Disaster Tourism ทำไมเราถึงอยาก ไปดูหายนะของคนอื่น

คำว่า Disaster Tourism แปลตรงตัวก็คือ การเดินทาง ไปในที่ต่างๆ ที่เคยประสบภัยพิบัติ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติอย่าง แผ่นดินไหว น้ำท่วมใหญ่ เฮอร์ริเคนเข้า อุกกาบาตตก ภูเขาไฟระเบิด เกิดสึนามิ หลุมยุบขนาดยักษ์ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ทำให้เกิดความเสียหายใหญ่กับสถานที่นั้นๆ รวมไปถึงภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ด้วย เช่น โรงงานปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลาย ส่งกัมมันตภาพรังสีออกไปในพื้นที่ขนาดใหญ่

ที่จริงแล้ว ในปัจจุบันเราเริ่ม ‘แยกยาก’ มากขึ้นทุกที ว่าหายนะไหนเป็นหายนะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติจริงๆ หรือเป็นหายนะที่มนุษย์สร้างขึ้น หรือที่เรียกว่า Man-Made Disaster

นักวิชาการสิ่งแวดล้อมหลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า ภัยพิบัติหลายอย่างที่เกิดขึ้น แม้ดูเผินๆ เป็นฝีมือของธรรมชาติ อย่างเช่น พายุเฮอร์ริเคนนั้น แท้จริงแล้วควรจัดเป็นภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์หรือเปล่า เพราะหากเราเชื่อว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคทางธรณีวิทยา (Epoch) ยุคใหม่ คือยุค Anthropocene หรือยุคที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์และธรณีวิทยา ก็อาจตีความได้ว่า
ภัยพิบัติหลายอย่างที่เกิดขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ อาจเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ต้องแยกแยะระหว่าง Disaster Tourism กับการท่องเที่ยวแนวอื่นที่ฟังดูคล้ายๆ กัน เพราะเป็นการท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นกับ ‘หายนะ’ ในด้านต่างๆ เช่น Dark Tourism, War Tourism และ Slum Tourism

Dark Tourism: ท่องเที่ยวแนวหม่น

Dark Tourism นั้นตรงตัวเลยนะครับ หมายถึง การท่องเที่ยวที่ตระเวนไปในแหล่ง ‘ดาร์กๆ’ ทั้งหลาย ซึ่งก็คือสถานที่ที่สร้างอารมณ์หม่นหมองให้กับผู้ชม เช่น สถานที่ที่เกิดสงคราม มีการฆ่าฟันกันขนานใหญ่ หรืออาจถึงขั้นฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ก็ได้ เช่น การเดินทางไปเยือนโรงเรียนอย่าง Murambi Technical School ซึ่งเป็นที่เกิดเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใหญ่ในรวันดา ซึ่งในปัจจุบันนี้ มีการปรับเปลี่ยนสถานที่เกิดเหตุจริง ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ Genocide Museum แล้ว ซึ่งก็คล้ายๆ กับที่อื่นๆ อีก เช่น ทุ่งสังหารในกัมพูชา หรือค่ายเอาชวิตซ์ในออสเตรีย เป็นต้น ซึ่งในหลายกรณี ก็คาบเกี่ยวว่าจะเป็น War Tourism (ดูหัวข้อถัดไป) ด้วยหรือไม่

Dark Tourism ไม่ได้มีแค่เรื่องหนักๆ ระดับฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เท่านั้นนะครับ มีการท่องเที่ยวที่ ‘เบา’ กว่านั้นอยู่ และจัดเป็น Dark Tourism ด้วยเหมือนกัน เช่น การจัดทัวร์สุสาน อย่างเช่น สุสาน High Gate ในลอนดอน หรือสุสาน Pere Lachaise ในกรุงปารีส ซึ่งทั้งสองแห่งมีคนดังๆ ตั้งแตjนักเขียน นักแสดง รัฐบุรุษ ฯลฯ ฝังร่างผ่อนพักอยู่มากมาย และถึงขั้นมีการจัดทัวร์เพื่อนำชมหลุมศพเหล่านี้อย่างเป็นเรื่องเป็นราวมีไกด์นำชมและอธิบายความเป็นมาต่างๆ เนื่องจากสุสานเหล่านี้เป็นสุสานใหญ่ การไปเดินหาหลุมศพเองอาจทำได้ยาก และอาจไม่ได้รับรู้เรื่องราวเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ ต่อเนื่อง

