Digital Nomad 2021 เมื่องานกับเที่ยวเป็นเรื่องเดียวกัน

งานวิจัย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว (ททท.)

 

  • ทั่วโลกจำต้องใช้การทำงานแบบ Remote Work เพื่อลดความเสี่ยงจากโรคระบาด หลายคนจึงหาโอกาสเลือกไปทำงานในที่ที่ ‘น่าเที่ยว’ เสียเลย
  • ทำความรู้จักกับ Digital Nomad ที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

 

เมื่อ COVID-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไป อะไร ๆ ก็ไม่เหมือนเดิม แม้จะผ่านมานานกว่า 1 ปีแล้ว ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์โรคระบาด แต่สถานการณ์ทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลกระทบต่อการเดินทางและการฟื้นฟูของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่แน่นอนคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนอย่างทั่วถึง ไม่เพียงเฉพาะการเดินทางท่องเที่ยว แต่รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน การจับจ่ายใช้สอยรวมทั้งรูปแบบของการทำงาน

 

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทั้งหลาย ยังมีโอกาสสำหรับธุรกิจที่สามารถมองเห็นแนวโน้มของผู้บริโภคในอนาคต และสามารถปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมและความคาดหวังใหม่ ๆ เหล่านั้นได้ 

 

เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว (TATIC) ททท. ได้เชิญคุณศิเวก สัจเดว ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Mindstree มาบรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับ Digital Nomad ซึ่งเป็นกลุ่มศักยภาพในการส่งเสริมการเดินทางมายังประเทศไทยเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายลงและมีการเปิดประเทศ สรุปเนื้อหาการบรรยายและข้อมูลที่น่าสนใจจากแหล่งต่าง ๆ ดังนี้

 

Market Landscape

 

ภายหลังเหตุการณ์โรค COVID-19 ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างประเทศทั่วโลกหยุดชะงักลงอย่างกระทันหัน ในปี 2021 สถานการณ์ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายลง นำไปสู่การผ่อนปรนมาตรการห้ามเดินทาง แต่หนทางสู่การกลับไปสู่ภาวะปกติยังคงเริ่มอย่างช้า ๆ และระมัดระวัง ผู้คนเริ่มจากการเดินทางใกล้บ้านก่อนแล้วค่อยขยับขยายไปที่ไกล ๆ การวางแผนการเดินทางสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ ผู้คนยังมีแนวโน้มที่จะลดความถี่แต่เพิ่มระยะเวลาในการเดินทางแต่ละครั้งมากขึ้น

COVID-19 ทำให้การทำงานแบบ Remote Work เพิ่มขึ้นทั่วโลก จากการใช้นโยบาย Work From Home เพื่อป้องกันแพร่ระบาดของโรค ซึ่งทำให้หลายบริษัทสามารถปรับรูปแบบการทำงานไปสู่การเป็น Remote Work หรือในลักษณะ Hybrid ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว เมื่อสามารถเดินทางได้แล้ว พนักงานและผู้ประกอบการที่สามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work From Anywhere) กลุ่มนี้จำนวนไม่น้อยก็เริ่มมองหาสถานที่ทำงานที่ ‘น่าเที่ยว’ ด้วยเช่นกัน โดยมีแหล่งท่องเที่ยวในต่างประเทศที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่สะดวกสบาย แต่ค่าครองชีพไม่สูงเมื่อเทียบกับศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกอย่างมหานครนิวยอร์กหรือโตเกียว เป็นเป้าหมายหลัก

และกลุ่มนี้ก็คือ Digital Nomad เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในอนาคต

 

Digital Nomad คือใคร

 

Digital Nomad คือผู้ที่ทำงานอิสระพร้อมกับเดินทางท่องเที่ยวไปตามสถานที่ต่าง ๆ โดยมีทำงานเป็นร้านกาแฟหรือ Co-working Space โดยใช้อุปกรณ์สามารถที่เชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตไร้สายในการทำงานเป็นหลัก 

