ก่อนลับเส้นขอบฟ้าที่ไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน
รศ. ดร.กฤตินี ณัฏฐวุฒิสิทธิ์
คงไม่ต้องเกริ่นยาวถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม เพราะสถานการณ์ที่ทุกคนกำลังประสบเป็นภาพสะท้อนเชิงประจักษ์ที่ชัดเจน แนวทางแก้ไขปัญหามีตั้งแต่แคมเปญเชิญชวนสร้างความร่วมมือ ไปจนถึงมาตรการข้อบังคับทางกฎหมาย โดยมีระดับความเข้มข้นในการส่งเสริมหรือบังคับใช้แตกต่างกันไปตามบริบทพื้นที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมมีความเชื่อมโยงกับสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิตทั้งโลก ความเหลื่อมล้ำในการจัดการจึงอาจส่งผลกระทบองค์รวมโดยไม่อาจขีดเส้นแบ่งเขตแดนได้
Photo by Markus Spiske on Unsplash
ปัจจุบันจึงเกิดการเรียกร้องให้มีข้อกำหนดที่ทุกประเทศต้องเข้ามาร่วมดำเนินการเป็นพันธะสัญญา เช่น กรณี COP (Conference of Parties) ที่เป็นการประชุมความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศทำอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยที่ได้ยินกันบ่อยได้แก่ COP21 จัดขึ้นที่ปารีสเมื่อปี 2015 เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และต่อมา COP26 จัดขึ้นที่กลาสโกว์ ปี 2021 เรียกร้องให้ประเทศต่าง ๆ ต้องประกาศคำมั่นว่าจะมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงในปริมาณเท่าไร ที่ต้องจริงจังขึ้นก็เพราะพบว่า ความพยายามในการดำเนินการของหลายประเทศยังไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายที่เคยตกลงกันไว้ครั้ง COP21
ด้านการท่องเที่ยวซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นภาคส่วนที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและก่อมลพิษปริมาณมาก ได้มีธุรกิจหลายรายขานรับ COP26 โดยตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เพื่อไปถึง Net Zero ภายในปี 2050 อย่างไรก็ดียังพบการลงมือทำในวงจำกัด ขณะที่มีการพูดถึงในวงกว้าง ชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงของการฟอกเขียวหรือ Greenwashing ที่ไม่ควรมองข้าม โดยปรากฏในรูปของการกล่าวอ้างเกินจริงโดยไม่มีข้อมูลสนับสนุนชัดเจน เช่น บอกว่าเป็น 100% Eco-friendly แต่ไม่ได้ระบุตัวชี้วัด หรือเลือกที่จะรายงานเพียงบางด้านทำให้เกิดการเข้าใจบิดเบือน หรือทำให้คิดไปเอง เช่น การใช้รูปสื่อถึงต้นไม้และสัตว์ป่า หรือสินค้าใส่ใบไม้เขียว ๆ ให้คนดูเร็ว ๆ ตีความไปว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติหรือดีกับสิ่งแวดล้อม
บทความนี้เลยจะนำทุกท่านร่วมวิเคราะห์สังเกตสถานการณ์เพื่อนำไปสู่การป้องกันและจัดการแก้ไขปัญหา หากพิจารณาถึงความสัมพันธ์ระหว่างความตั้งใจกับการลงมือทำ เราอาจแบ่งสภาวะที่เกิดขึ้นออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
