เมื่องานใหญ่ผ่านไป ฝันสลายและบทเรียนสำคัญ
โตมร ศุขปรีชา
งานใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่เพิ่งผ่านไปคือ โอลิมปิก 2024 ที่ปารีส อันเป็นงานที่ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือลบ
Michel Amazonka
หลายคนอาจมองว่า โอลิมปิกเป็นแค่การแข่งขันกีฬา แต่แท้จริงแล้วโอลิมปิกเป็นมากกว่านั้น เพราะนี่คือ ‘ปรากฏการณ์’ ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบหลากหลายมิติ เรื่องกีฬาเป็นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น แต่สิ่งที่แฝงฝังอยู่ทั้งในแบบซ่อนเร้นและเปิดเผยให้เห็นอย่างโจ่งแจ้ง มีทั้งมิติวัฒนธรรมที่แต่ละชาติที่เข้าร่วมต่างงัดความโดดเด่นออกมาประชันกัน ตั้งแต่ชุดประจำชาติไปจนถึงการใช้ชีวิตในรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวพันกับการกีฬา
โอลิมปิกจึงมีความหมายแฝงที่กินความไปถึงเรื่องของการทูตและสังคมด้วย สัมพันธภาพของผู้คนจากทั่วโลกใน Event กีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกเป็นอย่างไร ย่อมสะท้อนถึง ‘สุขภาพ’ แห่งความสัมพันธ์ของผู้คนในโลกด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่หลายคนน่าจะคาดเดาได้อยู่แล้วก็คือ การที่โอลิมปิกคืองานใหญ่ที่ดึงดูดการท่องเที่ยว ซึ่งนั่นหมายถึงเม็ดเงินมหาศาล และการกระเตื้องขึ้นหรือถูกกระตุกลงในทางเศรษฐกิจด้วย
Editorial credit: Oliverouge 3 | Shutterstock.com
ด้วยเหตุนี้ โอลิมปิกจึงเป็นหนึ่งใน ‘ตัวขับเคลื่อน’ การพัฒนาของเมืองที่เป็นเจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิก ซึ่งเดิมทีเราคิดว่าเมื่อมีโอลิมปิก ก็จะต้องเกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมืองขนานใหญ่ เช่น การก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนใหม่ ๆ หรือการก่อสร้างสเตเดียม หมู่บ้านนักกีฬาที่โอ่อ่าอลังการ ใช้พื้นที่และงบประมาณมหาศาล ซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นการส่งเสริมการลงทุน (และการท่องเที่ยว) ในเมืองและประเทศที่เป็นเจ้าภาพไปด้วยในตัว
อย่างไรก็ตาม การจัดงานโอลิมปิกยังมี ‘ความท้าทาย’ หลายอย่างซ่อนเร้นอยู่ด้วย เรื่องแรกสุดก็คือ ‘ภาระทางการเงิน’ เพราะต้องใช้งบประมาณมหาศาลในการก่อสร้างและปรับปรุงสาธารณูปโภค ประเทศที่ร่ำรวยอาจไม่มีปัญหา แต่บางประเทศที่มีปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว แทนที่โอลิมปิกจะกลายเป็นโอกาส มันอาจ ‘ซ้ำเติม’ ภาวะเศรษฐกิจของประเทศได้ ตัวอย่างเช่น โอลิมปิกที่เอเธนส์ในปี 2004 และโอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโร ในปี 2016
ไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลย ที่จะบอกว่าโอลิมปิกเอเธนส์ 2004 นั้น เกิดการใช้จ่ายเกินงบประมาณอย่างมหาศาล เพราะงบประมาณเริ่มต้นคาดการณ์กันไว้ที่ 4.6 พันล้านยูโร แต่เมื่อใช้จ่ายจริง กลับพุ่งทะลุไปถึงกว่า 9 พันล้านยูโร หรือมากกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เกือบสองเท่า นั่นทำให้เกิดภาระหนี้สาธารณะ เพราะหนี้สาธารณะของกรีซเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลต่อวิกฤตการณ์หนี้สาธารณะของกรีซในเวลาต่อมา
Editorial credit: Pietro Basilico | Shutterstock.com