Dark Tourism อีกประเภทหนึ่งจัดว่าอยู่ในข่าย ‘สนุก’ ได้ด้วยซ้ำ เช่น การทัวร์ปราสาทผีในเอดินบะระ เป็นต้น เป็นการท่องเที่ยวเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศของปราสาทในยุคกลางที่เต็มไปด้วยเรื่องเล่าสยองขวัญ การฆ่าฟัน และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ แต่มุ่งเน้นไปที่การสร้างบรรยากาศให้น่ากลัวมากกว่า ซึ่งในบางครั้งก็ไม่ได้น่ากลัวจริง เพราะผู้จัดพยายามทำให้น่ากลัวมากเกินไปจนไม่สมจริงก็มี

War Tourism: ท่องไปในแดนสงคราม

การท่องเที่ยวอีกประเภทหนึ่งที่คล้ายกับ Disaster Tourism แต่ไม่ใช่เสียทีเดียว ก็คือ War Tourism ซึ่งคือการเดินทางไปในสถานที่สำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับสงครามต่างๆ

ตัวอย่างการท่องเที่ยวไปตามสถานที่เหล่านี้ก็เช่น การเดินทางตามรอยสงครามประกาศเอกราชของอเมริกาในสหรัฐอเมริกาทางฝั่งตะวันออก ซึ่งเกิดเหตุการณ์ขึ้นในเมืองต่างๆ หลายเมือง เช่น ที่กำเนิดเพลงชาติอเมริกัน อย่าง The Star-Spangled Banner ซึ่งผู้แต่งอย่าง ฟรานซิส สก็อตต์ คีย์ ได้แต่งขึ้นขณะไปเยือนป้อมชื่อ Fort McHenry ในเมืองบัลติมอร์ หรือการตามรอยสงครามกลางเมืองอเมริกัน ซึ่งหลายแห่งก็ได้สร้างขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ เช่น เมือง Harpers Ferry อันเป็นที่เกิดเหตุ ‘กระตุ้น’ ให้สงครามปะทุขึ้น เป็นเมืองเล็กๆ ในเวสต์เวอร์จิเนีย ปัจจุบันทั้งเมืองก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ไปทั้งหมด เป็นต้น

นอกจากนี้ยังมีสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสอง เช่น การไปเยือนเมืองดันเคิร์ก ไปเยือนเมืองซาราเจโวที่มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ถูกลอบสังหาร อันเป็นชนวนให้เกิดสงครามโลกครั้งที่หนึ่งขึ้นมา การท่องเที่ยวแบบนี้มีบางอย่างคาบเกี่ยวกับ Dark Tourism ด้วย เช่น การไปเยือนสุสานของทหารในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ฝังอยู่ในท้องทุ่งแฟลนเดอร์สในยุโรป เป็นต้น

นักท่องเที่ยวแบบ War Tourist นี้ มีทั้งประเภทที่ไปเยือนสถานที่เกิดสงครามในอดีต และประเภทที่ ‘แสวงหาความตื่นเต้น’ (Thrill Seekers) ที่อยากเข้าไปยังสถานที่เกิดสงครามจริง เช่น เข้าไปในอิรักหรือเข้าไปในสถานที่ต้องห้ามสำหรับการท่องเที่ยว โดยมีประวัติศาสตร์ย้อนกลับไปหา เหล่า ‘ศิลปินสงคราม’ (War Artist) ที่ตระเวนไปในเขตเกิดสงครามเพื่อวาดภาพสงครามที่กำลังเกิดขึ้น เช่น Frank Leslie ที่ถือว่าเป็น War Artist ในสงครามกลางเมืองอเมริกัน เป็นต้น

ในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวประเภทนี้เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เกิดปัญหากับประเทศที่กำลังเผชิญกับสงครามอยู่ เพราะต้องหันมาระวังดูแลความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวเหล่านี้ด้วย แต่ก็แน่นอนว่าไม่สามารถดูแลความปลอดภัย ใดๆ ให้ได้ บ่อยครั้งนักท่องเที่ยวประเภทนี้จึงต้องเผชิญกับเหตุร้ายจนอาจ เกิดการสูญเสียได้ ตัวอย่างเช่น ในอิหร่าน มี ‘ทัวร์’ ที่จัดโดยปฏิวัติ พาคนเข้าไปเที่ยวชมพื้นที่ที่เคยเกิดสงครามระหว่างอิหร่านกับอิรัก แต่ก็มีเหตุสูญเสีย ทำให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิตไป 75 คน ในการเดินทาง 7 ครั้ง เป็นต้น

Slum Tourism: หายนะทางเศรษฐกิจและสังคม

อีกการท่องเที่ยวหนึ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 แล้ว ก็คือการท่องเที่ยว ไปใน ‘ย่านยากจน’ ของเมือง ซึ่งก็คือ สลัม หรือ Ghettoตัวอย่างที่เด่นชัดที่สุดของการท่องเที่ยวแบบนี้ น่าจะเป็นในแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่มีการแบ่งแยกสีผิวอย่างรุนแรง ทำให้คนผิวดำต้องอยู่ในชุมชนแออัด ไม่มีชีวิตที่ดี แต่กระนั้น ชุมชนที่พวกเขาอยู่ (เรียกว่า Township) ก็มีวัฒนธรรมเฉพาะ เช่น มีการทาสีสันสดใสเจิดจ้า นั่นทำให้การไปเยือนสถานที่แบบนี้ดึงดูดใจคนขึ้นมา

นอกจากนี้ยังมี Slum Tourism ในบอมเบย์ ที่บูมขึ้นมาเนื่องจากภาพยนตร์ อย่าง Salaam Bombay หรือหนังสืออย่าง Shantaram ที่ทำให้นักท่องเที่ยวตะวันตกอยากเข้าไปสัมผัสอินเดียลึกๆ ลงไปถึงระดับชุมชน

แต่ก็ใช่ว่า Slum Tourism จะต้องเกิดขึ้นในประเทศยากจนเท่านั้นนะครับ เพราะในสหรัฐอเมริกาเอง ก็มีลักษณะของ Slum หรือ Ghettos Tourism นี้เกิดขึ้นในหลายเมือง ตัวอย่างเช่น ในนิวยอร์กยุคหนึ่ง เราคนไทยอาจเคยได้ยินว่าย่านบางย่านนั้นอันตราย เช่น ย่านฮาร์เล็ม (Harlem) แต่ความอันตรายที่ว่า ทำให้คนอยากไปเที่ยว ไปดู ไปเยือน ซึ่งพอมีคนเข้าไปมากๆ ย่านเหล่านั้นก็เปลี่ยนไป อย่างฮาร์เล็ม เมื่อย่านนี้ ‘เปิด’ มากขึ้น ตอนหลังก็เกิดกระแสของเพลงอย่าง Harlem Shake ที่ยิ่งทำให้คนรู้สึกว่าฮาร์เล็มไม่น่ากลัว หรือเป็นที่ที่น่าไปเยือนมากขึ้นไปอีก เพราะมีวัฒนธรรมเฉพาะ อย่างเช่นมี Gansta Rap หรือเพลงแร็ปแบบมาเฟีย เป็นต้น

