ไม่มีหนทางอื่นใด – นอกจากการเดินไปในเส้นทางสายกรีน

 

 

โตมร ศุขปรีชา

 

 

ปีนี้ในไทยอากาศร้อนจัด ร้อนนาน และร้อนผิดปกติทั่วทุกภูมิภาค

 

ความร้อนทำให้นึกถึงชื่อหนังสือเล่มหนึ่งของ เจฟฟ์ กูดเดล (Jeff Goodell) ที่มีชื่อว่า The Heat Will Kill You First: Life and Death on a Scorched Planet

 

หนังสือเล่มนี้บอกเราว่า โลกจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป และสิ่งที่จะทำให้เรา ‘อยู่ไม่รอด’ จริง ๆ อาจไม่ใช่ภัยพิบัติจากน้ำหรือลม ไม่ว่าจะเป็นสึนามิ คลื่นซัดชายฝั่ง อุทกภัย หรือพายุเฮอริเคนอันโหดร้าย ทว่าคือ ‘ความร้อน’ นี่เอง

 

ไฟป่านั้นผลาญเผาแคลิฟอร์เนียจนแทบจะกลายเป็นแดนมิคสัญญี เช่นเดียวกับออสเตรเลีย แม้แต่ไฟป่าในบ้านเราที่ไม่ได้รุนแรงเทียบเท่า ก็ยังเป็นไฟป่าที่ส่งผ่านฝุ่น PM 2.5 เข้าไปในชั้นบรรยากาศ จนทำให้เตาอบที่ร้อนอยู่แล้วยิ่งร้อนอึดอัดหน่วงหนักเข้าไปอีก

 

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเล (โดยเฉพาะทะเลไทย) ก็ออกมาเตือนหลายครั้ง ว่าทะเลไทยกำลังเข้าขั้นวิกฤต หญ้าทะเลในบางพื้นที่หายไปเกือบหมด ไม่นับรวมปะการังที่ฟอกขาวแล้วฟอกขาวอีก จนบางส่วนก็ตายจากไปชนิดที่กู้กลับคืนมาไม่ได้ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะน้ำทะเลที่ ‘ร้อน’ มากเกินไป ซึ่งสำหรับมนุษย์แม้จะยังไม่ร้อนจนทำให้เราดับดิ้น ทว่าสำหรับระบบนิเวศใต้ทะเลและพืชสัตว์หลายสายพันธุ์ นี่คือความร้อนระดับ ‘ทะเลเดือด’ ที่ทำให้หลายสายพันธุ์ต้องสูญหายไป

 

เป็นภาวะแบบนี้นี่เอง ที่ผู้คน ‘จำเป็นต้อง’ กลับมา ‘คิด’ อย่างจริงจัง ว่าเราควรมีชีวิตอยู่อย่างไร

 

ที่จริงแล้ว ไม่มีหนทางอื่นอีก นอกจากต้องกลับมาช่วยกันกอบกู้หนทางแห่งสีเขียวอย่างจริงจังในทุก ๆ มิติ แม้มีตัวเลขบอกว่า กฎหมายและนโยบายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกจะเพิ่มจาก 60 ฉบับในปี 1997 มาเป็นกว่า 2,680 ฉบับ ในปี 2022 แล้ว แต่คำถามก็คือ – เพียงเท่านี้มัน ‘พอ’ แล้วหรือยัง, โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ต้องบอกว่าเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากที่สุด

 

หลายคนบอกว่า ถ้าจะให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวชดเชยต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้วละก็ สิ่งที่ควรทำมากที่สุดก็คือการ ‘เลิกเที่ยว’ ไปเสียเลย เพราะการยังท่องเที่ยวอยู่พร้อมกับประกาศว่าจะทำให้การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์นั้น ดูเหมือนเป็นเรื่องย้อนแย้งและอาจถึงขั้นหน้าไหว้หลังหลอก (Hypocrisy) ด้วยซ้ำไป 

 

