สรุปสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566

 

โดย งานวิเคราะห์ตลาดในประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด 

วันที่ 15 กันยายน 2566

 

 

ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566

สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดในประเทศเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 บรรยากาศท่องเที่ยวอาจไม่คึกคักเท่าที่ควรเหมือนกับเดือนเมษายน-มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากในเดือนกรกฎาคม-กันยายน จัดเป็นช่วงฤดูฝนและบางพื้นที่เกิดปัญหาอุทกภัยซึ่งเป็นผลจากปรากฏการณ์เอลนีโญ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีแหล่งท่องเที่ยวอีกเป็นจำนวนมากที่สามารถทำกิจกรรมในฤดูฝนได้ ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยว 3 เดือนนี้ยังมีการขยับตัวเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 42.01 ล้านคน-ครั้ง และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 180,099 ล้านบาท หรือฟื้นตัวร้อยละ 89 และร้อยละ 67 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลัก ได้แก่

  1. วันหยุดยาวต่อเนื่องหลายช่วงในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 
  2. กิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. อาทิ เทศกาลเที่ยวเมืองไทยครั้งที่ 41, โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน, เที่ยว Win Win ฟิน โค้ด โค้ด, 25 แหล่งท่องเที่ยว Unseen New Chapters 2566 ปักหมุดมุมใหม่ เปิดไทยมุมต่าง, เส้นทางพลังศรัทธาภาคเหนือ-อีสาน-กลาง-ใต้, โครงการ The Link Local to Global, Amazing Chiang Mai Pride 2023, กิจกรรมกระตุ้นท่องเที่ยว Green Season อย่างเส้นทางท่องเที่ยวเดินป่าหน้าฝน, ล่องแก่งทั่วไทย ผจญภัยหน้าฝน, โพรโมชัน 9 เดือน 9 Workation Thailand 100 เดียวเที่ยวได้งาน 
  3. กิจกรรมส่งเสริมการขายจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวช่วง Green Season อาทิ ส่วนลดโรงแรมที่พัก แพ็กเกจทัวร์ ร้านอาหาร สปา ระหว่างเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม 2566 จ.เชียงใหม่, โพรโมชัน 10-40% สำหรับโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร รถเช่า ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ภายใต้โครงการเสน่ห์น่านหน้าฝน-Touch A Green Season 
  4. กิจกรรมเทศกาลงานประเพณี อาทิ ประเพณีแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี, ประเพณีตักบาตรดอกไม้ จ.สระบุรี, ประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์, ประเพณีอุ้มพระดำน้ำ จ.เพชรบูรณ์

 

แม้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวมีการเติบโตเพิ่มขึ้น แต่การใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวกลับเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยให้ต้องเผชิญกับภาวะค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อสูงที่ส่งผ่านต้นทุนการผลิตกระจายเป็นวงกว้าง จนทำให้ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น ตลอดจนราคาพลังงานที่ผันผวนขึ้นลงได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเช่นกัน เพราะกว่าร้อยละ 80 นิยมเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนตัวที่ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการเดินทางมากขึ้น โดย ttb analytics วิเคราะห์ว่าราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ประชาชนมีค่าใช้จ่ายรายวันเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10% ต่อคน ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวางแผนการเดินทางท่องเที่ยวภาพรวม 

 

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยท้าทายจาก Sentiment ความต้องการออกเที่ยวต่างประเทศของคนไทยบางกลุ่มที่ชื่นชอบเที่ยวต่างประเทศ ผนวกกับได้รับแรงหนุนจากการส่งเสริมตลาดของประเทศที่เป็นจุดหมายปลายทางของคนไทย การทำโพรโมชันราคาบัตรโดยสารของสายการบินต่างประเทศ และการมีวันหยุดยาวต่อเนื่องติดกับวันเสาร์-อาทิตย์ รวมเป็นช่วงวันหยุดยาว 4-5 วัน หรือมากกว่านั้น ซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้คนไทยที่มีกำลังซื้อปานกลาง-สูง ตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศพร้อมกับปรับรูปแบบการเที่ยวและการใช้จ่ายตามความเหมาะสมกับกำลังซื้อที่มี โดยระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน 2566 มีจำนวนคนไทยเดินทางออกนอกประเทศอยู่ที่ 2,857,560 คน (ที่มา: ข้อมูลสถิติคนไทยเดินทางออกนอกประเทศรายเดือน จาก สนง.ตรวจคนเข้าเมือง) คิดเป็นร้อยละ 90 ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562 ซึ่งนับเป็นปัจจัยอุปสรรคต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศโดยเฉพาะช่วงที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่อง 

 

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศ 3 เดือนนี้ยังคงมีการขยับตัวเพิ่มขึ้น โดยแต่ละภูมิภาคมีสถานการณ์ท่องเที่ยวดังนี้

 

กรุงเทพมหานคร

มีการฟื้นตัวดีขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 7.51 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 41,325 ล้านบาท หรือฟื้นตัวร้อยละ 66 และร้อยละ 32 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากกิจกรรมทางการท่องเที่ยว แคมเปญ “เที่ยว Win Win ฟิน โค้ด โค้ด” (เที่ยวสนุก สะสมพ้อยท์ ได้ฟินต่อ) ผ่านแพลตฟอร์ม Line MyShop และ LAZADA เมื่อซื้อสินค้าหรือบริการ, งาน ‘Tha Tien Fest : ท่าเตียนเฟส’ ภายใต้แนวคิด ‘คิดถึง สืบสาน เสน่ห์’, เส้นทางท่องเที่ยวกรีนทริป ลดมลพิษล่องคลองผดุงฯ ทอดน่องท่องกรุงชิมของอร่อย รวมทั้งได้รับอานิสงส์จากกระแสซีรีส์เกาหลีใต้ เรื่อง King the Land ซึ่งได้เข้ามาถ่ายทำในประเทศไทย ทำให้สถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นไฮไลต์อย่างกรุงเทพมหานคร กลายเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลก รวมถึงคนไทยที่รับชมซีรีส์เรื่องนี้ สร้างปรากฏการณ์แฟนคลับแห่ตามรอยกินเที่ยว พร้อมกับแต่งชุดไทยไปถ่ายรูปคู่กับพระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหารกันอย่างมากมาย นอกจากนี้ ยังมีแลนด์มาร์กใหม่ใจกลางกรุง ชวนให้มาสัมผัสกรุงเทพในมุมมองใหม่ อาทิ DISNEY 100 VILLAGE, Ice Magic : Fantasy on Ice ดินแดนหิมะจำลองและน้ำแข็งที่ใหญ่ที่สุดในไทย ส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครมีความคึกคักและเกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี แม้กิจกรรมการท่องเที่ยวจะส่งเสริมให้เกิดการพักค้าง แต่ด้วยผู้คนที่เข้ามาเที่ยวในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่มาจากจังหวัดใกล้เคียง จึงเป็นการเดินทางท่องเที่ยวแบบเช้าไปเย็นกลับมากกว่า ส่งผลให้รายได้ทางการท่องเที่ยวมาจากการใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารเครื่องดื่มและชอปปิงมากกว่าค่าที่พัก 

 

ภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก)

บรรยากาศการท่องเที่ยวมีความคึกคักทั่วพื้นที่ภูมิภาคภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก) คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 13.30 ล้านคน-ครั้ง และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 34,038 ล้านบาท หรือฟื้นตัวอยู่ที่ร้อยละ 82 และร้อยละ 96 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปี 2562 โดยมีปัจจัยหนุนมาจากการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ เส้นทางสายมูไหว้ท้าวเวสสุวรรณ และเส้นทางสายบุญไหว้หลวงพ่อโตมหายาน จ.สมุทรสาคร รวมทั้งกระแสเที่ยวตามรอยลิซ่า BLACKPINK ที่ได้โพสต์รูปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของอยุธยา ทำให้มีนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่เป็นจำนวนมาก พร้อมปลุกกระแสการใส่ชุดไทยและผ้าซิ่นให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง นอกจากนี้การเปิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ได้แก่ Sky Walk จุดชมวิวแม่น้ำสองสี จ.กาญจนบุรี และมัจฉานุแลนด์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้านกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้สำหรับทุกคนในครอบครัว จ.นครปฐม ทำให้สินค้าทางการท่องเที่ยวในภาคกลางมีความหลากหลาย ช่วยสร้างโอกาสในการดึงนักท่องเที่ยวเข้าพื้นที่ได้มากขึ้น