ย่านอื่นๆ ในสหรัฐอเมริกาก็มีอีกมากนะครับ เช่น บางย่านของดีทรอยต์ ซึ่งรวมไปถึง 8 Mile Road อันเป็นสถานที่ที่อยู่ในภาพยนตร์เรื่อง 8 Mile ที่นำแสดงโดย Eminem และถือเป็นย่านที่เสื่อมโทรม ทว่าก็เป็นแหล่งกำเนิดดนตรีประเภทหนึ่ง เป็นต้น

Disaster Tourism: ทัวร์แห่งภัยพิบัติ

แล้ว Disaster Tourism หรือทัวร์แห่งภัยพิบัติจริงๆ แล้วเป็นอย่างไร? โดยมาก นิยามของ Disaster Tourism ก็คือการเดินทางไปในพื้่นที่ที่เกิดภัยพิบัติทางสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเกิดจากน้ำมือของธรรมชาติหรือมนุษย์ดังนั้น Disaster Tourism จึงไม่เหมือนกับ Dark, War หรือ Slum Tourism แม้ว่าจะมีอะไรหลายอย่างคาบเกี่ยวกันอยู่ก็ตามเรื่องหนึ่งที่คาบเกี่ยวกันแน่ๆ ก็คือคำถามทางศีลธรรม เพราะคำว่า ‘นักท่องเที่ยว’ หรือ Tourist มีนัยของการพักผ่อนหย่อนใจ เป็น Recreational Activity อย่างหนึ่ง คำถามก็คือ เราจะ ‘หย่อนใจ’ ด้วยการดูความทุกข์ของผู้อื่นได้หรือ นี่ไม่ใช่การไป ‘แอบดู’ ที่จะทำให้เข้าข่ายโรคจิตแบบ voyeurism หรือเปล่า ที่สำคัญ การท่องเที่ยวแนวนี้ยังเป็นการหากำไรจากความสูญเสียของคนอื่นด้วย ซึ่งไม่น่าทำ

แต่ก็มีเสียงคัดค้านบอกว่า การท่องเที่ยวแบบนี้ ไม่ได้ให้แค่ความหย่อนใจเท่านั้น และความหย่อนใจก็ไม่ได้มีความหมายเดียว ในการพักผ่อนหย่อนใจนั้นอาจทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ เกร็ดประวัติศาสตร์ หรือแม้กระทั่งสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับพื้นที่นั้นๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น Slum Tourism ทั้งในอินเดีย แอฟริกาใต้ หรือกระทั่งในนิวยอร์กเอง ก็มีผลให้เกิดมาตรการต่างๆ กับพื้่นที่ เกิดการใช้จ่ายทำให้เงินทองหมุนเวียน สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องที่จึงดีขึ้น เป็นต้น

ตัวอย่างของ Disaster Tourism ที่น่าจะเก่าแก่ที่สุด ก็คือการไปเยือนเมืองปอมเปอี เมืองที่ต้องพบเผชิญกับการระเบิดของภูเขาไฟวิสุเวียสตั้งแต่ ค.ศ. 79 การไปเยือนปอมเปอีนั้นสะเทือนใจมาก เพราะได้พบเห็นร่างของผู้เสียชีวิต ณ สถานที่จริง ทำให้เกิดความสลดใจมาก แต่ที่หลายคน เห็นว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน ก็คือการได้รับความรู้เรื่องธรณีวิทยา ภูเขาไฟ การปะทุของภูเขาไฟ รวมถึงหายนะที่อาจเกิดขึ้นได้หากภูเขาไฟมีค่าความรุนแรง (VEI หรือ Volcano Explosivity Index) ที่แตกต่างกันไป รวมถึงเรียนรู้ถึง ‘มหาภูเขาไฟ’ (Supervolcano) ที่อยู่ในแถบถิ่นใกล้เคียงกันในอิตาลี เป็นต้น

