
MARATHONISM
กระแสการดูแลสุขสภาพกำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน สังเกตได้จากผู้คนที่หันมาออกกำลังกายมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการวิ่งที่มีต้นทุนไม่สูงมากและใช้อุปกรณ์น้อย เพียงแค่มีความตั้งใจกับรองเท้ากีฬาสักคู่ก็สามารถวิ่งได้แล้ว การวิ่งจึงเป็นการออกกำลังกายที่สะดวกทำให้ได้รับความนิยมและขยายตัวอย่างรวดเร็ว การวิ่งอาจเริ่มต้นจากความต้องการ ออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกันก็ได้สร้างความท้าทายให้แก่นักวิ่งในการเข้าร่วมกิจกรรมวิ่งรายการต่างๆ จนนำไปสู่การวิ่งในระดับสูงขึ้น หรือก็คือ ‘การวิ่งมาราธอน’ ซึ่งมีทั้งรายการในประเทศและระหว่างประเทศ และมีการบันทึกเวลาอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ นิตยสาร Runner’s World ได้กล่าวถึงสิ่งที่ทำให้ผู้คนตกหลุมรักการวิ่งมาราธอน เช่น การได้ใช้เวลาอยู่กับตนเอง การได้รู้ว่าตนเองสามารถพัฒนาต่อไปได้อีก การได้ทำความดีโดยการร่วมบริจาคเพื่อการกุศล ถือเป็นการใส่ใจสุขภาพตนเองและเสียสละเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นในเวลาเดียวกัน รวมถึงความรู้สึกภาคภูมิใจหลังจากที่ได้เข้าเส้นชัย ด้วยเหตุนี้นักวิ่งทุกคนมักจะมีรายการวิ่งในฝันที่อยากจะพิชิตให้ได้
รายการวิ่งที่เป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของนักวิ่งทุกคนและเป็นที่กล่าวถึงอย่างมากในแวดวงการวิ่ง คือ เวิลด์มาราธอนเมเจอร์ส (World Marathon Majors) เป็นหนึ่งในการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลกที่ใหญ่ที่สุด ประกอบด้วยสนามแข่งจาก 6 เมืองสำคัญ ได้แก่ โตเกียว บอสตัน ลอนดอน เบอร์ลิน ชิคาโก และนิวยอร์กซิตี้ การแข่งขันจะเป็นการวิ่งเก็บคะแนนทั้ง 6 สนามเพื่อหาผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุดตลอดทั้งปี การให้คะแนนจะเรียงตามลำดับผู้เข้าเส้นชัยในแต่ละสนาม โดยแต่ละสนามจะมีความโดดเด่นแตกต่างกัน หากวิ่งครบทุกสนามก็จะได้เป็นหนึ่งใน Six Star Finisher ที่จะขึ้นอยู่ในทำเนียบ Hall of Frame นอกจากจะได้รับเหรียญที่ระลึกอันเป็นสัญลักษณ์การวิ่งมาราธอนครบทั้ง 6 สนามแล้ว ยังจะได้รับ Six Star Certificate เพื่อรับรองความสามารถอย่างเป็นทางการอีกด้วย
รายการที่ 1 Tokyo Marathon
เป็นเวิลด์เมเจอร์สนามแรกของปี รายการนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 4 ของเดือนกุมภาพันธ์–วันอาทิตย์ที่หนึ่งของเดือนมีนาคมของทุกปี นักวิ่งจะได้สัมผัสประสบการณ์สุดประทับใจในการวิ่งผ่านย่านชินจูกุ สถานีรถไฟโตเกียว และวัดอาซากุสะ
รายการที่ 2 Boston Marathon
สนามที่เก่าแก่ที่สุดในบรรดาเวิลด์เมเจอร์สทั้งหมด แต่ก็เป็นรายการเดียวจาก 6 รายการที่ไม่นับเวลาที่ได้เป็นสถิติโลก เนื่องจากเส้นทางวิ่งที่ไม่ได้มาตรฐานของสหพันธ์กรีฑานานาชาติ รายการนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่สองของเดือนเมษายนของทุกปี ผู้สมัครจะต้องได้รับการรับรองสถิติการวิ่งที่อยู่ในเกณฑ์ตามช่วงอายุจึงจะสามารถเข้าร่วมได้
รายการที่ 3 London Marathon
รายการนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่สามของเดือนเมษายนของทุกปี โดยจะเปิด รับสมัครเพียง 5 วัน มีจุดหมายปลายทางที่พระราชวังบักกิงแฮม
รายการที่ 4 Berlin Marathon
สนามที่ถูกใช้เพื่อทำลายสถิติโลกมากที่สุด เนื่องจากสนามแข่งเป็นทางเรียบ สม่ำเสมอพื้นที่ที่อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลไม่มาก และมีอุณหภูมิเหมาะสมต่อการวิ่ง นักวิ่งจะได้วิ่งผ่านประตู Brandenburger ที่เคยเป็นประวัติศาสตร์การแบ่งแยกเยอรมันตะวันตกกับตะวันออก ได้วิ่งผ่านพระราชวัง Schloss Charlottenburg และศาลากลางเมือง Nuremberg รายการนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ของสัปดาห์ที่ 4 เดือนกันยายนของทุกปี
รายการที่ 5 Chicago Marathon
เป็นรายการวิ่งประเภท Road Race ที่มีคุณภาพดีรายการหนึ่งของโลก ทั้งเส้นทางการวิ่ง สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้บริการให้แก่นักวิ่งจากทั่วโลก และไม่จำกัดคุณสมบัติผู้เข้าร่วม แต่จะขึ้นอยู่กับการลงทะเบียนก่อน-หลัง รายการนี้จะจัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี
รายการที่ 6 New York City Marathon
เป็นสนามสุดท้ายของซีรีส์เวิลด์เมเจอร์ส รายการนี้จัดขึ้นในวันอาทิตย์แรกของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี โดยมีเส้นชัยที่สวนสาธารณะ Central Park
จากที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนขอยกตัวอย่างความพิเศษและน่าสนใจที่ทำให้สนามแข่งเวิลด์มาราธอนเมเจอร์สเป็นที่ใฝ่ฝันของเหล่านักวิ่งทั่วโลก 2 รายการ คือ โตเกียวมาราธอน และ ลอนดอนมาราธอน
การวิ่งสู่การสร้างวัฒนธรรมของโตเกียวมาราธอน
การที่ประเทศญี่ปุ่นได้เป็น 1 ใน 6 สนามเพียงแห่งเดียวของทวีปเอเชียในการแข่งขันเวิลด์เมเจอร์สมีความเป็นไปได้ว่ามาจากประวัติศาสตร์การวิ่งมาราธอนที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน การให้ความสำคัญกับการวิ่งมาราธอนและการเฟ้นหานักวิ่งตั้งแต่ระดับเยาวชนจนกลายเป็นวัฒนธรรมที่แสดงถึงอัตลักษณ์ของชาติ นักวิ่งญี่ปุ่นรุ่นใหม่ในปัจจุบันเริ่มมีความเร็วเทียบชั้นกับกลุ่มนักวิ่งระดับ Elite จากทวีปแอฟริกา ซึ่งนิตยสารเกี่ยวกับกิจกรรมกลางแจ้ง Outside ได้กล่าวถึงองค์ประกอบความเก่งกาจของนักวิ่งญี่ปุ่นในมุมมองที่เกี่ยวกับภูมิหลังของประเทศที่มีความสัมพันธ์กับการวิ่งมาราธอนมาเนิ่นนาน
สืบเนื่องจากการที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 สุขภาพและกีฬาได้กลายเป็นหัวข้อหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์หลังจากนั้นเป็นต้นมาทั้งการวิ่งมาราธอนและการวิ่งระยะไกล ทำให้ญี่ปุ่นมีงานวิ่งมาราธอนเก่าแก่ที่สืบทอดกันมาอย่างช้านาน รวมถึงงานวิ่งประเพณีที่เรียกว่า เอคิเดง (Ekiden) หรือวิ่งผลัดส่งผ้า ที่แสดงให้เห็นถึงความสามัคคี กิจกรรมวิ่งเอคิเดงถูกบันทึกไว้ครั้งแรกเมื่อปี 1917 จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลอง การครบรอบ 50 ปีการตั้งโตเกียวเป็นเมืองหลวง ต่อมาเอคิเดงได้รับการสานต่อจนกลายเป็นงานวิ่งระดับประเทศ เพราะมีส่วนผสมของการสร้างวัฒนธรรมและความสามัคคี หนึ่งในเอคิเดงที่มีชื่อเสียง ได้แก่ โตเกียว – ฮาโคเนะเอคิเดง (Tokyo – Hakone Ekiden) โดยแต่ละมหาวิทยาลัยในภูมิภาคคันโต 20 แห่งจะส่งนักวิ่งจำนวน 10 คนมาแข่งวิ่งผลัด ระยะทาง 217.9 กิโลเมตร ภายใน 2 วัน และการได้เป็นเจ้าภาพงานแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2020 (Tokyo Olympic 2020) ทำให้ญี่ปุ่นเตรียมพร้อมอย่างจริงจังเพื่อให้ได้นักกีฬาวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดของประเทศเป็นตัวแทนเข้าแข่งขัน อีกทั้งวัฒนธรรมการวิ่งของญี่ปุ่นยังสะท้อนผ่านการแข่งขันโตเกียวมาราธอนที่ผ่านมาอีกด้วย แสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นตั้งใจและให้ความสำคัญกับการวิ่งมาราธอนเป็นอย่างมาก ให้คุณค่าและมุ่งพัฒนาไปสู่ระดับสากล นับเป็นการสร้างแบรนด์ด้านการวิ่งของประเทศให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น
ลอนดอนมาราธอนกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน
ความสำคัญอย่างหนึ่งของการจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอน คือการระดมทุนเพื่อการกุศล ซึ่งลอนดอนมาราธอนเป็นรายการที่สร้างรายได้ให้กับการกุศลมากที่สุดในโลกแทบทุกปีที่ผ่านมา โดยในปี 2019 ลอนดอนมาราธอนได้สร้างรายได้จากการบริจาคเพื่อการกุศลมากกว่าหนึ่งพันล้านปอนด์จึงเกิดแคมเปญ ‘Thanks a Billion’ เพื่อแสดงความขอบคุณนักวิ่งทุกคนที่เข้าร่วม ยิ่งไปกว่านั้น ลอนดอนมาราธอนมีความต้องการอย่างมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำระดับโลกในการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมอย่างยั่งยืน มีความคิดริเริ่มที่จะนำนวัตกรรมใหม่มาทดลองใช้ในปี 2019 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและกำหนดมาตรฐานของกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงานและใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน ได้แก่
- ขวดน้ำพลาสติกบางส่วนที่ใช้ภายในงานจะถูกส่งไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่
- ลดจุดแจกน้ำดื่มจาก 26 จุดเหลือ 19 จุด และลดจำนวนขวดพลาสติกได้มากกว่า 215,000 ขวดเมื่อเทียบกับปี 2018
- นักวิ่ง 700 คนทดลองใช้เข็มขัดสำหรับใส่ขวดน้ำออกแบบพิเศษที่ทำจากวัสดุรีไซเคิลถึงร้อยละ 90
- ทดลองใช้แคปซูลบรรจุน้ำดื่มที่ทำจากสาหร่ายมากกว่า 30,000 แคปซูล
- ใช้แก้วน้ำย่อยสลายแทนขวดน้ำพลาสติกมากขึ้นหลังจากที่เคยทดลองใช้ไปแล้วในปี 2018
- กำหนดจุดทิ้งขวดน้ำให้นักวิ่งทราบเพื่อที่จะได้เก็บกวาดขวดน้ำที่จุดทิ้งและตามเส้นทางเพื่อทำไปรีไซเคิล
- นักวิ่ง 500 คนทดลองใช้เสื้อคลุมที่ออกเป็นแบบพิเศษเพื่อช่วยลดการผลิตกระเป๋าพลาสติกพกพา
เสน่ห์ที่เห็นได้ชัดของลอนดอนมาราธอนจึงเป็นการให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการรักษาสิ่งแวดล้อม ลดภาวะการทำลาย และสร้างคุณค่าจากความภาคภูมิใจของการได้เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมวิ่งรายการนี้
