Waking up to ‘Wellness’ AMAALA เมืองท่องเที่ยวแห่งความมั่นคงทางสุขภาพ

พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล

 

‘Good health and well-being’ คือ 1 ใน 17 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ที่กำหนดโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) โดยมีวาระสำคัญคือการสร้างหลักประกันให้ทุกคนบนโลกมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี 2030 

 

แน่นอนว่า Wellness คือ ‘คลื่นลูกใหญ่’ ในตลาดท่องเที่ยวที่เราได้ยินนับครั้งไม่ถ้วนในช่วง 2-3 ปีหลัง แต่น้อยครั้งที่เราจะเข้าใจคำว่า Wellness อย่างแท้จริง 

 

เดิมที Wellness เป็นศัพท์ในยุคโมเดิร์นที่มีรากฐานมาจากคำในยุคเฟื่องฟูของอาณาจักรทางตะวันออกที่เป็นพื้นที่ของประเทศอินเดียและจีนในยุคโบราณ เชื่อกันว่าบรรพบุรุษของเราค้นพบวิธีการป้องกันก่อนการเกิดโรคและดูแลสุขภาพแบบองค์รวมไปพร้อม ๆ กัน นับตั้งแต่นั้น Wellness ก็กลายเป็นคำที่ใช้แทนความหมายในการ ‘ดูแลสุขภาพ’ รวมถึง ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ มาจนถึงตอนนี้ ไม่เพียงแต่ในยุคโบราณเท่านั้น ความจำเป็นของคนยุคปัจจุบันที่ต้องอยู่ร่วมกับเงื่อนไขชีวิตในรูปแบบใหม่เพราะ COVID-19 ก็คือหนึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้โลกทั้งใบหันมาให้ความสำคัญกับการดูแลและรักษาสุขภาพกันเพิ่มขึ้นเป็นเท่าทวีคูณ 

 

 

‘Wellness’ gift from the pandemic

ความฮอตนี้เองที่ทำให้การดูแลสุขภาพไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ แต่เข้ามากลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของคนทั่วโลกไปแล้วเรียบร้อย หลายประเทศจึงปักหมุดจับ Segment นี้มาเป็นกลไกสำคัญทางการตลาดเพื่อนำรายได้และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ ข้อมูลจาก Global Wellness Institute หรือ GWI ระบุว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจของตลาด Wellness ทั่วโลกในปี 2015-2017 สูงขึ้นที่อัตราเฉลี่ย 6.4% ต่อปี แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่มีมูลค่าสูงกว่าเศรษฐกิจโลกในภาพรวมเกือบ 2 เท่า คิดเป็นมูลค่าสูงกว่า 4.9 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ในปี 2019 ขณะที่รายงาน The Global Wellness Economy: Looking Beyond Covid ยังระบุด้วยว่าตลาดนี้จะมีมูลค่าขึ้นไปแตะ 7 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 ได้อย่างไม่ยาก

 

และหากพิจารณาตัวเลขตลาด Wellness ในเชิงการท่องเที่ยวจะพบว่ามีมูลค่าสูงถึง 720 พันล้านดอลลาร์ในปี 2019 เช่นเดียวกับรายงานจาก Global Wellness Economy ที่ชี้ว่าตั้งแต่ปี 2020-2025 ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพมีอัตราการเติบโตที่ 21% และจะโตแบบก้าวกระโดดในอนาคต ทำให้มีการประเมินว่าตลาดนี้จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์ในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขการเติบโตที่รวดเร็วทีเดียวในยุคข้าวยากหมากแพงอย่างในปัจจุบัน และนี่คือเหตุผลหลัก ๆ ที่ทำให้ Wellness เป็นหนึ่งใน Segment ที่อุตสาหกรรมทั่วโลกต่างฝากความหวังไว้

 

