สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ (เดือนเมษายน-มิถุนายน 2567)
โดย งานวิเคราะห์ตลาดในประเทศ กองกลยุทธ์การตลาด วันที่ 27 มิถุนายน 2567
ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศ เดือนเมษายน-มิถุนายน 2567
สถานการณ์การท่องเที่ยวตลาดในประเทศเดือนเมษายน-มิถุนายน 2567 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 47.51 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 239,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนมาจากช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนที่ผู้ปกครองนิยมพาลูกหลานออกเดินทางท่องเที่ยว และการมีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายช่วง ได้แก่ วันหยุดเทศกาลสงกรานต์ วันหยุดวันวิสาขบูชาและวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชินี โดยเฉพาะวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์จัดเป็นช่วงเวลาที่บรรยากาศท่องเที่ยวในประเทศมีความคึกคักมาก เพราะปีนี้รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวช่วงเทศกาลสงกรานต์ ภายหลัง UNESCO มอบประกาศนียบัตรรับรองประเพณีสงกรานต์ไทยขึ้นเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษย์ชาติ (Representative List of the Intangible Cultural Heritage of Humanity) โดยส่งเสริมให้มีการทยอยจัดงานสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 1-21 เมษายน 2567 (จำนวน 21 วัน) ภายใต้โครงการ Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อร่วมอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีอันงดงามของไทย พร้อมกับส่งเสริมการท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งผลให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยว ร่วมทำกิจกรรมและใช้จ่ายในช่วงสงกรานต์เพิ่มขึ้นสูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา สอดคล้องกับข้อมูลของ Google Trends พบว่า คนไทยมีการพูดถึง “สงกรานต์” ในสัดส่วนค่อนข้างสูงโดยเฉพาะในพื้นที่เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น และภูเก็ต ขณะเดียวกันช่วงปลายเดือนพฤษภาคม-มิถุนายนของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากจะส่งผลให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมีความสดชื่นเขียวขจีแล้ว ยังช่วยลดปัญหาหมอกควันและฝุ่นละออง PM 2.5 ให้คลี่คลายลงอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวใน 2 ภูมิภาคกลับมาคึกคักอีกครั้ง
นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาดจาก ททท. อาทิ
- แคมเปญ “สุขทันที ที่เที่ยวไทย” ที่เชิญชวนคนไทยออกมาค้นหาความสุขแบบง่าย ๆ ได้ทุกวัน ผ่านการท่องเที่ยวที่แตกต่างอย่างหลากหลายในแต่ละภูมิภาค ครอบคลุมทั้งเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวหรือเมืองรอง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางตลอด 365 วัน
- กิจกรรม “สุขทันที..ที่เที่ยวกับ Grab” โดยใช้ Influencer พาเที่ยวแลนด์มาร์กใหม่แบบ Unseen ภายใต้คอนเซ็ปต์ “ชิม-มู-ช้อป” เพื่อส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยวในเมืองน่าเที่ยวให้มีการขยายตัวดีขึ้น เช่น จันทบุรี ตราด แพร่ หนองคาย นครพนม ราชบุรี กำแพงเพชร ชุมพร ตรัง
- นโยบาย IGNITE THAILAND TOURISM ผ่านการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับ “Soft Power เสน่ห์ไทย ด้วย 5 Must Do in Thailand” อาทิ Amazing Thailand Travel Market กรุงเทพมหานคร, งานเปิดฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก “อร่อยทุกไร่ ชิมไปทุกสวน”
- กิจกรรมกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยววันธรรมดาร่วมกับพันธมิตร ได้แก่ Robinhood ภายใต้แคมเปญ “สุขทันทีที่เที่ยววันธรรมดากับโรบินฮู้ด” (15 พฤษภาคม – 31 สิงหาคม 2567) ต้อนรับช่วงฤดูฝนหรือ Green Season ด้วยการมอบส่วนลดการจองตั๋วเครื่องบินและโรงแรมในจังหวัดเมืองหลักและเมืองน่าเที่ยวที่เข้าร่วมโครงการ สูงสุด 25% และส่วนลดพิเศษทุกเดือนสูงถึง 1,400 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเดินทางพักค้างคืนในวันธรรมดา พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงฤดูฝนให้เติบโตขึ้น