ความนิยมของการวิ่งมาราธอนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยเริ่มเล็งเห็นความสำคัญและประโยชน์ของการแข่งขันวิ่งมาราธอนจึงได้นำมาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักกีฬาให้เดินทางมาท่องเที่ยว เป็นการสร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักอีกรูปแบบหนึ่ง เช่นบุรีรัมย์มาราธอน เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2560 ได้รับการออกแบบการแข่งขันให้เป็นมาราธอนที่มีมาตรฐานสูงสุดโดยความร่วมมือของสมาคมกีฬากรีฑาแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สหพันธ์กรีฑาเอเชีย สหพันธ์กรีฑานานาชาติ และการกีฬาแห่งประเทศไทย เป็นการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยได้เป็นหนึ่งในสนามแข่งวิ่งมาราธอนที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก และเป็นจุดหมายของนักวิ่งมาราธอนจากทั่วโลกได้มาสัมผัสบรรยากาศสุดพิเศษครั้งหนึ่งในชีวิต นอกจากนี้ จากนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกีฬาที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวในประเทศและต่างประเทศให้มาเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก อย่างเช่น กีฬาวิ่งมาราธอนหรือไตรกีฬา จึงมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นเจ้าภาพหลักในการแข่งขันวิ่งมาราธอนรายการ Amazing Thailand Marathon Bangkok โดยจะดำเนินการร่วมกับไทยแลนด์ไตรลีก (Thailand Tri-league) เริ่มจัดการแข่งขันครั้งแรกในปี 2561 และจะจัดต่อเนื่องทุกปีในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ วัตถุประสงค์หลักของการแข่งขันคือเพื่อต้องการยกระดับให้ไทยเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวและการกีฬา หรือ Sport Tourism Destination อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม จากความนิยมนี้ทำให้องค์กรต่างๆ หันมาจัดงานวิ่งเพื่อหารายได้จนไม่ได้คำนึงถึงมาตรฐานว่ามีความปลอดภัยต่อนักวิ่งมากน้อยเพียงใด เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ กิจกรรมวิ่งบางงานสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนและผู้ใช้รถใช้ถนน ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการตรวจสอบและควบคุมการจัดกิจกรรมวิ่งไม่ให้เกิดความเสียหาย ต่อสถานที่และสิ่งแวดล้อมหรือเสี่ยงต่อการบาดเจ็บทั้งต่อบุคคลที่เข้าร่วมและผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีการจัดให้เป็นเส้นทางวิ่ง โดยจะต้องสร้างมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพทั้งเรื่องการจัดการงานและการอำนวยความสะดวก ไม่ควรมุ่งเน้นแค่การหารายได้เพียงอย่างเดียวแต่ควรที่จะต้องให้ประโยชน์กับส่วนรวม โดยต้องไม่สร้างความเดือดร้อนหรือผลกระทบให้แก่ใคร และคำนึงถึงความประทับใจที่ทุกฝ่ายจะได้รับ ซึ่งหากการจัดงาน มีเป้าหมาย มีการวางแผนและการจัดการที่ดี น่าจะช่วยสร้างความทรงจำ ที่ดีให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน จนเกิดการบอกต่อและทำให้เกิดแฟนคลับของงานได้อย่างแน่นอน
โดย ดารารัตน์ ภูธร