 

ภาคตะวันออก

ยังคงมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 5.25 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 32,315 ล้านบาท หรือฟื้นตัวร้อยละ 95 และร้อยละ 89 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ทั้งนี้เป็นผลจากความได้เปรียบของระยะทางในการเดินทาง และการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวไม่สูงมากนัก สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ผนวกกับเป็นช่วงฤดูฝนที่เหมาะกับการทำกิจกรรม Adventure อย่างกิจกรรมล่องแก่งหินเพิง จ.ปราจีนบุรี, Kite Surfing พัทยา จ.ชลบุรี, Sarika Adventure Point จ.นครนายก นอกจากนี้ ททท. หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมท่องเที่ยวช่วงหน้าฝน อาทิ กิจกรรมเที่ยวสุดฟิน เช็กอินกระจาย สบ๊าย สบายตะวันออก ภายใต้โครงการ 365 วัน มหัศจรรย์เมืองไทย เที่ยวได้ทุกวัน, ชมวิว ฟินธรรมชาติเขาช่องลม สัมผัสบรรยากาศแบบกรีนและสายหมอกใกล้กรุงในฤดูฝน, กิจกรรมท่องเที่ยวด้วยขบวนรถไฟ KIHA 183 เส้นทางกรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา เพื่อเปิดประสบการณ์ให้นักเดินทางได้สัมผัสการท่องเที่ยวทางรถไฟ, กิจกรรมเช็กอิน ภารกิจพิชิตเที่ยวหน้าฝน Weekday-D Day จ.นครนายกและปราจีนบุรี, เทศกาลเที่ยวพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน Prachinburi Night at The Museum นอกจากนี้ พื้นที่ท่องเที่ยวในภาคตะวันออกอย่าง ศรีราชา พัทยา ระยอง จันทบุรี ได้รับการส่งเสริมให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแบบ Workation ในธีม “ทำงานง่าย ได้สุขภาพ” เพื่อให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา ยิ่งส่งผลให้ภูมิภาคนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายได้ 

 

ภาคใต้

มีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 4.61 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 22,983 ล้านบาท หรือฟื้นตัวร้อยละ 83 และร้อยละ 59 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคนี้ มาจากการเดินทางของคนภายในภูมิภาคเป็นหลัก ทำให้จำนวนวันพักไม่เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมบรรยากาศท่องเที่ยวภาคใต้มีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยสนับสนุนจากช่วงวันหยุด กอปรกับเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยว (High Season) ของทะเลฝั่งอ่าวไทย รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยว อาทิ กิจกรรมส่งเสริมการขาย The Link เชื่อมโยงเส้นทางกระบี่-เชียงใหม่, คาราวานรถยนต์เส้นทางสงขลา-กระบี่ Low Carbon Destination@Krabi, โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวในวันธรรมดา “KRABI WONDER WEEKDAY” ผ่านการร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการเรือนำเที่ยว Luxury Long tail Boat เพื่อกระตุ้นกลุ่มผู้สูงวัยให้เดินทางมาท่องเที่ยวจังหวัดกระบี่ในวันธรรมดา รวมทั้งนั่งรถไฟเที่ยวเส้นทาง 3 จังหวัดชายแดนใต้และเส้นทางหาดใหญ่ตามรอย Blogger ท่องเที่ยว ยังคงอยู่ในกระแสความนิยมของนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะกลุ่ม GenY และกลุ่มวัยทำงาน นอกจากนี้ จ.ภูเก็ต ได้ติดอันดับ 10 ของเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการทำงานแบบ Workation จาก Holidu’s Workation Index 2021 ยิ่งช่วยสร้างกระแสให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวแบบ Workation ในวันธรรมดาที่ภูเก็ต และส่งผลดีต่อจังหวัดใกล้เคียงด้วย ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ภาพรวมท่องเที่ยวภาคใต้มีการเติบโตเพิ่มขึ้น