ที่แย่ไปกว่านั้นก็คือ หลังการแข่งขันโอลิมปิกแล้ว สิ่งก่อสร้างและสนามกีฬาหลายแห่งที่เคยใช้งานในโอลิมปิกกลับถูกทิ้งร้าง ภาระสำคัญก็คือ ค่าบำรุงรักษาที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่า และที่แย่ที่สุดก็คือ ไม่สามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างที่หวัง
ว่ากันว่า โอลิมปิกเอเธนส์ 2004 นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจกรีซในปี 2009-2010 เป็นวิกฤตร้ายแรงที่หนี้สาธารณะพุ่งสูงถึง 127% ของ GDP (ในปี 2009) ในขณะที่ GDP เองก็ลดลงถึง 25% ในช่วงปี 2008-2016 ที่สำคัญคือ อัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 27.5% ในปี 2013 จนต้องรับความช่วยเหลือรวมมูลค่า 289 พันล้านยูโร แต่ถึงกระนั้นก็ต้องใช้เวลากว่า 8 ปี ในการฟื้นตัวกลับขึ้นมา
รูปภาพจาก Ricardo Moraes | Reuters
โอลิมปิกที่ริโอเดจาเนโรในปี 2016 ก็คล้ายกัน บราซิลนั้นเป็นประเทศที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว แม้คาดหวังว่าโอลิมปิกจะมาช่วยบรรเทาสภาวะย่ำแย่ที่เป็นอยู่ แต่ผลกลับไม่เป็นอย่างที่หวัง เริ่มต้นด้วยงบประมาณที่คาดการณ์ว่าจะใช้ที่ 14 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่พอใช้จริง กลับพุ่งขึ้นไปแตะ 20 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งแม้ไม่มากถึงสองเท่าอย่างกรีซ แต่ก็นับว่าหนักหนาสาหัสจนต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินทางการเงินก่อนการแข่งขัน
ที่แย่มากไปกว่านั้นก็คือ โครงการก่อสร้างต่าง ๆ เต็มไปด้วยการทุจริต ปัญหาคอร์รัปชันทำให้ต้องมีการสืบสวนกรณีทุจริตในโครงการก่อสร้างหลายโครงการ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาล แต่ปัญหาไม่ได้หยุดอยู่แค่นั้น เพราะประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจสูงอยู่แล้ว เมื่อโอลิมปิกวางน้ำหนักของตัวเองลงไปบนโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและเหลื่อมล้ำ ก็แทบจะเรียกได้ว่าทำให้ประเทศเกือบพังทลาย เพราะอาชญากรรมและความรุนแรงเพิ่มสูงขึ้นในช่วงการแข่งขัน ต้องมีการอารักขานักกีฬาและนักท่องเที่ยวขนานใหญ่ โดยใช้กำลังทหารกว่า 85,000 นาย ในการรักษาความปลอดภัย เหตุผลหนึ่งที่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น ก็เพราะมีการย้ายถิ่นฐานของชุมชนยากจนมากกว่า 60,000 คน เพื่อสร้างสนามกีฬาต่าง ๆ จึงยิ่งไปกดทับความเหลื่อมล้ำให้มากขึ้นไปอีก ไม่นับรวมการตัดต้นไม้เพื่อสร้างสนามกอล์ฟและปัญหามลพิษอื่น ๆ
หลังแข่งขันก็ไม่ต่างจากกรีซสักเท่าไหร่นัก เพราะสนามกีฬาและสิ่งอำนวยความสะดวกหลายแห่งถูกทิ้งร้าง แต่ก็ต้องมีค่าบำรุงรักษาอยู่ดี จึงต้องเสียงบประมาณไปโดยไม่ได้ประโยชน์คุ้มค่า และไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจระยะยาวได้อย่างที่คาดหวังเอาไว้
ผลลัพธ์คล้าย ๆ กรีซ เพราะเชื่อว่าโอลิมปิกคือส่วนหนึ่งที่ทำให้บราซิลต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยในช่วงปี 2015-2016 โดย GDP หดตัวอย่างรุนแรง คือ ลดลง 3.8% ในปี 2015 และ 3.6% ในปี 2016 ในขณะที่อัตราการว่างงานพุ่งสูงขึ้น โดยเพิ่มจาก 6.8% ในปี 2014 เป็น 11.3% ในปี 2016 แต่ที่ทุกคนรับรู้และเป็นข่าวไปทั่วโลกก็คือ การที่เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงถึง 10.7% ในปี 2015 ทั้งหมดนี้ทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นจาก 51.5% ของ GDP ในปี 2013 เป็น 70% ในปี 2016
