Scapecar – รถรับบาป

 

 

บัณฑิต เอนกพูนสินสุข

 

 

ในระหว่างที่ประชากรโลกกำลังปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง อุตสาหกรรมยานยนต์กลายเป็นเป้าหมายหลักที่ทุกคนต่างเพ่งเล็งและกล่าวถึงมากที่สุด การนำเสนอจากสื่อต่าง ๆ พากันพุ่งเป้าไปที่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของรถยนต์ อุตสาหกรรมยานยนต์ตกเป็นแพะรับบาปอันดับต้น ๆ ที่ถูกตีตราว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

ความเป็นจริงเป็นเช่นนั้นหรือไม่ หรือยังมีอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่กำลังหลบซ่อนและไม่คิดจะปรับตัวหรือเปล่า

 

อุตสาหกรรมการขนส่งและการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

ในแต่ละปีอุตสาหกรรมการขนส่งมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิง (Fuel combustion) คิดเป็นอัตราส่วนประมาณ 24% หรือประมาณ 1 ใน 4 ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงทั้งหมด (IEA 2021) โดยหากคิดสัดส่วนเฉพาะรถยนต์จะอยู่ที่ประมาณ 42% จากอุตสาหกรรมการขนส่งทั้งหมด แม้ว่าจะดูเยอะมากแต่ถ้าเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะพบว่า การท่องเที่ยวเรือสำราญ (Cruise tourism) กลับมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เข้มข้นรุนแรงไม่แพ้กัน จากรายงาน International Maritime Organization (IMO) ฉบับปี 2020 พบว่าการขนส่งทางเรือ (Shipping) โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเรือสำราญมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลกจำนวน 2.9%

 

2.9% นั้นไม่สามารถนำไปเปรียบเทียบกับ 24% ของอุตสาหกรรมการขนส่งได้ เพราะสัดส่วน 2.9% ที่กำลังพูดถึงนี้คือสัดส่วนที่รวมทุก ๆ รูปแบบของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่โลก 

 

ต้องให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเรือสำราญไม่น้อยกว่ารถยนต์

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเรือสำราญมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา แม้จะตะกุกตะกักและมีติดขัดบ้างในช่วงโควิดแต่ก็สามารถพลิกกลับมาได้รับความนิยมอยู่ดี จากข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของ Gitnux แพลตฟอร์มศึกษาและวิจัยที่ได้รับความเชื่อถือจากหน่วยงานระดับแนวหน้าของโลกพบว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมเรือสำราญสร้างเม็ดเงินสูงถึง 13.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยคาดการณ์ว่าจะมีอัตราการเติบโตแบบทบต้นต่อปี (CAGR) สูงถึง 11% จากปี 2022 ถึงปี 2028 (Gitnux 2024)

 

แม้ว่าการท่องเที่ยวรูปแบบเรือสำราญจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นทุกวัน แต่ในทางกลับกันการพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการสร้างมลพิษกลับเป็นไปได้ช้าและไม่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควรเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เรือสำราญที่สร้างและพัฒนาขึ้นใหม่มุ่งเน้นแต่ความยิ่งใหญ่อลังการและความสะดวกสบายเป็นจุดสำคัญ แต่ขาดการพัฒนาเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ยกตัวอย่างเรือสำราญรุ่นใหม่ล่าสุด ‘Icon of the Seas’ ของบริษัท Royal Caribbean International ที่เพิ่งจะเปิดให้บริการในเดือนมกราคมที่ผ่านมา แม้จะเป็นเรือที่ถูกสร้างและได้รับการขนานนามว่าเป็นเรือสำราญที่ไฮเทคและมีขนาดใหญ่ที่สุด ออกแบบโดยคำนึงถึงความยั่งยืนมากที่สุดเท่าที่โลกเคยมีมา แต่กลับทำได้แค่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่าเรือรุ่นก่อน ๆ เพียง 30% เท่านั้น (Dezeen 2024) 30% อาจฟังดูดีแล้ว แต่เรือสำราญดังกล่าวกลับใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG: Liquefied Natural Gas) ในการขับเคลื่อน ซึ่งนักวิจัยได้ค้นพบว่ามันส่งผลเสียและก่อให้เกิดการรั่วไหลของสารมีเทน (Methane) สู่ชั้นบรรยากาศ ที่มีความเข้มข้นมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 80 เท่า ซึ่งจะส่งผลเสียระยะยาวทำให้เกิดการสร้างก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศที่สูงและเข้มข้นยิ่งกว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบปกติเสียอีก (Bloomberg 2024) และนี่ยังไม่รวมถึงข้อเท็จจริงที่ว่า เรือสำราญ 1 ลำ ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อวันเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของรถยนต์จำนวน 13 ล้านคันอีกด้วย (Gitnux 2023)

