Digital Tourists: Faster l Cheaper l Cooler l Deeper

เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่แทรกซึมเข้าไปกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับทุกอุตสาหกรรมในโลกแบบที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว แหล่งท่องเที่ยวบางแห่งเลือกใช้ลักษณะภูมิศาสตร์ทางธรรมชาติอันสวยงามที่มีอยู่แล้วเป็นตัวดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยตัวของมันเอง ในขณะที่แหล่งท่องเที่ยวอีกหลายแห่งนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่หรือปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

จีนกับความอู้ฟู่ของแสงสีเสียงเสมือน
ถึงแม้จะมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติอันสวยงามมากมาย แต่จีนเป็นประเทศลำดับต้นๆ ของโลกที่มุ่งมั่นนำเทคโนโลยีเสมือนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น VR (Virtual Reality) AR (Augmented Reality) หรือ โฮโลแกรม มาใช้สร้างสีสันและอรรถรสให้กับการท่องเที่ยว ภายในช่วงเวลาสองปี นับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จีนได้ลงทุนไปกับการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้กับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไปแล้วมากถึง 17 ล้านหยวน

เมืองไห่หนิงของจีนเพิ่งจะจัดงานแสดงแสงสีโดยใช้เทคโนโลยีโฮโลแกรมแบบชุดใหญ่ไฟกะพริบฉายภาพนานาสัตว์ทั้งบกและน้ำขนาดยักษ์โลดแล่นแหวกว่ายอยู่กลางอากาศ แฟชั่นโชว์โฮโลแกรมไปจนถึงพระจันทร์โฮโลกราฟิกท่ามกลางสายตาของนักท่องเที่ยวกว่าเจ็ดแสนคนที่วนเวียนมาแวะชมตลอดทั้งสัปดาห์ สมัยก่อนนักท่องเที่ยวจะมองหาแต่แพ็กเกจทัวร์ราคาประหยัด แต่ตอนนี้ความต้องการเปลี่ยนไป ใครๆ ก็อยากได้การผจญภัยที่น่าตื่นเต้นขึ้น ซึ่งการนำเทคโนโลยีเสมือนจริงมาใช้นั้นช่วยกระตุ้นอุตสาหกรรมได้เป็นอย่างมาก

เทคโนโลยีเสมือนที่กำลังฮิตในประเทศจีน ไม่ได้มาในรูปแบบของการแสดงแสงสีโฮโลแกรมเท่านั้น แต่ถูกนำมาใช้
กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายกับธุรกิจในพื้นที่ด้วย ตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น อาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิ้งใช้เทคโนโลยีเออาร์หรือการซ้อนภาพเสมือนเข้ากับโลกความเป็นจริงสร้างเกมคล้ายโปโกมอนโกให้นักท่องเที่ยวไล่จับแมวเสมือนจริง จนไปถึงแหล่งช้อปปิ้งด้วยตัวเองไม่ต้องใช้คนออกมายืนป่าวประกาศเรียกลูกค้าเข้ามาในร้านอีกต่อไป ยุคสมัยใหม่เทคโนโลยีเสมือนสามารถดึงลูกค้าให้เดินมาถึงร้านได้ราวกับต้องมนตร์สะกด

หลังจากนี้อีกไม่นาน เราน่าจะได้เห็นประเทศจีนในฐานะของการเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีเสมือนมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาในงาน CES บริษัทออคคิวลัส ผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่เสมือนจริงที่อยู่ใต้การดูแลของเฟซบุ๊ก เพิ่งจะประกาศความร่วมมือกับเสี่ยวมี่ บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่อีกหนึ่งแห่งจากประเทศจีน ร่วมมือกันสร้างอุปกรณ์วีอาร์เพื่อใช้ในตลาดจีนโดยเฉพาะดังนั้นจะไม่น่าแปลกใจเลยที่อีกไม่นานการไปสัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงจะกลายเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวต้องทำควบคู่กับการไปชมพระราชวังต้องห้าม หรือถ่ายภาพมุมสูงลงมาจากกำแพงเมืองจีน

ออสเตรเลียจะไม่ทิ้งคุณกลางทะเล
Great Barrier Reef แนวปะการังยาวที่สุดในโลกที่ใครๆ ก็ใฝ่ฝันอยากจะได้ไปชมความงามด้วยตาของตัวเอง แต่หนึ่งในความกลัวของนักท่องเที่ยวที่มัวแต่ดื่มด่ำกับปะการังใต้ท้องทะเลเบื้องล่าง คือเมื่อเงยหน้ากลับขึ้นมาแล้วเหลือแต่ตัวเองลอยเคว้งคว้างอยู่คนเดียว เรือที่มาส่งพร้อมเพื่อนนักท่องเที่ยวด้วยกันก็หายลับไปแล้วจากสายตา ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดขึ้นจริงหลายครั้งและน่าเศร้าที่ผู้เคราะห์ร้ายบางคนไม่เคยถูกพบอีกเลย