อีกการท่องเที่ยวหนึ่งที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการไปเยือนพื้นที่ในแถบเชอร์โนบิล ซึ่งเคยเกิดหายนะขึ้นในวันที่ 26 เมษายน 1986 เมื่อเตาปฏิกรณ์หมายเลขสี่ของโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเกิดระเบิด ทำให้กัมมันตภาพรังสีแผ่ออกเป็นวงกว้าง ส่งผลเสียหายไปทั่วยุโรป โดยในปัจจุบัน บริษัทชื่อ SlolEast Travel ในยูเครน เป็นผู้จัดทัวร์ไปเช้าเย็นกลับเข้าไปในเขตเชอร์โนบิล ซึ่งจะมีการไปเยี่ยมชมป่า Red Forrestอันเป็นป่าสนที่ถูกกัมมันตภาพรังสีทำลาย รวมไปถึงหมู่บ้านใกล้ๆ ที่ต้องอพยพหนีออกไปทั้งหมดเพราะปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แม้การทัวร์นี้จะไม่ได้เป็นการ ‘แอบดู’ ใคร เพราะไม่มีใครอยู่ในพื้นที่นั้นแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์หลายกลุ่มบอกว่า ปริมาณรังสีในพื้นที่ยังอันตรายอยู่ แม้ผู้จัดจะบอกตรงข้ามก็ตามที

ตัวอย่างของ Disaster Tourism ที่น่าจะสวยงามที่สุด ก็คือการไปเยือนภูเขาไฟ Eyjafjallajokull ในไอซ์แลนด์ ภูเขาไฟนี้เคยปะทุในวันที่ 20 มีนาคม 2010 จนต้องอพยพคนในพื้นที่ออกมามากกว่า 500 คน   แต่ที่ส่งผลร้ายแรงกว่านั้นก็คือ เมื่อปะทะครั้งที่สองในวันที่ 14 เมษายนปีเดียวกัน ปรากฏว่าเถ้าภูเขาไฟลอยไกลไปทั่วยุโรป ทำให้ต้องปิดสนามบิน ผู้คนเดินทางไม่ได้อยู่นานนับสัปดาห์ ดึงดูดความสนใจคนทั่วโลกทำให้มีบริษัทหลายแห่งจัดทัวร์ไปชมภูเขาไฟแห่งนี้โดยเฉพาะ ซึ่งก็มี     ทั้งภูเขาไฟและพืดน้ำแข็งขนาดยักษ์สวยงามดึงดูด

Disaster Tourism อีกที่หนึ่งที่ไปง่าย และเป็นเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ถึงขนาดที่ปรากฏอยู่ในงานวรรณกรรมหลายเรื่อง อาทิเช่น After the Quake ของ ฮารูกิ มูราคามิ ก็คือแผ่นดินไหวใหญ่ที่เมืองโกเบ ประเทศญี่ปุ่น

แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ 17 มกราคม 1995 ตอนเช้ามืด เรียกว่าแผ่นดินไหวใหญ่ Great Hanshin Awaji ทำให้มีผู้เสียชีวิตทันทีมากกว่าหกพันคน และบ้านเรือนเสียหายเป็นหมื่นๆ หลัง แผ่นดินไหวครั้งนั้นมีขนาด 6.9 และอาจถึง 7 ขึ้นอยู่กับว่าใช้มาตราวัดแบบไหน

นั่นทำให้เกิด Kobe Earthquake Memorial Museum ขึ้นมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวครั้งนั้น ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร สร้างความเสียหายอย่างไรบ้าง รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวโดยทั่วไป เช่น ความแรงของแผ่นดินไหวที่แตกต่างกันด้วยค่าเพียง 1 ไม่ได้แปลว่าจะแรงกว่ากันเพียงเล็กน้อย ด้วยการนำเสนอเป็นภาพสามมิติออกมาให้เห็นชัดเจน เป็นต้น

ทำไมเราถึงสนใจหายนะของคนอื่น

บริเจ็ตต์ ซิโอน (Brigitte Sion) นักวิชาการผู้เขียนหนังสือ My Jewish Learning เคยอธิบายไว้ว่า การที่คนเราสนใจ ‘หายนะ’ ของคนอื่นนั้นมีเหตุผลหลายอย่าง

