Tourism: Blessed with a curse การท่องเที่ยวอุตสาหกรรมที่ถูกสาป?
โดย บัณฑิต เอนกพูนสินสุข
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว – ดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศจริงหรือไม่?
การหยิบยกการท่องเที่ยวมาเป็นกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เมือง และประเทศ อาจเป็นวิธีที่ง่ายและเห็นผลลัพธ์ได้รวดเร็ว เห็นได้จากการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของหลายประเทศที่พัฒนาได้อย่างก้าวกระโดดผ่านการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ยกตัวอย่างเช่น คอสตาริกา ที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เน้นเป้าหมายเชิงปริมาณหรือการท่องเที่ยวแบบ Mass Tourism ผ่านจุดขายด้านความสวยงามของป่าฝน (Rainforest) และชายหาดอันแสนสวยของประเทศ
แต่ในทางกลับกัน การใช้การท่องเที่ยวเป็นปัจจัยขับเคลื่อนในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเพียงอย่างเดียวโดยขาดการวางแผนที่รอบคอบย่อมก่อให้เกิดปัญหาระยะยาว ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม/มลพิษ การสูญเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ และข้อเท็จจริงคือผลประโยชน์จากการท่องเที่ยวส่วนใหญ่นั้นไม่ได้กลับคืนสู่คนในชุมชมเมื่อเทียบกับผลกระทบที่ได้รับจากการท่องเที่ยว
การหยิบยกการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณและขาดการวางแผนอย่างรอบคอบก่อให้เกิดผลกระทบในเชิงลบต่อเศรษฐกิจและสังคมของจุดหมายปลายทางดังต่อไปนี้
Curse No. 1 : Single-use infrastructure ที่ไม่คุ้ม
อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว – คือหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างพื้นฐานแบบใช้งานแบบเดียว (Single-use Infrastructure) โดยโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองหรือสนับสนุนวัตถุประสงค์ใดวัตถุประสงค์หนึ่งและไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นได้น้อยและไม่คุ้มค่า ยกตัวอย่างในประเทศเบลเยี่ยมในยุค 1980s
ในปี 1956 เบลเยี่ยมสร้างทางหลวงเส้นแรกสำเร็จ ซึ่งเป็นเส้นทางระหว่างกรุงบรัสเซลส์ เมืองหลวงและเมืองอุสเทนด์เมืองตากอากาศยอดนิยม ทางหลวงเส้นนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวใช้เดินทางโดยเฉพาะ และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในช่วงฤดูท่องเที่ยวโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่ต้องการเดินทางไปยังกรุงลอนดอนโดยนั่งเรือเฟอรี่จากท่าเรือเมืองอุสเทนด์
ถนนเส้นนี้สร้างความคึกคักให้กับการเดินทางและการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก การสัญจรหนาแน่นแสนสาหัสตลอดช่วงฤดูท่องเที่ยว (Peak Season) แต่ในทางกลับกันในช่วง Low Season ถนนเส้นนี้จะเงียบเหงา แทบจะไม่มีรถวิ่ง และในขณะเดียวกัน ณ เมืองอุสเทนด์ ตลอดสองฝั่งข้างทางเราจะพบเห็นอะพาร์ตเมนต์สูงใหญ่ ร้านค้า ร้านอาหาร ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดตลอดแนวชายฝั่ง
สิ่งปลูกสร้างเพื่อการท่องเที่ยวตลอดแนวชายฝั่งส่งผลกระทบต่อสันทรายและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตในละแวกนั้น ในขณะเดียวกัน ในช่วง Low Season เมืองอุสเทนด์กลับเวิ้งว้างว่างเปล่าเมื่อไม่มีนักท่องเที่ยว ทำให้ชาวบ้านในชุมชนประสบกับภาวะขาดรายได้และการจ้างงาน แม้จะมีการลงทุนสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ มากมายก็ตาม ทำให้อุสเทนด์ กลายเป็นเมืองที่เงียบเหงาตลอดช่วง Low Season จนท้ายที่สุดในช่วงปี 1980s อุสเทนด์ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซาและจำเป็นต้องพึ่งพาเงินทุนสนับสนุนพิเศษจากสหภาพยุโรปเพื่อนำมาพัฒนาท้องถิ่น
เมื่อวิเคราะห์ดูแล้ว เมืองอุสเทนด์ต้องเสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ ซึ่งอันที่จริงแล้วเมืองแห่งนี้เป็นทำเลทองมีโอกาสเป็นศูนย์กลางท่าเรือทำการค้าระหว่างเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร
กรณีตัวอย่างของเมืองอุสเทนด์นั้นไม่แตกต่างกับเมืองท่องเที่ยวยอดนิยมในหลายประเทศ ภาวะโครงสร้างพื้นฐานทางการท่องเที่ยวถูกใช้อย่างเต็มขีดจำกัดในฤดูท่องเที่ยว แต่ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทดแทนอื่น ๆ ได้ในช่วงเวลานอกเหนือฤดูท่องเที่ยว ในขณะเดียวกันการสร้างโรงแรมมากมายตามบริเวณพื้นที่ท่องเที่ยวก็ส่งผลทำให้พื้นที่บริเวณใกล้เคียงตกอยู่ในภาวะจำยอมให้ต้องถูกนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวด้วย และท้ายที่สุดจุดหมายปลายทางแห่งนั้นก็จะเต็มไปด้วยธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และไม่เหลือพื้นที่สำหรับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชนอีกเลย
Curse No. 2 : รายได้แบบ Easy come, easy go
มองดูเมืองท่องเที่ยวเด่น ๆ จะเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งปลูกสร้างด้านการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ ทั้งโรงแรม/ที่พัก ร้านค้า ถูกครอบครองโดยบริษัทใหญ่ที่ไม่ใช่ธุรกิจท้องถิ่น/ที่ตั้งอยู่ต่างประเทศ ด้วยเหตุนี้เองผลประกอบการและกำไรจากรายได้ทางการท่องเที่ยวจึงเข้ามาอย่างรวดเร็ว ในจำนวนมหาศาล แต่ขณะเดียวกันก็รั่วไหลออกจากจุดหมายปลายทางอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่นกรณีของอลาสกา หนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญ ปกติแล้วการล่องเรือสำราญจะเดินเรือในช่วงเวลากลางคืนและจอดเทียบท่าให้นักเดินทางแวะชมเมืองในช่วงกลางวัน สแคกเวย์ หมู่บ้านทางประวัติศาสตร์ของอลาสกา ซึ่งมีผู้อยู่อาศัยประมาณ 2,500 คน ในแต่ละวันจะมีเรือสำราญมาเทียบท่าเพื่อแวะชมเมืองแห่งนี้ประมาณ 4 ลำ
ในสมัยก่อน หมู่บ้านแห่งนี้จะเต็มไปด้วยร้านค้าของชาวบ้านในชุมชน แต่ในปัจจุบันหมู่บ้านแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก กลับกลายเป็นเต็มไปด้วยร้านขายเครื่องประดับ ไม่ใช่เครื่องประดับพื้นเมือง Hand Made ของชาวบ้าน แต่เป็นร้านเครื่องประดับ Made in China ที่ผลิตจากจีน ร้านค้าบางส่วนเจ้าของเป็นต่างชาติ ซ้ำร้ายไปกว่านั้นร้านค้าที่ขายดิบขายดีมักเป็นร้านค้าเครื่องประดับจากต่างแดนที่จ่ายส่วยให้กับบริษัทเรือเดินสมุทร
ด้วยเหตุนี้เองเงินที่นักท่องเที่ยวซื้อของที่ระลึกจากร้านเครื่องประดับจึงรั่วไหลออกจากชุมชนไปยังธุรกิจต่างชาติ ไม่ต่างอะไรจากรายได้ของโรงแรม/ที่พัก และร้านอาหาร ที่แท้จริงแล้วรายได้ก็ถูกส่งต่อไปยังผู้ประกอบการรายใหญ่แทนที่จะลงไปสู่ผู้ประกอบการรายเล็กในชุมชน
Curse No.3 : งานบริการไม่จำเป็นต้องเรียนหนังสือสูง?
ความเจริญด้านการท่องเที่ยวในชุมชนสามารถส่งผลต่อการตัดสินใจลงทุนด้านการศึกษาของคนในท้องถิ่น จากการสำรวจประชากรในประเทศกลุ่มสมาชิกองค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจเเละการพัฒนา (OECD-Organization for Economic Cooperation and Development) จำนวน 38 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2021 พบว่าประชากรอายุระหว่าง 25-34 ปี ที่สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่านั้น มีสัดส่วนเพียง 47.5% ยิ่งไปกว่านั้นประเทศที่พึ่งพาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจะมีอัตราส่วนที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยลงไปอีก ยกตัวอย่างเช่น กรีซ (44.2%) และอิตาลี (33.7%) (OECD 2021)
การศึกษาในอดีตพบว่า ในประเทศหรือเมืองที่เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญ ผลตอบแทนด้านการศึกษาจะต่ำเพราะการจ้างงานส่วนใหญ่จะเป็นการจ้างงานประเภทบริการและงานในรูปแบบที่ไม่ต้องใช้ความสามารถระดับสูง นอกจากนี้ งานในโรงแรมส่วนใหญ่นั้น มีตำแหน่งผู้บริหารเพียงไม่กี่ตำแหน่ง และตำแหน่งเหล่านั้นมักถูกหยิบยื่นให้กับบุคคลภายนอกที่ถูกแต่งตั้งให้เข้ามาบริหารจากสำนักงานใหญ่ ในขณะที่ตำแหน่งที่ไม่ต้องการความรู้ในระดับปริญญาอย่างพนักงานทำความสะอาด พนักงานเสิร์ฟ และพนักงานทำครัว มีอัตราการจ้างสูง ทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อการศึกษาระดับสูง
การท่องเที่ยว ≠ ปัญหา แต่ต้องสร้างสมดุล
ความสมดุล คือสิ่งสำคัญที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต้องให้ความสำคัญ
การท่องเที่ยวไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องสร้างความสมดุลผ่านรูปแบบการพัฒนาที่หลากหลายและสามารถสร้างงานในทุกระดับให้กับคนในพื้นที่ ไม่ใช่พึ่งพาเพียงอุตสาหกรรมเดียว
ยิ่งจุดหมายปลายทางมีศักยภาพในการนำเสนอการจ้างงานที่หลากหลายมากเท่าไหร่ เมืองนั้นก็ยิ่งมีศักยภาพในการดึงดูดการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ ๆ มากขึ้น และเมื่อเมืองมีการเติบโตของอุตสาหกรรมที่หลากหลาย ผู้คนในชุมชนก็มีโอกาสทางธุรกิจที่หลากหลายไม่พึ่งพาเพียงอุตสาหกรรมใดเพียงอย่างเดียว ในขณะเดียวกันคนนอกถิ่นก็อยากเข้ามาอาศัยและนักท่องเที่ยวก็อยากมาเยือน
การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกอย่างรุนแรง มีคนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกตกงานกว่า -62 ล้านคน GDP ของการท่องเที่ยวโลกลดลงถึง -49.1% (WTTC 2021) นอกจากนี้ IMF รายงานว่าประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวในระดับสูงจะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจนานและรุนแรงกว่าประเทศอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้เราฉุกคิดอะไรบ้างหรือไม่?
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ทุก ๆ ประเทศ เมือง และจุดหมายปลายทางจะต้องหันกลับมาคิดทบทวนและวางแผนการท่องเที่ยวใหม่อีกครั้งอย่างจริงจัง วางแผนส่งเสริมแผนการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่ามากกว่าปริมาณ (Value over volume) ทำให้การท่องเที่ยวเป็นส่วนสนับสนุนการพัฒนาเมืองที่ไม่ใช้ตัวแปรหลักที่ขาดไม่ได้ อย่าปล่อยให้การท่องเที่ยวต้องกลายเป็นคำสาปที่สิ้นสุดและจบลงที่ผลกระทบเฉกเช่นที่ผ่านมา…
References
-
UNWTO International Tourism Highlights 2020 Edition,
Retrieved from: https://www.e-unwto.org/doi/pdf/10.18111/9789284422456
-
The Tourism Curse,
Retrieved from: https://foreignpolicy.com/2018/10/19/the-tourism-curse/
-
Travel & Tourism Economic Impact 2021,
Retrieved from: https://wttc.org/Portals/0/Documents/Reports/2021/Global%20Economic%20Impact%20and%20Trends%202021.pdf
-
OECD 2021,