LGBT Welcome

LGBT Welcome

LGBT travelers are increasingly targeted by tourism destinations around the world due to their profile as high-spending and frequent travelers with high market value. Rankings by various organizations revealed top LGBT friendly destinations in terms of law, public policy and tourism infrastructure, including Malta, Sweden, Canada, Copenhagen, as well as Belgium, Norway, UK and France. However, old prejudices die hard and precaution is still a necessity for LGBT travelers even in a world that in embracing LGBT tourism more and more.

LGBT Tourism : Thailand as a vagaytion

From the 1980s, Thailand has been referred to as a LGBT friendly or ‘vagaytion’ destination due to its attraction for LGBT tourists, such as nightclubs, sauna and bars in the entertainment districts of Bangkok and major tourist cities. The event of Saturday the 21st in Chiang Mai, however, highlighted that ‘Thailand, gay paradise’ is more likely a myth to cover structural violence and injustice towards LGBT. LGBT tourism is still possible but should be promoted as a form of cultural tourism that encourages learning and acceptance of sexual and gender diversity.

_________________________________

พูดถึง Gay Travel (หรือที่จริงสมัยนี้ต้องบอกว่าเป็น LGBTQI Travel หรือคุณจะเพิ่มอักษรย่ออะไร

เข้าไปในคำนี้ก็ตามใจนะครับ เพราะเรื่องเพศนั้นหลากหลายซับซ้อนอย่างยิ่ง จนยากจะจำกัดความใดๆ

และ ‘ตัวย่อ’ ของเพศต่างๆ ก็งอกเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ) หลายคนอาจนึกถึงประเทศที่ ‘เปิดกว้าง’ ในเรื่องนี้มากที่สุด

_________________________________

คุณรู้ไหมครับว่าเป็นประเทศไหน?

เป็นไปได้ที่คุณจะทายไม่ถูกนะครับ

ถ้าเราไปดูการจัดอันดับของเว็บไซต์อย่าง Rainbow Europe (เข้าไปดูได้ที่ https://rainbow-europe.org/country-ranking#)
เราจะพบการจัดอันดับประเทศที่ไม่เลือกปฏิบัติและเปิดกว้างต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศเอาไว้ แน่นอนว่าชื่อ Rainbow Europe ก็ต้องเป็นประเทศในยุโรปนั่นแหละครับ ซึ่งเราก็คงพอรู้กันอยู่ว่า ยุโรปเป็นทวีปที่ ‘เปิดกว้าง’ เรื่องนี้อย่างมาก ดังนั้นการจัดอันดับนี้จึงน่าจะพอบอกอะไรเราได้ไม่น้อย

ถ้าพูดถึงความเปิดกว้างในเรื่องนี้ บางคนอาจจะคิดถึงประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย หรือไม่ก็ฝรั่งเศส เพราะเราคุ้นเคยกันอยู่ว่าประเทศเหล่านี้ เป็นเสรีนิยมชั้นนำของโลก แต่การจัดอันดับของ Rainbow Europe นั้นกลับบอกเราว่า เพราะประเทศที่ ‘นำโด่ง’ ในทุกด้านเกี่ยวกับ LGBTQ ก็คือประเทศมอลตา (Malta)ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้คุ้นเลยว่าเปิดกว้างในเรื่องนี้ ประเทศรองลงมา ได้แก่ เบลเยียม, นอร์เวย์, สหราชอาณาจักร,ฟินแลนด์, ฝรั่งเศส, โปรตุเกส, เดนมาร์ก, สเปน, สวีเดน (ทั้งหมดนี้คือ 10 อันดับแรก) ถัดมาจึงเป็น เนเธอร์แลนด์, เยอรมนี, ออสเตรีย, กรีซ, ไอร์แลนด์

