ทำความรู้จัก ‘Digital Nomad’ ในประเทศไทย
งานวิจัย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท.
กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท. ได้จัดทำโครงการศึกษาพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่ม Digital Nomad ในประเทศไทย เพื่อศึกษาข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึกของนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่ม Digital Nomad ในประเทศไทย และปัจจัยหรือองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศไทย รวมถึงแนวโน้มพฤติกรรมการเดินทางในอนาคต
นิยามของ “Digital Nomad”
“Digital Nomad” ใช้เรียกกลุ่มคนยุคใหม่ที่แสวงหาอิสรภาพจากการทำงานที่ต้องเข้าสำนักงานเป็นประจำ สู่การทำงานผ่านการใช้เทคโนโลยีและมีอิสระในการเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อม ๆ กัน คำว่า Digital Nomad ถูกพบครั้งแรกในหนังสือชื่อ “Digital Nomad” ของ Tsugio Makimoto และ David Manners เมื่อปี 1997 โดยผู้เขียนได้คาดการณ์ถึงรูปแบบการทำงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งในยุคสมัยนั้นถือว่าแปลกไปจากการทำงานแบบปกติที่ผู้คนคุ้นเคยกัน ต่อมาในปี 2015 มีการกล่าวถึงวัฒนธรรมย่อยที่เรียกว่า “Lifehacking” ที่ผู้คนหันมาใช้ชีวิตโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตนเองมีอิสรภาพ มีสติทันต่อความคิด ควบคุมการกระทำของตนเองได้ ตัดสินใจเลือกตอบสนองสิ่งที่ดีที่สุดต่อตนเอง และพร้อมที่จะรับผิดชอบผลจากการตัดสินใจนั้น โดยใช้ศักยภาพของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นความหมายคล้ายคลึงกับ Digital Nomad
United Nations Development Programme (2020) ให้ความหมายของ Digital Nomad ว่าเป็นบุคคลที่ทำงานจากประเทศที่ไม่ใช่ประเทศของตนเอง ทำงานทางไกลโดยใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางโดยไม่มีถิ่นพำนักถาวร ทางการศึกษาด้านการท่องเที่ยว Digital Nomad หมายถึงบุคคลที่เดินทางไปยังเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกเพื่อพักผ่อนร่วมไปกับการทำงาน โดยไม่จำเป็นต้องประจำอยู่ในออฟฟิศแบบเดิม และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่ออิสรภาพจากข้อจำกัด
ความแตกต่างระหว่าง Digital Nomad กับกลุ่มใกล้เคียงอื่น ๆ
Digital Nomad แตกต่างจากนักท่องเที่ยวกลุ่มใกล้เคียงอื่น ๆ ใน 2 มิติ คือ ความคล่องตัวในการโยกย้าย (Mobility) และความสนใจในงาน (Work Focus) เช่น กลุ่มชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่นที่ไม่ใช่ประเทศต้นกำเนิด หรือ Expat จะมีความคล่องตัวในการโยกย้ายถิ่นพำนักต่ำ แต่มีความสนใจในงานสูง ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวกลุ่ม Backpacker มีความสนใจในการทำงานต่ำ แต่มีความคล่องตัวในการโยกย้ายถิ่นพำนักสูง ส่วนกลุ่ม Digital Nomad มีทั้งความคล่องตัวในการโยกย้ายถิ่นพำนักและมีความสนใจในงานสูง
ที่มา: ¹ United Nations Development Programme, 2020
² ListGlobally / The freedom trap: digital nomads and the use of disciplining practices to manage work/leisure boundaries, Dave Cook, 2022
³ นักท่องเที่ยวแบบสะพายเป้ (BACKPACKER) โดย ตวิษา ศรีสวัสดิ์ และ ชุลีพร ทวีศรี คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา
ความแตกต่างของ Digital Nomad และนักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น โดยการแบ่งจากมิติความคล่องตัวในการโยกย้าย (Mobility) และความสนใจในงาน (Work Focus)
ที่มา: The freedom trap: digital nomads and the use of disciplining practices to manage work/leisure boundaries, Dave Cook, 2022
ภาพรวมสถานการณ์ของ Digital Nomad
