
น้ำกับการท่องเที่ยว : ปัญหาที่ไม่ไหลลื่น
It can be said that if there is no water or water sources, no industry, including the tourism industry, will exist. Although the water we use in the tourism industry is counted as a small portion of the used water around the world, the main point of water consumption for this type of industry is that ‘the best quality water’ has to be provided. More or less, this will surely have an effect on natural resources and water uses in tourist attractions. The following article will show you the proper ways to use water and the reasons why this is a good start to seriously ‘handle’ the water problems.
แทบพูดได้เลยว่า ถ้าไม่มีน้ำหรือแหล่งน้ำก็ไม่อาจมีอุตสาหกรรมใดๆ เกิดขึ้นได้ รวมถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย
มีรายงานของ Carbon Discloser Project หรือ CDP ซึ่งเป็น หน่วยงานในอังกฤษที่คอยเปิดเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อม ของบริษัทใหญ่เพื่อประเมินความเสี่ยงในการจัดการ เปิดเผยว่าในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา การใช้น้ำของมนุษย์โลกเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า
แน่นอน การใช้น้ำที่มากมายเช่นนี้ย่อมทำให้เกิดการ ‘แย่งน้ำ’ กันใช้ ประมาณกันว่าตั้งแต่ปี 1995 มาแล้วที่คนในโลกราว 450 ล้านคน (และเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ) มีปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรน้ำ
แต่คุณรู้ไหมครับ − ว่าปัญหาไม่ใช่เพราะโลกมีน้ำให้คนไม่พอใช้หรอก ปัญหากลับเป็นการจัดสรรทรัพยากรน้ำที่ไม่เท่าเทียมกันต่างหากเล่า
พื้นที่ที่มี ‘ความเครียดเรื่องน้ำ’ (Water-Stressed Basins) อยู่ในทั้ง แอฟริกาเหนือ ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน ตะวันออกกลาง ตะวันออกใกล้ เอเชียใต้ จีนตอนเหนือ ออสเตรเลีย เม็กซิโก บราซิลทางตะวันออก เฉียงเหนือ ชายฝั่งตะวันตกของอเมริกาใต้ และในปัจจุบันก็อย่างที่เรา เห็นข่าวกันอยู่ ว่ากระทั่งในแคลิฟอร์เนียก็มีวิกฤติน้ำเกิดขึ้นด้วย
แล้วเกี่ยวอะไรกับการท่องเที่ยว?
ที่จริงแล้ว การใช้น้ำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น ต้องบอกว่ามีส่วนแบ่ง เพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง การใช้น้ำในโลก ประมาณว่า 70% ใช้เพื่อ การเกษตร ในขณะที่การท่องเที่ยวคิดเป็นไม่ถึง 1% เท่านั้น
แต่ถึงจะใช้น้ำไม่ถึง 1% ประเด็นหลักของการใช้น้ำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็คือ อุตสาหกรรมนี้ต้องใช้ ‘น้ำที่ดีที่สุด’ ซึ่งก็ต้องเป็นน้ำจืดหรือ Fresh Water ด้วย และส่วนใหญ่ที่ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปกระจุกตัวกันอยู่ ก็มักมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำ ดังนั้น ถ้าดูตัวเลขเฉลี่ยระดับโลก เราอาจรู้สึกว่าการท่องเที่ยวไม่ได้ใช้น้ำมากมายอะไร แต่ถ้าไปดูพื้นที่เฉพาะ เช่น ประเทศที่มีการท่องเที่ยวเป็นรายได้หลัก (และอยู่ในภูมิภาคที่มี ปัญหาเรื่องน้ำ.อยู่แล้ว) อย่างเช่น บาร์เบโดส ไซปรัส หรือมอลตา จะพบ ว่าการท่องเที่ยวใช้น้ำมากถึง 7.3% ของการใช้น้ำทั้งหมด
