Paris 2024: จากกีฬาสู่ความยั่งยืน

 

 

 

โดย ภาตภัทร แสนสุข

 

เมื่อได้ยินชื่อ “โอลิมปิก” ภาพการแข่งขันกีฬาระดับโลกคงผุดขึ้นในหัวของใครหลายคน แต่หากได้ค้นหาความเป็นมาของ “โอลิมปิก” แล้วจะพบว่า โอลิมปิกไม่ใช่แค่การแข่งขันกีฬา แต่เป็นตัวแทนของการเฉลิมฉลองความเป็นเลิศทางด้านกีฬา ความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความสามัคคีในระดับสากล ดังนั้น โอลิมปิกเกมส์จึงถือเป็นหนึ่งใน Sport Event ที่สำคัญและเป็นที่รู้จักมากที่สุดในโลก ซึ่งใน Olympic 2024 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ประเทศฝรั่งเศสได้รับไม้ต่อเป็นเจ้าภาพต่อจากประเทศญี่ปุ่น

 

ในขณะที่ทั่วโลกกำลังรอคอยการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ‘Paris 2024’ อย่างใจจดจ่อ TAT Review ขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่าน มาย้อนดูประวัติศาสตร์และล้วงลึกแนวคิดด้านความยั่งยืนทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นในการแข่งขันโอลิมปิกครั้งนี้

 

photo credit : Vignal, Claude / Fonds France-Soir / BHVP / Roger-Viollet

 

ครบรอบ 100 ปี ประวัติศาสตร์และความภาคภูมิใจ

ปารีสเคยเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกมาแล้วสองครั้ง ในปี 1900 และ 1924 การได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ถือเป็นการครบรอบ 100 ปี ของการได้กลับมาเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอีกครั้ง ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจอย่างมากสำหรับชาวฝรั่งเศส โดยปารีสได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1900 เป็นครั้งแรก หรือที่รู้จักอย่างเป็นทางการในชื่อ ‘มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 2’ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม ถึง 28 ตุลาคม 1900 การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในครั้งนั้นไม่ได้สร้างการจดจำเท่าที่ควร เนื่องจากถูกครอบอยู่ภายใต้การจัดงานใหญ่ระดับโลก Universal Exhibition (Exposition Universelle de 1900) ที่กินระยะเวลายาวนานเกือบห้าเดือน ส่งผลให้สถานะการแข่งขันโอลิมปิกถูกมองข้าม ในขณะที่โอลิมปิกปี 1924 นั้น ถือเป็นปีที่ทำให้โอลิมปิกเกมส์ได้รับการยอมรับว่าเป็น Mega Event ที่มีความสำคัญระดับนานาชาติและได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยมีจำนวนประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันเพิ่มขึ้นเป็น 44 ประเทศ มากกว่าโอลิมปิกครั้งก่อนหน้าที่มี 29 ประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดความสนใจในกลุ่มสื่อมวลชนทั่วโลกและมีนักข่าวเข้าร่วมงานมากกว่า 1,000 คน 

 

โอลิมปิก 1924 ยังได้ส่งต่อมรดกทางวัฒนธรรมการแข่งขันโอลิมปิก อาทิ Olympic Village ซึ่งเป็นต้นแบบของหมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิกในปัจจุบัน ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดของนาย Pierre de Coubertin ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลในขณะนั้น

 

ทำไมต้อง “กรุงปารีส”

จากกระบวนการคัดเลือกและการประเมินศักยภาพเมืองที่ยื่นใบสมัครเข้ามาอย่างเข้มงวด ท้ายที่สุดกรุงปารีสก็ได้รับเลือกให้เป็นเมืองเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน สิ่งหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นที่ต้องคำนึงถึงคือ การได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกถือเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ ที่ช่วยส่งเสริมและสร้างโอกาสในการพัฒนา รวมทั้งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวนมหาศาล แต่อย่างไรก็ดีการบริหารจัดการและการลงทุนที่ล้มเหลวอาจก่อให้เกิดความเสี่ยง หนี้สิน และการสูญเสียเงินจำนวนมาก ซึ่งอาจนำพาประเทศเข้าสู่สภาวะวิกฤตได้เช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่นประเทศกรีซ ที่ค่าใช้จ่ายในการจัดโอลิมปิก 2004 กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของวิกฤตหนี้สินของประเทศที่ตามมาในภายหลัง 