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น แม้จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มีประโยชน์หลายเรื่อง ถ้าไม่นับประโยชน์ทางเศรษฐกิจ อย่างการสร้างงาน การกระจายรายได้ ประโยชน์ที่สำคัญที่สุดของการเดินทางท่องเที่ยว ก็คือการ ‘เปิด’ เส้นขอบฟ้าของนักเดินทางให้ได้ ‘เห็นโลก’ และรับรู้ถึงความแตกต่างหลากหลาย รวมถึงสร้างความเป็น ‘พลเมืองโลก’ (Cosmopolitanism) ขึ้นมาด้วยประสบการณ์ตรงในแบบที่วิธีการอื่นให้ไม่ได้

 

ดังนั้น ตราบเท่าที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังเป็นเรื่องจำเป็นและหยุดยั้งไม่ได้ การพูดถึงสิ่งแวดล้อมในบริบทของการท่องเที่ยว จึงยิ่งเป็นเรื่อง ‘จำเป็น’ มากขึ้นเรื่อย ๆ ทุกภาคส่วนต้องตระหนักร่วมกันว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่รุนแรงและเร่งด่วน และการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ยิ่งทั่วโลกมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ก็ยิ่งหมายความว่าผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย 

 

ในปัจจุบัน มีการคิดค้น ‘เครื่องมือ’ ทางเศรษฐศาสตร์และทางกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้รับมือกับการ ‘ใช้โลก’ อย่างไม่บันยะบันยังหลายอย่าง ตัวอย่างเช่นมาตรการที่เรียกว่า Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ของสหภาพยุโรป เรียกได้ว่าเป็น ‘กลไกการปรับราคาคาร์บอน’ ก่อนข้ามพรมแดน เป้าหมายของมาตรการนี้ก็คือป้องกันไม่ให้อุตสาหกรรมย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่ไม่ค่อยจะเข้มงวดเรื่องสิ่งแวดล้อมเท่าไหร่ มาตรการที่เรียกว่า ‘ภาษีคาร์บอน’ (Carbon Tax) คือการเรียกเก็บภาษีต่อหน่วยของคาร์บอนที่ปล่อยออกมา มีเป้าหมายเพื่อกระตุ้นให้ภาคอุตสาหกรรมและผู้บริโภคลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และหันมาใช้พลังงานสะอาดแทน โดยอัตราภาษีจะต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น สวีเดนเก็บภาษีคาร์บอนอยู่ที่ 137 ดอลลาร์ต่อตันของคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา ขณะที่ญี่ปุ่นอยู่ที่ประมาณ 3 ดอลลาร์ต่อตัน

 

นอกเหนือจากนี้ยังมีมาตรการอื่น ๆ อีกหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเกิดขึ้นมาเพื่อ ‘เอื้อ’ ให้กลุ่มทุนใหญ่ได้ประโยชน์ เช่น ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยมลพิษหรือ Emissions Trading Scheme (ETS) ที่แม้จะคล้ายกับภาษีคาร์บอน แต่มีนัยด้านกลับ นั่นคือออกใบอนุญาตให้แต่ละบริษัทสามารถปล่อยมลพิษได้ตามสัดส่วนที่กำหนด บริษัทไหนปล่อยมลพิษได้น้อยกว่า สามารถนำ ‘ส่วนเกิน’ ไปขายให้กับบริษัทที่ลดการปล่อยได้ไม่ถึงเป้า ทำให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ว่าถ้าปราศจากความจริงใจในการร่วมมือกันแก้ปัญหานี้เสียแล้ว – ผลลัพธ์สุดท้ายอาจเป็นตรงข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้ก็ได้

 

จะเห็นว่า เรื่องสำคัญในการร่วมกันแก้ปัญหานี้เพื่อไม่ให้มนุษยชาติต้อง ‘ถูกย่างสด’ ตายไปด้วยความร้อน (และภัยธรรมชาติอื่น ๆ) สิ่งสำคัญที่จะ ‘ร่วมด้วยช่วยกัน’ ได้ในเรื่องนี้ ก็คือ ‘ความจริงใจ’ ในการแก้ปัญหา หรือพูดอย่างพุทธก็คือต้องเป็นการร่วมกันแก้ปัญหาโดยมีหิริโอตตัปปะที่มาจากภายในจริง ๆ ไม่ใช่เพราะถูกกฎหมายบังคับ

 

 

มีกรณีศึกษาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หันมาร่วมแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังและจริงใจ และสามารถแก้ปัญหา (อย่างน้อยก็ในพื้นที่ของตัวเอง) ได้จริง ๆ อยู่หลายกรณี ตัวอย่างเช่นบนเกาะวาซินี (Wasini) ของเคนยา ซึ่งเคยมีปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเผาถ่านอย่างหนัก กลุ่มสตรีบนเกาะแห่งนี้ได้รวมตัวกันสร้างพื้นที่ท่องเที่ยวแบบโฮมสเตย์ โดยมีการออกแบบพื้นที่ให้มีทั้งทางเดินศึกษาธรรมชาติ ที่พัก และสวนปะการัง โดยนำรายได้มาปลูกป่าชายเลนและสร้างโครงการกำจัดขยะในชุมชน รวมถึงสนับสนุนการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส จนกลายเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ประสบความสำเร็จที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก

 

ต้นแบบแห่งการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์อีกแห่งหนึ่ง คือสวนปะการังแห่งเกาะชุมเบิล (Chumble Island Coral Park) ในแทนซาเนีย ที่นี่เคยเจอปัญหาการทำประมงแบบสร้างความวอดวายให้กับระบบนิเวศอย่างหนัก นั่นคือการใช้ระเบิด ทำให้ทั้งปะการังและสัตว์น้ำถูกทำลาย แต่รัฐบาลอนุญาตให้นักอนุรักษ์ฯ ชาวเยอรมันมาเช่าเกาะเพื่อจัดตั้งเป็นพื้นที่อนุรักษ์ฯ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1992 และสร้างเป็นโครงการที่ต่อเนื่องยาวนาน ปัจจุบันแนวปะการังฟื้นตัวอุดมสมบูรณ์ และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังระดับโลก โดยขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมจริง ๆ

 

ในอินโดนีเซียก็มีรีสอร์ตชื่อ Misool Eco Resort ที่ตั้งอยู่บนเกาะห่างไกลและเคยมีปัญหาเรื่องการทำประมงผิดกฎหมาย รวมไปถึงการลักลอบขุดเจาะน้ำมันและทำลายป่า วิธีการของรีสอร์ตแห่งนี้คือการร่วมมือกับชุมชน และจ้างชาวประมงที่เคยทำผิดกฎหมายให้เปลี่ยนกลายมาเป็นเจ้าหน้าที่ดูแลเขตอนุรักษ์ฯ แทน พบว่าในเวลา 6 ปี ปลาฉลามเพิ่มขึ้น 25 เท่า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้ถ้ามนุษย์เลิกละการรังควานธรรมชาติในฉับพลันทันที

 

กรณีศึกษาเหล่านี้ยังมีอีกหลายแห่ง ถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ๆ มีโครงการ Greening Communities ของเครือโรงแรม Banyan Tree ในสิงคโปร์ เป็นโครงการส่งเสริมการปลูกต้นไม้ทั้งในรีสอร์ตและพื้นที่โดยรอบ เขาไม่ได้ ‘หว่านแห’ ปลูกต้นไม้เป็นล้าน ๆ ต้นในคราวเดียวแล้วทอดทิ้ง แต่ตั้งเป้าปลูกเพียงปีละ 2,000 ต้น ทว่าคัดเลือกสายพันธุ์และดูแลต้นไม้อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับองค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินและรับรองด้านสิ่งแวดล้อมและวิทยาศาสตร์ในมิติด้านการเดินทางท่องเที่ยวอย่าง Earthcheck ด้วย

 