Digital Nomad ต่างจาก Freelance ตรงที่กลุ่มนี้เป็นนักเดินทาง คือมีการเดินทางท่องเที่ยวไปพร้อมกับการทำงานผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีความต่างจาก Expatriate ในหลายจุด อาทิ ลักษณะงานที่เป็นอิสระ ไม่ยึดติดกับพื้นที่สำนักงาน ทำให้กลุ่ม Digital Nomad มีลักษณะคล้ายไปกับนักท่องเที่ยวมากกว่า

 

ขนาดของตลาดกลุ่ม Digital Nomad

ที่มา: MBO Partners 2020 State of Independence Research

 

จำนวนของ Digital Nomad มีแนวโน้มจะสูงขึ้น โดยในปี 2020 มี Digital Nomad ชาวอเมริกันเพิ่มขึ้นเป็น 10.9 ล้านคน จาก 7.3 ล้านในปี 2019 นอกจากนี้ ในปี 2020 มีชาวอเมริกันที่กำลังวางแผนจะเป็น Digital Nomad ในอนาคตถึง 19 ล้านคน

 

ช่วงอายุของ Digital Nomad

 

Digital Nomad มีลักษณะอย่างไร

 

 

ที่มา: Work and Wander: Meet Today’s Digital Nomads โดย Adventure Travel Trade Association

 

ตัวอย่างอาชีพของ Digital Nomad

 

 

Digital Nomad ต้องการอะไรในแหล่งท่องเที่ยว

 

 

จากการศึกษากลุ่ม Digital Nomad ในประเทศอเมริกา พบว่าสิ่งที่กลุ่มนี้มองหามากที่สุดในแหล่งท่องเที่ยวคือ อินเทอร์เน็ตที่เสถียร (Reliable Internet Service) ตามด้วยอากาศที่ดี (Good Weather) และค่าครองชีพที่ต่ำ (Low Cost of Living) การงดเว้นวีซ่าหรือมาตรการวีซ่าที่ไม่ยุ่งยาก (Easy Visa or None Needed) และความน่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยว (Destination Attraction)

 

สำหรับที่พัก สิ่งที่ต้องการนอกเหนือไปจากอินเทอร์เน็ตที่เสถียร (Reliable Internet Service) คือ สถานที่ที่เอื้อต่อการทำงาน (Suitable Workplace) ราคา (Price) ความใกล้เคียงกับแหล่งท่องเที่ยว (Close to Attraction) และสถานที่เงียบ ๆ ที่สามารถประชุมงานได้ (Quiet Room for Meeting)

 

และพวกเขากังวลเรื่องอะไรบ้าง

 

จากการสำรวจ Social Listening ใน Forum ที่เป็นที่นิยมของชุมชน Digital Nomad โดยบริษัท Mindtree พบว่าสิ่งที่กลุ่ม Digital Nomad กังวลเป็นอันดับต้น ๆ คือ การยื่นขอ Visa และใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) ภาษีท้องถิ่น และความขัดแย้งทางกฎหมายต่าง ๆ พฤติกรรมระหว่างการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่ม Digital Nomad

 

‘Live Like a Local’ คือคำอธิบายพฤติกรรมของชาว Digital Nomad โดยรวม ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะนิยมใช้จ่ายในร้านค้าท้องถิ่น รับประทานอาหารในร้านท้องถิ่น พักอาศัยในโรงแรมท้องถิ่นมากกว่าโรงแรมต่างชาติ ซึ่งแม้ว่าพวกเขาจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนทั่วไป แต่ค่าใช้จ่ายเหล่านั้นมักจะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการในพื้นที่มากกว่า

 

ช่องทางในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย

 

‘Community’ คือ Keyword สำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ Digital Nomad มักจะดูการรีวิวและจัดลำดับของสถานที่ที่ Digital Nomad คนอื่น ๆ ได้เดินทางไปแล้งจากชุมชนออนไลน์