1. ตั้งใจและได้ทำ นับเป็นส่วนที่ต้องลุกขึ้นปรบมือให้ ที่พบชัดเจนได้แก่ความพยายามลดการใช้พลังงานที่มีผลทางตรงต่อการลดค่าใช้จ่ายลงได้ด้วย เช่น ธุรกิจโรงแรมมีการขอความร่วมมือกับลูกค้าในการไม่เปลี่ยนผ้าเช็ดตัว ผ้าปูที่นอนทุกวัน หรือปิดไฟปิดแอร์เมื่อไม่ใช้ รวมไปถึงการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนที่ปัจจุบันทำได้สะดวกขึ้นด้วยเทคโนโลยีสนับสนุนที่มีราคาถูกลง อย่างการใช้ Solar Panels หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าบางตัวเป็นรุ่นประหยัดพลังงาน อีกด้านที่มีความก้าวหน้าในการดำเนินงานได้แก่เรื่องการจัดการขยะ ทั้งขยะอาหารให้มีการนำไปทำประโยชน์ต่อเป็นอาหารสัตว์หรือหมักเป็นปุ๋ย การลด Single-use Plastic ด้วยการใช้ภาชนะแบบ Refillable ส่งเสริมการ Reuse และ Recycle
ข้อสังเกตในปัจจัยสนับสนุนความตั้งใจและได้ลงมือทำ คือกิจกรรมเหล่านี้สามารถสร้างความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น ลูกค้าหรือคู่ค้า ทำให้เกิดเป็นความจริงจังและความต่อเนื่อง พร้อมกันกับประโยชน์ส่งเสริมการตลาด สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ นอกจากนั้นการสนับสนุนที่เป็นระบบในต้นทุนที่เข้าถึงได้ก็ยิ่งเพิ่มความเป็นไปได้ เช่น ธุรกิจรับซื้อขยะ ผลิตภัณฑ์ทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นข้อคิดให้กับการวางแผนนโยบายระดับประเทศให้มองการเชื่อมโยงทั้ง Ecosystem และการเชื่อมโยงเครือข่าย รวมถึงการมีหน่วยงานกลางให้การรับรอง เช่น LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) หรือมอบรางวัลเป็นการสร้างกำลังใจ เช่น กรณีรางวัลใบไม้สีเขียว เป็นต้น
2. ตั้งใจแต่ไม่ได้ทำ มีทั้งกรณีที่ไม่ได้ลงมือทำหรือที่ลองแล้วพบว่าทำไม่ได้ ตัวอย่างจากกรณีที่บอกว่ามีการจัดการขยะ โดยอาจมีการตั้งถังแยกแสดงความตั้งใจแต่สุดท้ายเอาไปรวมทิ้งอยู่ดี บางครั้งมีสาเหตุจากช่องว่างการจัดการที่ฝ่ายบริหารและการตลาดมีความมุ่งมั่น แต่ฝ่ายปฏิบัติการไม่สามารถทำได้ตามความมุ่งหมาย เช่น ไม่มีพื้นที่หรืออุปกรณ์จัดเก็บขยะอาหารแบบที่ไม่ส่งกลิ่นรบกวน หรือไม่มีคนมารับซื้อหรือนำขยะไปรีไซเคิล จึงต้องรวมส่งให้รถขนขยะรับไปอยู่ดี อีกกรณีตัวอย่างมาจากความซับซ้อนของห่วงโซ่การจัดการ เช่น ตั้งใจสนับสนุนซื้อสินค้าจากเกษตรกรรายย่อย แต่ลงเอยทำให้เกิดการขนส่งจากหลากหลายแห่ง ทำให้ใช้พลังงานและสร้างมลพิษมากกว่าการซื้อจากคนกลางที่รวบของส่งขาย เหล่านี้แม้ตั้งใจดีและมีการสื่อสารออกไปแต่ก็อาจกลายเป็นการฟอกเขียวได้ทั้งแบบที่รู้ตัวหรือไม่รู้ตัว
กรณีดังกล่าวนำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องให้เกิดการวัดผลและรายงาน พร้อมการมีข้อมูลสนับสนุนที่ชัดเจน เช่น แอปพลิเคชันบันทึกปริมาณขยะที่ผลิต และมีการติดตามตลอดเส้นทางการจัดการไปสู่สุดท้ายที่ต้องมีการฝังกลบ โดยปัจจุบันสามารถคำนวณประมาณการจำนวนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ ทั้งนี้ต้องสามารถตรวจสอบย้อนกลับและมีการทวนสอบข้อมูลระหว่างหน่วยที่เกี่ยวข้องให้บันทึกข้อมูลร่วม ซึ่งได้มีการพัฒนาต่อไปถึงการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยสนับสนุน เป็นการลดต้นทุนการว่าจ้างหน่วยตรวจสอบภายนอก (Third Party) แต่มาใช้การเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสแทน
ข้อสังเกตจากกรณีตั้งใจแต่ไม่ได้ทำ นำไปสู่การออกแบบให้เกิดกลไกและเครื่องมือรองรับการทำงาน โดยออกแบบตลอดเส้นทางหรือ Journey ขององค์กรที่ให้ความสนใจ ตั้งแต่จุดตั้งต้น โดยคำนึงถึงการจัดการเพื่อก้าวข้ามอุปสรรคความท้าทายที่อาจทำให้เกิดการล้มเลิกไประหว่างทาง การเก็บข้อมูลจากกรณีการทำงาน (Cases) ขององค์กรต่าง ๆ จะช่วยให้วางแผนได้ครอบคลุมมากขึ้น นอกจากนั้นยังควรส่งเสริมให้เกิดการสร้างเครือข่ายขององค์กรเพื่อให้เกิดการเรียนรู้และช่วยเหลือกันเมื่อเกิดปัญหาที่ต้องหาทางแก้ไข
3. ไม่ตั้งใจแต่ได้ทำ (หรือต้องทำ) จากมาตรการดูแลสิ่งแวดล้อมที่พบกว้างขวางขึ้น ทำให้มีแนวทางดำเนินการบางอย่างที่ถูกนำมาใช้เป็นมาตรฐานสำหรับทุกคน เช่น บางเมืองบางประเทศอย่างที่ญี่ปุ่น ได้ออกกฎบังคับให้ทุกครัวเรือนต้องแยกขยะก่อนจะมีรถขยะมาเก็บไป ถือเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรในทุกภาคส่วนต้องลงมือทำแม้จะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม เรียกว่าเป็นไฟต์บังคับก็ว่าได้ ส่งผลต่อการปรับตัวตั้งแต่ขั้นพื้นฐาน เช่น จัดสรรอุปกรณ์ถังแยกขยะ เพื่อให้ทุกหน่วยรวมทั้งลูกค้ามีส่วนช่วย ทำให้ภาระไม่ไปตกหนักที่ปลายทาง ทั้งนี้ด้วยความที่ไม่ตั้งใจแต่ต้องทำอาจนำไปสู่กรณีการทำไปตามเท่าที่ถูกบอกให้ทำ ขาดความพยายามจะทำให้มากกว่าหรือทำให้ดีขึ้นต่อไป อย่างไรก็ตามการได้ลงมือทำก็นับเป็นจุดตั้งต้นที่ดีได้ ซึ่งอาจจะช่วยสร้างโอกาสเพิ่มความเข้มข้นขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะหากมีนโยบายกระตุ้นเพื่อทำให้เกิดการต่อยอด เช่น กรณี BCG Economy ที่มีการพูดถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ตัวอย่างจากธุรกิจโรงแรม แยกขยะอาหารแล้ว เกิดกองทุนและเครือข่ายสนับสนุนให้นำไปหมักเป็นปุ๋ยและวัสดุบำรุงดิน ต่อเนื่องไปถึงการทำพื้นที่เพาะปลูกเช่นแปลงผัก ที่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตนำกลับมาบริโภค ลดต้นทุนและยังเป็นจุดขายให้กับโรงแรมร้านอาหารต่อไปได้อีก
แต่ในบางบริบทการต้องลงมือทำโดยไม่ตั้งใจ อาจเป็นความท้าทายต่อการจัดการ เช่น การบังคับเก็บ Carbon Tax กับสายการบิน ทำให้ต้องมีความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยมาตรการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อย่างการเปลี่ยนวัสดุอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ บางสายการบินใช้วิธีถ่ายโอนต้นทุนดังกล่าวไปให้ผู้บริโภครับผิดชอบ ขณะที่ต้องบริหารราคาให้ยังสามารถแข่งขันได้ และยังอาจกระทบต่อไปถึงการให้บริการ เช่น การจัดการเส้นทางและรอบการบินเพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ส่งผลให้ต้องมีการยกเลิกเปลี่ยนเวลากรณีจำนวนผู้โดยสารไม่มากพอ
