
สรุปสาระสำคัญจากการเข้าร่วมงาน TREND FORUM 2025
จัดโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และ Baramizi Lab
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2567 ณ TCDC กรุงเทพฯ
รัตนพร รักการค้า
BEYOND IMAGINATION เกินกว่าที่จินตนาการจะนึกไปถึง คือแนวคิดหลักประจำปี 2025 เพราะปี 2025 จะถูกขับเคลื่อนและบังคับให้ ‘ต้องคิดต่าง’ ผนวกกับการลงทุนกับจินตนาการเชิงกลยุทธ์ผ่านการเรียนรู้ และต้องนำเครื่องมือใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์
แนวโน้มโลกในปี 2025 สามารถจำแนกรูปแบบการเปลี่ยนแปลงใหญ่ ๆ ได้เป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย
- ด้านประชากร (Population): เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของการทำงาน สุขภาพจิต และความเป็นอยู่
- ด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture): เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพทางสังคมที่ส่งผลตั้งแต่การออกแบบเมือง จนถึงจักรวาลการเล่าเรื่องเพื่อการสร้างแบรนด์
- ด้านเทคโนโลยี (Technology): เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ AI และการกลับมาของเทคโนโลยี VR
- ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment): เทรนด์ที่ธรรมชาติคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก และสิ่งแวดล้อมคือศูนย์กลางของวิถีการดำรงชีวิต
- ด้านประชากร (Population): เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับอนาคตของการทำงาน ไปจนถึงเรื่องสุขภาพจิตและความเป็นอยู่
1.1 Well-Topia พื้นที่สุขภาวะที่ครอบคลุมมากขึ้นสำหรับทุกคน แนวคิดนี้ออกแบบมาเพื่อเข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีที่สุด สู่รูปแบบของเทรนด์ใส่ใจสุขภาพและการออกแบบเมืองในอนาคตที่รองรับการเปลี่ยนแปลงของอัตราผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นของโลก การใช้ชีวิตด้วยมาตรฐานใหม่ และโมเดลต้นแบบที่สามารถปรับใช้กับธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจโรงแรมที่พัก รวมทั้งการบริการดูแลสุขภาพ
1.2 The Great Refueling เติมพลังและเสริมความมั่นใจให้แก่กัน วิกฤตการณ์หลายด้านนำไปสู่ปัญหาการเข้าสังคมและสุขภาพจิต คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่นในตนเอง การสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่เป็นอิสระ (Democratizing Learning) โดยเฉพาะทักษะด้านสังคมและการเงิน จะช่วยให้พวกเขาเติบโตขึ้นอีกขั้นหนึ่ง และพื้นที่ ‘Seen Space’ จะเป็นพื้นที่ที่พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างอิสระ
1.3 Wisdom Workforce แรงงานสร้างสรรค์ยุคใหม่ คนรุ่นใหม่ทั่วโลกในช่วงอายุระหว่าง 16-24 ปี กำลังเผชิญกับภาวะว่างงาน โดยประเทศที่มีอัตราคนว่างงานสูงที่สุดคือ สเปน ร้อยละ 28.2 รองลงมาได้แก่ อิตาลี ร้อยละ 22.82 สวีเดน ร้อยละ 22.3 จีน ร้อยละ 15.3 และสหรัฐอเมริกา ร้อยละ 8.8 ซึ่งส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้า ทำให้เกิดภาวะ ‘กลัวการใช้จ่าย’