นอกจากนี้ โรงแรมใหญ่อย่าง Crowne Plaza Copenhagen Towers ในเดนมาร์ก ก็ลงทุนติดตั้งกังหันลมขนาดใหญ่บนหลังคา รวมถึงแผงโซลาร์เซลล์บนผนังด้านนอก ทำให้ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้มากถึง 65% และมีมาตรการอื่น ๆ อีกมาก จนกลายเป็นโรงแรมที่ปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Carbon dioxide Neutral) แห่งแรกในเดนมาร์ก และเป็นโรงแรมแรกของเดนมาร์กด้วย ที่ลงนามในข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ (UN Global Compact) ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ในระดับเมือง ก็มีตัวอย่างของเมืองเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้ ซึ่งถ้าใครยังจำได้ ในปี 2018 เคยมีข่าวขาดแคลนน้ำและประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรงจนเกือบต้องงดจ่ายน้ำทั้งหมด (เรียกว่า Day Zero) สถานการณ์นั้นเลวร้ายถึงขั้นทำให้เมืองต้องประกาศขอความร่วมมือจากภาคการท่องเที่ยว ให้ช่วยลดการใช้น้ำ เช่น ขอให้โรงแรมไม่เปลี่ยนผ้าปูที่นอนและผ้าเช็ดตัวทุกวัน ปิดสระว่ายน้ำ และขอให้นักท่องเที่ยวอาบน้ำไม่เกิน 2 นาทีต่อครั้ง รวมไปถึงมาตรการอื่น ๆ เช่น ห้ามใช้สายยางรดน้ำต้นไม้ ห้ามล้างรถ หากฝ่าฝืนต้องเสียค่าปรับสูงถึง 600 ดอลลาร์ แต่ด้วยความร่วมมือจากทุกด้าน รวมไปถึงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวด้วย เจ้า Day Zero จึงไม่เกิดขึ้น เคปทาวน์ประหยัดน้ำได้มากถึง 50% ภายในสามเดือน และทบทวนแผนการจัดการน้ำในระยะยาว จนในที่สุดก็แก้ปัญหานี้ได้จริงจนกลายเป็นตัวอย่างสำคัญระดับโลก

 

หรือถ้าเป็นระดับประเทศ (และอยู่ไม่ห่างจากบ้านเรา) ก็มีความร่วมมือที่ริเริ่มโดย World Wide Fund for Nature ในอันที่จะปกป้องพื้นที่ป่าบนเกาะบอร์เนียวมากถึง 220,000 ตารางกิโลเมตร โดยมีรัฐบาลสามประเทศร่วมลงนาม คือ บรูไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย พื้นที่นี้ถือว่าสำคัญมาก เพราะมีสัตว์เฉพาะถิ่นมากมาย เฉพาะที่เป็นไพรเมตก็มีถึง 10 สปีชีส์ นกอีก 350 สปีชีส์ สัตว์เลื้อยคลานอีก 150 สปีชีส์ และหลังจากโครงการนี้ริเริ่มขึ้น ก็มีการค้นพบสัตว์ใหม่ ๆ มากถึง 123 สปีชีส์ด้วยกัน

ในไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวก็สามารถร่วมแก้ปัญหาระดับโลกได้หลายอย่าง เช่น การลดใช้พลาสติก, การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ, การจัดหาพลังงานทดแทน, การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เชิงวัฒนธรรม และเชิงความรู้ ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวได้รับความรู้ติดตัวกลับบ้านไปด้วย ที่สำคัญก็คือ ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวตามมาตรการและกฎหมายต่าง ๆ ของภาครัฐที่จะออกมา รวมถึงการปรับเปลี่ยนตัวเองให้ได้มาตรฐานสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ อย่างมาตรฐาน ISO 14001 เป็นต้น

 

แต่ที่สำคัญที่สุด ก็คือการสร้างความตระหนักรู้ให้เกิดแก่ตัวผู้ประกอบการเอง พนักงาน รวมไปถึงนักเดินทางท่องเที่ยว และอาจมีการสร้างความร่วมมือและเครือข่ายในพื้นที่ด้วย เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมนั้นทำคนเดียวมักได้ผลจำกัด ถ้าจะให้เกิดผลที่กว้างใหญ่จริง ๆ ควรร่วมมือกับเครือข่ายในพื้นที่เพื่อสร้างสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมขึ้นอย่างจริงจัง

 

แม้จะรับประกันไม่ได้หรอกว่า The Heat Will Kill You First ตามชื่อหนังสือที่ว่าตั้งแต่ต้นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็น่าจะช่วยชะลอวันแห่งหายนะที่จะเกิดขึ้นออกไปได้เรื่อย ๆ เหมือนที่เคปทาวน์เคยทำได้ ด้วยการ ‘เลื่อน’ Day Zero ออกไปจนมันไม่เกิดขึ้นจริง!

Share This Story !

2.1 min read,Views: 1155,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    มกราคม 26, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    มกราคม 26, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    มกราคม 26, 2025