เมื่อมองมายังมุมของการท่องเที่ยวที่พาเราไปดูแลสุขภาพและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดี ก็ตอบโจทย์ตลาดในแง่ของการสร้างประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวและการพักผ่อนหย่อนใจ และหากทำได้อย่างยั่งยืนก็ถือเป็นโอกาสของประเทศในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้แตะลึกลงไปถึงชุมชนได้ในที่สุด ซึ่งนั่นคือเสน่ห์อย่างหนึ่งของการท่องเที่ยวแบบ Wellness ที่ไม่จำกัดว่าต้องอยู่ในเมืองหลวง เพราะท้องถิ่นก็หาจุดแข็งทางการตลาดได้เช่นกัน นอกจากเชิงนโยบายแล้ว จุดเด่นของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือการรับบทเป็นนักท่องเที่ยวสายเปย์ ใช้จ่ายสูง ทั้งค่าที่พักเนื่องจากอยู่เฉลี่ยนาน 7 วันถึงเป็นเดือน ที่สำคัญคือมีอัตราการกลับมาพักซ้ำที่โรงแรมเดิมสูงกว่ากลุ่มอื่นราว 30-50% ซึ่งล้วนเป็นข้อดีสำหรับธุรกิจโรงแรมที่มักจะพบเจอกับปัญหาเรื่อง Seasonality แทบทั้งสิ้น

 

ทั้งหมดนี้ เป็นเหตุผลที่หลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา คอสตาริกา เมืองเศรษฐกิจอย่างสิงคโปร์ หรือเมืองชื่อไม่คุ้นหูอย่างแลงคาเชียร์ในอังกฤษ แอดิเลดฮิลล์ในออสเตรเลีย และแหล่งท่องเที่ยวหน้าใหม่อย่าง AMAALA ของซาอุดีอาระเบีย ประเทศมหาเศรษฐีแห่งตะวันออกกลางที่ต่างพากันเดินหน้ามุ่งสู่การทำตลาดท่องเที่ยวแบบ ‘Wellness Destination’ อย่างไม่ลังเล

 

 

‘AMAALA’

ทะเลทรายริมชายฝั่งทะเลแดงทางตอนเหนือของซาอุดีอาระเบียคือบริเวณที่ AMAALA โปรเจ็กต์เมืองแห่ง ‘ความมั่นคงทางสุขอนามัย’ ของโลกกำลังจะเกิดขึ้น เป้าหมายของที่นี่คือการดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วโลกมายังซาอุดีอาระเบียเพื่อดูแลสุขภาพและมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นอีกซีรีส์ของ Giga Project บนพื้นที่สงวนบริเวณแถบชายฝั่งทะเลแดงที่แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก 

 

เพื่อผลักดันให้เกิด ‘Wellness Community’ เมืองนี้จึงให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีแบบ ‘Ultra-luxury’ ที่สุดของนิยามความหรูหรา ที่นี่อัดแน่นไปด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพชั้นนำจากหลากหลายสาขาและสถาบันเชิงสุขภาพชื่อดังระดับโลก 

 

ก้าวแรกของ AMAALA คือการสร้างระบบพื้นฐานของเมืองอัจฉริยะ จึงมั่นใจได้ว่าเมืองจะมีข้อมูลที่แม่นยำมากพอในการทำให้เกิด Tourist Journey ที่สมูทที่สุด และสิ่งหนึ่งที่ AMAALA น่าจะทำได้ดีไม่แพ้กันคือการเปิดรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ควบคุมดูแลจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายใหญ่ในการเป็น Wellness Destination ที่ยั่งยืน เมืองนี้จะปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ทั้งยังหยิบเอาหลักการพัฒนาแบบยั่งยืนและการท่องเที่ยววิถีใหม่เพื่อการฟื้นฟู (Regenerative Tourism) มาเป็นหัวใจในการขับเคลื่อนพื้นที่อย่างชัดเจน ซึ่งนอกจากเมืองนี้จะโดนเด่นในเรื่อง Wellness สำหรับทุกคนในครอบครัวแล้ว ยังมีกิจกรรมสันทนาการเพื่อการพักผ่อน เช่น ดำน้ำ แล่นเรือยอร์ช รวมถึงกิจกรรมกีฬาไม่ว่าจะเป็นโปโล กิจกรรมฝึกเหยี่ยวนักล่า (Falconry) แข่งวิ่งอูฐ กอล์ฟ และเทนนิส ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาจะช่วยจุดประเด็นให้ AMAALA กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพแห่งใหม่ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกรวมถึงกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางได้อย่างไม่ยาก

 

ภาพจาก www.amaala.com

 

AMAALA ลงทุนใน 3 โมเดลหลัก ๆ ได้แก่ สุขภาพ ศิลปะ และการพักผ่อนหย่อนใจ ในขณะเดียวกันนอกจาก การเป็นต้นแบบเมืองแห่งประสบการณ์ด้าน Wellness แบบหาที่ติไม่ได้แล้ว ที่นี่ยังมีแบรนด์โรงแรมหรูระดับโลกที่ออกแบบมาอย่างพิถีพิถันกว่า 25 แห่ง ที่พักวิลลาส่วนตัว 900 หลัง เช่นเดียวกับร้านค้าปลีกระดับ Hi-End สถานที่จัดแสดงงานศิลปะ มารีนา และยอร์ชคลับที่จะเปิดให้บริการจริงในปี 2028 

 

ภาพจาก www.amaala.com

 

ตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์ที่เข้าถึงง่ายทั้งทางอากาศ-บก-ทะเล

หากดูจากโลเคชัน ก็ถือได้ว่า AMAALA มีจุดแข็งอยู่ไม่น้อย ทั้งในแง่ของความสะดวกในการเดินทางและอยู่ในเขตอากาศที่อบอุ่นตลอดทั้งปี แวดล้อมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หายาก ภูมิทัศน์ทางธรรมชาติที่งดงามและภูเขาสูงรูปร่างสวยแปลกตา อีกจุดได้เปรียบทางการตลาดที่เป็นไปได้ของ AMAALA มีอีก 2 ประเด็นใหญ่ ได้แก่ พื้นที่ของเมืองตั้งอยู่ใจกลางกลุ่มประเทศผู้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งชาวมุสลิมถือเป็นกลุ่มประชากรที่มีการเติบโตเร็วกว่าทุกศาสนาบนโลก และคาดว่าในปี 2060 มุสลิมจะมีอัตราการเติบโตสูงกว่ากลุ่มประชากรศาสนาอื่นราว 70% เทียบเท่ากับชาวมุสลิมกว่า 3 พันล้านคน นั่นหมายถึงสัดส่วนประชากรราว 1 ใน 3 ของโลกเลยทีเดียว จึงไม่แปลกที่กลุ่มนี้จะเป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายด้าน Wellness ของหลายประเทศรวมถึง AMAALA ในฐานะตลาดนักท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในอนาคต และอีกประเด็นที่ขาดไม่ได้ คือ โลกที่เข้าสู่สังคมผู้สูงวัยโดยสมบูรณ์ซึ่ง UN คาดการณ์ว่าปี 2050 จะมีผู้สูงอายุกว่า 21% ทั่วโลกก็เป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ผลักดันให้ Wellness ตอบรับกระแสสังคมโลกได้อย่างเต็มตัวตั้งแต่แนวคิดการดูแลสุขภาพในระดับพื้นฐานไปจนถึงการสร้างเมืองแห่งสุขภาพแบบ ‘Ultra-luxury’

 

Wellness Tourism Boom in Asia

ข้อมูลจาก Euromonitor ในปี 2022 ระบุว่าเอเชียคือภูมิภาคที่มีการใช้จ่ายในกลุ่มตลาด Wellness มากที่สุดในโลกโดยมี Millennials เป็นกำลังซื้อสำคัญ จะว่าไปแล้ว ประเทศไทยเราเองก็มี ‘ของดี’ ด้านสุขภาพอยู่ไม่น้อย ซึ่งเหตุผลหลัก ๆ ก็น่าจะเป็นเพราะเรามีวัฒนธรรมดั้งเดิมที่ให้ความสำคัญกับอาหารการกิน แนวคิดใช้อาหารเป็นยา สมุนไพร การนั่งสมาธิ ด้วยเหตุนี้เอง จากการจัดอันดับของ Global Wellness Institute ประเทศไทยจึงติดอันดับประเทศต้น ๆ ที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์เชิงสุขภาพมาตลอด 

 

ที่สุดแล้วก็ไม่มีอะไรจะดีไปกว่าการมีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่แข็งแรงดี เพราะนี่คือความ ‘มั่งคั่ง’ ที่มีเงินเท่าไหร่ก็หาซื้อไม่ได้

 


 

ที่มา:
https://www.amaala.com/en/home
https://gocohospitality.com/why-wellness/
https://www.trtworld.com/magazine/which-religion-will-be-the-largest-by-the-end-of-the-century-52637
https://www.arabnews.com/node/2082181/business-economy
https://www.euromonitor.com/article/megatrends-wellness–mapping-key-opportunities-in-asia-pacific

Share This Story !

3.1 min read,Views: 1321,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤษภาคม 20, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤษภาคม 20, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤษภาคม 20, 2025