วัยรุ่นในปัจจุบันมีแนวคิดด้านการทำงานที่แตกต่างจากเดิม เช่น Crip Time การปรับเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับเวลาและการสร้างสภาพแวดล้อมในที่ทำงานให้เหมาะสม การทำงานแบบ Work life balance การเกษียณอายุแบบไมโครโดส (Microdose Retirement) คือการหยุดพักชั่วคราวระยะยาวระหว่างชีวิตการทำงาน ในช่วงที่ยังอายุไม่มาก และการพัฒนาตนเองแบบดีไอวาย (DIY Education) ที่ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ต้องหมั่นเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ตลอดชีวิต
1.4 Lo-fi Strategies หย่อนใจไปกับโลกแอนะล็อก คนรุ่น Gen Z สนใจงานอดิเรกแบบแอนะล็อกมากขึ้น เนื่องจากเริ่มตระหนักถึงผลเสียของของโซเชียลมีเดีย โดยหันกลับมาสนใจกิจกรรมแบบในอดีต เช่น การเล่นบอร์ดเกม การสะสมแผ่นเสียง การอ่านหนังสือในรูปแบบเล่ม เป็นต้น เช่นเดียวกับกลุ่ม Millennials ที่มีความสนใจในแบบเดียวกัน ซึ่งทำให้พวกเขาได้ย้อนกลับไปสู่วัยเด็กอีกครั้ง
1.5 Liquid Identities ตัวตนและความสัมพันธ์ที่ลื่นไหล ด้วยพัฒนาการในการระบุตัวตนที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้แบรนด์ต่าง ๆ เริ่มมีการปรับปรุงตั้งแต่บุคลากรไปจนถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การแบ่งประเภทผู้บริโภคแบบเดิมถูกแทนที่ด้วยข้อมูลจิตวิทยาและรสนิยมส่วนบุคคล ส่งเสริมความหลากหลายทางเพศกลุ่ม LGBTQIAN+ ถือเป็นการขับเคลื่อนทางสังคม (Social Movement) ที่สำคัญในปัจจุบัน
- ด้านสังคมและวัฒนธรรม (Social & Culture): เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพทางสังคมที่ส่งผลตั้งแต่การออกแบบเมือง จนถึงจักรวาลการเล่าเรื่องเพื่อสร้างแบรนด์
2.1 Globalizating Economy เศรษฐกิจแห่งโลกาภิวัตน์ ความมั่งคั่งและอำนาจทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกในอดีตจะพลิกกลับมาเป็นของชาติตะวันออก ซึ่งในปี 2025 ‘ประชาคมระหว่างประเทศ (International Community)’ ที่หมายถึงรัฐชาติต่าง ๆ ทั้งรัฐขนาดใหญ่ รัฐมหาอำนาจ หรือรัฐเล็ก จะไม่มีอยู่อีกต่อไป อำนาจจะกระจายไปยังประเทศใหม่ ๆ มากขึ้น ระบบพหุขั้วทั่วโลกกำลังเกิดขึ้นพร้อมกับการผงาดขึ้นของจีน อินเดีย และประเทศอื่น ๆ กลุ่มอำนาจตัวแทนที่มิใช่รัฐ (Non-State Actor) เช่น สหประชาชาติ บรรษัทข้ามชาติ กลุ่มคน องค์กรศาสนา จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน
“ซอฟต์พาวเวอร์” จะเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้คนรุ่นใหม่อยากย้ายถิ่นฐาน ด้วยการใช้ชีวิตแบบใหม่และค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป เมืองที่ขับเคลื่อนด้วยซอฟต์พาวเวอร์จะสามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้
เช่น ประเทศไทยได้เปิดตัวแคมเปญ ‘Soft Power Tourism Booster Shot’ เพื่อเพิ่มโครงการด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศ พร้อมทั้งประกาศวีซ่าสำหรับชาวดิจิทัลนอแมด (Digital Nomad) นาน 1 ปี เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการฉายซีรีส์เรื่อง The White Lotus ซีซั่น 3
ขณะที่ประเทศเกาหลีใต้ ประกาศว่าจะดำเนินการนำร่องวีซ่าฝึกอบรมวัฒนธรรมเกาหลี สำหรับชาวต่างชาติที่สนใจวัฒนธรรมเกาหลี K-Pop
2.2 Metamorphic Cities เมืองที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เมืองแห่งปี 2025 ที่กำลังพัฒนาทั่วโลกมีแนวคิดวางแผนและออกแบบผังเมืองสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างกันในเรื่องใดก็ตาม เช่น อายุ เพศสภาพ ความพิการ เชื้อชาติและศาสนา เป็นต้น
‘#PlanningTok และ #CityTalk’ แฮชแท็กนี้บน TikTok ทำให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงเนื้อหาเกี่ยวกับการวางผังเมืองได้มากขึ้น เนื่องจากพวกเขากังวลถึงเรื่องที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดจนสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
2.3 Cultural Salience แด่วัฒนธรรมที่เฉิดฉาย วิกฤตการณ์มากมายกำลังเปลี่ยนแปลงมุมมองสิ่งที่บ่งบอกสถานะทางสังคมของชาว Millennials และ Gen Z โดยมุ่งไปที่ทุนทางวัฒนธรรม ความรู้ และการศึกษา มากกว่าไลฟ์สไตล์เสพติดความหรูหรา หรือที่เรียกกันว่า ‘ติดแกลม’
แบรนด์ต่าง ๆ นำวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสาน เพื่อนำเสนอสินค้าและบริการอย่างมีคุณค่า ภายใต้กรอบของเศรษฐกิจแห่งความทะเยอทะยาน (Aspiration Economy) ในที่นี้หมายถึงระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยทุนรูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่แบรนด์ต่าง ๆ ได้ร่วมสร้างขึ้นนอกเหนือจากทุนทางเศรษฐกิจ กระแสทางวัฒนธรรมกำลังไหลเวียนไปทั่วโลก จากตะวันออกสู่ตะวันตก จากโลกใต้สู่โลกเหนือ โดยมีกลุ่มคนรุ่นใหม่ในทวีปแอฟริกาและเอเชียเป็นฐานตลาดที่มีอัตราเติบโตเร็วที่สุด
2.4 Brand Fiction จักรวาลแห่งเรื่องเล่า การสร้างแบรนด์ในวันนี้ หมายถึงการสร้างจักรวาลขนาดใหญ่ที่แบรนด์นั้นครอบครองอยู่ พร้อมเชิญผู้บริโภคให้เข้ามามีส่วนร่วม แบรนด์จะสร้างจักรวาลและภาษาของตนเองขึ้นมา เพื่อขยายอัตลักษณ์ของแบรนด์ให้กว้างขึ้น
2.5 Collective Effervescence ต่อกันติดด้วยจริตแห่งความชอบ ในปี 2025 ซอฟต์พาวเวอร์และแนวคิดทางการเมืองของโลกตะวันตกจะไม่เป็นผู้นำโลกอีกต่อไป ผู้บริโภคจะมองหาคอมมิวนิตี้ที่มีความชอบเหมือนกัน
กระแสความชื่นชอบต่อเหล่าศิลปิน T-Pop ในเอเชีย โนลลีวูด (Nollywood) หรืออุตสาหกรรมหนังไนจีเรีย แอโฟรบีต (Afrobeat) หรือแอโฟรฟิวชัน (Afrofusion) ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในแอฟริกา หรือความสนใจของชาวละตินอเมริกาที่มีต่อกระแสเกาหลีหรืออนิเมะ เหล่านี้คือสิ่งที่มาจากความชื่นชอบของกลุ่มผู้คนทั่วโลกที่จะสามารถเชื่อมต่อผู้คนต่างชาติต่างภาษาให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
- ด้านเทคโนโลยี (Technology): เทรนด์ที่เกี่ยวข้องกับการประยุกต์ใช้ AI และการตั้งรับการกลับมาของโลกเสมือนจริง
3.1 AI-Powered Robots หุ่นยนต์เอไอ ‘Robotics-as-a-Service’ หรือ วิทยาการหุ่นยนต์ในฐานะการบริการ โมเดลธุรกิจซึ่งใช้หุ่นยนต์ทำงานโดยเทคโนโลยีอัตโนมัติทุกรูปแบบ พบมากในอุตสาหกรรมยานยนต์และระบบโลจิสติกส์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความผิดพลาด และบรรลุเป้าหมายอุตสาหกรรม 4.0 (Industrial 4.0)
3.2 From Personalized to Individualized จากส่วนตัว ถึงรายบุคคล การพัฒนา UX (User Experience) ของแพลตฟอร์มที่สามารถตอบสนองด้านความรู้สึกแบบรายบุคคล เรียกว่า ‘Hyper-Personalization’ ออกแบบมาเพื่อให้ตรงต่อความสนใจเฉพาะบุคคล หรือเข้าถึงความชอบและพฤติกรรมรายบุคคลด้วยอัลกอริทึม ช่วยเพิ่มประสบการณ์ให้กับผู้ซื้อและสร้างยอดขายให้กับสินค้ามากขึ้น โดยข้อมูลจาก McKinsey ระบุว่าผู้บริโภคร้อยละ 71 คาดหวังประสบการณ์แบบส่วนตัว ร้อยละ 76 ยินดีจ่ายให้กับสินค้าและบริการที่ถูกปรับมาเพื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และผู้บริโภคยินดีกลับมาซื้อซ้ำถึงร้อยละ 78
3.3 Code-it-yourself เขียนโค้ดด้วยตัวเอง ‘พรอมต์ (Prompt)’ คือ การออกแบบข้อความชุดคำสั่งเพื่อแจ้งไปยังโมเดลของ AI เช่น การป้อนข้อความค้นหาบนเว็บไซต์ Google หรือการกดฟีเจอร์เพื่อแปลภาษาอัตโนมัติ AI ที่รับคำสั่งจะแปลผลลัพธ์กลับมาตามที่ต้องการอย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตามทักษะพรอมต์ได้พัฒนามาถึงการป้อนโค้ด ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับบุคคลทั่วไป
3.4 The Polarised Internet อินเทอร์เน็ตต่างขั้ว เกิดจากการประมวลผลตามอัลกอริทึมที่ส่งเสริมความคิดเห็นอิงกลุ่มบนโลกโซเชียลมีเดีย คัดกรองข้อมูลที่สนับสนุนความคิดเห็นของผู้ใช้ เช่น กลุ่มความสนใจในเฟซบุ๊กที่ผู้ใช้สนใจ ทำให้เกิดการแบ่งพรรคแบ่งพวก ผู้ที่คิดต่างกลายเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่ถูกเมินเฉย สู่การเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่เท่าเทียมกันบนสังคมออนไลน์
3.5 Spatial Technology การกลับมาของเทคโนโลยีเสมือนจริง โดยเทรนด์นี้เกิดขึ้นจากการพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้มนุษย์สามารถเชื่อมถึงความสามารถทางเทคโนโลยีได้โดยไม่มีเส้นแบ่ง มีแนวคิดผสมผสานระหว่างข้อมูลดิจิทัลกับโลกแห่งความจริง
ในอดีตการประมวลผล Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) สร้างความบันเทิงได้ระดับหนึ่ง แต่ปัจจุบันด้วยการนำ Machine Learning (ML) และ Generative AI (GenAI) มาประมวลผลแบบอัลกอริทึม สังเคราะห์ข้อมูล และรับคำสั่งให้ตรงกับประสบการณ์ของผู้ใช้แต่ละคน ช่วยสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้ AR ได้เกินความคาดหมายกว่าเดิม
- สิ่งแวดล้อม (Environment): เทรนด์ที่ธรรมชาติคือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก และสิ่งแวดล้อมคือศูนย์กลางของวิธีมองโลก
4.1 Regenerative Energy Technology เดินหน้าฟื้นฟูเทคโนโลยีพลังงาน การปฏิรูปพลังงานสะอาดทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามการปฏิรูปพลังงานจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างก๊าซเรือนกระจกทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น การสร้างโซลาร์เซลล์หรือกังหันลม จำเป็นต้องใช้พื้นที่และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จำนวนมาก การสร้างรถยนต์ไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อปัญหาด้านมลพิษในขั้นตอนการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งผลิตจากโคบอลต์
แม้ทั่วโลกจะตื่นตัวกับการใช้พลังงานทดแทนที่มีอัตราเพิ่มมากขึ้นในขณะนี้ แต่ความต้องการน้ำมันดิบของตลาดโลกยังคงไม่ลดลง ประกอบกับการลดกำลังผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC+ เนื่องจากหลีกทางให้พลังงานทดแทน
พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นพลังงานทดแทนอันดับหนึ่งที่เติบโตมากที่สุด คาดการณ์ว่าในปี 2040 พลังงานแสงอาทิตย์จะเป็นแหล่งพลังงานที่ใหญ่ที่สุดของมวลมนุษยชาติ ด้านพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเป็นพลังงานทดแทนชนิดใหม่ ที่ได้ทดลองใช้เป็นเชื้อเพลิงยานพาหนะในการแข่งขันโอลิมปิกกรุงปารีส 2024 ที่ผ่านมา กลับถูกนักวิชาการตั้งคำถามถึงการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ว่าจริงหรือไม่ และพลังงานไฮโดรเจนจะสามารถเป็นพลังงานแห่งอนาคตได้จริงหรือ
4.2 Planet-Centric Model เมื่อโลกเป็นศูนย์กลาง ความเห็นอกเห็นใจต่อโลก (Planetary Empathy) เป็นแนวคิดสร้างสรรค์หนึ่ง เพื่อให้มวลมนุษย์เคารพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยการเล่าเรื่อง (Storytelling) ผ่านสื่อรูปแบบต่าง ๆ
4.3 Eco–Survival ต้องรอดให้ได้ ในวันที่โลกสลายเกินรับมือ การวางแผนอพยพย้ายถิ่นเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษยชาติ เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในโลกที่อุณหภูมิสูงขึ้นให้ได้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ที่กำลังขยายตัวรอบ ๆ เส้นศูนย์สูตร อุณหภูมิและความชื้นจะสูงมากจนผู้คนไม่สามารถอยู่กลางแจ้งได้
ในปี 2030 ประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งจะอาศัยอยู่ในเขตร้อน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนถึง 1 ใน 3 ของโลก และต่างกำลังต่อสู้กับผลกระทบด้านสภาพภูมิอากาศหลากหลายรูปแบบ โดยประเทศต่าง ๆ เริ่มหาทางรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่ผันผวน หลายเมืองทั่วโลกเร่งสร้างพิมพ์เขียวสำหรับเมืองที่ยั่งยืนและนวัตกรรมสีเขียว หรือสร้างเมืองหลวงใหม่ทดแทนเมืองหลวงที่กำลังจะหายไปจากภาวะโลกร้อน ตามข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Paris Climate Agreement)
4.4 Queer Ecology นิเวศวิทยาแบบเควียร์รับมือ คือการผสมผสานแนวคิดสองส่วน ระหว่างวัฒนธรรมแห่งความหลากหลายทางเพศกับนิเวศวิทยาทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาแนวทางแก้ไขใหม่ ๆ ให้กับปัญหาที่ยุ่งยาก เช่น ความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
4.5 Earth to Brands สร้างสรรค์แบรนด์ที่เข้าใจโลก ปัจจุบันผู้บริโภครู้เท่าทันแบรนด์และคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่เชื่อคำโฆษณาหรือการตลาดง่าย ๆ อีกต่อไป แบรนด์แฟชั่นชื่อดัง เช่น H&M ZARA หรือ Uniqlo ต่างพยายามหากลยุทธ์สำหรับผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมตัวจริง ด้วยการสื่อสารและออกแคมเปญหรือบริการต่าง ๆ ที่ส่งเสริมความยั่งยืนมากขึ้นในอนาคต
แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจโลกที่ซบเซาและผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เป็นเวลานาน ทำให้ชาว Gen Z และ Millennials นิยมสร้างงาน DIY งาน Craft งานฝีมือ และชอปของมือสองมากขึ้น เพื่อลดค่าใช้จ่ายเนื่องจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น