 

ด้วยเหตุนี้เองกระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพจึงได้รับการปฏิรูปในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความยั่งยืน โดยต้องเน้นความเป็นไปได้ในการใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้ว สร้างสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวเท่าที่จำเป็น และสร้างใหม่เฉพาะกรณีที่ต้องการส่งต่อเป็นมรดกตกทอดสู่ชุมชนในระยะยาวเท่านั้น นอกจากนี้กระบวนการคัดเลือกเจ้าภาพที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ยังให้สิทธิเจ้าภาพสามารถจัดงานในหลายเมือง หลายภูมิภาค หรือร่วมจัดกับประเทศอื่นได้อีกด้วย

 

ฝรั่งเศสได้ลงชื่อสมัครเป็นเจ้าภาพโอลิมปิก 2024 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2015 หลังจากผิดหวังติดต่อกันมาสามครั้งในอดีต แต่สืบเนื่องจากสภาวะทางเศรษฐกิจและปัญหาระยะยาวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายประเทศที่แลดูมีความพร้อมพากันสละสิทธิ์ จนกระทั่งในวันที่ 13 กันยายน 2017 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลได้ประกาศอย่างเป็นทางการให้ปารีสเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2024 การตัดสินของคณะกรรมการฯ ในครั้งนี้ ส่งผลให้ปารีสกลายเป็นเมืองที่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนถึง 3 ครั้ง เทียบเท่ากับลอนดอนที่เคยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ 3 ครั้งเช่นกัน

Eiffel Tower Stadium | Paris 2024

 

Sustainability เกมแห่งความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากความพร้อมและศักยภาพที่ปารีสมีอยู่แล้ว ยังมีปัจจัยสำคัญอื่น ๆ ที่ช่วยเกื้อหนุนให้ปารีสได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพ ได้แก่ แนวคิดการจัดการบนพื้นฐานความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างจำกัดและคุ้มค่าเป็นหัวใจและเป้าหมายหลักของ Paris 2024 โดยฝรั่งเศสมีความตั้งใจอย่างแรงกล้าในการสนับสนุนและส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศการแข่งขันกีฬาที่ให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น 

 

จากข้อมูลของเว็บไซต์ Paris 2024 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยเฉลี่ยจากการจัดโอลิมปิกครั้งที่ผ่านมาอยู่ที่ 3.5 ล้านตัน ในขณะที่ประมาณการการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ของ Paris 2024 อยู่ที่ 1.5 ล้านตัน เนื่องจากการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกที่ปารีสจะเน้นไปที่การใช้โครงสร้างพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว หรือสถานที่ที่สร้างขึ้นชั่วคราวกว่า 95% เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยโครงสร้างชั่วคราวจะสร้างอยู่ใกล้บริเวณ Landmark สำคัญที่มีความพร้อมอยู่แล้ว เช่น การแข่งขันยิงธนูที่ Invalides การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาดและฟุตบอล Cécifoot บริเวณหอไอเฟล และการแข่งสเก็ตบอร์ดที่ Place de la Concorde

 

การสร้างสิ่งปลูกสร้างชั่วคราวเหล่านี้ขึ้นมา นับเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ย้ายกีฬาออกจากสนามกีฬาในรูปแบบดั้งเดิมและเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการแข่งขันได้มากขึ้น พร้อมทั้งลดผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมจากการใช้เครื่องปรับอากาศเมื่อเปรียบเทียบกับการสร้างโครงสร้างใหม่ ในขณะเดียวกันเมื่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกสิ้นสุดลง วัสดุและโครงสร้างที่ติดตั้งชั่วคราวเหล่านี้ก็จะถูกนำกลับมาใช้ซ้ำหรือถูกนำไปรีไซเคิลต่อไป

 

Long-term Infrastructure การส่งต่อมรดกสู่ชุมชนในระยะยาว

การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว แม้ค่าใช้จ่ายจะสูง แต่ก็กล่าวได้ว่าโอลิมปิกปี 2024 ที่กรุงปารีส จะส่งต่อมรดกที่ยั่งยืนให้กับประเทศฝรั่งเศสและกรุงปารีส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกจะช่วยเร่งให้เกิดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของปารีสและพื้นที่โดยรอบ เช่น การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การก่อสร้างสนามกีฬาและหอพักนักกีฬา ซึ่งจะยังคงใช้ประโยชน์ได้หลังจบการแข่งขัน อย่างหมู่บ้านนักกีฬาในตัวเมืองแซน-แซ็ง-เดอนี (Seine-Saint-Denis) และหมู่บ้านสื่อมวลชนที่เมือง Dugny ในย่านเดียวกัน ที่จะกลายเป็นที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุหรือหอพักนักศึกษา เป็นต้น

 

Editorial credit: Antonin Albert | Shutterstock.com

 

การจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากให้เข้ามายังปารีส ก่อให้เกิดรายได้จากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวในระยะสั้น และยังมีการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ การได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกยังถือเป็นโอกาสในการเผยแพร่วัฒนธรรมและประเพณีของฝรั่งเศสออกสู่สายตานานาชาติ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ และยังส่งผลทางอ้อมให้คนหันมาออกกำลังกายตามกระแสการแข่งขันโอลิมปิก โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนซึ่งดีต่อสุขภาพ

 

ตัวอย่างเช่น The Aquatics Centre หรือศูนย์กีฬาทางน้ำแห่งแซ็ง-เดอนี (Saint-Denis) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่จัดการแข่งขันที่สร้างขึ้นเพื่อโอลิมปิกครั้งนี้ โดยสร้างขึ้นในย่านที่เด็กมัธยมกว่า 50% ขาดทักษะในการว่ายน้ำ สิ่งปลูกสร้างถาวรจากโอลิมปิกในครั้งนี้จะเป็นมรดกตกทอดที่เป็นรูปธรรมสำหรับย่านแซน-แซ็ง-เดอนี และผู้อยู่อาศัย โดยหากคิดเป็นเม็ดเงินจากการลงทุนในย่านเพื่อพัฒนาโครงสร้างสำหรับการแข่งขันโอลิมปิกกว่า 4.4 พันล้านยูโรแล้ว จำนวนเงินลงทุนกว่า 80% จะไม่สูญเปล่าและจะเป็นมรดกตกทอดสู่ย่านแห่งนี้ต่อไป

 

The Aquatics Centre | Paris 2024

 

นอกจากนี้ การเข้าถึงได้ (Accessibility) ยังมีความหมายอย่างมากต่อปารีส โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปีนี้ที่มีการจัดมหกรรมกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก 2024 ที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวผู้พิการราว 350,000 คนมาเยือนปารีส  กลยุทธ์ของ Paris 2024 จึงเน้นการเข้าถึงเมืองและการมีส่วนร่วมของคนพิการ

 

เพื่อรองรับผู้เข้าชมซึ่งเป็นผู้พิการจำนวนมากที่คาดว่าจะมาเยือนปารีส รัฐบาลฝรั่งเศสได้เสนอให้มีการปรับหลายเขตในปารีสให้กลายเป็น  Improved accessibility neighborhoods ซึ่งมีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในกรุงปารีสให้กับประชาชนทุกคน ทั้งครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจจริงของปารีสในการที่จะก้าวไปสู่การเข้าถึงที่เป็นสากล (Universal Accessibility) และเมื่อการแข่งขันโอลิมปิกจบลง รัฐบาลตั้งเป้าจะขยายให้ทุกเขตกลายเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงได้มากขึ้น (Borough with increased accessibility)

 

ตัวอย่างการอำนวยความสะดวกเพื่อสังคม:

  • การปรับปรุงทางม้าลายเพื่อทุกคน (Universal Design) 
  • การสร้างที่จอดรถจำนวน 500 คัน สำหรับคนพิการ
  • การขยายทางเดินเท้าโดยคำนึงถึงอุปสรรคต่าง ๆ เช่น รถเข็นเด็ก วีลแชร์ ฯลฯ

 

Inclusivity การมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องถิ่น

การได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันครั้งนี้ ฝรั่งเศสมีความตั้งใจที่จะนำโอกาสนี้มาใช้ตอบโจทย์มิติทางสังคม พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนผ่านการแข่งขันกีฬา โดยการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชน สร้างศูนย์กีฬา รวมถึงให้การศึกษาแก่เยาวชนที่ด้อยโอกาส ผ่านการขับเคลื่อนด้านการจ้างงานและการฝึกอบรม โดยหนึ่งในเป้าหมายของ Paris 2024 คือการสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียมกัน

 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมการบูรณาการของกลุ่มเปราะบาง คนว่างงาน ตลอดจนผู้พิการ ระหว่างปี 2019 ถึง 2024 โอลิมปิกในครั้งนี้ได้จ้างงานกว่า 181,100 ตำแหน่ง ซึ่งประกอบไปด้วยงานด้านการจัด Event 89,300 ตำแหน่ง งานด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 61,800 ตำแหน่ง และงานก่อสร้าง 30,000 ตำแหน่ง

 

และเพื่อสนับสนุนการจ้างงานให้แก่ประชาชนในท้องถิ่น รัฐบาลฝรั่งเศสจึงได้จัดให้มีการฝึกอบรมด้านการป้องกันเหตุฉุกเฉินและการรักษาความปลอดภัยฟรีจำนวน 25,000 ตำแหน่ง และในบางกรณี หากเข้าฝึกอบรมครบ 300 ชั่วโมง ผู้เข้าอบรมจะได้รับค่าตอบแทนราว 2,000 ยูโร และได้รับหนังสือรับรองที่มีอายุ 5 ปี สำหรับใช้ทำงานในช่วงการจัดงานโอลิมปิกได้

 

Paris 2024 เป็นมากกว่าเพียงการแข่งขันกีฬาระดับโลก แต่เป็นการเฉลิมฉลองความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่จะมีนักกีฬามากกว่า 10,000 ชีวิตและผู้ชมนับล้านคนจากทั่วทุกมุมโลกเข้าร่วม การจัดงานของฝรั่งเศสที่มุ่งหวังให้เกิดความยั่งยืนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว มีแนวโน้มที่จะเป็นตัวอย่างที่ดีในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก มาตามดูกันต่อไปว่าความตั้งใจนี้ของฝรั่งเศสจะถูกส่งต่อให้เจ้าภาพในปีต่อ ๆ ไปพร้อมกับคบเพลิง จนกลายเป็นวัฒนธรรมที่ฝังแน่นในการจัด Sport Event ที่ยั่งยืนสืบไปหรือไม่

 

ที่มา: 

Le Village des Médias – Paris 2024 (olympics.com)

Becoming an Olympic Games Host | From Vision to Election (olympics.com)

Paris 1924 : les Jeux grandissent ! – Actualité Olympique (olympics.com)

https://www.francetravail.fr/actualites/le-dossier/le-sport/agent-de-securite—jop-paris-20-html

Paris 2024: inclusive and accessible Games – Ville de Paris

Social benefits of hosting the Olympic Games (olympics.com)

Paris 2024 – Construire moins, mieux et utile (olympics.com)

Jeux Olympiques d’Été Paris 1924 – Athlètes, Médailles & Résultats (olympics.com)

https://press.paris2024.org/news/press-release-paris-2024-presents-the-latest-advance-in-its-low-carbon-strategy-175c-7578a.html

https://olympics.com/fr/paris-2024/information/village-medias

https://www.lemonde.fr/sport/article/2023/09/21/paris-2024-les-jeux-devraient-creer-181-000-emplois_6190307_3242.html

Share This Story !

4.6 min read,Views: 3681,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 28, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 28, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 28, 2024