รายงานของ A Brother Abroad ปี 2022 ระบุว่า มี Digital Nomad ทั่วโลกประมาณ 35 ล้านคน และคาดการณ์ว่าในปี 2035 จะมี Digital Nomad ทั่วโลกกว่า 1 พันล้านคน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลก 787 พันล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี โดยสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มี Digital Nomad มากที่สุด ในปี 2022 มีจำนวนประมาณ 16.9 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 131 จากช่วงก่อนที่จะเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 เหตุผลของชาวอเมริกันที่เลือกใช้ชีวิตแบบ Digital Nomad คือสามารถเลือกเวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้ด้วยตนเอง และมีความยืดหยุ่นในการเลือกสถานที่ทำงาน ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Millennials โดย Digital Nomad จากสหรัฐอเมริกามีรายได้เฉลี่ย 117,959 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อปี ส่วนใหญ่ทำงานในสังกัดของบริษัทที่เกี่ยวกับสารสนเทศและเทคโนโลยี และงานด้าน Creative Service
แนวโน้มของ Digital Nomad
1.Perpetual Travellers
Perpetual Travellers หรือ นักท่องเที่ยวถาวร เป็นกลุ่มที่ใช้ชีวิตเสมือนนักท่องเที่ยวที่เดินทางย้ายถิ่นฐานและไม่กลับไปพำนักถาวร ณ ประเทศของตนเอง จะชอบพักระยะยาวในแต่ละเมือง และเมื่อถึงเวลาก็จะตัดสินใจย้ายไปยังเมืองหรือประเทศอื่น นักท่องเที่ยวบางกลุ่มพิจารณาถึงเรื่องถิ่นที่อยู่ทางภาษี (Tax Resident) เป็นองค์ประกอบด้วย ดังนั้นปัจจัยกระตุ้นในการย้ายประเทศจึงมักเป็นระยะเวลาที่ไม่เกินกำหนดของการเป็น Tax Resident
ที่มา: the-perpetualtraveler.com
2.นักท่องเที่ยวสองพาสปอร์ต ประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำและมีสินทรัพย์ที่ปลอดภัย
- จากการที่ระเบียบพำนักในต่างประเทศสามารถทำได้สะดวกขึ้น การเดินทางที่เข้าถึงพื้นที่ได้ทุกประเทศ และข้อกำหนดการมีสถานะผู้อยู่อาศัยถาวรของแต่ละประเทศเปิดโอกาสให้ชาวต่างชาติมากขึ้น Digital Nomad จึงมีโอกาสสมัครเป็นผู้อยู่อาศัยถาวร ณ ประเทศปลายทาง และมีพาสปอร์ตมากกว่า 1 ประเทศ
- Digital Nomad ที่มีรายได้จากการทำงานและพำนักเกินระยะเวลาที่ประเทศนั้น ๆ กำหนด จะถูกเรียกเก็บภาษีตามมูลค่าเงินรายได้ในอัตราที่รัฐกำหนด ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการเก็บภาษีคนกลุ่มนี้น้อยมาก Digital Nomad ส่วนใหญ่ไม่ได้เสียภาษี และมีแนวโน้มที่จะเลือกประเทศที่มีอัตราภาษีต่ำ (Tax Haven) รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลการจดทะเบียนสตาร์ตอัปกับประเทศที่ให้ประโยชน์ทางภาษีแก่ชาวต่างชาติ
- นอกจากนี้ Digital Nomad ยังคำนึงถึงการมีสินทรัพย์ที่ปลอดภัย (Asset Haven) โดยมองหาแหล่งลงทุน แหล่งฝากเงินหรือธนาคารในต่างประเทศที่ให้ประโยชน์ด้านกำไรส่วนต่างจากการลงทุน
ที่มา: Offshore Protection / remoters.net
3.Anywhere Workers
แรงงานที่สามารถทำงานได้ทุกที่ (Anywhere Workers) กลายเป็นกลุ่มแรงงานรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับทำงาน โดยไม่ได้ผูกติดอยู่กับสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ผู้ที่ชื่นชอบการทำงานทางไกล (Remote Workers) จะผันตัวไปเป็น Anywhere Workers โดยไม่กลับเข้าสู่วงจรของการทำงานประจำหรือสังกัดบริษัทอีกต่อไป พวกเขามองหาลักษณะงานที่สามารถสร้างรายได้เลี้ยงตนเองและทำงานจากที่ใดก็ได้ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต คนกลุ่มนี้มักรับงานที่ตนเองมีทักษะในหลาย ๆ ด้าน เพื่อให้มีรายได้สำหรับเดินทางท่องเที่ยว จึงมักทำงานมากกว่า 1 อาชีพ
ที่มา: Lonely Planet
5.Digital ‘Slomad’
กลุ่ม Digital Slomad ใช้ชีวิตไม่เร่งรีบ ยังคงทำงานออนไลน์และพำนักระยะยาว ต้องการมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน เข้าร่วมกิจกรรมของท้องถิ่นเพื่อซึมชับวัฒนธรรม เรียนรู้ภาษาท้องถิ่น อาหารท้องถิ่น สร้างความทรงจำที่ดีกับชุมชนที่ได้ไปเยือน นอกจากนี้ ยังตระหนักถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนของพื้นที่อีกด้วย
ที่มา: The rise of the digital ‘slomad’: Why travel is shifting down a gear, Zoey Goto, 2023
What is a ‘Digital Slomad’?, Camille Van Puymbroeck, 2022
ผลการศึกษาภาพรวม Digital Nomad ในประเทศไทย
จากผลการศึกษาโดยการใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่างนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลุ่ม Digital Nomad จำนวน 1,500 ราย และการสัมภาษณ์เชิงลึกกลุ่มตัวอย่างจำนวน 30 ราย ในพื้นที่เชียงใหม่ กรุงเทพมหานคร พัทยา/ชลบุรี ขอนแก่น นครราชสีมา เกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี และภูเก็ต พบว่า
- Digital Nomad ในประเทศไทย มีสัดส่วนเพศชายมากกว่าเพศหญิงและเพศหลากหลาย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม Millennials และ Gen Z อายุระหว่าง 21-40 ปี มีสถานะโสดมากที่สุด
- ชอบเดินทางคนเดียวและเดินทางกับเพื่อน ส่วนใหญ่จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี มีวัตถุประสงค์หลักคือการเดินทางท่องเที่ยวและทำงานทางไกล (Digital Nomad)
- ส่วนใหญ่เดินทางมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก และพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 1 เดือน โดยมักเดินทางเฉลี่ย 2-6 ทริปต่อปี
- เมืองที่มีระยะพำนักเฉลี่ยของ Digital Nomad มากที่สุด คือ เกาะพะงัน สุราษฎร์ธานี เฉลี่ย 206 วัน และระยะพำนักเฉลี่ยน้อยที่สุด คือ ภูเก็ต 58 วัน
- 5 อันดับกลุ่มอาชีพของ Digital Nomad ในประเทศไทย ได้แก่
1) งานพัฒนาซอฟต์แวร์และเว็บไซต์
2) งานการตลาด
3) งานบริการซอฟต์แวร์ (SaaS หรือ Software as a Service)
4) ผู้ประกอบการ/ผู้ก่อตั้ง (Startup) และ
5) นักวิเคราะห์ข้อมูล
- เดินทางมาจากกว่า 43 ประเทศทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มาจากทวีปยุโรป (รวมรัสเซีย) (ร้อยละ 63) ทวีปเอเชีย (ร้อยละ 19) ทวีปอเมริกา (ร้อยละ 15) และทวีปออสเตรเลีย (ร้อยละ 3) ทั้งนี้ ยังไม่พบ Digital Nomad ที่มีต้นทางจากทวีปแอฟริกา
- 10 อันดับประเทศต้นทางของ Digital Nomad ในประเทศไทย ได้แก่ รัสเซีย เยอรมนี สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร อิสราเอล ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ จีน ออสเตรเลีย และโปแลนด์ (ตามลำดับ)
- Digital Nomad ในประเทศไทยเป็นกลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง โดยร้อยละ 59.6 มีช่วงรายได้ระหว่าง 30,000-49,999 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (1,020,000-1,700,000 บาท) ช่วงรายได้ที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือช่วงรายได้ 40,000-49,999 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ (1,360,000-1,700,000 บาท)
- จุดหมายปลายทางยอดนิยมในประเทศไทย ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะพะงัน พัทยา เชียงใหม่ และกระบี่
- คู่แข่งจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวของ Digital Nomad ประเทศไทย สำหรับจุดหมายระยะใกล้แถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ เวียดนาม ลาว และมาเลเซีย แถบเอเชียตะวันออก ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ส่วนจุดหมายระยะไกลแถบเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ ได้แก่ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ดูไบ) และนอกทวีปเอเชีย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
- เลือกพักโรงแรมมากที่สุด และนิยมเช่ารถจักรยานยนต์ขับขี่ด้วยตนเอง ชื่นชอบอาหารประเภท Street Food กิจกรรมยอดนิยม ได้แก่ กิจกรรมทางทะเลและชายหาด พบปะคนท้องถิ่น ปาร์ตี้สังสรรค์ ประชุมธุรกิจ ฟิตเนสและกีฬา
- ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของ Digital Nomad ในประเทศไทย อยู่ที่ประมาณ 65,034 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (อาหาร การเดินทาง และกิจกรรม) 33,310 บาท และค่าใช้จ่ายสำหรับที่พัก 31,724 บาท
- เชื่อถือแหล่งข้อมูลจากประสบการณ์จริงของผู้ที่เคยไปท่องเที่ยว ทั้งจากช่องทางสื่อสารออนไลน์และออฟไลน์ โดย 2 อันดับแรกคือ คำแนะนำจากเพื่อน และบล็อกเกอร์
- ตัวอย่างเว็บไซต์ยอดนิยม อาทิ nomadlist.com / nomadgirl.co / upwork.com / fiverr.com และ remotehub.com และชุมชนกลุ่ม Facebook ยอดนิยม เช่น Digital Nomad Jobs / Digital Nomad around the world / Digital Nomad Thailand เป็นต้น
- Digital Nomad ในประเทศไทยมีแนวโน้มพฤติกรรมการกลับมาเที่ยวซ้ำสูง และมีแนวโน้มที่จะกลับมาในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังมีค่าเฉลี่ยสูงในการกลับมายังเมืองเดิม และเพิ่มระยะเวลาพำนักในประเทศไทย
- ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกประเทศไทย 5 อันดับ ได้แก่ ชื่อเสียงประเทศไทยในการเป็นจุดหมายปลายทาง Digital Nomad การให้การต้อนรับและบริการของคนไทย ความเป็นมิตรกับกลุ่ม LGBTQ+ ความเป็นเอกลักษณ์ของกิจกรรมท่องเที่ยว และความหลากหลายของอาหารและเครื่องดื่ม
หมายเหตุ: ค่าเฉลี่ยเต็ม 5