คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยว

ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว

ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564

 

  • การระบาดในประเทศไทยช่วงหลังสงกรานต์ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมายังประเทศไทย
  • ปัจจัยสนับสนุนสําคัญสำหรับตลาดต่างประเทศคือ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Sandbox)

 

แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยวไทย 

โดย กองกลยุทธ์การตลาด (ททท.)

 

สถานการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศครึ่งปีแรก 

 

สถานการณ์ท่องเที่ยวชาวไทยครึ่งปีแรกของ 2564 อยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์การระบาดในช่วงเวลาเดิมเหมือนกับปีที่ผ่านมา จะต่างกันตรงที่ปี 2563 มีการประกาศ Lockdown ประเทศ 

 

สำหรับสถานการณ์การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศช่วงเดือนมกราคมถึงกลางเดือนเมษายน 2564 ยังคงมีการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศให้เห็นอยู่บ้าง แม้ว่าต้นเดือนมกราคมจะเกิดการระบาดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาที่จังหวัดสมุทรสาคร และต้นเดือนเมษายน พบการติดเชื้อจากกลุ่มคลัสเตอร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ แต่ด้วยเป็นช่วงฤดูท่องเที่ยวและมีวันหยุดยาวต่อเนื่อง ทำให้คนไทยบางกลุ่มที่เชื่อว่าสามารถดูแลตัวเองได้ยังคงออกเดินทางด้วยเหตุผล “ต้องการท่องเที่ยวพักผ่อนคลายความตึงเครียด และต้องการใช้สิทธิ์โครงการเราเที่ยวด้วยกันรวมทั้งกลับภูมิลำเนาเพื่อเยี่ยมญาติ” ขณะที่ ปลายเดือนเมษายนเป็นต้นไป สถานการณ์เดินทางท่องเที่ยวในประเทศอยู่ในภาวะชะลอตัว เนื่องจากมีการติดเชื้อเป็นวงกว้างต่อเนื่องจากกลุ่มคลัสเตอร์ย่านทองหล่อ กอปรกับเดือนพฤษภาคม พบการติดเชื้อจากกลุ่มคลัสเตอร์ใหม่ ได้แก่ คลัสเตอร์ชุมชนแออัด, คลัสเตอร์โรงงาน และเรือนจำ ส่งผลให้การเดินทางท่องเที่ยวทุกจังหวัดตกอยู่ในภาวะทรุดตัวและเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง

 

ซึ่งการระบาดระลอกใหม่ ได้ส่งผลกระทบด้านลบต่อการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเป็นอย่างมาก ทำให้สถานการณ์ท่องเที่ยวครึ่งปีแรก 2564 ติดลบทั้งจำนวนและรายได้ทางการท่องเที่ยว โดยมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 25.92 ล้านคน-ครั้ง ติดลบร้อยละ 11 และรายได้ทางการท่องเที่ยว 183,200 ล้านบาท ติดลบร้อยละ 12

 

ตารางจำนวนและรายได้ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยครึ่งปีแรก 2564 (มกราคม – มิถุนายน)

 

ปัจจัยสนับสนุน

  • วันหยุดยาวต่อเนื่อง อาทิ ตรุษจีน สงกรานต์ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศของภาครัฐ อาทิ เราเที่ยวด้วยกัน, คนละครึ่ง 

 

ปัจจัยอุปสรรค

  • การระบาดของ COVID-19
  • เศรษฐกิจชะลอตัว หนี้ครัวเรือนและอัตราการว่างงานสูง

 

คาดการณ์ท่องเที่ยวตลาดในประเทศไตรมาสที่  3 

 

สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศไตรมาส 3 ปี 2564 คาดว่า จำนวนการเดินทางท่องเที่ยวมีแนวโน้มดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากการฉีดวัคซีนให้กับประชากรไทยตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นมา จะช่วยให้สถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 คลี่คลายลง และสร้างความมั่นใจ ลดความวิตกกังวลของคนไทยให้ออกเดินทางท่องเที่ยว กอปรกับมาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในประเทศจากภาครัฐ จะเป็นแรงหนุนให้การเดินทางท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้น แต่จะยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยภูมิภาคระยะใกล้และพึ่งพิงตลาดคนไทยเป็นหลักจะฟื้นตัวกลับมาได้ก่อน อาทิ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก รวมทั้งภูมิภาคระยะไกลอย่างภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็จะฟื้นตัวตามมาเช่นกัน ขณะที่บางจังหวัดของภาคใต้ที่พึ่งพิงตลาดต่างชาติเป็นหลักจะฟื้นตัวได้ช้า อาทิ ภูเก็ต พังงา กระบี่ สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย)

 