ตัวเลขนี้รวมตั้งแต่การใช้น้ำโดยตรง เช่น ใช้ในครัว ในการซักรีด ใช้ใน การอาบ ในสระว่ายน้ำ ใช้ในระบบทำความเย็น หรือในระบบชลประทาน เพื่อสร้างสวนเขียวชอุ่มให้นักท่องเที่ยวได้ชม รวมไปถึง การใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น สนามกอล์ฟ ซาวนา หรือสปา
โดยเฉลี่ยแล้ว นักท่องเที่ยวหนึ่งคนจะใช้น้ำ ได้ตั้งแต่ 84 ถึง 2,000 ลิตร ต่อวัน แต่ที่น่าตื่นตะลึงอย่างยิ่งก็คือ มีรายงานชื่อ Tourism and water use: Supply, demand, and security. An international review ของ Stefan Gössling และคณะ ที่อ้างงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง บอกว่า ในประเทศไทยนั้น มีการใช้น้ำ สูงถึง 913-3,423 ลิตรต่อห้องต่อวัน ซึ่งเป็นไปได้ว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีการสำรวจมา
เอาเข้าจริง น้ำนั้นเหมือนอาหาร นั่นคือถ้าเอาน้ำสะอาดหรืออาหาร ที่ทั้งโลกผลิตได้มาเฉลี่ยต่อหัว เราจะพบว่าไม่น่ามีมนุษย์คนไหนต้องอดน้ำหรืออดอาหารเลย แต่ในความเป็นจริง เราจะพบว่าทั้งน้ำและอาหาร มีการกระจายตัวไม่สม่ำเสมอเท่าเทียมกัน บางภูมิภาค บางเมือง หรือบางอุตสาหกรรม จะมีโอกาสได้รับทรัพยากรเหล่านี้มากกว่าที่อื่นๆ และนอกจากได้ ‘มาก’ แล้ว ก็ยังมักได้ในสิ่งที่ ‘ดี’ กว่าด้วย เช่น ธัญพืช จำนวนมาก ที่ผลิตได้ในโลก ไม่ได้มีไว้เพื่อให้มนุษย์กิน แต่มีไว้เพื่อเลี้ยงวัว แล้วก็มีแต่มนุษย์ที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น ที่จะได้กินเนื้อวัวเหล่านั้นอีกต่อหนึ่ง
นั่นคือเรื่องของการกินซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่พอมาถึงเรื่องของการท่องเที่ยว เรารู้กันอยู่แล้วว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่ได้เพียง จัดหาสิ่งที่ ‘ดี’ เท่านั้น แต่ยังต้อง ‘ดีที่สุด’ ด้วย ให้กับนักท่องเที่ยว ดังนั้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจึงมีปัญหาเรื่องน้ำในหลายระดับ
ประมาณว่า ในปี 2020 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะใช้น้ำเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากปัจจัยสามอย่าง ได้แก่
1. ปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้น
องค์การท่องเที่ยวโลก (World Tourism Organization) ยังคง ประมาณการเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ว่าในปี 2020 จะมีการเดินทาง เคลื่อนย้ายไปมาระหว่างประเทศมากถึง 1.56 พันล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า ในปี 2005 ถึงห้าเท่า นั่นเพราะคนรุ่นใหม่นิยมการหา ‘ประสบการณ์’ มากขึ้น เศรษฐกิจในบางประเทศ (เช่น จีน) ดีขึ้น ผู้คนจึงออกนอกประเทศ
