
Research for Tourism: Responsible Tourism | Local Tourism | Gastronomy Tourism
กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท.
สำหรับ TAT Review คอลัมน์ Data Lab ฉบับนี้ ได้รวบรวมบทสรุปสำคัญจากผลงานการวิจัยภายใต้การดำเนินงานของกองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท. ซึ่งดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ในปี 2567 มานำเสนอให้ผู้สนใจได้ติดตามกัน จำนวน 3 ผลงาน ประกอบด้วย
- Responsible Tourism การศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคม
- Local Tourism การศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวชุมชน
- Gastronomy Tourism การศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย
Responsible Tourism พฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การศึกษาข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการในสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism) จัดทำเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย ให้สามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายนี้ได้อย่างมีประสิทธิผลต่อไป
- ความแตกต่างระหว่างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism) และการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Tourism)
“การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” คือการท่องเที่ยวที่มุ่งเป้าหมายในระยะยาว โดยคำนึงถึงผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคมในระดับนโยบาย (Policy) มุ่งเน้นการอนุรักษ์และบริหารจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในขณะที่ “การท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม” เป็นการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นเป้าหมายระยะสั้น เพื่อลดผลกระทบเชิงลบทางด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และชุมชนท้องถิ่นในระดับปฏิบัติการ (Action) รวมถึงมุ่งสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรการท่องเที่ยวในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายในเชิงนโยบาย
- ผลการศึกษานักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
การศึกษาครั้งนี้เป็นการจัดเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์ เพื่อเก็บข้อมูลกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ประเทศต้นทาง จำนวน 800 ราย ใน 8 ประเทศเป้าหมาย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สหราชอาณาจักร จีน อินเดีย เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส และออสเตรเลีย ซึ่งได้ทำการคัดกรองกลุ่มตัวอย่างจากการตรวจสอบใน 2 มิติ คือ ด้านจุดมุ่งหมาย และด้านพฤติกรรม ในองค์ประกอบต่าง ๆ ดังนี้
-
- การอนุรักษ์วัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อม และการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุด
- การสนับสนุนสินค้าและบริการท้องถิ่น
- การเข้าร่วมกิจกรรมการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบ เช่น กิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- การเคารพกฎของสถานที่ และความแตกต่างทางวัฒนธรรม
- มีจุดมุ่งหมายในการท่องเที่ยวเพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ
- ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมและประเพณีของท้องถิ่น
- ต้องการหาประสบการณ์ใหม่ ในสถานที่ที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม
- ต้องการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมชุมชน
- พร้อมทำความเข้าใจและเรียนรู้วิถีชุมชนที่แตกต่าง
- พฤติกรรมภาพรวมของนักท่องเที่ยวที่มีต่อการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- นักท่องเที่ยวจากการศึกษาส่วนใหญ่มีพฤติกรรมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันที่ประเทศต้นทาง อาทิ ลดการใช้พลังงาน การแยกขยะ พกถุงผ้า และพกขวดน้ำเพื่อลดการใช้พลาสติก
- พฤติกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถปฏิบัติขณะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศปลายทางที่พบคือ การเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกฎระเบียบของสถานที่ การแยกขยะ
- หากพิจารณาปัจจัยความต้องการการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมที่นักท่องเที่ยวแต่ละประเทศให้ความสำคัญ พบว่า
-
- ประเทศอินเดีย นักท่องเที่ยวชาวอินเดียให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศปลายทางได้รับการรับรองคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านการมีที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
-
- ประเทศฝรั่งเศส นักท่องเที่ยวชาวฝรั่งเศสให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการรณรงค์ลดการใช้พลาสติก หรือการรณรงค์ให้บริโภคอาหารในปริมาณที่พอดี ปัจจัยด้านสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศปลายทางได้รับการรับรองคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชนท้องถิ่น อาทิ การส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมกับการท่องเที่ยว การมีที่พักแบบโฮมสเตย์และฟาร์มสเตย์ หรือมีที่พักที่ให้บริการโดยผู้ประกอบการที่เป็นคนท้องถิ่น