สำหรับรายได้ทางการท่องเที่ยวมีการขยับตัวขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังชะลอตัว จากผลพวงการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ส่งผลให้คนไทยที่มีกำลังซื้อไม่สูงระมัดระวังการใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น เน้นเที่ยวในพื้นที่ที่มีการใช้จ่ายไม่มากนัก สามารถขับรถเที่ยวเองได้เพื่อประหยัดค่าเดินทาง พร้อมกับปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเที่ยวด้วยการลดจำนวนวันพักและความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว 

 

อย่างไรก็ตาม แม้วัคซีนจะช่วยสร้างความมั่นใจและเป็นแรงผลักให้คนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น แต่ในทางกลับกัน ก็อาจจะสูญเสียกลุ่มคนไทยเที่ยวนอกบางส่วนที่มีกำลังการใช้จ่ายสูง เพราะหลังจากที่คนไทยได้รับการฉีดวัคซีนมากขึ้นและต่างประเทศเริ่มทยอยเปิดประเทศให้มีการเดินทางเข้าออกได้ จะทำให้คนกลุ่มนี้เลือกที่จะไปเที่ยวต่างประเทศ 

 

ดังนั้น สถานการณ์ท่องเที่ยวภายในประเทศไตรมาส 3 ปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย 19.14 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 และมีรายได้ทางการท่องเที่ยว 121,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 2  โดยอัตราการเติบโตทั้งจำนวนและรายได้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19

 

ปัจจัยสนับสนุน

  • แผนการฉีดวัคซีนมีความคืบหน้า
  • มาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวจากภาครัฐ

 

ประเด็นติดตาม

  • เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นจากภาวะชะลอตัว
  • ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเปิดรับนักท่องเที่ยว

 

ตลาดต่างประเทศ

ครึ่งแรกของปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง สาเหตุจากวิกฤต COVID-19 โดยหลายประเทศเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของไวรัสกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้รวดเร็ว จึงจำเป็นต้องคงมาตรการควบคุมการระบาดและข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันการระบาดในประเทศไทยช่วงหลังสงกรานต์ที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านมา หลายประเทศเริ่มปรับให้ไทยเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยงสูง ส่งผลลดทอนความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมายังประเทศไทย 

 

ในช่วง 6 เดือนแรก ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวเข้ามาของตลาดระยะไกลจากยุโรปและอเมริกา เนื่องจากมีประชาชนได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก จึงมั่นใจกล้าออกเดินทางต่างประเทศ ขณะที่ตลาดระยะใกล้ซึ่งเคยเป็นตลาดหลักในช่วงก่อนเกิดวิกฤต COVID-19 กลับมีสัดส่วนจำนวนนักท่องเที่ยวน้อยกว่า เนื่องจากยังคงเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่วิตกกังวลต่อความปลอดภัยค่อนข้างมาก คาดว่าภาพรวมนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยจะยังอยู่ในระดับเช่นนี้ จนกว่านานาประเทศจะยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางออกต่างประเทศ และประเทศไทยผ่อนคลายมาตรการการเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

 

นักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยแบ่งตามภูมิภาค ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2564

 

5 อันดับสูงสุดจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ ช่วง 6 เดือนแรกในปี 2564

 

ปัจจัยสนับสนุน

  • นักท่องเที่ยวตลาดหลักของไทยได้รับการฉีดวัคซีนจำนวนมาก : สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส และจีน
  • การผ่อนคลายมาตรการให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย เช่น ออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวประเภทต่าง ๆ,อนุญาตให้ทำการบินแบบ Semi-Commercial Flight 
  • มีเที่ยวบินรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติจาก 24 ประเทศ 32 เมือง เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร และกาตาร์
  • ลดวันกักตัวเหลือ 7 – 10 วัน สำหรับผู้ได้รับวัคซีนแล้ว (เฉพาะช่วงเดือนเมษายน 2564) 
  • มาตรฐาน SHA ของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล เทียบเท่ากับ “Safe Travels ” ของ WTTC  
  • การส่งเสริมตลาดอย่างต่อเนื่องของ ททท. เช่น
    • สร้างความเชื่อมั่นและสร้างการรับรู้ในต่างประเทศ ให้ประเทศไทยยังคงเป็น “Top of mind” ในใจนักท่องเที่ยว
    • สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยด้วยมาตรฐาน SHA : Amazing Thailand Safety & Health Administration
    • ส่งเสริมการขาย Pre-sale และกระตุ้นการซื้อล่วงหน้า เช่น “Book Now, Stay Later” “Book now, Travel later” “Flexible deal”

 

ประเด็นติดตาม

  • ตลาดหลักของไทยเกิดการระบาดระลอกใหม่ เช่น สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน มาเลเซีย อินเดีย
  • ประเทศต่าง ๆ กลับมาคุมเข้มมาตรการจำกัดการระบาด เช่น Lockdown ปิดพรมแดน  ห้ามเดินทางออกต่างประเทศ
  • การระบาดระลอกใหม่ในไทยในช่วงเมษายน 2564 รุนแรงและยาวนานกว่าครั้งที่ผ่าน ๆ มา
  • Travel Advisory  หลายประเทศยังคงห้ามเดินทางมาไทย เช่น มาเลเซีย ตุรกี นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ไต้หวัน บราซิล และฝรั่งเศส
  • ไทยกลับมาใช้มาตรการกักตัวผู้เดินทางจากต่างประเทศ 14 วันอีกครั้ง ไม่เว้นผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้ว (ตั้งแต่ 1 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2564)
  • ความล่าช้าในการฉีดวัคซีนภายในประเทศไทย
  • ภาพลักษณ์การรับมือ COVID-19 ของไทยลดลง: จากอันดับที่ 9 ของโลกตกไปอยู่อันดับที่ 13 จากการจัดอันดับโดย Bloomberg (พ.ค. 2564)

 

คาดการณ์ท่องเที่ยวตลาดต่างประเทศ ไตรมาสที่ 3

 

 

คาดว่า ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญ คือ แผนการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ (Phuket Sandbox) ซึ่งจะเริ่มดำเนินการในเดือนกรกฎาคม 2564 และการบรรลุเป้าหมายของการฉีดวัคซีนให้คนในจังหวัด “ภูเก็ต” ผนวกกับนักท่องเที่ยวตลาดหลักที่ฉีดวัคซีนแล้วมีจำนวนมากขึ้น และหลายประเทศเริ่มอนุญาตผู้ได้รับวัคซีนครบแล้วเดินทางออกต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตามอง ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ทั่วโลกและไทยที่ยังคงทรงตัว และการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของเชื้อไวรัสสายพันธุ์อินเดีย ที่อาจจะกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการเดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง รวมทั้ง ประเทศคู่แข่งด้านการท่องเที่ยวที่ต่างเตรียมเปิดประเทศรับชาวต่างชาติในเวลาที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย

 

PHUKET SANDBOX ระหว่าง 1 ก.ค. – 30 ก.ย. 2564

  • นักท่องเที่ยวต่างชาติได้รับการฉีดวัคซีนครบโดส และมีใบรับรองการฉีดวัคซีน
  • ไม่ต้องกักตัว
  • ท่องเที่ยวในภูเก็ตครบ 7 วัน 
  • หลังครบ 7 วันในภูเก็ต เที่ยวเชื่อมโยงใน 5 พื้นที่ Seal Routes
    • กระบี่ (ไร่เลย์ เกาะพีพี เกาะไหง เกาะลันตา หนองทะเล)
    • พังงา (เฉพาะเขาหลัก)
    • สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน)
    • ชลบุรี (เฉพาะพัทยา บางละมุง สัตหีบ)
    • เชียงใหม่
      หมายเหตุ: รอการประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
  • มาตรการป้องกันควบคู่ เช่น Vaccine Certificate และ Application แจ้งเตือน

 

ปัจจัยสนับสนุน

  • หลายประเทศเริ่มผ่อนคลายการเดินทางต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และอิสราเอล
  • ตลาดหลักมีจำนวนผู้ได้รับวัคซีนครบจำนวนมาก เช่น สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาตั้งเป้าฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชากร 70% ภายในเดือน ก.ค. 2564
  • มีเที่ยวบินตรงเข้าภูเก็ตสนับสนุน Phuket Sandbox จาก 11 ประเทศ รวม 45 เที่ยวบิน/สัปดาห์ เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และอิสราเอล
  • มาตรการยกเว้นการกักตัวสำหรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนแล้วภายใต้โมเดล Phuket Sandbox

 

ประเด็นติดตาม

  • การควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในไทยและการเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทย
  • สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศลูกค้าหลัก เช่น ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาเลเซีย และอินเดีย
  • การปรับรายชื่อประเทศที่มีความเสี่ยงสูงของประเทศต่าง ๆ ซึ่งไทยมีแนวโน้มอาจติดในกลุ่มดังกล่าว หากไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดฯ ได้
  • นโยบายอนุญาตให้เดินทางต่างประเทศและมายังประเทศไทยของประเทศลูกค้าหลัก เช่น จีน สหภาพยุโรป และออสเตรเลีย
  • ประสิทธิภาพของวัคซีนในการต่อสู้กับไวรัสกลายพันธุ์
  • การผ่อนคลายมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย

 

แนวโน้มการเปิดประเทศของประเทศคู่แข่งขัน

 

Share This Story !

Published On: 10/08/2021,2.1 min read,Views: 2544,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 3, 2023

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 3, 2023