ส่วนประเทศในลำดับท้ายๆ (เขานับประเทศในแถบเอเชียกลางบางประเทศด้วยนะครับ) นับจากด้านล่างสุดขึ้นมาก็คือ อาเซอร์ไบจัน,อาร์มีเนีย, ตุรกี, โมนาโก (อันนี้ไม่น่าเชื่อเลย!), รัสเซีย, ซานมารีโน แล้วก็ มอลโดวา (ซึ่งมอลโดวานี่ เคยได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสุขน้อยมากๆ ในดัชนีความสุขโลกด้วยนะครับ)

กลับมาที่มอลตากันอีกทีแม้ว่าหลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อมอลตาแต่ที่จริงแล้วมอลตาเป็นประเทศที่เต็มไปด้วยหาดทราย ความโรแมนติกถ้าใครเคยดูซีรีส์ชีวิตของควีนเอลิซาเบธแห่งอังกฤษอย่าง The Crown ก็น่าจะพอรู้ว่า ควีน (สมัยยังไม่ขึ้นครองราชย์) และเจ้าชายฟิลิปนั้น หลงรักมอลตามากแค่ไหน แต่เมื่อต้องมารับภาระหนักในชีวิตแล้ว ก็ไม่สามารถไปมีความสุขกับหาดทราย สายลม และความโรแมนติกของมอลตาได้อีกเลย

อย่างไรก็ตาม แค่หาดทรายและความโรแมนติกเฉยๆ ยังไม่พอนะครับเพราะเอาเข้าจริง มอลตายังมีการโปรโมต
เรื่องของ Gay Travel อย่างแข็งขันมากด้วย โดย Malta Tourism Authority หรือ MTAประกาศมาหลายปีแล้วว่าจะ
โปรโมตให้ประเทศของตัวเองเป็นดินแดนแห่งการท่องเที่ยวอันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางเพศ

รูปธรรมของการโปรโมตนี้มีอาทิ ในปี 2016 MTA ได้ประกาศแคมเปญในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา เพื่อโปรโมตให้มอลตาเป็น Winter Escape for the LGBT Traveller โดยลงโฆษณาในนิตยสารอย่าง Out และสร้างโครงการรณรงค์อื่นๆ อีกหลายอย่าง เพื่อทำให้คนเห็นว่า มอลตานั้นมีวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และหาดทรายที่สวยงามมากขนาดไหน แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ เขาย้อนกลับไปอ้าง Rainbow Europe ด้วยว่า นี่ไงเราเป็นประเทศที่ LGBTQ-Friendly ที่สุดในยุโรป ไม่ว่าจะเป็นในด้านไหน ทั้งความเสมอภาคเท่าเทียม (Equality) การมีอาชญากรรมที่เกี่ยวเนื่องกับความเกลียดชัง (Hate Crime) และการใช้ประทุษวาจา (Hate Speech) ต่อชาว LGBT ในอัตราที่ต่ำมาก ที่สำคัญก็คือ มีการยอมรับ ‘อย่างเป็นทางการ’ ในกฎหมาย ว่าการเป็น LGBT หรือมีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่เรื่องผิด ดังนั้น มอลตาจึง ‘ถึงพร้อม’ ในทุกๆด้านที่จะเป็นปลายทางของการท่องเที่ยวแบบนี้

โฆษกของ MTA บอกว่านักท่องเที่ยว LGBT นั้น มีลักษณะเด่นคือมีการใช้จ่ายสูงกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่นๆ โดยเฉลี่ย แม้จะเป็นคนกลุ่มเล็ก(Niche) แต่ก็มีลักษณะเฉพาะหลายอย่างที่วงการท่องเที่ยวต้องการ เช่น เป็นกลุ่มคนที่มักจะมีการศึกษาสูง เดินทางท่องเที่ยวบ่อยๆ และมีรายได้สูง

ในด้านหนึ่ง วิธีคิดแบบนี้อาจจะเป็นมายาคติต่อชาว LGBT แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ต้องยอมรับว่าชาว LGBT นั้นมีชีวิตแบบ ‘อิสระ’ (Independently) มากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในโลก เนื่องจากสังคมส่วนใหญ่ในโลกปฏิเสธ LGBT อย่างน้อยที่สุดก็ปฏิเสธการเข้าสู่สถาบันการแต่งงานอย่างเป็นทางการ นั่นทำให้คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ (ซึ่งไม่ได้

หมายถึงทุกคนนะครับ) มักไม่มีพันธะหรือภาระผูกพัน ไม่ต้องสร้างครอบครัว ไม่ต้องเลี้ยงดูลูก มีงานวิจัยที่อธิบายว่าที่ LGBT มักมีการศึกษาสูง ก็เพราะเมื่อหารายได้มาแล้ว ไม่ต้องใช้จ่ายเพื่อครอบครัวและลูกจึงสามารถใช้เงินเพื่อเรียนในคอร์สต่างๆ ทั้งเป็นการเรียนเพื่อปริญญาในระดับสูงอย่างจริงจัง หรือการเรียนเป็นคอร์สสั้นๆเพื่อเพิ่มทักษะต่างๆ ให้ตัวเอง ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมย้อนกลับไปที่การทำงาน ทำให้กลายเป็นคนที่ทำงานเก่งเพราะมีทักษะสูง ดังนั้นโดยเฉลี่ยแล้วรายได้จึงสูงกว่า

มีการศึกษาของ Christopher Carpenter และ Samuel Eppink (ดูรายละเอียดได้ที่ https://onlinelibrary.wiley.com/doi/full/10.1002/soej.12233) บอกว่าในระยะหลัง คนที่เป็นเกย์จะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่า

ผู้ชาย ส่วนคนที่เป็นเลสเบี้ยน ก็จะมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงด้วย(แต่ผู้ชายก็ยังมีรายได้เฉลี่ยสูงกว่าเลสเบี้ยนอยู่ดีนะครับ) ซึ่งก็มีคำอธิบายพิสดารพันลึกหลายอย่าง แต่โดยสรุปรวบยอด ก็คล้ายๆ กับที่ผมเล่าให้ฟังในย่อหน้าที่แล้วนี่แหละครับ ว่าเหตุผลใหญ่คือการถูก ‘ผลัก’ ออกจากการมีพันธะผูกพันของสถาบันครอบครัวและสถาบันการแต่งงานเลยกลายเป็นข้อได้เปรียบในเรื่องรายได้และทักษะในการทำงานไปแล้วเมื่อคนเหล่านี้มีรายได้มาก แถมยังไม่ต้องใช้เวลาไปในกิจกรรมทางครอบครัวเหมือนคนอื่น พวกเขาจะทำอะไรล่ะครับคำตอบก็คือการเดินทางท่องเที่ยวไงครับด้วยเหตุนี้ MTA ซึ่งเห็นความสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBT จึงได้เริ่มทำงานโปรโมตประเทศในเรื่องนี้มานานแล้ว เริ่มตั้งแต่จับตลาดประเทศกลุ่มที่พูดเยอรมันไล่เลยไปจนถึงสหรัฐอเมริกาและแคนาดาและมีแผนจะขยายต่อไปยังเบลเยียม เนเธอร์แลนด์ สเปน สหราชอาณาจักร และประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียต่อไป

สมาคมการท่องเที่ยวเกย์ยุโรป (Gay European Tourism Association) ประมาณว่า มูลค่าตลาดของ Gay Tourism ในยุโรปนั้น อยู่ที่ราวห้าหมื่นล้านยูโรต่อปี ซึ่งเป็นตัวเลขมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาจากฟิลาเดลเฟีย
อีกชิ้นหนึ่งที่บอกว่า ทุกๆ 1 เหรียญที่ลงทุนไปกับ Gay Tourism จะให้มูลค่าตอบแทนกลับมา 153 เหรียญ จากการใช้จ่ายตามร้านอาหาร โรงแรม ร้านรวงต่างๆ รวมทั้งจุดสนใจทางการท่องเที่ยวทั้งหลายแม้มอลตาจะอยู่ในอันดับหนึ่งของ Rainbow Europe ในเรื่องการเปิดกว้างทางสังคมแต่ที่จริงแล้วมอลตายังไม่ใช่ประเทศหรือเมืองที่เป็นอันดับหนึ่งในด้าน LGBT Tourism นะครับ เพราะนั่นหมายถึง ‘ชีวิตทั่วๆ ไป’ไม่ใช่เรื่องอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเฉพาะ MTA เอง

ก็สารภาพว่า ยังสู้หลายเมืองไม่ได้ เช่น หมู่เกาะคานารีหรือเมืองบาร์เซโลนาของสเปน ก็เลยต้องยิ่งลงทุนใหญ่ เช่น แย่งชิงการจัดประกวด Mr Gay World โดยเอาชนะเม็กซิโกและสิงคโปร์เพื่อสิทธิในการจัดประกวด เป็นต้นแล้วถ้าอยากดูว่า ประเทศไหนเป็นประเทศที่เป็นมิตรต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศล่ะครับ ควรจะดูจากไหนในเรื่องนี้ มี LGBTQ Travel Index (ดูจาก Screenshot : spartacusworld.com/gaytravelindex.pdf ก็ได้นะครับ) ของ Spartacus World ที่ทำรายงานออกมาทุกปี โดยมีการให้คะแนนในหลากหลายด้าน

ตั้งแต่การมีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติ, การอนุญาตให้คนเพศเดียวกันแต่งงานกันได้, การอนุญาตให้รับลูกมาเลี้ยงได้, การทำการตลาดในด้าน LGBT รวมถึงด้านอื่นๆ เช่น การกีดกันทางศาสนา, ข้อจำกัดหรือการกีดกันคนที่มีเชื้อ HIV, ไล่ไปถึงอาชญากรรมและฆาตกรรม ผลปรากฏว่า LGBTQ Travel Index 10 อันดับแรก ได้แก่ สวีเดน, สหราชอาณาจักร, เบลเยียม, เนเธอร์แลนด์, ฝรั่งเศส, แคนาดา, เดนมาร์ก, ไอซ์แลนด์ และ ฟินแลนด์ ส่วนประเทศในโลกที่ได้ LGBTQ Travel Index ต่ำสุด คือ โซมาเลีย,อิหร่าน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดีอาระเบีย โดยประเทศที่ยังมีโทษประหารสำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ (แม้ไม่ได้ใช้ในทางปฏิบัติ) ได้แก่ เยเมน, อัฟกานิสถาน, ซูดาน, มอริทาเนียและ ไนจีเรีย

______________________________

ที่ว่ามานั่นเป็นระดับประเทศ แต่ถ้ามาดูเป็นเมืองๆ ว่าเมืองไหนเป็นมิตรต่อ LGBTQ Tourism บ้าง The Independent เคยจัดอันดับเอาไว้(อ่านได้ที่นี่www.independent.co.uk/travel/news-and-advice/gay-friendly-travel-destinations-the-worlds-top-10-9806026.html) ดังนี้

______________________________

1. โคเปนเฮเกน, เดนมาร์กโคเปนเฮเกนเป็นบ้านของบาร์เกย์แห่งแรกในยุโรปที่เปิดดำเนินการอย่างเปิดเผย คือบาร์ชื่อ Centralhjornet เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคห้าศูนย์โน่นแน่ะครับ อยู่ในย่าน Vesterbro ที่นี่ถือว่าเป็นชุมชนที่แข็งแกร่งที่สุดในด้านนี้ จึงเต็มไปด้วยโรงแรมแนวบูติกโฮเต็ล และร้านรวงต่างๆ ที่เป็นมิตรกับ LGBTQ

2.โอ๊คแลนด์, นิวซีแลนด์

ในปี 1998 นิวซีแลนด์เป็นประเทศแรกที่ออก Label Gay/Lesbian Friendly ให้กับธุรกิจและที่พักต่างๆ อย่างเป็นทางการ ถือเป็นความริเริ่มแรกที่บัดนี้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ที่นี่มีเครือข่ายของโฮมสเตย์ที่ได้ชื่อว่าเป็นมิตรกับ LGBTQ ไม่ใช่แค่ในโอ๊คแลนด์ แต่ทั่วประเทศ รวมทั้งมีการผ่านกฎหมายแต่งงานสำหรับคนรักเพศเดียวกันในปี 2013 ด้วย นิวซีแลนด์จึงเป็น ‘แดนสวรรค์’ สำหรับ LGBTQ โดยแท้

3. โทรอนโต, แคนาดา

บริเวณที่เป็น ‘ฮับ’ ของ LGBTQ Travel ในโทรอนโต คือ The Villageซึ่งอยู่ในย่าน Church-Wellesley ย่านนี้ไม่ได้เป็นย่านเที่ยวเท่านั้นแต่ยังเป็นฮับทางวัฒนธรรมด้วยนะครับ คือมีทั้ง แกลเลอรี โรงหนัง โรงละคร รวมถึงธุรกิจต่างๆ ที่เป็นมิตรต่อ LGBTQ รวมทั้งยังมีงาน Pride Week รวมไปถึง Pride March และ Dyke March ด้วย

4.ปาล์มสปริง, สหรัฐอเมริกา

ตั้งอยู่ห่างลอสแองเจลิสไปทางตะวันออกเฉียงใต้ราว 100 ไมล์ ถือเป็นสวรรค์ของนักอาบแดดเลยทีเดียว เพราะมีแดดจัดตลอดทั้งปี จึงเป็นแหล่งของกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหลาย ที่สำคัญก็คือ ปาล์มสปริงมีที่พักแบบ ‘ชายล้วน’ และ ‘หญิงล้วน’ ที่มีจำนวนมากที่สุดในโลก แม้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติอีกแบบหนึ่ง แต่ก็เป็นเมืองที่ได้รับความนิยมมากสำหรับคนที่มาทำกิจกรรมกลางแจ้งทั้งหลาย โดยถือว่าที่พักเหล่านี้เป็น
Escape Resort

5. ซิตเจส, สเปน

เมืองนี้เป็นเมืองชายฝั่ง อยู่ห่างจากบาร์เซโลนาไปทางตะวันตกเฉียงใต้ราว 35 กิโลเมตร ถือเป็นบ้านของ ‘เกย์ดิสโก้’ แห่งแรกของสเปนเปิดในยุคแปดศูนย์ ถือเป็น Big Four ของ Queer Travellers ในยุโรปเลยทีเดียว

6. เบอร์ลิน, เยอรมนี

เมืองนี้แทบไม่ต้องพูดถึง โดยเฉพาะในย่าน Schoneberg ที่มีประวัติความเป็นมาเกี่ยวกับ LGBTQ อันยาวนาน ผ่านยุคที่นาซีครองเมืองและเบียดขับคนเหล่านี้ออกไปจากสังคม ตอนนี้ร้านรวงและบาร์ในย่านนี้หลายแห่งจะไม่มีเวลาปิด คือเปิดกันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ทำให้คุณปาร์ตี้ได้ไม่รู้จบ

7.มิโคนอส, กรีซ

เกาะที่พูดได้ว่าเป็นสวรรค์แสนสวยแห่งนี้เป็นฮับของชาวLGBTQมาหลายสิบปีแล้วด้วยธรรมชาติอันสวยงามของเมดิเตอร์เรเนียนน้ำใส ปาร์ตี้สนุก และชีวิตกลางแจ้ง โดยศูนย์กลางของ LGBTQ Toursim จะอยู่ที่โรงแรม Elysium ซึ่งเป็นบูติกโฮเต็ลสำหรับเกย์

8. นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา

นิวยอร์กนั้นไม่ต้องพูดถึงในเรื่องความหลากหลาย แต่นอกเหนือไปจากนั้นนิวยอร์กยังมีประวัติศาสตร์การต่อสู้ด้วย กับการจลาจลครั้งสำคัญที่สโตนวอลล์ในปี 1969 ในกรีนิชวิลเลจ ปัจจุบันนี้ เวสต์วิลเลจถือเป็นเมืองหลวงของการต่อสู้เพื่อ LGBTQ ในระดับโลก รวมทั้งมีที่พักดีๆในหลายย่านด้วย โดยเฉพาะย่าน Chelsea และ Hell’s Kitchen

9. เรคยาวิค, ไอซ์แลนด์

นี่คือเมืองหลวงที่อยู่เหนือสุดของโลก ถือเป็นเมืองที่เป็นมิตรและได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เป็น The Most Inclusive City ของโลก มีการจัดงาน Gay Pride March และงานอย่าง Bears on Ice รวมทั้งได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในดัชนีความสุขโลก ทั้งยังมีความงามของทิวทัศน์และธรรมชาติ ทำให้ไอซ์แลนด์เป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของ LGBTQ Tourism

10. มอนเตวิเดโอ, อุรุกวัย

ชื่อนี้อาจทำให้หลายคนเลิกคิ้วแปลกใจ เพราะพอพูดถึงอเมริกาใต้หลายคนนึกถึงประเทศที่เคร่งครัดศาสนา มีความอนุรักษ์นิยมจ๋า แต่อุรุกวัยซึ่งเป็นประเทศเล็กที่สุดในอเมริกาใต้ คือประเทศที่ก้าวหน้าที่สุด ในปี 2013 อุรุกวัยเป็นประเทศแรกที่อนุญาตให้การแต่งงานระหว่างคนเพศเดียวกันถูกกฎหมาย โดยในเมืองมอนเตวิเดโอ อันเป็นเมืองหลวงนั้น มีทัศนคติที่เป็นบวกในเรื่องนี้ รวมทั้งยังมีชุมชน LGBT ที่เหนียวแน่นด้วย

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจคิดว่าโลกนี้เต็มไปด้วยดินแดนที่เป็นมิตรต่อชาว LGBTQ แต่เอาเข้าจริงแล้ว คำเตือนอย่างหนึ่งที่รัฐบาลสหราชอาณาจักรเตือนประชาชนชาว LGBTQ ของตัวเองที่จะออกไปท่องเที่ยวเดินทางตามที่ต่างๆ ทั่วโลกก็คือ ยิ่งประเทศไหนเปิดกว้างเรื่องนี้มากเท่าไหร่ (เช่น มีการยอมรับตามกฎหมาย) ยิ่งต้องระวังตัวมากเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริง ระดับของการยอมรับในสังคมอาจจะหลากหลายแตกต่างกันไปไม่ได้แปลว่าเป็นที่ยอมรับตามกฎหมายแล้วจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์แบบไหนก็ต้องคอยระวังและหาข้อมูลประกอบอยู่เสมอโดยสรุปแล้ว LGBTQ Tourism ในระดับโลก กำลังเป็นที่ยอมรับและแพร่หลาย ผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจกับการจัดโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร ร้านรวงต่างๆ เพื่อต้อนรับชาว LGBTQ กันมากขึ้น มองว่าความหลากหลายทางเพศเป็นเรื่องปกติธรรมดากันมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกัน ทัศนคติแบบเดิมๆ ก็ยังไม่ได้หายไปไหน ยังคงอยู่กับเราเหมือนเงามืดที่เกาะติดการสร้างความเข้าใจของภาครัฐต่อประชาชนของตัวเองแบบเดียวกับที่มอลตากำลังทำอยู่ – จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อ LGBTQ Tourism

เรื่องโดย : โตมร ศุขปรีชา
Illustration : Benjarat Aiemrat

 

Share This Story !

7.3 min read,Views: 1241,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024