เพื่อเป็นการรักษาความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวที่มาชมปะการังให้แน่นหนายิ่งขึ้น หน่วยงาน Tourist Onboard Management System หรือ TOMS ได้พัฒนาระบบใหม่โดยใช้เทคโนโลยีสแกนเส้นเลือดในฝ่ามือของบริษัทฟูจิตสึและนำมาทดสอบใช้งานเพื่อระบุตัวตนของนักท่องเที่ยวที่โดยสารบนเรือ

วิธีการทำงานของอุปกรณ์ชนิดนี้เริ่มจากการถ่ายภาพอินฟาเรดของโครงสร้างเส้นเลือดต่างๆในฝ่ามือเพื่อใช้ระบุตัวตนของเจ้าของฝ่ามือนั้นๆ โดยจะทำอย่างรวดเร็วและปลอดภัย นักท่องเที่ยวต้องสแกนฝ่ามือทุกครั้งที่ขึ้นและลงเรือ เมื่อชมปะการังเสร็จเจ้าหน้าที่ก็จะตรวจสอบข้อมูลการสแกนฝ่ามือทั้งหมดเพื่อดูว่านักท่องเที่ยวขึ้นเรือครบทุกคนแล้วหรือไม่

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เทคโนโลยีการสแกนฝ่ามือถูกนำมาใช้ในการระบุตัวตนแต่นับเป็นครั้งแรกที่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และเพื่อเป็นการป้องกันให้แน่นหนาขึ้นอีกชั้น TOMS จะใช้เทคโนโลยีสแกนฝ่ามือควบคู่กับเทคโนโลยีการรู้จำใบหน้าและการติดตามด้วยบลูทูธเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีนักท่องเที่ยวที่ต้องประสบชะตากรรมถูกทิ้งไว้ให้เคว้งคว้างกลางทะเลอีกต่อไป

สถานที่ท่องเที่ยวที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเราจะปลอดภัย ย่อมเป็นที่ที่เราอยากไปเป็นลำดับแรกๆ จริงไหม

เข้าคิวว่องไวด้วยใบหน้า
ความน่าเบื่อของการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวที่รู้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวด้วยกันอีกจำนวนมหาศาลยืนอออยู่หน้าทางเข้า คือการต้องต่อคิวนานแสนนาน ต่อคิวซื้อบัตรยังไม่พอ ยังต้องต่อคิวเพื่อเข้าไปข้างในอีกทำให้บริการใช้เงินเพื่อ ‘ลัดคิว’ กลายเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ยอดฮิตที่นักท่องเที่ยวยอมควักกระเป๋าซื้อ แต่หลังจากนี้ไป ปัญหาเรื่องนี้จะทุเลาลงด้วยการใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้า หรือ Facial Recognition เข้ามาช่วยระบายคนให้ไหลเข้าไปภายในสถานที่ได้เร็วขึ้น

Live Nation และ Ticketmaster จับมือร่วมกันลงทุนในบริษัทชื่อ Blink ที่จะพัฒนาระบบเพื่อใช้ระบุตัวตนของคนที่เดินผ่านประตูทางเข้า แทนการต้องยื่นตั๋วให้พนักงานตรวจ ระบบนี้จะใช้เทคโนโลยีรู้จำใบหน้าในการตรวจสอบว่าคนที่เดินผ่านประตูเข้ามาเป็นคนที่มีสิทธิ์จะเข้าไปข้างในหรือไม่ ซอฟต์แวร์จะจับใบหน้าคนเหล่านั้นโดยไม่จำเป็นต้องมองไปที่กล้องแต่อย่างใด จากนั้นก็จะนำข้อมูลไปจับคู่กับฐานข้อมูลของคนที่ซื้อบัตรเข้าสถานที่ ทั้งหมดนี้ทำได้รวดเร็วภายในเวลาเพียงแค่ครึ่งวินาทีเท่านั้น

ลองจินตนาการถึงการไป Colosseum, Disneyland, Burning Man,Glastonbury แบบที่ไม่ต้องเข้าคิวยาวๆ ดูสิคะ จะทำให้ทริปการเดินทางของเราราบรื่นขึ้นได้แค่ไหน

