Singapore, the City of Tomorrow

 

 

 

สิริภัทร ลัทธิธรรม

 

เมื่อพูดถึงประเทศที่ตั้งอยู่บนเกาะขนาดเล็กในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาเมืองในระดับสูง และมีความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เราจะนึกถึงประเทศใดไปไม่ได้นอกจาก “สิงคโปร์” ในปี 2565 สิงคโปร์มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) จำนวน 466.79 พันล้านเหรียญสหรัฐ (16.59 ล้านล้านบาท) ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่มี GDP จำนวน 495.42 พันล้านเหรียญสหรัฐ (17.61 ล้านล้านบาท) แต่เมื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว (GDP per Capita) สิงคโปร์มีรายได้ประชากรต่อหัวสูงเป็นอันดับที่ 6 ของโลก โดยคนสิงคโปร์ 1 คน มีรายได้ประมาณ 82,810 เหรียญสหรัฐ/ปี (2.8 ล้านบาท/ปี) ในขณะที่คนไทย 1 คน จะมีรายได้ประมาณ 7,070 เหรียญสหรัฐ/ปี (0.25 ล้านบาท/ปี) เท่านั้น

จากข้อมูลด้านเศรษฐกิจ อาจทำให้ใครหลายคนคิดไปว่า สิงคโปร์น่าจะต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี และมีการผลิตสินค้า/บริการในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ก๊าซมีเทน (CH4) หรือก๊าซอื่น ๆ ที่เป็นส่วนประกอบของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน และเมื่อสิงคโปร์ได้ประกาศเป้าหมายในการเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Zero Emissions) ภายในปี 2593 จึงทำให้คนทั่วไป รวมถึงผู้เขียนเกิดคำถามว่า จะทำได้จริงหรือ ? จะทำได้อย่างไร ? แต่จากประสบการณ์ใหม่ของผู้เขียนที่ได้เดินทางมาเยี่ยมชมสิงคโปร์ ประกอบกับความสนใจจึงได้หาข้อมูลเพิ่มเติมและพบว่า สิงคโปร์ได้ตระหนักและให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนมาอย่างยาวนาน จนเรื่องนี้ได้กลายเป็นวิถีชีวิตของคนสิงคโปร์ไปแล้ว สังเกตได้จากวิธีคิดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาเมือง หรือพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ที่ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นถึงหลักคิดในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น

 

สนามบินชางงี (Changi Airport)

สนามบินนานาชาติขนาดใหญ่ที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลกนานถึง 8 ปีซ้อน ตั้งแต่ปี 2556-2563 และยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นสนามบินที่ดีที่สุดในโลก ประจำปี 2566 จาก Skytrax แม้ว่าสนามบินชางงีจะมีอาคารผู้โดยสารมากถึง 4 อาคาร แต่ด้วยการออกแบบพื้นที่ตั้งอาคารและการวางระบบขนส่งภายในสนามบิน ทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางระหว่างอาคารได้สะดวก อีกทั้งภายในอาคารยังมีแหล่งชอปปิงและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมถึงมีการจัดพื้นที่สีเขียวให้นักท่องเที่ยวได้ผ่อนคลายระหว่างรอขึ้นเครื่องบิน นอกจากนี้ ในปี 2562 ได้เปิดให้บริการ “Jewel Changi Airport” อาคารโดมแก้วขนาดใหญ่ครอบคลุมพื้นที่ 135,700 ตารางเมตร ที่สะท้อนแนวคิดของการหลอมรวมธรรมชาติเข้ากับสิ่งปลูกสร้างของมนุษย์ได้อย่างลงตัว ซึ่งมีจุด Highlight คือ Rain Vortex น้ำตกในร่มสูงที่สุดในโลก (40 เมตร) รายล้อมไปด้วยสวนป่าที่มีพันธุ์พืชและต้นไม้มากกว่า 2,000 ต้น โดยน้ำที่นำมาใช้เป็นน้ำตก มาจากการกักเก็บน้ำฝนตามธรรมชาติที่ผ่านการบำบัดแล้ว อัดฉีดผ่านท่อขึ้นไปบนหลังคาโดมแก้วให้กระจายและไหลตกลงมาอย่างสม่ำเสมอลงไปสู่ถังเก็บน้ำ และหมุนเวียนน้ำกลับขึ้นมาใช้ใหม่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากจะสวยงามมีเอกลักษณ์แล้ว ยังช่วยให้อากาศถ่ายเทและระบายความร้อนในอาคาร รวมถึงยังเป็นจุดถ่ายรูปเช็กอินของนักเดินทางทั่วโลกที่มาเยือนสิงคโปร์ด้วย

 

Marina Barrage

เขื่อนกั้นน้ำขนาดใหญ่แห่งที่ 15 ของสิงคโปร์ สร้างขึ้นตั้งแต่ปี 2551 สามารถจุน้ำได้มากถึง 10,000 เฮกตาร์ (100 ตารางกิโลเมตร) เพื่อใช้เป็นแหล่งกักเก็บน้ำจืดสำหรับอุปโภคบริโภคของชาวสิงคโปร์ และใช้ควบคุมระดับน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมเมืองที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ราบต่ำ บนหลังคาของอาคารได้ออกแบบให้มีสนามหญ้าขนาดใหญ่ ที่นอกจากจะใช้เป็นสถานที่ทำกิจกรรมกลางแจ้งและพักผ่อนหย่อนใจของชาวเมืองสิงคโปร์แล้ว ยังช่วยป้องกันความร้อนให้กับอาคารได้มากถึง 3 องศาเซลเซียส บริเวณผนังอาคารมีแผงกระจกสองชั้นช่วยลดความร้อนที่แผ่เข้ามาในอาคาร จึงช่วยลดปริมาณการใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศ ภายในบริเวณอาคารยังมีสวนโซลาร์เซลล์ (Solar Park) ที่ใหญ่ที่สุดในสิงคโปร์ เพื่อกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์มาแปลงเป็นไฟฟ้าใช้ภายในอาคาร นอกจากนี้ น้ำที่กักเก็บไว้ในเขื่อนยังถูกนำมาใช้เพื่อลดอุณหภูมิของปั๊มน้ำและเครื่องกำเนิดพลังงานไฟฟ้าของเขื่อน ทำให้สามารถลดการใช้น้ำได้ประมาณ 1,400 ลูกบาศก์เมตร/ปี ด้วยการออกแบบอาคารและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางธรรมชาติเหล่านี้ ทำให้ Marina Barrage ได้รับรางวัล Green Mark Platinum Infrastructure Award, the BCA Awards ที่จัดขึ้นโดย Building and Construction Authority

 

Gardens by the Bay

สวนพฤกษศาสตร์ขนาดใหญ่ บนพื้นที่กว่า 101 เฮกตาร์ (1.01 ตารางกิโลเมตร) แบ่งออกเป็น 3 สวน ได้แก่ Bay South Garden, Bay East Garden และ Bay Central Garden โดยในพื้นที่ Bay South Garden มีอาคารเรือนกระจกขนาดใหญ่ (Flower Dome) ครอบคลุมพื้นที่กว่า 1.28 เฮกตาร์ (0.0128 ตารางกิโลเมตร) ภายในมีต้นไม้และพืชพรรณมากกว่า 32,000 ต้น อาคาร Flower Dome มีการติดตั้งกระจกเคลือบพิเศษที่ช่วยป้องกันความร้อน แต่โปร่งใสเพียงพอที่แสงอาทิตย์จะส่องผ่านเข้ามายังต้นไม้ได้อย่างเหมาะสม บนหลังคามีผ้าใบยืดหดได้แบบอัตโนมัติควบคุมโดยระบบเซนเซอร์ เพื่อให้ร่มเงาแก่ต้นไม้ในช่วงที่อากาศร้อนจัด ภายในเรือนกระจกมีระบบทำความเย็นจากภาคพื้นดินโดยท่อน้ำเย็นที่หล่อไว้ จึงทำให้อากาศเย็นเฉพาะโซนด้านล่าง ส่วนความร้อนจะลอยขึ้นข้างบนและถูกระบายออกจากเรือนกระจก จึงช่วยประหยัดพลังงาน ทั้งนี้ ยังใช้เชื้อเพลิงจากไม้และขยะจากพืชสวนทั่วสิงคโปร์มาผลิตพลังงานไฟฟ้า จึงไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อีกทั้งยังช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ Gardens by the Bay ยังมี Super Tree สวนแนวตั้งสูง 25-50 เมตร ซึ่งนอกจากจะมีรูปทรงสวยงามแปลกตา ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกเดินทางไปท่องเที่ยวแล้ว ยังใช้ประโยชน์ในการกักเก็บน้ำฝนและกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้เปิดไฟและแสงสีเสียง (Garden Rhapsody) ในเวลากลางคืน รวมถึงยังใช้เป็นช่องทางระบายความร้อนของเรือนกระจกในสวน ด้วยการออกแบบที่สวยงามมีเอกลักษณ์ และคำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงทำให้ Gardens by the Bay ได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมาย อาทิ Landscape Award’ จาก World Architecture News ในปี 2556 ‘Best Attraction in Asia Pacific’ จาก Travel Weekly ในปี 2558 และ ‘Best Attraction Experience’ จาก Singapore Tourism Awards ประจำปี 2562 