เพื่อท่องเที่ยวกันมากขึ้น
2. มาตรฐานของโรงแรมสูงขึ้น
เรื่องนี้น่าสนใจมาก เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น โรงแรม ต่างๆ ก็ต้องแข่งขันกันมากขึ้น ทำให้แต่ละที่ยกระดับมาตรฐานของ ตัวเองสูงขึ้น โดยที่น้ำนั้นถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นในการให้บริการ เลย โรงแรมไหนมีน้ำไม่ดี น้ำมีปัญหา รับรองได้ว่าไม่มีนักท่องเที่ยว ไปใช้บริการแน่ๆ
การใช้น้ำนั้นเป็นไปอย่างที่ว่าในข้างต้น คือใช้น้ำโดยตรงทั้งในการอาบ กิน ดื่ม ประกอบอาหาร แต่ที่จะเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็น การใช้แบบไม่บันยะบันยังเพราะถือว่าอยู่ในช่วงเวลาของการ ‘ตามใจ ตัวเอง’ (Indulgence) เพื่อความผ่อนคลายในวันพักร้อนมากที่สุด ก็คือ กิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับน้ำต่างๆ เช่น สระว่ายน้ำ สปา รวมไปถึงสนามกอล์ฟ
3. กิจกรรมที่ใช้น้ำในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเข้มข้น มากขึ้น
ตัวอย่างกิจกรรมที่ใช้น้ำมากที่สุด ก็คือ สนามกอล์ฟ ประมาณกันว่า ประเทศในสหภาพยุโรปและในสหรัฐอเมริกานั้น มีการเปิดสนามกอล์ฟ เพิ่มมากถึงกว่า 3,000 แห่ง นับตั้งแต่ปี 1985−2010 โดยสนามกอล์ฟ จำนวนมากตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำเช่น แอริโซนา เท็กซัส หรือใน สเปน เป็นต้น และในปัจจุบัน สนามกอล์ฟก็หันมาเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในประเทศอย่าง จีน ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาใต้ และยุโรปตะวันออก ส่วนหนึ่งก็เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มาเล่นกอล์ฟ โดยเชื่อว่าเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวระดับสูงที่ใช้จ่ายมาก แต่พื้นที่เหล่านี้ มักเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำและคาดการณ์กันว่า ปัญหาจะยิ่งรุนแรง มากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคต เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก
อีกกิจกรรมหนึ่งที่หลายคนอาจนึกไม่ถึงว่าต้องใช้น้ำด้วยเหมือนกัน ก็คือ การเล่นสกี แต่ในปัจจุบัน สกีรีสอร์ตจำนวนมากประสบปัญหาที่เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้หิมะไม่ตกหรือตกน้อย จึงมี รายงานว่ามีพื้นที่เล่นสกีที่ต้อง ‘สร้างหิมะ’ (Snowmaking) เพิ่มขึ้นมาก โดยเทรนด์นี้คาดกันว่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะความรุนแรงของ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทวีขึ้น และมนุษย์ต้องต่อกรด้วย การใช้น้ำมาสร้างหิมะมากขึ้น
ถ้าเรามาดูกันว่า นักท่องเที่ยวใช้น้ำทำอะไรบ้าง โดยแยกเป็นเรื่องๆ ไป รายงานของ Stefan Gössling บอกว่า เราสามารถแยกแยะออกได้เป็น
1. ที่พัก (Accommodation)