-
- ประเทศเยอรมนี นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านการเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกฎระเบียบของสถานที่ ปัจจัยด้านการแยกขยะขณะเดินทางท่องเที่ยว
- นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดปัจจัยเพื่อบ่งบอกคุณลักษณะของนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับสูงเพิ่มเติม ได้แก่ การเลือกท่องเที่ยวในสถานที่ที่ได้รับการรับรองคุณสมบัติด้านสิ่งแวดล้อม การเลือกเดินทางกับสายการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การเลือกพักที่พักที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การเลือกไปในสถานที่ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนทุกกลุ่ม (Tourism for All) การเลือกทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อแหล่งท่องเที่ยวน้อยที่สุด หรือการเข้าร่วมโครงการเชิงอนุรักษ์ ผลการศึกษาพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับสูงมีสัดส่วนร้อยละ 8 และนักท่องเที่ยวระดับทั่วไปคิดเป็นร้อยละ 92 ซึ่งประเทศอินเดียมีนักท่องเที่ยวกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในระดับสูงมากที่สุดร้อยละ 17 และประเทศเกาหลีใต้มีนักท่องเที่ยวระดับสูงต่ำสุดเพียงร้อยละ 3
- ใน 3 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มจะให้ความสนใจกับรูปแบบการท่องเที่ยวที่เปิดรับประสบการณ์ใหม่ ๆ และการดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น เช่น การท่องเที่ยวโดยเรือสำราญ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ขณะที่รูปแบบการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น การท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงชาติพันธุ์ แม้จะมีแนวโน้มได้รับความสนใจเพิ่มขึ้น แต่พบว่ายังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับความสนใจรูปแบบอื่น
- นักท่องเที่ยวร้อยละ 57 มีแนวโน้มจะพิจารณาจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าและบริการที่รักษ์โลก โดยจะจ่ายเพิ่มสำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวสูงที่สุด และเต็มใจจ่ายเพิ่มให้กับสินค้าและบริการรักษ์โลกจากสินค้าและบริการปกติ ร้อยละ 5-10 มากที่สุด
- นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีการรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการรับรองด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดย Green Leaf และ Travelife เป็นมาตรฐานการรับรองด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนที่นักท่องเที่ยวระบุว่าเคยได้ยินมากที่สุด
- ปัจจัยที่นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจต่อการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ได้แก่ การที่ประเทศไทยมีสินค้าและบริการท้องถิ่นไว้บริการ และการที่สถานที่ท่องเที่ยวมีป้ายบอกกฎระเบียบและข้อปฏิบัติด้านต่าง ๆ ที่ชัดเจน เมื่อพิจารณาปัจจัยความพึงพอใจของนักท่องเที่ยวแต่ละประเทศที่แตกต่างจากภาพรวม พบว่า
-
- ประเทศอินเดีย นักท่องเที่ยวชาวอินเดียมีความพึงพอใจต่อปัจจัยด้านการที่รัฐบาลมีการส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานที่ที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางหลัก
-
- ประเทศสหรัฐอเมริกา นักท่องเที่ยวชาวสหรัฐอเมริกามีความพึงพอใจต่อปัจจัยด้านการมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หรือส่งเสริมกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อแหล่งท่องเที่ยว
-
- ประเทศสหราชอาณาจักร นักท่องเที่ยวชาวสหราชอาณาจักรมีความพึงพอใจต่อปัจจัยด้านการมีกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การมีสายการบินที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีที่พักที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการที่ที่พักมีการใช้ผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น
- การมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น การขาดข้อมูลและความรู้ และการมีตัวเลือกในการท่องเที่ยวที่จำกัด เป็นอุปสรรคสำคัญของการเดินทางท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
- พฤติกรรมที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมตามกลุ่มเป้าหมาย
- ใน 3 ปีข้างหน้า นักท่องเที่ยวทุกกลุ่มยังคงให้ความสนใจการท่องเที่ยวรูปแบบหลัก เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ และการท่องเที่ยววิถีเมือง โดยพบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Z จะสนใจการท่องเที่ยวแบบผจญภัยเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวในกลุ่ม Gen Z Gen Y และ Gen X สนใจเปิดรับประสบการณ์ท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ไม่เคยลองมาก่อน และการท่องเที่ยวในรูปแบบยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
- กิจกรรมท่องเที่ยวยอดนิยมของนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ คือการลิ้มลองอาหารท้องถิ่น โดยนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen Z ชื่นชอบการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เช่น กิจกรรมเดินป่า ส่วนนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen X และกลุ่ม Baby Boomer จะสนใจการเยี่ยมชมเมืองและสถานที่ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเป็นกิจกรรมหลัก
- นักท่องเที่ยวที่มีช่วงอายุมากขึ้นจะมีพฤติกรรมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันสูงขึ้น เช่น ลดการใช้พลังงาน ลดการใช้ขยะพลาสติก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวกลุ่ม Baby Boomer เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมการแยกขยะสูงกว่ากลุ่มอื่น ๆ
- ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในประเทศปลายทาง พบว่า นักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen X ให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการสนับสนุนสินค้าและบริการของท้องถิ่นเป็นพิเศษ ในขณะที่กลุ่ม Baby Boomer จะให้ความสำคัญกับด้านสิ่งอำนวยความสะดวกที่ครอบคลุมสำหรับคนทุกกลุ่ม หรือ Tourism for All เนื่องจากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุจึงอาจมีความต้องการพิเศษในระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น
สรุป
จากผลการศึกษาข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า นักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมถือเป็นหนึ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศไทย โดยกลุ่มตัวอย่างจากการศึกษาในครั้งนี้ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติใน 2 มิติหลัก ได้แก่ ด้านจุดมุ่งหมาย และด้านพฤติกรรม ผ่านองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม โดยพบว่า เมื่ออยู่ในประเทศต้นทางนักท่องเที่ยวจะมีพฤติกรรมรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว แต่เมื่อเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่สามารถปฏิบัติตนตามแนวทางด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ตามที่คาดหวัง โดยจะสามารถปฏิบัติได้เพียงบางพฤติกรรมเท่านั้น เช่น การเคารพความแตกต่างทางวัฒนธรรมและกฎระเบียบของสถานที่ การแยกขยะ ขณะเดียวกัน แม้ว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น ปัจจัยด้านสภาพอากาศและมลพิษ หรือความสะอาดของสภาพภูมิอากาศ ปัจจัยด้าน Tourism for All แต่ยังคงพิจารณาความสำคัญของปัจจัยด้านการท่องเที่ยวดังกล่าวในลำดับหลัง
ดังนั้น การนำเสนอสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผู้ประกอบการจึงควรนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวที่สอดคล้องกับความสนใจของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้และจุดแข็งของประเทศไทย เช่น การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและประเพณี และสอดแทรกองค์ประกอบหรือมาตรฐานการรับรองด้านการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าไปในแต่ละ Touchpoint ของนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมได้จากหลายช่องทาง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยได้
ที่มาข้อมูล: โครงการศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่มรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Tourism) (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
Local Tourism การพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทย
ผลงานวิจัยนี้ จัดทำขึ้นเพื่อมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์อันทรงคุณค่า โดยเฉพาะการส่งเสริมอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหาร และธรรมชาติ ที่จะสามารถทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพชาวไทย เกิดการกระจายตัวการเดินทางทั้งในเชิงพื้นที่และช่วงเวลา สร้างโอกาสในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น ททท. จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกกับตัวแทนชุมชนท่องเที่ยว ซึ่งบทความนี้จะขอนำเสนอในมุมของชุมชนท่องเที่ยว ทั้งในแง่กลยุทธ์เพื่อเพิ่มแรงจูงใจในการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน รวมถึงการประเมินและวิเคราะห์ชุมชนท่องเที่ยว เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนท่องเที่ยวในประเทศไทย มุ่งสู่การท่องเที่ยวที่มีความหมายและตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้
5 Keys Strategy สำหรับการเพิ่มการตระหนักรู้ในรูปแบบการท่องเที่ยวชุมชน และสร้างแรงจูงใจทำให้เกิดพฤติกรรมการท่องเที่ยวชุมชน
Key Visual
- นำเสนอภาพประสบการณ์การท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนเคย (Unique Experience)
- นำเสนออัตลักษณ์ชุมชนที่มีความโดดเด่นหาที่ไหนไม่ได้
- นำเสนอความอบอุ่นของผู้คนในชุมชนและความเป็นมิตรไมตรี
- นำเสนอ Value ที่นักท่องเที่ยวจะได้รับจากการท่องเที่ยวชุมชน
- ไม่ควรนำเสนอภาพความลำบากที่เกิดจากการท่องเที่ยวชุมชน
Key Content
- ออกแบบกิจกรรมหลักหรือกิจกรรม Workshop ให้สอดคล้องตามเอกลักษณ์และสไตล์ของชุมชน
- การกระชับความสัมพันธ์และบำบัดดูแลตัวเองด้วยธรรมชาติ เป็นแนวโน้มอนาคตที่นักท่องเที่ยวและชุมชนให้ความสนใจ
- ประสบการณ์ด้านการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม และธรรมชาติ ผสมผสานกับการดื่มด่ำเสน่ห์วันวานที่กลับมามีชีวิตอีกครั้ง เป็นแนวโน้มที่สามารถดึงดูดผู้คนจากที่ไกล ๆ และช่วยเพิ่มวันท่องเที่ยวให้ยาวขึ้น
Key Message
- Key Message ที่สื่อสารความหมายของ Amazing Hidden Unique Experience, Meaningful Travel Experiences และ Touch of Community Hospitality
Key Media
- พัฒนาการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
- การมีแพลตฟอร์มรวมข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
- การใช้ Influencer นำเสนอมุมมองที่ไม่เคยเห็นและส่งเสริมการใช้งานแพลตฟอร์ม
- การใช้สื่อในรูปแบบวิดีโอมานำเสนอใน Social Media หรือผ่านรายการท่องเที่ยวทางโทรทัศน์
Key Channel
- การเข้าร่วมออกบูธตามงานท่องเที่ยวต่าง ๆ สื่อสารและจัดจำหน่ายโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวไปสู่นักท่องเที่ยว
- การจัด Event ในพื้นที่ชุมชนเพื่อโปรโมตอัตลักษณ์ของชุมชนให้เป็นที่รู้จัก
- การจัดจำหน่ายโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยวผ่านการให้ข้อมูลของเครือข่ายชุมชนท่องเที่ยวอื่น ๆ หรือโรงแรม
- ขยายช่องทางเสนอขายสินค้าชุมชนบนแพลตฟอร์มออนไลน์
การประเมินและวิเคราะห์ความสามารถในการพัฒนาของชุมชนท่องเที่ยว
การประเมินและวิเคราะห์ชุมชนท่องเที่ยว สามารถแบ่งระดับขั้นการพัฒนาได้ 3 ระดับ ได้แก่ กลุ่มชุมชนระดับขั้นเริ่มต้น กลุ่มชุมชนที่เห็นโอกาสจากการพัฒนาผลงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง และกลุ่มชุมชนที่กำลังเข้าสู่ความยั่งยืน ซึ่งทุกระดับจะมีข้อบ่งชี้ที่ทำให้จัดแบ่งกลุ่มได้ ดังรายละเอียดต่อไปนี้
กลุ่มชุมชนระดับขั้นเริ่มต้น
ชุมชนท่องเที่ยวส่วนใหญ่เริ่มต้นรวมกลุ่มกันทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพื่อร่วมมือกันในการบริหารจัดการการท่องเที่ยว และใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการสร้างผลประโยชน์ให้กับชุมชน
เริ่มกำหนดวิสัยทัศน์
- ทำให้มองเป้าหมายสอดคล้องกับนโยบายหลัก กำหนดทิศทางคนส่วนใหญ่ของชุมชนให้สอดรับไปกับเป้าหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เกณฑ์ SDGs เกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม
เริ่มกำหนดการจัดการบริหาร
- กลุ่มการจัดการการท่องเที่ยวชุมชนมีขนาดเล็ก รวมกลุ่มกันเพียงแค่กลุ่มย่อย 6-7 ครอบครัว ทำให้คล่องตัวในการจัดการการท่องเที่ยว
บริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยว
- รับนักท่องเที่ยวจำนวนไม่มาก เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่เต็มใจพร้อมจะจ่าย และดำเนินการจัดสรรนักท่องเที่ยวอย่างเป็นระบบ ให้สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับของแต่ละกิจกรรม
เริ่มจัดการสิ่งอำนวยความสะดวก
- เพิ่มเติมสิ่งดึงดูดและสิ่งอำนวยความสะดวก สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ความพร้อมด้าน Facility
- อยู่ระหว่างการพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว
- เริ่มมีการจัดรูปแบบกิจกรรมใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับเอกลักษณ์ของชุมชน สร้างสรรค์กิจกรรมอื่น ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ
เริ่มมีการประชาสัมพันธ์และเริ่มเป็นที่รู้จัก
- เพิ่มการใช้ Social Media ในการประชาสัมพันธ์ชุมชนมากขึ้น ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่พร้อมจะปรับตัวเข้ากับชุมชน
มีหน่วยงานรัฐมาเกี่ยวข้อง
- มีการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ เริ่มมีการพาชุมชนอื่น ๆ มาดูงาน ได้รับความร่วมมือจากผู้นำชุมชน หน่วยงานท้องถิ่น เข้ามาเป็นกำลังเสริม
- มีการสนับสนุนจาก ททท. เช่น มีการนำเชฟมิชลินมาอบรมเชฟท้องถิ่น เป็นต้น
กลุ่มชุมชนที่เห็นโอกาสจากการพัฒนาผลงานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง
ชุมชนท่องเที่ยวส่วนใหญ่มองเห็นศักยภาพและโอกาสของชุมชนในการพัฒนาที่ชัดเจน และกำลังมุ่งหน้าไปสู่การจัดการการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้
ต่อยอดสิ่งดึงดูดใจอยู่แล้วในชุมชน และใช้ประโยชน์จากทุนเหล่านั้นสร้างอัตลักษณ์ของชุมชน
- แต่ละชุมชนล้วนแล้วแต่พยายามนำเอาสิ่งที่มีอยู่ในชุมชนมาเป็นพื้นฐานในการจัดการการท่องเที่ยว
- เพิ่มจำนวนสิ่งดึงดูดใจที่มนุษย์สร้างขึ้นเป็นจำนวนมากขึ้น
- การรักษาภาพลักษณ์ คุณภาพผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว เช่น อาหาร ผลิตภัณฑ์สินค้า และการบริการ เป็นต้น
ด้านการบริหารจัดการองค์กรและชุมชนเริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ท้องถิ่นบางส่วนเริ่มมีความคิดเห็นที่แตกต่าง
- กำหนดแนวทางมาตรฐานในการต้อนรับของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง
- การรวมกลุ่มสร้างมาตรฐานและการจัดการหลังบ้านของชุมชนเพื่อการกระจายรายได้ที่เป็นธรรม ยั่งยืน
- มีการประชุมประจำเดือนเพื่อรับฟัง และผลักดันไปสู่การปรับปรุงเพื่อตอบโจทย์นักท่องเที่ยว
เพิ่มการประชาสัมพันธ์และการรณรงค์ เชิญชวนเข้ามาท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น
- รณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วง Low Season ด้วย เพื่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ
ชุมชนท้องถิ่นถูกผูกติดและพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก
- ชุมชนท้องถิ่นถูกผูกติดและพึ่งพิงการท่องเที่ยวเป็นหลัก เริ่มมีคนบางส่วนที่ทำท่องเที่ยวเป็นอาชีพหลัก
กลุ่มชุมชนที่กำลังเข้าสู่ความยั่งยืน
ชุมชนท่องเที่ยวส่วนใหญ่ผ่านจุดของการพัฒนาเข้าสู่ระดับขั้นอยู่ตัวฟื้นตัว มีความยั่งยืน (Rejuvenating Stage) ซึ่งภาพรวมส่วนมากจะสามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้
หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ศึกษาต้นแบบของชุมชน บางพื้นที่ได้รับรางวัลเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กร
- สามารถควบคุมผลกระทบเชิงลบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- พยายามสร้างให้เป็นสถานที่ในการหารายได้เสริมอย่างยั่งยืนให้ครอบครัว
- วางแผนงาน ประชุมในสมาคม และเป็นผู้ดูแลภาพรวมของโครงการ มีกฎระเบียบ ดูแลการดำเนินงานโดยคนในชุมชน
- การส่งต่อเรื่องการบริหารจัดการได้อย่างยั่งยืน ทั้งตัวของผู้บริหารจัดการ องค์ความรู้และกฎเกณฑ์
มีนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง
- เพิ่มการประชาสัมพันธ์เพื่อหาวิธีรักษาจำนวนของนักท่องเที่ยว
- รณรงค์ให้เกิดการท่องเที่ยวในช่วง Low Season ด้วย เพื่อให้เกิดรายได้สม่ำเสมอ
- รูปแบบของนักท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปไม่มาเป็นกลุ่ม โดยจะเริ่มมาส่วนตัวหรือมาเอง (Walk-in) มากขึ้น
การเป็น Smart Tourism
- เก็บข้อมูลเป็น Data มาสนับสนุนผู้ประกอบการในพื้นที่
- มีการใช้เครื่องมือเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการองค์ความรู้และบริหารจัดการ
- อบรมให้ความรู้ชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง เช่น อบรมเรื่องการใช้ Smart Phone / QR Code / Social Media
ที่มาข้อมูล: โครงการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวชุมชน (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
Gastronomy Tourism การท่องเที่ยวเชิงอาหารกับการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย
การศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย จัดทำเพื่อศึกษาข้อมูลภาพรวมและแนวโน้มด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในระดับโลกและประเทศไทย รวมถึงศึกษากรณีตัวอย่างของอุปทานที่มีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อให้ ททท. มีข้อมูลแนวทางในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นความยั่งยืนและการส่งเสริมให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น
การท่องเที่ยวเชิงอาหารได้กลายเป็นแนวโน้มที่สำคัญในเวทีระดับโลก ด้วยเป็นการนำเสนอประสบการณ์ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นผ่านอาหาร จากเรื่องราว วัตถุดิบท้องถิ่น ผู้คน และวัฒนธรรมที่หลอมรวมเข้าด้วยกัน อาหารไม่ใช่เพียงแค่ปัจจัยในการดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่ได้กลายเป็นประตูสู่การเข้าใจวัฒนธรรม การบอกเล่าประวัติศาสตร์ และการสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับชุมชนในพื้นที่ที่เราไปเยือน สำหรับประเทศไทยซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์อันยาวนาน อาหารถือเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตไทย การผสมผสานรสชาติที่ซับซ้อน เทคนิคการปรุงอาหารที่ลึกซึ้ง และการใช้วัตถุดิบท้องถิ่น ทำให้อาหารไทยเป็นที่รู้จักและเป็นที่หลงใหลของผู้บริโภคจากทั่วโลก
รายงานผลการวิจัยจากโครงการศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย ได้ผลการศึกษาเกี่ยวกับแนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงอาหารทั้งในระดับโลกและประเทศไทย จากการวิเคราะห์ทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร อันได้แก่
- ‘ความตระหนักในสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน’ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวมีแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนในการท่องเที่ยวทั่วไป รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วย เช่น การท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เน้นวัตถุดิบอินทรีย์จากแหล่งท้องถิ่น
- ‘นวัตกรรมและศาสตร์แขนงใหม่ ๆ ในการประกอบอาหาร’ จากการที่โลกแห่งการทำอาหารกำลังเผชิญกับกระแสนวัตกรรม เทคโนโลยี และศาสตร์ใหม่ ๆ ทำให้เกิดการผลักดันให้เชฟขยายขอบเขตของการทำอาหารแบบดั้งเดิม โดยผสมผสานวิทยาศาสตร์และศิลปะในครัวเข้าด้วยกัน
- ‘การร้อยเรียงเรื่องราวใหม่ ๆ รอบตัวอาหาร’ อาหารถูกมองว่าเป็นสิ่งประดิษฐ์ทางวัฒนธรรมที่ถ่ายทอดประวัติศาสตร์ ประเพณี และค่านิยมของชุมชนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดกระแสที่นักท่องเที่ยวแสวงหาประสบการณ์การรับประทานอาหารที่แท้จริง และดื่มด่ำกับการบอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังของอาหาร
- ‘ประสบการณ์ความหรูหราและเฉพาะบุคคล’ แนวโน้มการท่องเที่ยวหรูหราทั่วโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ความต้องการประสบการณ์ที่เฉพาะเจาะจงและส่วนบุคคลมากยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่การมอบประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้จากที่อื่น
- ‘การร่วมมือระหว่างแบรนด์สินค้าเพื่อประสบการณ์ใหม่’ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ ศิลปะ หรือเทคโนโลยี ความร่วมมือเหล่านี้มักส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์และประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ช่วยเพิ่มมูลค่าโดยรวมให้กับนักท่องเที่ยว
- ‘การตลาดเพื่อการดึงดูดนอกวงการอาหาร’ เป็นการมุ่งเน้นการผสมผสานอาหารเข้ากับเทรนด์ไลฟ์สไตล์อื่น ๆ ซึ่งอาหารสามารถทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมเรื่องราวต่าง ๆ เพื่อดึงดูดกลุ่มความสนใจที่หลากหลาย
การเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวเพื่อตอบแนวโน้มเหล่านี้ จำเป็นต้องมีกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ครอบคลุมองค์ประกอบสำคัญ ๆ ซึ่งแต่ละองค์กร ชุมชน หรือพื้นที่ จำเป็นต้องนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสม โดยผลการศึกษาในครั้งนี้ ได้ค้นพบ 4 แนวทางหลักในการเพิ่มมูลค่าให้กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย ในการตอบสนองต่อแนวโน้มของโลกและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ดังนี้
- การพัฒนาระบบนิเวศ (Ecosystem Development): การสร้างระบบนิเวศที่ทำให้เกิดการผนึกกำลังในห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ปลูก ร้านอาหาร แหล่งท่องเที่ยว นักการตลาด ฯลฯ
- การสร้างเมืองอาหาร (Gastronomy City Creation): เมืองอาหารที่ไม่เหมือนใคร มีศักยภาพสูงในการเป็นจุดหมายปลายทางที่จำเป็นต้องมาเยือน (Must-visit destination) เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวที่แสวงหาประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- การเล่าเรื่อง (Storytelling): การเล่าเรื่องเชิงสร้างสรรค์มีพลังในการเชื่อมโยงนักท่องเที่ยวกับวัฒนธรรมการรับประทานอาหารของท้องถิ่น การออกแบบการบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับที่มาและคุณประโยชน์ของวัตถุดิบ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เทคนิคการปรุง หรืองานศิลปะ เทคโนโลยี สุนทรียศาสตร์ที่นำมาประกอบกับการออกแบบอาหารแต่ละจาน สามารถสร้างประสบการณ์ที่ลึกซึ้งและน่าจดจำได้
- การพัฒนาข้ามภาคส่วน (Cross-Sectoral Development): ความร่วมมือข้ามภาคส่วนที่อยู่นอกเหนือจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น การมีส่วนร่วมของช่างฝีมือ นักออกแบบในสาขาต่าง ๆ ผู้ผลิต นักโภชนาการ นักดนตรี นักออกแบบ ผู้ผลิตสื่อสร้างสรรค์ และการมีส่วนร่วมของชุมชนที่หลากหลาย ช่วยทำให้ประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารมีความลึกซึ้ง เต็มไปด้วยความแปลกใหม่ และมีศักยภาพในการดึงดูดให้นักท่องเที่ยวกลับมาเยือน
ที่มาข้อมูล: โครงการศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)
การท่องเที่ยวเชิงอาหารกับการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวของประเทศไทย
กรณีศึกษาอุปทานด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในแต่ละภูมิภาค
จากบทสรุปโครงการศึกษาแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของประเทศไทย ซึ่งได้รับแนวโน้มสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และค้นพบ 4 แนวทางหลักในการเพิ่มมูลค่าให้กับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอาหารของประเทศไทย จึงได้นำกรณีศึกษาอุปทานด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยมาจัดกระบวนการคิดและจัดทำปัจจัยสู่ความสำเร็จ ซึ่งพบองค์ประกอบสำคัญที่มีความน่าสนใจดังนี้
ภาคเหนือ
กรณีศึกษา: The Local Craft Space จังหวัดเชียงใหม่
ตัวอย่างศักยภาพ: แบรนด์เซอิ SEII (誠意) SEII Namasake เครื่องดื่มที่ผลิตจากข้าวเหนียวเชียงราย ผสมกับผลไม้เมืองร้อน สะท้อนการผสมผสานระหว่างการเกษตรไทยกับเทคนิคการทำเครื่องดื่มของญี่ปุ่น
SEII Umeshu เครื่องดื่มที่ทำจากบ๊วยป่าปลอดยาฆ่าแมลงจากชุมชนบนพื้นที่ราบสูงของเชียงใหม่ ซึ่งนับเป็นการตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นสำหรับประสบการณ์การท่องเที่ยวจากของฝากที่ยั่งยืนและแท้จริง
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ: การผสมผสานภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ “Local Wisdom” กับความทันสมัยในผลิตภัณฑ์คราฟ ไม่เพียงแต่เป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังเป็นการสร้างสะพานเชื่อมต่อระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ‘The Local Craft Space จึงเป็นมากกว่าพื้นที่การผลิตและจัดจำหน่าย แต่คือเรื่องราวของท้องถิ่นที่มีชีวิต ที่เชื่อมโยงผู้คน วัฒนธรรม และอาหารเข้าด้วยกันอย่างงดงามและยั่งยืน’
กลุ่มเป้าหมาย:
- นักสำรวจวัฒนธรรม (Cultural Explorer)
- นักชิมที่ใส่ใจสุขภาพ (Mindful Gourmet)
แนวทางการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว: เรื่องราวที่เล่าสร้างคุณค่าให้สินค้าและบริการ เมนูและผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นไม่ใช่แค่ของฝาก แต่เป็นเรื่องราวที่เล่าถึงวัฒนธรรมอาหารและภูมิปัญญาของผู้ผลิต ซึ่งช่วยให้นักท่องเที่ยวรู้สึกเชื่อมโยงกับต้นกำเนิดของสินค้า เป็นแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวอยากกลับมาสัมผัสวิถีชีวิตในท้องถิ่นอีกครั้ง
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กรณีศึกษา: Food X Fashion
ตัวอย่างศักยภาพ: แบรนด์แฟชั่น “POUKA” เกิดขึ้นจากการสังเกตเห็นสีของวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ซึ่งนำไปสู่การตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้ในการใช้ย้อมผ้าแล้วนำไปแปรรูปเป็นสินค้าแฟชั่น จนผู้สร้างสรรค์ได้ไปพบกับผ้าภูอัคนีซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมจากภูมิปัญญาของท้องถิ่นจังหวัดบุรีรัมย์ ที่เป็นผ้าฝ้ายทอมือย้อมด้วยสีดินภูเขาไฟ ซึ่งคอลเลกชันดังกล่าวได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ทั้งในระดับประเทศและในระดับสากล
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ: การพัฒนาข้ามศาสตร์ด้วยการบูรณาการศาสตร์แห่งแฟชั่นในการแปลงรายละเอียดต่าง ๆ ในวิถีอีสาน ให้เป็นการถอดรหัสสร้างชุดสีที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมในการออกแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นองค์ประกอบร่วมในกลยุทธ์การยกระดับประสบการณ์ด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้
กลุ่มเป้าหมาย:
- นักชิมที่รักการผจญภัย (Flavor Adventurer)
- นักสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม (Cultural Innovator)
แนวทางการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว: โทนสีวิถีอีสาน สามารถนำไปประยุกต์ใช้ร่วมในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์เพื่อใช้บนโต๊ะอาหารจากผ้าไหมอีสาน ซึ่งมีเรื่องราว เรื่องเล่า และกรรมวิธีที่น่าสนใจ กิจกรรมและ/หรือเรื่องราวของคุณค่าเบื้องหลังที่ถูกถ่ายทอดด้วยกลยุทธ์การสร้างการรับรู้อย่างสร้างสรรค์และการปฏิบัติที่ยั่งยืน ซึ่งสามารถช่วยยกระดับประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหารให้แก่ผู้บริโภค
ภาคกลาง
กรณีศึกษา: Gastro-Diplomacy การทูตเชิงอาหาร เรื่องเล่าผ่านอาหาร Fine Dining ที่นำเสนอโดยเชฟ
ตัวอย่างศักยภาพ:
- เชฟชาลี กาเดอร์ แห่งร้านวรรณยุค และร้าน 100 Mahaseth กับแนวคิด “Old Meets New” – นำเอาวัตถุดิบท้องถิ่นหลายชนิดมาสร้างสรรค์เป็นอาหาร โดยเลือกใช้เครื่องเทศและพืชสมุนไพรที่มีความสำคัญในวัฒนธรรมอาหารไทย
- Nahm: หนึ่งดวงแห่งแรกของไทย – ร้านอาหารไทยที่ได้รับ Michelin Star เน้นการใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่มาจากเกษตรกรและผู้ผลิตชาวไทยที่มีคุณภาพสูง เพื่อสร้างรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์และสมดุล
- R-HAAN: Michelin Star 2 ดาว – จุดเด่นของร้านคือการปรับเมนูตามฤดูกาล ช่วยให้ได้วัตถุดิบที่สดใหม่และคงคุณค่าทางอาหารได้ดีที่สุด
- Chim By Siam Wisdom: Michelin Star 7 ปีซ้อน – โดดเด่นด้วยการตกแต่งจานอาหารที่แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจในรายละเอียดและความคิดสร้างสรรค์ที่สอดแทรกเรื่องราวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ: การใช้ “อาหาร” เป็นสื่อกลางในการสื่อสารวัฒนธรรม และเป็นตัวแทนที่สะท้อนถึงประวัติศาสตร์ และวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่น การเล่าเรื่องผ่านอาหารทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับที่มาของวัตถุดิบ วิธีการปรุง และเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของผู้คนในพื้นที่ ส่งผลให้การท่องเที่ยวเชิงอาหารมีความลึกซึ้งและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
‘เชฟจึงไม่ใช่เพียงแค่ผู้ปรุงอาหาร แต่เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ประสบการณ์ ที่เชื่อมโยงผู้คนเข้ากับรากเหง้าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ผ่านการเล่าเรื่องที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์และความหมาย’
กลุ่มเป้าหมาย:
- นักชิมระดับสูง (Culinary Connoisseur)
- นักท่องเที่ยวสายรักษ์โลก (Urban Sustainability Seeker)
แนวทางการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว: การประยุกต์ใช้แนวคิดการทูตเชิงอาหาร (Gastro-Diplomacy) เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับการท่องเที่ยวเชิงอาหารสามารถแบ่งออกเป็น 3 กระบวนการหลัก ได้แก่ 1. การสืบค้น (Content) ที่เน้นการค้นหาและคัดสรรวัตถุดิบท้องถิ่นที่สะท้อนเอกลักษณ์เฉพาะของแต่ละชุมชนมาร้อยเรียง 2. Concept เป็นแนวคิดของสำรับอาหารให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิต 3. การออกแบบสร้างสรรค์ (Design) ที่นำเสนออาหารในรูปแบบที่งดงาม ทำให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์ ที่เชื่อมโยงระหว่างอาหารกับวัฒนธรรมท้องถิ่น
ภาคตะวันออก
กรณีศึกษา: Ecosystem Development ฉะเชิงเทรา ความร่วมมือของผู้คนทั้งระบบห่วงโซ่อาหาร เพื่อการเพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์
ตัวอย่างศักยภาพ: ฉะเชิงเทรา มีความพร้อมสำหรับการเป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารในทุกมิติ ด้วยการมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และทุนทางวัฒนธรรมที่แข็งแรง อีกทั้งมีความร่วมมือร่วมใจของผู้คนและองค์กรที่มีหัวใจแห่งความยั่งยืน ทำให้เมืองสามารถได้กลุ่มคนที่จะเป็นผู้นำทางความคิดในการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้อย่างครบทั้งระบบ ก่อให้เกิดการสร้างระบบอาหารยั่งยืนที่สามารถส่งต่อคุณค่า วัฒนธรรม และประสบการณ์ให้แก่ผู้มาเยือนผ่านแก่นของเมืองสืบไป
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ:
- การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยให้ชุมชนมีบทบาทในการพัฒนาเมืองและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจจากการพัฒนาเส้นทางการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสู่ความยั่งยืน
- การร่วมคิดและร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องของการสำรวจพื้นที่ของเมืองฉะเชิงเทราของทุกภาคส่วนในฉะเชิงเทรา
- การใช้เรื่องเล่าท้องถิ่น เช่น ตำนานปลาช่อนแปดริ้ว และการนำเสนอประวัติศาสตร์ท้องถิ่นผ่านเมนูอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างมูลค่าให้กับประสบการณ์การรับประทานอาหารอย่างแท้จริง
กลุ่มเป้าหมาย:
- นักท่องเที่ยวสายรักษ์โลก (Eco-Food Traveler)
- นักชิมสายผลไม้ (Tropical Gourmet)
แนวทางการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว:
- วางแผน สร้างความร่วมมือ และกำหนดเป้าหมายการท่องเที่ยวเชิงอาหารของเมืองที่ชัดเจน
- เสริมความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเกษตรกร โดยส่งเสริมให้ชุมชนมีบทบาทสำคัญในเส้นทางท่องเที่ยว พร้อมพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน
- สร้างเครือข่ายนักเล่าเรื่องเมืองเราเพื่อส่งเสริมการตลาด กระตุ้นให้ผู้คนอยากเดินทางมาสัมผัสประสบการณ์การท่องเที่ยวเชิงอาหาร จากคำบอกเล่าของคนในเมือง
ภาคใต้
กรณีศึกษา: UNESCO Creative Cities ถอดรหัส ภูเก็ต เพชรบุรี
ตัวอย่างศักยภาพ: เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย (UNESCO Creative Cities) ในปัจจุบันมีจำนวน 5 เมือง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ สุโขทัย กรุงเทพมหานคร และเพชรบุรี โดยเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก ด้าน “วิทยาการอาหาร” ได้แก่ ภูเก็ตและเพชรบุรี ‘เพชรบุรี’ ซึ่งเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองสามรส ทั้งหวาน เค็ม เปรี้ยว และมีความโดดเด่นในฐานะ “เมืองแห่งขนมหวาน” ได้มุ่งเน้นการส่งเสริมเอกลักษณ์ด้านการทำขนมหวานที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน ขณะที่ ‘ภูเก็ต’ ได้รับการยอมรับจากการเป็นจุดหมายปลายทางอาหารที่ผสมผสานวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่นที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะอาหารพื้นเมืองที่ได้รับอิทธิพลจากจีน เปอร์เซีย และมลายู ทั้งสองเมืองมีการนำเสนออาหารที่ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ยังสอดคล้องกับวิถีชีวิตและประวัติศาสตร์ของชุมชน
ปัจจัยแห่งความสำเร็จ: ‘ภูเก็ต นำรากของเมืองเก่ามาบวกกับความคิดสร้างสรรค์ ผสานคนต่างเจเนอเรชันให้อยู่ร่วมกันได้’ ปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารของภูเก็ต นอกจากจะมีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และมีธรรมชาติที่สวยงามติดอันดับโลกแล้ว ยังมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา วัฒนธรรมและวิถีชีวิต ที่สืบทอดมายาวนานตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งหล่อหลอมให้เกิดวัฒนธรรมอาหารพื้นเมืองที่เป็นอัตลักษณ์ของภูเก็ต นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยด้านความเข้มแข็งของเครือข่ายความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ที่ทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรมทางวิทยาการอาหาร ภายใต้แนวคิด Good Health, Good Spirit…in Phuket
เพชรบุรีเป็นพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ด้วยดินดี น้ำดี อากาศดี ทำการเกษตรดี จนมีวัตถุดิบเพื่อนำมาประกอบอาหารได้อย่างดี ร่วมกับมีคนทำงานสร้างสรรค์ในหลายแขนง เมื่อสินทรัพย์ของเมืองผนวกเข้ากับศักยภาพของคนในพื้นที่ เพชรบุรีจึงได้รับเลือกเป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหาร ซึ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ได้อย่างลงตัว
กลุ่มเป้าหมาย:
- นักชิมที่ชื่นชอบการพักผ่อน (Relaxation Gourmet)
- นักชิมผู้รักการผสมผสาน (Global Fusion Enthusiast)
แนวทางการเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยว:
- เน้นการเล่าเรื่องและการออกแบบ: โดยใช้แนวคิด Design x Stories สามารถสร้างเอกลักษณ์ที่โดดเด่นผ่านการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับอาหาร และเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านี้กับการออกแบบที่ทันสมัย
- สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น: การมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเมืองที่ต้องการการยอมรับจากยูเนสโก
- ส่งเสริมแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน: เช่น การใช้วัตถุดิบท้องถิ่นและเกษตรอินทรีย์
- ส่งเสริมการผสมผสานระหว่างประเพณีและสมัยใหม่: เป็นแนวทางที่จะอนุรักษ์ประเพณีดั้งเดิมในขณะที่ยังตอบโจทย์นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่ที่ต้องการประสบการณ์ที่แตกต่างและทันสมัย