- กิจกรรมท่องเที่ยวด้วยรถไฟไทยสไตล์ญี่ปุ่น KIHA 183 ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ ตลอดเดือนพฤษภาคม 2567 ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ภายใต้แนวคิด “ท่องไปตามสายลม” จัดโปรแกรมท่องเที่ยวเส้นทางจากกรุงเทพฯ ไปสู่ สระบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และเพชรบุรี ส่งผลให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวและกระจายรายได้สู่พื้นที่
แม้ว่าสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศจะมีการเติบโตที่ดี แต่เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่และหนี้ครัวเรือนที่สูง กอปรกับความผันผวนของราคาพลังงาน ทำให้คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้เหมาะสมกับกำลังซื้อที่มี ส่งผลให้รายได้แม้จะขยับตัวเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ขณะเดียวกัน กลุ่มคนไทยเที่ยวต่างประเทศยังมีความต้องการออกเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่อง ซึ่งจากบทความของธนาคารแห่งประเทศไทย ได้กล่าวถึงเทคนิคการออมเงินเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศว่า กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง จะเก็บหอมรอมริบเพื่อไปเที่ยวต่างประเทศ ด้วยการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นลง แต่สำหรับคนรายได้สูงที่มีเงินออมมากอยู่แล้ว ค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการไปเที่ยวต่างประเทศแต่ละครั้งแทบไม่มีผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันเลย ดังนั้น “ไทยเที่ยวนอกที่เพิ่มขึ้นอาจส่งผลให้การใช้จ่ายในประเทศลดลง” เนื่องจากกลุ่มที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนถึง 90% ของประชากรไทยทั้งประเทศ ลดจำนวนการเดินทางและใช้จ่ายน้อยลงสำหรับการเที่ยวในประเทศ
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศช่วง 3 เดือน (เดือนเมษายน-มิถุนายน) เป็นการเติบโตจากจำนวนการเดินทางท่องเที่ยวมากกว่าการใช้จ่ายทางการท่องเที่ยว โดยในแต่ละภูมิภาคมีสถานการณ์ท่องเที่ยวดังนี้
กรุงเทพมหานคร
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 7.67 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 44,729 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567 ที่ท้องสนามหลวง กรุงเทพมหานคร ซึ่งสะท้อนจากรายงานผลการจัดเทศกาลสงกรานต์ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2567 ของ ททท. ที่มีจำนวนผู้เข้าร่วมงาน 784,883 คน และใช้จ่าย 2,886 ล้านบาท จัดเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนและรายได้เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ผนวกกับกิจกรรม “ไอคอนสยามมหัศจรรย์เจ้าพระยามหาสงกรานต์ 2567” ที่เนรมิตบรรยากาศริมแม่น้ำเจ้าพระยาให้กลายเป็นงานสงกรานต์สุดยิ่งใหญ่ พร้อมขบวนแห่นางสงกรานต์ที่งดงามที่สุด เพื่อสนับสนุนเทศกาลสงกรานต์ให้เป็นเทศกาลระดับโลก ขณะเดียวกัน กรุงเทพฯ ได้รับแรงหนุนจากกระแสสายมู และกิจกรรม Pride Month LGBTQ ที่แยกราชประสงค์ (1-30 มิถุนายน 2567) รวมทั้งการเปิดตัวคัลแลน-พี่จอง ในฐานะพรีเซนเตอร์สินค้า M150 ที่สยาม กระตุ้นให้ FC จากจังหวัดใกล้เคียงเดินทางเข้ามาที่กรุงเทพฯ สะท้อนจากข้อมูลออนไลน์ที่มีโพสต์ใน X และ FB คัลแลนพี่จอง Fanclub Thailand นอกจากนี้ กระแสน้องหมีเนย Mascot ร้าน Butterbear เป็นอีกแรงหนุนให้ผู้คนในจังหวัดใกล้ ๆ กรุงเทพฯ เดินทางเข้ามาช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อต้องการพบปะความน่ารักของน้อง สะท้อนจากข้อความในโพสต์ FB ด้อมหมีเนย ซึ่งจากปัจจัยสนับสนุนดังกล่าว ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวกรุงเทพมหานครช่วง 3 เดือนนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันที่ผ่านมา
ภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก)
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 15.45 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 7 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 44,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากกระแสสายบุญ-สายมู, งานเทศกาลมหาสงกรานต์อยุธยากรุงเก่า สนุก สุข ศักดิ์สิทธิ์, เทศกาลโขนกรุงศรี ปีที่ 5 ณ ลานหลังวัดมหาธาตุ จ.พระนครศรีอยุธยา, เทศกาลว่าวนานาชาติ Kite festival 2024 จ.ประจวบคีรีขันธ์ รวมทั้งแคมเปญ “สุขทันที…ที่เที่ยวกับ Grab” ภายใต้แนวคิด ชิม–มู–ช้อป ในจังหวัดเมืองน่าเที่ยว เพื่อช่วยส่งเสริมให้เกิดการเดินทางพักค้างคืน พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจในเมืองน่าเที่ยวให้เกิดการขยับตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ กระแสเดินทางท่องเที่ยวด้วยรถไฟกำลังได้รับความนิยมในกลุ่มสูงวัย และกลุ่มวัยทำงานที่อยากสัมผัสประสบการณ์ใหม่ด้วยการนั่งรถไฟเที่ยว โดยเฉพาะรถไฟไทยสไตล์ญี่ปุ่น KIHA 183 ไปยังจังหวัดท่องเที่ยวใกล้ ๆ ในช่วงวันเสาร์และอาทิตย์ เส้นทางกรุงเทพฯ สู่ลพบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี และจากปัจจัยหนุนและกิจกรรมต่าง ๆ ช่วยกระตุ้นความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคภาคกลาง (รวมภาคตะวันตก) เพิ่มมากขึ้น
ภาคตะวันออก
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 5.70 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 45,147 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นช่วงวันหยุดยาวต่อเนื่องและมีปัจจัยสนับสนุนจากการจัดกิจกรรม ทั้งเทศกาลงานประเพณีและกิจกรรมส่งเสริมการตลาด อาทิ “งานประเพณีวันไหล” ที่บางแสน และพัทยา จ.ชลบุรี, บ้านเพ จ.ระยอง และพระประแดง จ.สมุทรปราการ และการจัดงานประเพณีนมัสการรอยพระพุทธบาทเขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี, งานดนตรีในพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ “มูนบุรี – Moonburi Music Festival” จ.จันทบุรี (20-21 เมษายน 2567), “Rock On The Beach 2024” จ.ระยอง (27 เมษายน 2567) ที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะงานเทศกาลดนตรี “FLOW DAY WATER FESTIVAL 2024” จ.ชลบุรี (19-20 เมษายน 2567) ส่งผลให้ยอดจองโรงแรมและที่พักในพื้นที่บริเวณหน้าชายหาดพัทยาสูงถึงร้อยละ 90 (อ้างอิงจากนายกสมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันออก ณ วันที่ 13 มีนาคม 2567) นอกจากนี้ ยังเป็นช่วงเปิดฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออก ที่ จ.ระยอง จันทบุรี นครนายก ซึ่งจากกิจกรรมที่กล่าวมาส่งผลให้ภูมิภาคภาคตะวันออกมีการเติบโตเพิ่มขึ้นสูง
ภาคใต้
มีการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยคาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 6.09 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 16 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 41,977 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ซึ่งเป็นผลมาจากการกระตุ้นด้านการท่องเที่ยวโดยมีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวในพื้นที่ใกล้เคียงเดินทางเข้าร่วมกิจกรรม ผนวกกับมีปัจจัยเสริมจากการดำเนินงานเกี่ยวกับการส่งเสริมตลาดท่องเที่ยว อาทิ งาน “Oxygen Narathiwat Festival” จ.นราธิวาส นับเป็นงานศิลปะและกีฬาที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พร้อมเติมสีสันและสร้างความสุขให้กับคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวชาวไทย ให้เดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น, การจัดแคมเปญ “สุขทันที…ที่เที่ยวกับ Grab” ภายใต้แนวคิด ชิม–มู–ช้อป ในจังหวัดเมืองน่าเที่ยว เช่น ตรัง นราธิวาส, เทศกาลท่องเที่ยวเกาะเต่า Spotlight Koh Tao 2024” จ.สุราษฎร์ธานี และ “งานเทศกาลเที่ยวทุ่งหยีเพ็ง (Mangroves Forest Festival)” ณ เกาะลันตา จ.กระบี่ ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ภาพรวมท่องเที่ยวมีการเติบโตเพิ่มขึ้น