ข้อสังเกตจากกรณีไม่ตั้งใจแต่ได้ทำ นำไปสู่การผลักดันมาตรการในสังคมให้ทุกฝ่ายต้องปฏิบัติตาม โดยมักอยู่ในรูปกฎเกณฑ์ ข้อบังคับ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบพร้อมการสร้างกลไกรองรับ เช่นกรณีการแยกขยะที่ต้องสามารถระบุได้ว่าเก็บขยะที่แยกจากต้นทางมาแล้วนำไปทำอย่างไรต่อ โดยการดำเนินงานในแนวทางนี้นับเป็นการสร้างจุดตั้งต้นของการลงมือทำ ถึงไม่ตั้งใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม ก่อนจะใช้ปัจจัยสนับสนุนเชิง Incentives ให้เกิดการสร้างสรรค์เพิ่มเติม
4. ไม่ตั้งใจและไม่ได้ทำ สุดท้ายเป็นกรณีที่ไม่อยากให้เกิดมากที่สุด เพราะอาจนำไปสู่ความเสื่อมถอยของสังคมสิ่งแวดล้อมที่เรียกกลับคืนได้ยาก ด้วยปัจจัยปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทำให้การอยู่เฉย ๆ มีค่าเท่ากับการถอยหลังติดลบ ทั้งนี้อาจมาจากความเพิกเฉย ขาดจิตสำนึก หรืออาจมาจากสาเหตุอื่น เพราะประเด็นสิ่งแวดล้อมมีความหลากหลาย บางประการอาจเป็นเรื่องใหม่หรือซับซ้อนทำให้หลายองค์กรไม่ได้คำนึงถึง เช่น ปัจจุบันมีการพูดถึงการสร้างความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ว่ามีผลองค์รวมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังถูกมองว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ยังอาจอยู่ห่างไกลจากการทำงานขององค์กร นอกเสียจากว่ามีกิจกรรมเชิงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกัน เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ให้มีการร่วมสร้างและดูแลพืชพันธุ์และสัตว์ป่า อย่างไรก็ดีการดำเนินงานอาจอยู่ในรูปการให้การสนับสนุนทรัพยากรหรือเงินทุน เพื่อขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กองทุนหมู่บ้านเพื่อการปลูกป่า หรือ NGO ที่ทำหน้าที่เรียกร้องป้องกันการบุกรุกผืนป่า เป็นต้น
ข้อสังเกตเพื่อให้เกิดการปรับปรุงพัฒนากรณีดังกล่าว ได้แก่ การสร้างมาตรวัดกลางเพื่อให้กิจกรรมที่อาจไม่อยู่ในความสนใจและไม่ได้ลงมือทำเอง สามารถนำมาคิดคำนวณร่วมเป็นผลประกอบการเชิงสังคมสิ่งแวดล้อมได้ เช่น กรณี Carbon Offsetting ที่กำลังได้รับการพูดถึงแพร่หลายขึ้น แต่ส่วนกรณีที่มาจากการขาดความใส่ใจให้ความร่วมมือ ก็ต้องทำเรื่องการสร้างความตระหนัก (Awareness) และการให้ความรู้ความเข้าใจควบคู่กันไป
… เพราะโลกกว้างใหญ่ ไม่รู้ว่าเส้นขอบฟ้าอยู่ที่ตรงไหน จุดสิ้นสุดของโลกจะมาถึงก่อนเวลาหรือไม่ ก่อนชีวิตจะลับหายหากมีความตั้งใจและได้ลงมือทำ จะมากจะน้อยก็นับว่าคุ้มค่ากับการได้มีโอกาสใช้เวลาและพื้นที่ส่วนหนึ่งอยู่ในโลกใบนี้แล้ว