 

เรื่องจากกลุ่ม Digital Nomad จะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันผ่านออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ ตลอดเวลา การบอกเล่าแบบปากต่อปาก (Word-of-Mouth) จึงเป็นแนวทางสื่อสารที่สำคัญ นอกจากนี้ การร่วมมือกับ Influencer ที่กลุ่ม Digital Nomad ติดตาม จะทำให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและโน้มน้าวให้เกิดการเดือนทางเข้ามายังพื้นที่ได้มากขึ้นประเทศไทยในสายตาของ Digital Nomad

 

ประเทศไทยมีโอกาสสูงในการดึงดูดกลุ่ม Digital Nomad

 

 

 ให้เดินทางเข้าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาด COVID-19 คลี่คลายลง เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วในกลุ่ม Community ของ Digital Nomad โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับกลุ่มเป้าหมาย เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวที่สวยงามและกิจกรรมที่น่าสนใจ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทะเล รวมทั้ง Wellness/Spiritual Tourism ที่เป็นที่สนใจของ Digital Nomad บางกลุ่ม

 

ในการรองรับกลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจำเป็นที่จะต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ โดยเพิ่มสินค้าและบริการที่กลุ่มเป้าหมายต้องการ อาทิ พื้นที่สำหรับการทำงาน หรือ Co-Working Space หรือการปรับบริการที่พักเป็นการให้เช่าในระยะยาว (Long-Term Rental) ในลักษณะคล้ายกับ Serviced Apartment หรือแม้แต่การปรับเมนูอาหารให้ตรงกับความต้องการของลูกค้ากลุ่มนี้

การศึกษาการดำเนินงานของคู่แข่ง

 

ในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ต้องการส่งเสริมให้กลุ่ม Digital Nomad เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งได้ออกมาตรการในการส่งเสริมอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม อาทิ การให้ Digital Nomad Visa ที่ให้นักท่องเที่ยวสามารถพำนักระยะยาวในพื้นที่ในขณะที่ทำงานแบบออนไลน์ไปด้วยได้โดยไม่ต้องผ่านขั้นตอนการขอ Work Permit แบบปกติ รวมทั้งการสร้างช่องทางเพื่อให้ข้อมูลและความช่วยเหลือให้กับนักท่องเที่ยว

 

กรณีศึกษาที่น่าสนใจ คือ มาเดอิรา ประเทศโปรตุเกส ซึ่งได้สร้างเว็บไซต์ Digital Nomads Madeira Islands เพื่อให้ข้อมูลสำหรับ Digital Nomad โดยเฉพาะ รวมทั้งเป็นการสร้างแพล็ตฟอร์มให้กับชุมชน Digital Nomad ในพื้นที่ไปในตัว เนื้อหาเว็ปไซต์จะพูดถึง Service ต่าง ๆ ที่กลุ่มเป้าหมายให้ความสำคัญ เช่น ที่พัก (Accommodation) ที่ทำงาน (Working Space) แหล่งท่องเที่ยว (Location) โดยผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเพื่อรับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งขอคำแนะนำจากคนในพื้นที่ที่เป็น Host ได้

 

อีกกรณีที่น่าสนใจคือ ประเทศเอสโตเนีย ที่ออกมาตรการ Digital Nomad Visa ให้กับ E-Resident หรือผู้ที่ลงทะเบียนเป็นพลเมืองดิจิทัลของเอสโตเนีย ซึ่งมาตรการภาครัฐที่เอื้ออำนวยความสะดวกให้กับกลุ่ม Digital Nomad ทั้งในการเข้าเมือง ภาษีท้องถิ่น หรือการให้สิทธิประโยชน์สำหรับธุรกิจบางประเภท เช่น Tech Startup เป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักท่องเที่ยวกลุ่ม Digital Nomad ในอนาคต

Share This Story !

4.6 min read,Views: 2745,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 23, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 23, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 23, 2024