ภาคเหนือ
ในช่วงเดือนเมษายนจะเกิดปัญหาหมอกควัน ฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่จังหวัดตอนบนของภาค อาทิ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ซึ่งปีนี้ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกับทุกปีที่ผ่านมา แต่เนื่องจากปีนี้ฝนมาเร็วจึงช่วยชะล้างค่าฝุ่นให้ลดลง จึงไม่กระทบต่อสถานการณ์ท่องเที่ยวภาพรวมมากนัก ส่งผลให้สถานการณ์ท่องเที่ยวมีการเติบโตเพิ่มขึ้นมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยคาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 5.54 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 9 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 39,664 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 เพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการมีวันหยุดยาวต่อเนื่องและวันหยุดช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนไทยส่วนใหญ่นิยมเดินทางกลับภูมิลำเนา พร้อมกับถือโอกาสท่องเที่ยวพักผ่อนและทำกิจกรรมร่วมกับคนในครอบครัว ผนวกกับหลายพื้นที่มีการจัดงานเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะงานป๋าเวณี ปี๋ใหม่เมืองเจียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นพื้นที่ไฮไลท์ที่สร้างสีสันและช่วยกระตุ้นให้การท่องเที่ยวในพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงมีการขยายตัวดีขึ้น ตลอดจนได้รับแรงหนุนจากกิจกรรมส่งเสริมการตลาด อาทิ การจัดแคมเปญ “สุขทันที…ที่เที่ยวกับ Grab” ภายใต้แนวคิด ชิม–มู–ช้อป ในจังหวัดเมืองน่าเที่ยวภาคเหนือ, งานส่งเสริมการขาย “Amazing Cha-Am – Hua Hin Consumer Fair” จ.เชียงใหม่ เพื่อสร้างการรับรู้ แรงจูงใจ และกระตุ้นให้คนเชียงใหม่และชาวเหนือออกเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่ตลอด 365 วัน, เทศกาล Chiangmai Colourful Pride Month 2024 จ.เชียงใหม่, กิจกรรม Back to Origin : Tea & Coffee Festival จ.เชียงราย นอกจากนี้การเข้าสู่ฤดูฝน ทำให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมีความสดชื่นเขียวขจี ส่งผลให้นักท่องเที่ยวสนใจมองหาที่เที่ยวและที่พักตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน แม่ฮ่องสอน ทำให้บรรยากาศท่องเที่ยวมีความคึกคักมากกว่าปีที่ผ่านมา
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีการเติบโตดีไม่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น โดยคาดว่ามีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 7.07 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 21 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 23,380 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23 เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนจากการมีวันหยุดยาวต่อเนื่องหลายช่วง และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวผ่านเทศกาลงานประเพณี และกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของ ททท. อาทิ งานประเพณีสุดยอดสงกรานต์อีสาน เทศกาลดอกคูนเสียงแคนและถนนข้าวเหนียว จ.ขอนแก่น, งานเทศกาลวิสาขปุณณมีปูชา ปี 2567 ณ พระธาตุยาคู จ.กาฬสินธุ์ แคมเปญ “สุขทันที…ที่เที่ยวกับ Grab” ภายใต้แนวคิด ชิม–มู–ช้อป, กิจกรรมสำหรับคนที่รักกาแฟ งาน “Esan Coffee Fair 2024” จ.นครราชสีมา, งาน เฉลิมฉลอง 30 ปี สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 (หนองคาย-เวียงจันทน์) จ.หนองคาย, งานประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของภูมิภาคนี้มีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง