“Notre Dame des Paris: ยอดแหลมที่เพิ่งพังลงของ วิโอเลต์-เลอ-ดุก กับ เหตุผลที่ ไม่จำเป็นต้องสร้างกลับให้เหมือนเดิม”
Will we rebuild the spire at all? Will we recreate the spire that fell? Or will we come up with an entirely new spire?
“เราจะสร้างยอดแหลม (spire) ขึ้นมาอีกไหม? เราจะบูรณะยอดที่หักโค่นลงขึ้นมาใหม่ในแบบเดิม หรือเราจะทำยอดนั้นแบบใหม่ไปเลย” Edouard Philippe, 17 เมษายน 2562
คุณวสุ โปษยะนันทน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์โบราณสถาน กรมศิลปากร โพสต์ในหน้าเฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2562 ถึงกรณีการบูรณะซ่อมแซมอาสนวิหารนอเทรอดามที่ถูกเพลิงไหม้จนทำให้ยอดแหลมของโบสถ์ (spire) หักโค่นลงมาว่า การซ่อมกลับไปสู่รูปแบบเดิมก่อนพังลง ดูจะเป็นวิธีการอนุรักษ์ที่เสี่ยงต่อการกระทบคุณค่าของโบราณสถานและการถูกถอนออกจากการเป็นมรดกโลกน้อยที่สุด
จุดยืนในการบูรณปฏิสังขรณ์ที่ต้องการสร้างกลับมาให้เหมือนเดิมนั้น แน่นอนว่าเป็นจุดยืน ‘เชิงอนุรักษ์’ ที่พิจารณาโบราณสถานในฐานะมรดกทางวัฒนธรรมที่ ‘ประวัติศาสตร์’ ได้มอบไว้ให้แก่คนรุ่นเรา ฉะนั้นจึงเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องรักษามรดกเหล่านี้ให้ดีที่สุดก่อนที่จะส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป แม้ว่าภายใต้แนวความคิดเชิงอนุรักษ์นี้จะเปิดโอกาสให้ใช้วัสดุและเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาทดแทนของเดิมที่พังทลายไป และเพื่อสนองความต้องการใหม่ๆ เช่น การติดตั้งระบบป้องกันอัคคีภัย การอำนวยความสะดวกต่อการเข้าถึงของผู้พิการ การเสริมความมั่นคงแข็งแรงทางโครงสร้าง ฯลฯ ก็ตาม แต่ทั้งหมดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อการบูรณะกลับไปสู่สภาพเดิมก่อนพังทลาย
อย่างไรก็ตามข้อเสนอ ‘เชิงอนุรักษ์’ เช่นนี้ดูจะตรงกันข้ามกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในฝรั่งเศสขณะนี้อย่างมากทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวเรียก ขวัญกำลังใจให้แก่ชาวฝรั่งเศสของประธานาธิบดีแอมมานุแอล มาครง (Emmanuel Macron) ต่อเหตุการณ์เพลิงไหม้นอเทรอดามว่า จะสร้างโบสถ์นอเทรอดามให้กลับมา ‘สวยยิ่งกว่าเดิม’ ภายในเวลา 5 ปี หรือการออกมาประกาศของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เอดัวร์ ฟีลิป (ÉdouardPhilippe) ว่าจะจัดประกวดแบบสร้างยอดแหลมนอเทรอดามที่เพิ่งหักโค่นลงกลับขึ้นมาใหม่ในลักษณะที่ ‘สอดคล้องกับเทคนิคแลความท้าทาย แห่งยุคสมัยของเรา’
ฉะนั้นจึงชัดเจนว่ารัฐบาลฝรั่งเศสมองเรื่องการบูรณะฟื้นฟูอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ครั้งนี้ในลักษณะที่ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับแบบดั้งเดิมแต่ปล่อยให้เป็นอิสระทางความคิดของสถาปนิกและวิศวกรทั่วโลกว่าจะฟื้นฟูยอดแหลมกลับขึ้นมาใหม่ให้เหมาะกับกาลเทศะในปัจจุบันอย่างไร
ด้วยเหตุนี้เราคงจะได้เห็นการออกแบบยอดแหลมขึ้นใหม่ด้วยวัสดุที่ไม่ใช่ซุงไม้โอ๊กขนาดใหญ่ (มีผู้คำนวณแล้วว่าหากสร้างในแบบเดิมจำเป็นจะต้องใช้ไม้โอ๊กในปริมาณกว่า 1,300 ท่อน อันจะทำให้ต้องตัดป่ากว่า 50 เอเคอร์ ซึ่งในปัจจุบันฝรั่งเศสไม่สามารถหาไม้ซุงที่มีขนาดยาวพอที่จะสร้างกลับคืนในแบบเดิมได้ ยังไม่ต้องเอ่ยว่าการใช้ไม้ที่ไม่สามารถปลูกทดแทนได้ในเวลาอันสั้นในปริมาณมากมายมหาศาลขนาดนี้จะถูกต่อต้านจากกลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติมากเพียงใด) แต่อาจใช้ไม้ขนาดเล็กหรือกระทั่งไม่ใช้เลยก็ได้ โดยหันไปหาวัสดุอื่นที่เป็นคำตอบแห่งยุคสมัยแทน ดังที่เริ่มมีสถาปนิกทยอยเสนอความเป็นไปได้ในการบูรณะอาสนวิหารหลังนี้ออกมาตามหน้าสื่อต่างๆ ที่ไม่ได้ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิมก่อนเหตุการณ์เพลิงไหม้แต่อย่างใด
ผมคิดว่าการบูรณะแบบที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบดั้งเดิมนั้นน่าสนใจดี (ไม่ใช่เพราะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้นะครับ) แต่เพราะมันเป็นแนวทางที่สะท้อนวิธีคิดหรือจุดยืนทางสถาปัตยกรรมที่ย้อนกลับไปได้ถึงศตวรรษที่ 19 และที่สำคัญคือเป็นเรื่องที่ยังไม่ค่อยมีการพูดถึงกันในประเทศไทยนัก
เหนือสิ่งอื่นใดแล้ว การจัดการประกวดแบบในครั้งนี้นับเป็นการเน้นย้ำความคิดที่ว่า ‘สถาปัตยกรรมควรเป็นผลผลิตของยุคสมัย’ ให้กลับมาเป็น กระแสอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็ไม่ต่างอะไรจากในครั้งที่
ฌ็อง-บาติสต์ ลาซูส (Jean-Baptiste Lassus) และวิโอเลต์-เลอ-ดุก (Viollet-le-Duc) ได้สร้างสรรค์ยอดแหลมโบสถ์นอเทรอดามขึ้นมาใหม่ในศตวรรษที่ 19 ในแบบรื้อฟื้นจิตวิญญาณโกธิก (Gothic spirit) หลังจากที่ยอดเดิมที่เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิก (Gothic Architecture) ถูกทำลายลงในเหตุการณ์ปฏิวัติฝรั่งเศส 1786 (fig. 1, 2)
แบบที่ ลาซูส และ วิโอเลต์-เลอ-ดุก ชนะในการประกวดแบบการบูรณะนอทเทรอะดามในปี 1843 นั้น พวกเขาเสนอให้รื้อฟื้นการทำยอดแหลมกลับขึ้นมาใหม่ ซึ่งไม่ใช่แต่เพียงยอดแหลมเหนือบริเวณ Crossing แต่ยังรวมถึงยอดแหลมเหนือหอคอยคู่ (steeples) บริเวณทางเข้าด้านหน้าด้วย อย่างไรก็ตามยอดแหลมเหนือหอคอยคู่ดังกล่าวนี้ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นตามแบบที่ชนะการประกวด มีเพียงยอดแหลมเหนือ crossing¹ เท่านั้นที่ได้รับการสร้างขึ้น (ตามแบบที่มีการปรับปรุงอีกครั้งในปี 1857 โดย วิโอเลต์-เลอ-ดุก ภายหลังการเสียชีวิตของลาซูส) ในลักษณะของการรื้อฟื้นจิตวิญญาณโกธิกแห่งศตวรรษที่ 13 ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในกลางศตวรรษที่ 19² จนกระทั่งเพิ่งหักโค่นลงในเหตุการณ์เพลิงไหม้ครั้งที่ผ่านมา
การรื้อฟื้นจิตวิญญาณแห่งโกธิกขึ้นมาใหม่ของ วิโอเลต์-เลอ-ดุกในครั้งนี้นี่เอง ที่ผมคิดว่าได้สร้างรากฐานทางทฤษฎีสถาปัตยกรรมที่สำคัญ (ในเวลาต่อมาเรียกว่า ทฤษฎีเหตุผลนิยมทางโครงสร้าง หรือ Structural Rationalism) อย่างน้อย 2 ประการ ซึ่งได้สร้างความชอบธรรมให้กับแนวทางการบูรณะโบราณสถานที่ไม่จำเป็นต้องยึดโยงกับ ‘รูปแบบ’ ดั้งเดิม³
ประการแรก เกี่ยวกับวัสดุ ยุโรปในศตวรรษที่ 19 นั้น สถาปนิกมีวิธีคิดต่อวัสดุที่ใช้ในการรังสรรค์งานสถาปัตยกรรมแตกต่างกันไป เช่น สำหรับนักทฤษฎีในสำนักที่พูดภาษาเยอรมันอย่าง ก็อตต์ฟรีด เซมเปอร์ (Gottfried Semper) มองว่าเป้าหมายสูงสุดทางสถาปัตยกรรมคือการสร้างสัญลักษณ์ แต่การที่สถาปัตยกรรมจะมีศักยภาพในการสื่อสารทางสัญลักษณ์นั้น มีขั้นตอนสำคัญขั้นตอนหนึ่งคือการยืมรูปแบบที่เกิดขึ้นด้วยวัสดุประเภทหนึ่งมาทำให้เกิดขึ้นในวัสดุอีกประเภทหนึ่ง เช่น วิหารกรีกที่สร้างขึ้นด้วยหินอ่อน แต่อยู่ในรูปแบบเชิงสัญลักษณ์ของอาคารไม้ แต่สำหรับสถาปนิกอีกสกุลหนึ่งอย่างวิโอเลต์-เลอ-ดุก วัสดุถือเป็นหัวใจทางสถาปัตยกรรมอย่างถึงแก่น กล่าวกันว่าวัสดุแต่ละประเภทนั้นมีสำเนียงของตนเอง และไม่ควรอนุญาตให้วัสดุหนึ่งไปเลียนแบบ ‘ภาษา’ ของวัสดุชนิดอื่น แต่สถาปนิกมีหน้าที่ค้นหารูปแบบทางสถาปัตยกรรมที่เหมาะสมที่สุดจากธรรมชาติที่ ‘แท้จริง’ ของวัสดุนั้น (ซึ่งแน่นอนว่า คุณสมบัติแห่งความ ‘แท้จริง’ ของวัสดุนั้นก็ขึ้นอยู่กับอัตวิสัยของสถาปนิกแต่ละคน) เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วคุณสมบัติของ ‘วัสดุ’ และ ‘รูปแบบ’ ทางสถาปัตยกรรมจึงต้องมีความสอดคล้องกัน โดย วิโอเลต์-เลอ-ดุกมีความเชื่อว่าคุณสมบัติของวัสดุจะเป็นตัวบ่งบอกรูปแบบทางสถาปัตยกรรม และตัวงานสถาปัตยกรรมนั้นก็จะขับเน้นวัสดุให้เป็นที่ประจักษ์
ประการที่สอง คือการให้ความสำคัญกับระบบโครงสร้าง (structural system) สำหรับวิโอเลต์-เลอ-ดุก สถาปัตยกรรมก่อรูปมาจาก ‘โครงสร้าง’ ซึ่งถูกกำหนดมาแล้วก่อนงานก่อสร้างจะเริ่มขึ้น ‘โครงสร้าง’ ในความหมายนี้ไม่ใช่รูปธรรม แต่คือตัว ‘ระบบ’ ซึ่งไม่อาจถูกลดทอน หากดำรงอยู่อย่างถาวรเกินอายุขัยของอาคารเสียอีก แม้สิ่งก่อสร้างจะมีวันเสื่อมทรุด แต่ระบบโครงสร้างเป็นนิรันดร์และมิอาจทำลายได้ด้วยเหตุนี้เป้าหมายทางสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดในความเห็นของเขาคือการสร้างรูปแบบภายนอกให้สอดคล้องสัมพันธ์กับระบบโครงสร้างดังกล่าว สถาปนิกจะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจ ‘ระบบโครงสร้าง’ สามารถสร้างสถาปัตยกรรมที่พัฒนาขึ้นมาจากตัวระบบโครงสร้างนั้น และที่สำคัญการพัฒนาในที่นี้ยังหมายถึงว่าต้องก้าวไปข้างหน้าเสมอด้วย ดังจะเห็นได้ว่าข้อเสนอในการสร้างยอดแหลม ‘steeples’ เหนือหอคอยคู่ของนอเทรอดามนั้นเป็นไปตามหลักการนี้อย่างเคร่งครัดทีเดียว (fig.3, 4)
หลักการที่กล่าวมานี้คือสิ่งที่นักเหตุผลนิยมฝรั่งเศส (French Rationalist) ที่มีวิโอเลต์-เลอ-ดุกเป็นหนึ่งในเจ้าสำนัก มองว่าคือจิตวิญญาณที่แท้จริงของสถาปัตยกรรมโกธิก ฉะนั้นในคราวที่ได้รับโอกาสให้ออกแบบยอดแหลมนอเทรอดามกลับขึ้นมาใหม่ เขาจึงออกแบบภายใต้แนวคิดพื้นฟูจิตวิญญาณโกธิก แต่วิโอเลต์-เลอ-ดุกก็ไม่ลืมที่จะแสดงให้เห็นว่ามันคือ
ฟื้นฟูที่เกิดขึ้นในศตวรรษที่ 19 ที่ไม่ใช่การผลิตซ้ำรูปแบบสถาปัตยกรรมโกธิกดั้งเดิมอย่างตรงไปตรงมา ดังจะเห็นได้ว่ารูปแบบยอดแหลมของเขานั้นไม่ได้เป็นการลอกเลียนรูปแบบดั้งเดิมที่มีมาก่อนแต่อย่างใด แต่เป็นงานที่รังสรรค์ขึ้นใหม่ที่เข้ากันได้ดีทั้งในเชิงรูปแบบและปรัชญากับนอเทรอดามเมื่อแรกสร้าง
สำหรับวิโอเลต์-เลอ-ดุกนั้น ยอดแหลมของนอเทรอดามที่ถูกทำลายลงไปในคราวปฏิวัติฝรั่งเศสคือยอดแหลมแห่งศตวรรษที่ 13 ฉะนั้นการสร้างยอดแหลมกลับคืนมาให้สมบูรณ์ขึ้นในศตวรรษที่ 19 ก็ต้องเป็นเรื่องของยุคสมัยแห่งศตวรรษที่ 19 ที่จะต้องตีความว่ารูปแบบที่ ‘สมบูรณ์’ นั้นควรเป็นเช่นไร โดยยังคงไว้ซึ่งระบบโครงสร้างของสถาปัตยกรรมโกธิกที่เขามองว่ายังดำรงอยู่มิได้สูญหายไปไหน (fig.5)
ในบริบททางความคิดเช่นนี้ การออกมาประกาศว่าจะจัดการประกวด แบบสร้างยอดแหลมนอเทรอดามกลับขึ้นมาใหม่ของนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศสเอดัวร์ ฟีลิป ว่า “สอดคล้องกับเทคนิคและความท้าทายแห่งยุคสมัยของเรา” จึงเป็นทั้งข้อเสนอที่ไม่หวาดกลัวต่อการเปลี่ยนแปลง และเป็นการแสดงความเคารพต่อแนวคิดเหตุผลโครงสร้างนิยมที่ฝรั่งเศสเป็นต้นสกุลอย่างถึงที่สุด
ในศตวรรษที่ 21 หากเราจะบูรณะอาคารอาสนวิหารนอเทรอดามแห่งปารีสกลับขึ้นมาใหม่ เราจะทำอย่างไรดี ระหว่างการบูรณะสร้างกลับคืนให้เหมือนเดิม กับการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่บนเงื่อนไขของปัจจุบัน
แน่นอนนอเทรอดามแห่งปารีสที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 856 ปีนั้นเป็นมรดกของโลกอันทรงคุณค่าที่ควรดูแลรักษาเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป แต่เรารักษาเพียง ‘รูปแบบ’ เพื่อส่งต่อไปเท่านั้นหรือ หากการบูรณะด้วยเครื่องมือและภูมิปัญญาทั้งหมดที่เรามีในปัจจุบันนี้เป็นไปเพียงเพื่อการแต่งหน้าทาปากเพื่อทำกลับให้ดูเหมือนเก่า ราวกับว่าเหตุการณ์เพลิงไหม้ในคืนวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาไม่เคยเกิดขึ้น จิตวิญญาณโกธิกอันเป็นมรดกทางความคิดที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศสเอง ก็คงจะถูกแช่แข็งแทนที่จะได้รับการพัฒนาตามเงื่อนไขของยุคสมัยอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วอย่างสร้างสรรค์
โดย พินัย สิริเกียรติกุล
_______