ท่องเที่ยวเรือสำราญสร้างมลพิษมากแค่ไหน

International Council on Clean Transportation (ICCT) ได้ทำการศึกษาวิจัยเปรียบเทียบระหว่างการท่องเที่ยวรูปแบบเรือสำราญกับการท่องเที่ยวรูปแบบปกติ ที่รวมการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเดินทางโดยเครื่องบินกับการพักในโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไป ผลจากการศึกษาแสดงให้เห็นว่า นักท่องเที่ยวหนึ่งคนที่เดินทางท่องเที่ยวโดยเรือสำราญระยะทาง 2,000 กิโลเมตร จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 500 กิโลกรัม ในขณะที่นักท่องเที่ยวที่เดินทางท่องเที่ยวด้วยเครื่องบินแบบไป-กลับ และเข้าพักในโรงแรม 4 ดาว จะสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 235 กิโลกรัม ซึ่งน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญเสียอีก (นี่ยังไม่รวมถึงพฤติกรรมจริง ๆ ของผู้เดินทางท่องเที่ยวเรือสำราญที่ส่วนใหญ่บินไปขึ้นเรือด้วยซ้ำ) (Bloomberg 2024)

 

บทบาทรถยนต์ไฟฟ้า (EVs) ในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

การเปลี่ยนผ่านจากการใช้งานรถยนต์เครื่องสันดาปสู่การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในทุก ๆ รูปแบบในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นับเป็นก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นของอุตสาหกรรมยานยนต์ รายงานปี 2021 ของ ICCT ระบุว่ารถยนต์ไฟฟ้าทุกรูปแบบเมื่อหารเฉลี่ยกันแล้วจะผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตลอดอายุการใช้งานลดลงกว่า 66% เมื่อเทียบกับรถยนต์พลังงานสันดาป (ICE) เพียว ๆ แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านสู่การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเต็มรูปแบบนั้นยังคงมีความท้าทายอย่างมาก ทั้งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแบตเตอรี่ การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อาทิ สถานีชาร์จไฟ) หรือแม้กระทั่งการผ่านมาตรฐานยานยนต์ในแต่ละประเทศ 

 

ไม่ใช่แค่อุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ต้องทุกภาคส่วน 

การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่กำลังจะสายเกินเยียวยานั้น ไม่สามารถทำให้สำเร็จได้จากการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมเพียงอุตสาหกรรมเดียว มาตรการ การบีบบังคับด้านภาษี ข้อกำหนด และการจูงใจมากมายที่ผลักดันให้ผู้บริโภคเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า หรือการกล่าวโทษคนใช้รถยนต์สันดาป ไม่ได้ช่วยทำให้โลกรอดจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้อยู่ดี อุตสาหกรรมอื่น ๆ เองก็ต้องหันมาจริงจังกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้โลกสะอาดมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างมหาศาล จากการผลิตและการเดินทาง ทั้งทางน้ำ ทางบก และทางอากาศ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุก ๆ ภาคส่วนต้องเริ่มหันมาเดินหน้าเต็มกำลัง ผลักดันเข้าสู่การใช้พลังงานสะอาดอย่างจริงจัง เพราะถ้ายังไม่เปลี่ยน แม้รถทั้งโลกจะเป็นรถไฟฟ้าแต่โลกก็ยังคงพังพินาศอยู่ดี

 

ที่มา:

https://www.dezeen.com/2024/01/31/icon-of-the-seas-worlds-largest-cruise-ship-sustainability/

https://gitnux.org/cruise-industry-statistics/

https://www.bloomberg.com/news/articles/2024-01-22/royal-caribbean-s-icon-of-the-seas-highlights-climate-impact-of-cruises?embedded-checkout=true



Share This Story !

1.6 min read,Views: 744,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024