 

Mixed Commercial & Residential (Mixed-Use Developments)

รูปแบบการพัฒนาและการผสมผสานพื้นที่ของแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งพาณิชย์ของสิงคโปร์ในปัจจุบันและอนาคต ที่มุ่งใช้ประโยชน์สูงสุดจากพื้นที่ในแนวตั้ง โดยออกแบบให้พื้นที่ส่วนบนของอาคารเป็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ส่วนล่างของอาคารเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ และพื้นที่ใต้ดินเป็นลานจอดรถ ซึ่งการพัฒนาเมืองรูปแบบนี้ นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแล้ว ยังช่วยลดความจำเป็นในการเดินทางไปทำงานหรือซื้อของต่าง ๆ จึงช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัด รวมถึงลดการเกิด Carbon Footprint จากการเดินทางด้วย 

 

ทัศนียภาพและบรรยากาศในสิงคโปร์

ที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของความเป็นเมืองเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการสัญจรไปมาของผู้คนในเมือง ความหนาแน่นของการจราจรบนท้องถนน และตึกสูงตระหง่านรูปร่างแปลกตาที่ตั้งสลับซับซ้อนกันไปมา แต่กลับมีอากาศถ่ายเท ไม่ร้อนอบอ้าว อีกทั้งยังแซมไปด้วยสีเขียวสดจากต้นไม้ใบหญ้าที่มีให้เห็นได้ทุกซอกทุกมุม ทั้งบนท้องถนน ทางเดินเท้า และบนตึกต่าง ๆ ซึ่งการพัฒนาเมืองลักษณะนี้เกิดขึ้นจากวิสัยทัศน์ในการพัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นอุทยานนคร (Garden City) ของอดีตนายกรัฐมนตรี ลี กวนยู (Lee Kuan Yew) ตั้งแต่ปี 2510 เพราะมีความเชื่อว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวสิงคโปร์ ทำให้เมืองน่าอยู่ดูมีชีวิตชีวา อีกทั้งยังเชื่อว่าจะช่วยสร้างความรุ่งเรืองและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนเข้ามาในประเทศด้วย ซึ่งนโยบายนี้ก็ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และได้พัฒนามาสู่แนวคิด “City in the Garden” ในปัจจุบัน

 

จากการเดินทางไปเยี่ยมชมสิงคโปร์และการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ทำให้ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมกับวิสัยทัศน์ของผู้นำสิงคโปร์ ดังจะเห็นได้จากการที่สิงคโปร์มีหลักคิดในการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในรูปแบบคล้ายกัน คือ การใช้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยนำความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาต่อยอดการพัฒนาเมืองและแหล่งท่องเที่ยว ที่สร้างประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่อาศัย ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านการสร้างพื้นที่สีเขียว การลดการใช้ทรัพยากร และการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีความสวยงามโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์และมีการจัดการที่เป็นระบบจนได้รับการรับรองมาตรฐานหรือได้รับรางวัลในระดับโลก จึงเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกเดินทางมาเยือน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความบังเอิญ แต่ด้วยวิสัยทัศน์ การวางแผน และการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงของรัฐบาลสิงคโปร์ที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่สร้างการเติบโตในระยะยาวมากกว่าการสร้างผลกำไรในระยะสั้น เพื่อให้สิงคโปร์ยังคงเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับคนสิงคโปร์รุ่นต่อไป 

 

การเดินทางของผู้เขียนในครั้งนี้ ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้เขียนที่มีต่อสิงคโปร์ไปอย่างสิ้นเชิง และได้ทำให้ผู้เขียนไม่รู้สึกสงสัยอีกเลยว่า สิงคโปร์จะสามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ได้จริงหรือไม่ เพราะทรัพยากรที่มีคุณค่าที่สุดของสิงคโปร์แท้จริงแล้วไม่ใช่ทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งปลูกสร้างที่ทันสมัย แต่กลับเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” นั่นเอง …

 

ที่มา:

Share This Story !

7.2 min read,Views: 1183,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 4, 2024