Editorial credit: Grindstone Media Group | Shutterstock.com
แต่โอลิมปิกไม่ได้ให้ปัญหาและความท้าทายเสมอไป เพราะถ้าเราดู ‘วิธีคิด’ และ ‘วิธีทำ’ ของฝรั่งเศส เราจะเห็นได้เลยว่านี่คือ โอลิมปิกที่ ‘พลิก’ วิธีคิดใหม่หมด
อย่างแรกสุดคือการใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะต่าง ๆ จัตุรัส พิพิธภัณฑ์ พระราชวัง หอไอเฟล ฯลฯ ดังนั้น สถานที่ที่ใช้แข่งขัน 95% จึงเป็นสถานที่ที่พร้อมในตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างใหม่ วิธีคิดแบบนี้สะท้อนให้เห็นในพิธีเปิด ที่ทำให้ทั่วโลกต้องตื่นตะลึง แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เป็นวิธีคิดที่ช่วยประหยัดงบประมาณและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากด้วย
ที่สำคัญอีกสิ่งคือ ปารีสโอลิมปิกตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับโอลิมปิกที่ลอนดอนในปี 2012 และมีการวางแผนใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในการจัดงาน แม้กระทั่งเตียงนอนของนักกีฬา ก็ยังใช้ลังกระดาษแข็งที่ออกแบบมาอย่างดีให้แข็งแรง จึงเหมือนยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว
รูปภาพจาก olympics.com
นอกจากนี้ โครงการโอลิมปิกของปารีส ยังได้รับการวางแผนให้ ‘สอดคล้อง’ กับแผนพัฒนาเมืองที่มีอยู่แล้ว โดยมุ่งนำการพัฒนาเข้าไปสู่พื้นที่ที่ต้องการฟื้นฟู เช่น ย่าน Seine-Saint-Denis ซึ่งเป็นปริมณฑลทางตอนเหนือของปารีส เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูง มีประชากรอายุน้อยอยู่มาก แต่มีปัญหาความยากจนและอัตราการว่างงานสูง เมื่อนำพื้นที่นี้ไปเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านนักกีฬาและสนามแข่ง ก็จะเกิดการกระจายผลประโยชน์ของการจัดโอลิมปิกไปยังพื้นที่ที่ต้องการการพัฒนาได้โดยอัตโนมัติ เช่น มีการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อ ‘ชาวบ้าน’ ในพื้นที่อยู่แล้ว อย่างเช่นระบบขนส่งสาธารณะ หรือหมู่บ้านนักกีฬาก็จะถูกแปลงเป็นที่อยู่อาศัยราคาประหยัดหลังจบการแข่งขัน และระหว่างและหลังการแข่งขันก็จะมุ่งเน้นการสร้างงานและโอกาสทางเศรษฐกิจให้กับคนในพื้นที่ด้วย ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า โอลิมปิกจะกลายเป็นตัวเร่งการพัฒนาตามแผนที่วางเอาไว้ได้จริงหรือเปล่า
ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ปารีสไม่ได้วางแผนแบบ ‘ท็อป-ดาวน์’ หรือมีรัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจฝ่ายเดียว ทว่าเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการวางแผนและตัดสินใจด้วย โดยมุ่งเน้นการสร้างประโยชน์ระยะยาวให้ชุมชนท้องถิ่น โดยมีการวางแผนงบประมาณที่สมเหตุสมผลและมีการควบคุมอย่างใกล้ชิด
จะเห็นได้ว่า ทั้ง ‘ฝันสลาย’ และ ‘บทเรียน’ ที่เราได้จากโอลิมปิกหลายครั้ง แสดงให้เห็นว่าโอลิมปิกไม่ได้มีแต่ปัญหา ทว่าสามารถกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนได้ หากมีการวางแผนที่ดีและคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาวของชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ความสำเร็จของโอลิมปิกจึงขึ้นอยู่กับการสร้างสมดุลระหว่างการลงทุนระยะสั้นและผลประโยชน์ระยะยาว ที่เอาชุมชนและประเทศเป็นที่ตั้งนั่นเอง