปจังหวัดภูเก็ตเป็นหลัก

Share This Story !

5.6 min read,Views: 512,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 4, 2024