 

ภาคเหนือ

ยังคงมีการเติบโตต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 5.05 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 33,827 ล้านบาท หรือฟื้นตัวร้อยละ 92 และร้อยละ 85 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 เนื่องจากเข้าสู่ช่วง Green Season ที่แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติของภาคเหนือมีความเขียวชอุ่ม สวยงาม โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่เกิดจากการทำงานของ ททท. ที่มุ่งเน้นสร้างสรรค์เมนูประสบการณ์ท่องเที่ยวภาคเหนือภายใต้แนวคิด “เสน่ห์วันวานเมืองเหนือ” เพื่อส่งมอบประสบการณ์การท่องเที่ยวผ่านสินค้าและบริการสำหรับตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย อาทิ โครงการ North Experience Festival เส้นทางสายมู เส้นทางย้อนวันวานเมืองเหนือ, โครงการเสน่ห์กินริมน้ำผ่านเมนูอาหารถิ่น เพื่อยกระดับสู่การเป็นมิชลินไกด์ นอกจากนี้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมช่วง Green Season อาทิ Kamphaeng Phet Marathon 2023 (World Heritage Run), กิจกรรมเที่ยวแพร่ไม่แคร์ฝน เสน่ห์หน้าฝนยลเมืองแพร่, กิจกรรมอิ่มไม่อั้น ทุเรียนอุทัยธานี #2 ภายใต้โครงการ The Link to Global (อุทัยธานี-ชัยนาท), กิจกรรม Night Run Fun Fin Food @Phitsanulok ปี 2, กิจกรรม VIJITR @Chiang Mai สีสันแห่งเส้นแสง น้ำพุร้อนสันกำแพง โครงการพระราชดำริ ผนวกกับสายการบินในประเทศอย่างแอร์เอเชียขานรับการกระตุ้นเดินทางท่องเที่ยวข้ามภูมิภาค ด้วยการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่, กรุงเทพฯ-เชียงราย และเชียงใหม่-อุดรธานี รวมทั้งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ได้เปิดเที่ยวบินเส้นทางใหม่เชื่อมต่อ 2 เมืองท่องเที่ยวภาคเหนือ เส้นทางลำปาง-แม่ฮ่องสอน (ไป-กลับ) จำนวน 3 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ทุกวันจันทร์ พุธ และศุกร์ ซึ่งจากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวทำให้การเดินทางท่องเที่ยวของภาคเหนือมีการเติบโตที่ดี

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีทิศทางการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 6.29 ล้านคน-ครั้ง รายได้ 15,612 ล้านบาท หรือฟื้นตัวร้อยละ 95 และร้อยละ 73 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 โดยการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ของภูมิภาคนี้มาจากคนในภูมิภาคที่เดินทางกลับมาเยี่ยมญาติพร้อมกับท่องเที่ยวไปในคราวเดียวกัน ขณะที่การเดินทางของคนต่างภูมิภาค ส่วนใหญ่เกิดจากแรงกระตุ้นของกระแสความศรัทธา ความเชื่อพญานาคของถ้ำนาคา ส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวสายมูใน 3 จังหวัดกลุ่ม “นคราธานี” ได้แก่ อุดรธานี หนองคาย และบึงกาฬ ทำให้การเดินทางแบบพักค้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้ง 3 จังหวัด นอกจากนี้ การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงภายใต้โครงการ The Link Local to Global เส้นทางนครพนม-นครศรีธรรมราช และเส้นทางบุรีรัมย์-ภูเก็ต รวมทั้งการยกระดับวัฒนธรรมอาหารไทย-อีสานสู่สากล THE MICHELIN EXPERIENCE @ ISAN เพื่อต่อยอด Soft Power และสร้างกระแสให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยว Gastronomy ยิ่งเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพิ่มขึ้น



Share This Story !

Published On: 31/10/2023,3.7 min read,Views: 654,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023