น้ำที่ใช้ในที่พักนั้น เฉลี่ยอยู่ที่ 84−2,000 ลิตรต่อวัน (ยกเว้นการสำรวจ ในไทย ที่พบว่ามีการใช้ได้มากถึง 3,423 ลิตรต่อวันกันเลยทีเดียว) โดยในจำนวนนี้ไม่ใช่น้ำที่แขกใช้อย่างเดียว แต่รวมไปถึงน้ำที่พนักงาน จำเป็นต้องใช้เพื่อให้บริการแขกด้วย
มีรายงานอีกชิ้นหนึ่งบอกว่า ในพื้นที่อยู่อาศัยของพนักงาน มีการใช้น้ำ250 ลิตรต่อวันต่อคน ส่วนการใช้น้ำของพนักงานในช่วงที่ทำงานจะอยู่ที่ 30 ลิตรต่อวันต่อคน แต่จะใช้น้ำมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับ ‘ดาว’ ของโรงแรมอีก เช่น มีรายงานว่า โรงแรมระดับ 1 ดาวในสเปน จะมี การใช้น้ำ174 ลิตรต่อวันต่อคน ถ้าเป็น 2 ดาว ก็จะเพิ่มมาเป็น 194 ลิตร 3 ดาว เพิ่มขึ้นมาเป็น 287 ลิตร และ 4 ดาว กลายเป็น 361 ลิตร เป็นต้น
ในโมร็อกโกก็คล้ายกัน คือจาก 3 ดาวที่ใช้ 300 ลิตร มาเป็น 400 ลิตร และ 500 ลิตร เมื่อเพิ่มขึ้นมาเป็น 4 และ 5 ดาวตามลำดับ พูดง่ายๆ ก็คือ ยิ่งหรูหราเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องใช้น้ำมากขึ้นเท่านั้น และน้ำที่ใช้สำหรับ การทำความสะอาดในโรงแรมหรูเหล่านี้ ก็อาจสะอาดยิ่งกว่าน้ำที่คนจน ในเมืองหลายที่บนโลก (เช่นในอินเดีย หรือแอฟริกา) ใช้ในการบริโภคเสียอีก
ตัวเลขที่น่าสนใจอีกชุดหนึ่งมาจากการศึกษาในออสเตรเลีย เขาแยกแยะน้ำที่ใช้ในโรงแรมออกเป็นส่วนต่างๆ พบว่าในห้องพักแขกนั้น ใช้น้ำ 42% ครัว 16% การซักรีด 15% ห้องน้ำสาธารณะ (เช่น ห้องน้ำในล็อบบี้) 12% ระบบทำความเย็น 10% การทำสวน 3% และสระว่ายน้ำที่เรา คิดว่าใช้เยอะนั้น คิดเป็นเพียง 2% เท่านั้นเอง เนื่องจากมีระบบหมุนเวียนน้ำ
อย่างไรก็ตาม การศึกษาโรงแรมในที่อื่นๆ เช่น ในซีแอตเติลของ สหรัฐอเมริกา หรือในตุรกี พบว่าสัดส่วนการใช้น้ำแตกต่างกันออกไป เช่น ในซีแอตเติล ส่วนที่ใช้น้ำมากที่สุดคือครัวและพื้นที่ส่วนกลาง ในขณะที่ที่ตุรกีจะเป็นครัวและพื้นที่ซักรีดมากกว่า
2. กิจกรรม (Activities)
นอกจากสนามกอล์ฟ (ที่ใช้น้ำมากถึงปีละ 80,000−100,000 ลูกบาศก์เมตร) แล้ว อีกส่วนหนึ่งที่ใช้น้ำมาก รองลงมา ก็คือส่วนที่รองรับอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว อย่างอุตสาหกรรม MICE ซึ่งก็คือ การประชุม หรืออีเวนต์ใหญ่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์ประชุมหรือโรงแรม ใหญ่ๆ
มีการศึกษา Millennium Dome ในลอนดอนเมื่อปี 2000 พบว่า ผู้มาเยือนที่มีมากถึงหกล้านคนนั้น แต่ละคนใช้น้ำราว 22 ลิตร โดย 48% ของจำนวนนี้ ใช้น้ำเพื่อกดชักโครก อีก 32% เป็นการใช้น้ำเพื่อ
ทำความสะอาด และในโรงอาหาร 13% ใช้เพื่อล้างมือ และ 7% ใช้สำหรับ โถปัสสาวะชาย ซึ่งไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลย
3. สาธารณูปโภค (Infrastructure)
ถึงแม้จะมีงานวิจัยการใช้น้ำในสาธารณูปโภคเพื่อการท่องเที่ยวไม่มากนัก แต่ก็รายงานว่าการใช้น้ำประเภทนี้คิดเป็น 17% ของการใช้น้ำทั้งหมด ในโลก
ที่เราอาจคิดไม่ถึงก็คือ มีการใช้น้ำตั้งแต่การก่อสร้างแล้ว โดยการก่อสร้าง ส่วนใหญ่ต้องใช้คอนกรีต คอนกรีตถือเป็นวัสดุก่อสร้างที่มีการใช้มาก