แรกสุด เราอาจมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับผู้รอดชีวิต เหยื่อ ผู้เสียชีวิต หรือผู้รู้เห็นในเหตุการณ์นั้นๆ ก็ได้ เป็นได้ตั้งแต่คนที่มีความสัมพันธ์โดยตรง หรืออาจแค่อ่านงานวรรณกรรมแล้วซาบซึ้งกับตัวละครที่ประสบเหตุจากเหตุการณ์นั้นๆ ก็เลยอยากเดินทางไปยังสถานที่จริงก็ได้ทั้งนั้น

ซิโอนให้ความเห็นว่า Disaster Tourism ที่จะได้ประโยชน์ท่ี่สุด น่าจะเป็นความสนใจในทางความรู้หรือวัฒนธรรมมากกว่า นั่นคือเดินทางไปเพื่อทำความเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น หรือโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นนั้นมีผลพวงทางประวัติศาสตร์ต่อเนื่องมายังเหตุการณ์ในปัจจุบันอย่างไรบ้าง

ส่วนนักท่องเที่ยวแนวนี้ที่น่าจะได้ประโยชน์น้อยที่สุด ก็คือคนที่ไม่ได้มีความผูกพันเชื่อมโยงอะไรด้วยเลย แต่ไปดูตามที่โปรแกรมทัวร์จัดให้ เช่น คนที่ไปเที่ยวกัมพูชาเพื่อดูปราสาทหิน แต่บังเอิญว่าโปรแกรมทัวร์มีไปดูทุ่งสังหารด้วย ก็เลยไปดูโดยไม่ได้คิดอะไร เป็นต้น

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นกับ Disaster Tourism ก็คือแต่ละเหตุภัยพิบัตินั้น มี ‘คน’ เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยแน่ๆ และทุกเหตุการณ์ล้วนคือความสูญเสียของคน เช่น การใส่กางเกงขาสั้นหรือรองเท้าแตะเข้าชมค่ายเอาชวิตซ์ ซึ่งเป็นเหมือนการไม่เคารพผู้เสียชีวิต เป็นต้น

สถานที่เกิดภัยพิบัติเหล่านี้มีมิติทางวัฒนธรรมที่ละเอียดอ่อน เช่น  เราอาจถ่ายภาพที่ Ground Zero ในนิวยอร์กได้ แต่การพูดเสียงดังที่ ESMA อันเป็นค่ายกักกันทรมานนักโทษในอาร์เจนตินา ถือว่าเป็นเรื่องไม่สมควร รวมถึงการสอดส่องเข้าไปดูตามบ้านช่องของชาวนิวออร์ลีนส์ที่เคยประสบเหตุจากพายุแคทรินาพัดถล่มด้วย

โดยสรุป ซิโอนบอกว่าทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับทั้งการจัดการพื้นที่และการให้ความรู้กับนักท่องเที่ยวด้วยว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้แค่ไหน โดยตัวนักท่องเที่ยวเองก็ต้องเข้าใจตัวเองเสียก่อน ว่าจะเดินทางไปยังสถานที่นั้นๆ เพื่ออะไร โดยเป้าหมายที่ควรต้องสละทิ้งให้ได้เสียก่อนในเบื้องต้นก็คือการคิดว่ากำลังเดินทางไป ‘พักผ่อนหย่อนใจ’ ในความหมายเดิม แต่ Disaster Tourism ควรเกิดขึ้นเพื่อให้คนรุ่นหลังได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านต่างๆ

เพราะนี่คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากความสูญเสียของผู้คนและหลายการสูญเสีย ก็หมายถึงชีวิตและเลือดเนื้อของคนเหล่านั้นโดยตรงด้วย

Share This Story !

Published On: 31/08/2019,3 min read,Views: 800,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023