ศักยภาพไร้ขีดจำกัดของ Augmented Reality

การนำภาพเสมือนมาซ้อนเข้ากับโลกความเป็นจริงเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยทลายทุกขีดจำกัด ทำให้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงเกิดมีขึ้นจริงได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์เสริมอื่นใดนอกจากสมาร์ทโฟนที่ทุกคนเป็นเจ้าของอยู่แล้ว

AR ในโรงแรม

โรงแรมฮอลิเดย์อินน์ ลอนดอน เคนซิงตันฟอรัม เข้าใจหัวอกของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเพื่อดูการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ว่าใครๆ ก็ล้วนใฝ่ฝันอยากพบเจอตัวจริงของนักกีฬาที่ตัวเองชื่นชอบ แต่การจะได้ยืนอยู่ในระยะประชิดกับเซเลบฯ ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ใครๆ ก็ทำได้ เว้นแต่จะใช้เทคโนโลยี AR เข้ามาช่วย

แขกที่เข้าพักในโรงแรมในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกลอนดอน สามารถหยิบสมาร์ทดีไวซ์ของตัวเองขึ้นมาเปิดกล้องหลังและส่องไปยังจุดต่างๆ ของโรงแรม ทั้งบริเวณโต๊ะต้อนรับแขกภายใน ห้องพักหรือตามทางเดินเพื่อจะได้ยลโฉมนักกีฬาคนโปรดของตัวเองในอิริยาบถต่างๆ เช่น หากส่องสมาร์ทโฟนไปที่เตียงก็จะเห็น นิค แดมป์ซีย์นักกีฬาวินด์เซิร์ฟ กำลังก้มหยิบผ้าปูที่นอนขึ้นมาโต้คลื่นลม หรือจะท้าประลองฝีมือกับ วิลล์ เบย์ลีย์นักกีฬาเทเบิลเทนนิสพาราลิมปิกที่โต๊ะรับแขกของโรงแรมก็ได้

การใช้ AR เพื่อช่วยให้แขกที่เข้าพักได้ใกล้ชิดกับเซเลบริตี้ที่พวกเขาชื่นชอบราวกับกำลังเดินปะปนกันอยู่ภายในโรงแรม เป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่าสามารถนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้ได้แบบแตกต่างไม่เหมือนใคร

AR ในสถานที่ทั้งประวัติศาสตร์
อีกหนึ่งการใช้งานเออาร์ที่น่าจะนำมาใช้ในประเทศไทยตอนที่กระแสละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส ดังยิ่งกว่าพลุแตกจนคนแห่แหนไปเที่ยวอยุธยากันอย่างคับคั่ง ก็คือการใช้ภาพเสมือนซ้อนสิ่งก่อสร้างที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ผุกร่อนหรือสูญสลายไปแล้ว ให้กลับมาเหมือนใหม่ได้อีกครั้งราวกับตั้งอยู่ตรงหน้าจริงๆ

โอลิมเปียในประเทศกรีซถือเป็นโบราณสถานแห่งแรกของโลกที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ให้ยลได้ผ่านหน้าจอสมาร์ทโฟนด้วยเทคโนโลยี AR เช่นเดียวกับกำแพงเบอร์ลินที่นักท่องเที่ยวสามารถส่องโทรศัพท์ไป และมองเห็นกำแพงสามมิติเต็มรูปแบบชัดเจนเต็มตาราวกับไม่เคยทลายหายไปไหน

AR ในร้านอาหาร
หนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวพร้อมทุ่มเงินจ่ายไม่อั้น เพื่อแลกมาด้วยประสบการณ์ที่ตราตรึงใจมิรู้ลืม ก็คือการรับประทานอาหารร้านแบร์เบอร์เกอร์ (Bareburger) เป็นร้านอาหารร้านแรกที่นำเทคโนโลยี AR มาใช้เพื่อให้ลูกค้าสามารถส่องสมาร์ทโฟนเพื่อดูเบอร์เกอร์เสมือนจริงที่ตัวเองต้องการจะสั่งราวเบอร์เกอร์จานนั้นมาเสิร์ฟตรงหน้าจริงๆ

โดยภาพที่นำมาซ้อนนั้นเป็นภาพที่ถ่ายมาจากเบอร์เกอร์ของจริง ไม่ใช่ภาพกราฟิกที่สร้างขึ้นเอง ดังนั้นเบอร์เกอร์เสมือนที่เสิร์ฟอยู่ตรงหน้าจึงดูสมจริงราวกับจะเอื้อมมือไปหยิบขึ้นมากัดได้

ลองนึกถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปในประเทศที่ไม่คุ้นเคย เมนูอาหารที่เต็มพรืดไปด้วยตัวอักษรแบบไม่มีภาพประกอบ การจะอธิบายว่าเมนูอาหารแต่ละจานหน้าตาเป็นอย่างไร มีส่วนประกอบอะไรบ้าง ไม่ใช่ภารกิจที่ง่ายเลยและต่อให้พนักงานในร้านสามารถอธิบายได้ แต่ลูกค้าก็อาจจะนึกภาพตามไม่ออกอยู่ดี ด้วยเทคโนโลยี AR แบบนี้ลูกค้าต่างชาติจะสามารถเข้าใจได้ว่าอาหารไทยอย่าง สะตอผัดกุ้ง แกงส้มปลากด หน่อไม้ดอง แกงฮังเล หรือหลนปู หน้าตาเป็นอย่างไร น่าสั่งแค่ไหนและจะทำให้ลูกค้ากล้าสั่งเมนูอาหารใหม่ๆ มากขึ้น โดยไม่ต้องยึดติดอยู่กับตัวเลือกที่ปลอดภัยอย่าง ผัดไทย หรือต้มยำ เท่านั้นอีกต่อไป

เที่ยวตามคนท้องถิ่นด้วยแฮชแท็ก
การไปเที่ยวตามสถานที่ที่นักท่องเที่ยวกระแสหลักไม่รู้จัก ถือเป็นความสำเร็จขั้นสูงสุดของนักเดินทาง ยิ่งได้ซอกซอนเข้าไปตามตรอกซอกซอยที่มีเพชรในตมแอบซ่อนอยู่ ก็ยิ่งเป็นความรู้สึกภาคภูมิใจ การไปถ่ายรูปที่จัตุรัสเทียนอันเหมินโดยมีภาพของเหมาเจ๋อตุงเป็นแบ็กกราวนด์อยู่ไกลๆ ข้างหลังนั้นเป็นภาพที่หาดูได้ทั่วไปบนอินสตาแกรม แต่หากได้ไปถ่ายภาพกับจิตรกรรมฝาผนังในยุคเหมาฯ ที่แอบซ่อนอยู่ในหูท่ง หรือกินหม้อไฟในร้านเล็กๆที่เหมือนตั้งอยู่กลางเขาวงกตหลังสถานีรถไฟปักกิ่งน่าจะเป็นกิจกรรมที่แตกต่างและชวนให้อิ่มเอมไปอีกแสนนาน

แต่จะทำอย่างไรถึงจะเข้าถึงสถานที่เหล่านี้ได้

นิวยอร์กซิตี้เปิดตัวแคมเปญชื่อ ‘True York City’ ให้คนแบ่งปันสถานที่แอบซ่อนที่ไม่ควรพลาดไว้ภายใต้แฮชแท็ก #TrueYorkCity กระตุ้นให้นักท่องเที่ยวออกสำรวจเมือง นอกเหนือจากสถานที่ที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว เมื่อชมวิวมุมสูงบนยอดตึกเอ็มไพร์ สเตทเสร็จก็อาจจะไปดินเนอร์ต่อที่ร้านอาหารเกาหลีในโคเรียนทาวน์ซึ่งนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะไม่รู้จักแต่เป็นสถานที่ที่นิวยอร์กเกอร์ตัวจริงคุ้นเคยเป็นอย่างดี โดยคนท้องถิ่นสามารถร่วมแชร์จุดเล็กๆ ของเมืองที่อยากให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสผ่านทางแฮชแท็กดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะทำให้ประสบการณ์ที่ได้สัมผัสเมืองนั้นๆ ขยายออกรอบด้านมากขึ้น แต่ยังเป็นการกระจายความเจริญให้เกิดกับทุกพื้นที่ของเมืองด้วย

Tourism destinations and businesses around the world are using technology to create or enhance tourism attractions and activities.In China, Virtual Reality (VR) and Augmented Reality (AR) are used to create tourist spectacles such as hologram light and sound, PokemonGo-style games or to invite customers into retail shops. Digital technology can also be used to improve tourism safety and efficiency, such as the use of facial recognition to enter venues instead of tickets; to enhance customer experience in hotels, restaurants, or historical sites; or to promote tourism, such as the #TrueYorkCity campaign in New York.


เรียบเรียง
จิตต์สุภา ฉิน

Share This Story !

3.1 min read,Views: 700,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    กุมภาพันธ์ 11, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    กุมภาพันธ์ 11, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    กุมภาพันธ์ 11, 2025