เป็นอันดับสองรองลงมาจากน้ำประมาณกันว่า การใช้น้ำเพื่อผสมคอนกรีต ทั่วโลกในแต่ละปีนั้น อยู่ที่ราว 1 พันล้านลูกบาศก์เมตร แต่เนื่องจาก ไม่ได้มีการแยกว่าคอนกรีตที่ใช้สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้นมีมาก แค่ไหน เราจึงรู้แต่เพียงว่า คอนกรีตที่ใช้เพื่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัย (ซึ่งรวมถึงโรงแรมด้วย) คิดเป็น 31% ของทั้งโลก ในขณะที่การสร้าง ไฮเวย์และถนนคิดเป็น 26% และการใช้งานในอาคาร อุตสาหกรรม 18%
4. เชื้อเพลิง (Fuel Use)
ยูเนสโกรายงานว่า การใช้น้ำและพลังงานนั้นมีความสัมพันธ์กัน เพราะเวลา ผลิตพลังงานต้องใช้น้ำร่วมด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้าพลังน้ำหรือการใช้
น้ำเพื่อหล่อเย็น การสกัดต่างๆ หรือการควบคุมการปล่อยก๊าซพิษ
มีรายงานว่า ในการผลิตน้ำมัน 1 ลิตร ต้องใช้น้ำราว 18 ลิตร ดังนั้น การท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง โดยเฉพาะการเดินทางทางอากาศ จึงมีส่วนในการใช้น้ำปริมาณมากด้วย เพราะโดยเฉลี่ยแล้ว การเดินทาง โดยเครื่องบิน จะใช้น้ำมันราว 4.1 ลิตรต่อ 100 กิโลเมตรต่อผู้โดยสาร หนึ่งคน แล้วถ้าดูการเดินทางเฉลี่ยทั่วโลก พบว่ามีการเดินทางทางอากาศ เฉลี่ยปีละ 7,600 กิโลเมตรต่อคน นั่นก็แปลว่าจะมีการใช้น้ำราวๆ 5,600 ลิตร ซึ่งเท่ากับการใช้น้ำในรีสอร์ตหรูเป็นเวลานานราว 14 วัน เลยทีเดียว
5. อาหาร
น้ำที่ปนอยู่ในการทำอาหารก็ไม่น้อยอีกเช่นกัน แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับภูมิภาค ด้วย เช่น การผลิตข้าววีตนั้น ประมาณกันว่าต้องใช้น้ำ400−2,000 ลิตร ในการผลิตวีต 1 กิโลกรัม หรือใช้น้ำ1,000−20,000 ลิตร เพื่อผลิตเนื้อ หนึ่งกิโลกรัม เป็นต้น
แต่ถ้าใช้ตัวเลขเหล่านี้เป็นฐานแล้วคำนวณอาหารโดยรวมทั้งหมด เราจะพบว่า ต้องใช้น้ำเพื่อผลิตอาหาร ให้มนุษย์ตั้งแต่วันละ 2,000−5,000 ลิตรต่อคน ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำ1 ลิตร ต่อพลังงาน 1 กิโลแคลอรี ในอาหาร ซึ่งก็แน่นอนว่า ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อาหารเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ และเมื่อเป็นอาหารที่ดีที่สุด ก็แปลว่าจะต้องใช้น้ำปริมาณมหาศาลไปด้วย ประมาณกันว่า ในการพักผ่อนนาน 14 วัน อาจต้องใช้น้ำเพื่อผลิตอาหาร โดยรวมมากกว่า 70 ลูกบาศก์เมตร
นั่นแสดงให้เห็นว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำมาก ทีเดียว คำถามก็คือ แล้วเราต้อง ‘จัดการ’ กับน้ำอย่างไร ซึ่งในรายงาน ของ Stefan Gössling แบ่งการจัดการปัญหานี้ออกเป็นสองด้าน ด้านแรกคือเรื่องของความต้องการหรือ Demand อีกด้านหนึ่งคือ ด้านการจัดหาหรือ Supply
ในด้านของความต้องการ มีข้อเสนอต่างๆ หลายอย่าง ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือ การเลือกตัวเลือกที่ใช้น้ำน้อยลง อย่างเช่นในเรื่องของสวนที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก สามารถแก้ปัญหานี้ได้ตั้งแต่การเลือกพรรณไม้ที่เหมาะสม กับท้องถิ่น ไม่นำต้นไม้จากต่างถิ่นเข้ามาปลูก ซึ่งจะต้องประคบประหงม มากกว่าปกติ รวมไปถึงการออกแบบแลนด์สเคป ที่สามารถออกแบบ ให้ประหยัดน้ำได้ เป็นต้น แต่เรื่องสำคัญที่สุด ก็คือการจัดโปรแกรมอบรม พนักงาน เพื่อให้เกิดสำนึกในการประหยัดน้ำตั้งแต่ต้นทาง
ที่น่าสนใจมากกว่า ก็คือในฝั่งการจัดหาหรือ Supply ซึ่งทำได้หลากหลายมาก แต่หลักๆ ก็คือ ต้องไม่ก่อให้เกิดการ ‘แย่งน้ำ’ จากชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งต้องการน้ำสำหรับการยังชีพ รวมถึงการทำเกษตร เช่น การขุดเจาะบ่อบาดาลเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้เอง และสร้างระบบหมุนเวียน น้ำใช้ในโรงแรม รวมไปถึงการทำระบบน้ำดื่มที่สะอาด ปลอดภัย นอกจากนี้ ในปัจจุบันมีหลายโรงแรมนำวิธีบำบัดน้ำเสียด้วยวิธีธรรมชาติ เช่น การใช้จุลินทรีย์บางชนิดเข้ามาใช้ แทนการใช้สารเคมี เป็นต้น
ผลกระทบของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่มีต่อทรัพยากรน้ำที่สะอาด รวมไปถึงคุณภาพน้ำนั้น เป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง อย่างเช่น ความอุดมสมบูรณ์หรือคุณภาพน้ำในพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงสภาพ ภูมิอากาศ ฤดูกาล การแข่งขัน ไล่ไปจนถึงการบำบัดและการรีไซเคิลน้ำ
แต่เรื่องต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ประกอบการใส่ใจและลงลึก ไปถึงการหาวิธีลดการใช้น้ำพบว่าหลายโรงแรมสามารถลดการใช้น้ำได้ราว 10−45% ขึ้นอยู่กับการจัดการและการเลือกลงทุนในเทคโนโลยี จัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งก็ต้องการการศึกษาที่ลึก ละเอียด และจำเพาะ เจาะจงลงไปในแต่ละพื้นที่อีกทีหนึ่ง
เรื่องน้ำไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไป เพราะในปัจจุบัน มีองค์ความรู้ต่างๆ มากมายให้ศึกษาและนำมาประยุกต์ใช้
คำถามก็คือ เราจะขวนขวายหาความรู้เหล่านั้น มาปรับใช้ กับธุรกิจของเราหรือเปล่าเท่านั้นเอง
อ้างอิง
• Tourism and water use: Supply, demand, and security. An international review โดย Stefan Gössling, Paul Peeters, C. Michael Hall, Jean-Paul Ceron, Ghislain Dubois, La Vergne Lehmann, Daniel Scott / https://www.researchgate.net/publication/236018306_Tourism_and_Water_Use_Supply_Demand_
and_Security_-_An_International_Review
• Water equity – Contrasting tourism water use with that of the local community โดย Susanne Becken / https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S2212371714000341
• Measuring the Impact of Tourism on Water Resources: alternative frameworks โดย Michalis Hadjikakou / https://core.ac.uk/download/pdf/30340784.pdf
• Tourism and water: Interrelationships and management โดย Stefan Gössling / http://www.globalwaterforum.org/2013/07/16/tourism-and-water-interrelationships-and-management