
จาก ‘ผู้เยี่ยมชม’ สู่ ‘ผู้ปกป้อง’ นักท่องเที่ยวกับบทบาทใหม่ใส่ใจประเด็นสิ่งแวดล้อม
เมื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจและพัฒนาเมือง ความพยายามสร้าง “สิ่งใหม่” อาจเป็นดาบสองคมที่ “ลดทอนความงาม” ของธรรมชาติ และ “เปลี่ยนแปลง” วิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในพื้นที่ ซึ่งอยู่ร่วมกันอย่างพึ่งพาอาศัยมายาวนาน เสน่ห์ของการท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติมีแนวโน้มจางหายไป การพัฒนาเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ “จุดตรงกลาง” ที่พอดีอยู่ตรงไหนกันแน่
#Saveอมก๋อย
ความพยายามต่อต้านการก่อสร้างเหมืองถ่านหินใน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เนื่องจากความไม่ชอบมาพากลหลายจุด เริ่มต้นตั้งแต่ปี 1987 นายทุนได้เริ่มติดต่อซื้อที่ดินจากชาวบ้านในหมู่บ้านอะเบอะดิน ปี 2000 บริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ยื่นขอสัมปทานทำเหมืองถ่านหินเพื่อส่งให้กับปูนซีเมนต์ไทย แม้ปี 1975 อมก๋อยได้ถูกประกาศเขตป่าสวนแห่งชาติแล้ว
การประเมินและจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ของโครงการผ่านการเห็นชอบจากทางการ โดยมีข้อสังเกตว่ามีที่มาไม่โปร่งใส เช่น มีการปลอมลายเซ็นชาวบ้าน รายงานไม่ตรงกับความจริง แม้มีการทำ EIA ใหม่เมื่อปี 2011 แต่ทางการยังคงเห็นชอบเช่นเดิม
เกิดเป็นกระแสคัดค้านจากคนในพื้นที่ ที่กังวลเรื่องมลพิษทางน้ำและอากาศ ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้คน ระบบนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิมจึงอาจหายไปพร้อมกับถ่านหินที่ถูกขุด
#Saveป่าชายเลนลุ่มน้ำโขง
บริเวณลุ่มแม่น้ำโขงมีแหล่งระบบนิเวศป่าชายเลนที่สำคัญของเอเชียอาคเนย์ ซึ่งปัจจุบันกำลังน่าเป็นห่วง เนื่องจากต้นไม้ราว 1 ใน 3 ถูกตัดโค่นลงและคาดว่าจะหายไปภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากการขยายของชุมชนได้เริ่มเข้าไปรบกวนป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำโขง ผ่านการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร เช่น ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพาราและการตัดไม้เพื่อไปทำธุรกิจฟืน เมื่อป่าชายเลนเริ่มลดลงเท่ากับว่าแนวป้องกันน้ำท่วม พายุ หรือสึนามิ รวมถึงสถานอนุบาลของสัตว์น้ำประมงชายฝั่งกำลังหายไป
ปัญหาป่าชายเลนลุ่มแม่น้ำโขงกระจายไปทั้งประเทศเมียนมาร์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา รวมถึงไทย หากยังคงมีการรุกล้ำทำลายอย่างต่อเนื่องต่อไป ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศคงไม่อาจกลับมาดีได้ดังเดิม และเป็นผลร้ายต่อโลกในช่วงเวลาที่เริ่มเห็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น
#Saveจะนะ
โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จ.สงขลา ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีปี 2019 ให้เป็นเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจแห่งที่ 4 พร้อมสร้างนิคมอุตสาหกรรมบนพื้นที่ 16,753 ไร่ ซึ่งครอบคลุมบริเวณชายหาดและทะเลทั้งที่ไม่มีการพูดคุยกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาก่อน ทำให้เกิดความกังวลต่อสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนในพื้นที่
ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือ พื้นที่ชายหาด ทะเล และทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย เกิดปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง มลพิษจากอุตสาหกรรม การสูญเสียแหล่งอาหารและอาชีพประมง ความคุ้มค่าต่อการเปลี่ยนธรรมชาติเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ
#Saveหาดม่วงงาม
ประเทศไทยเผชิญกับปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมาเป็นเวลานาน จากการกระทำของมนุษย์และกระบวนการธรรมชาติ จึงเกิดนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา คือ การสร้างกำแพงกันคลื่น เริ่มลงมือสร้างในพื้นที่ตลอดแนวชายฝั่งของไทย ตั้งแต่ปี 2014 ทว่า ยังคงเป็นที่ถกเถียงว่าสิ่งปลูกสร้างนี้ปกป้องหรือทำลายธรรมชาติมากกว่ากัน และจะมีผลกระทบต่อวิถีชีวิตเก่าก่อนของคนในแต่ละพื้นที่หรือไม่
อย่างไรก็ดี บางพื้นที่ ชาวบ้านไม่เห็นด้วยต่อการสร้างกำแพงกันคลื่น เช่น ชาวบ้านในพื้นที่หาดม่วงงาม จ.สงขลา มีความเห็นว่าอาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และไม่จำเป็นที่จะเปลี่ยนหาดทรายให้มีแนวกำแพงขึ้นมารบกวนทัศนียภาพ เนื่องจากหาดม่วงงามมีอัตราการกัดเซาะของคลื่นต่ำมาก หลังผ่านฤดูมรสุมชายหาดค่อย ๆ คืนสภาพกลับสู่ปกติได้เองตามธรรมชาติ
#Saveอ่าวบ้านดอน
อ่าวบ้านดอนเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำนอกเขตอนุรักษ์ที่สำคัญของ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ประสบปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทะเลสาธารณะ มีการจับจองพื้นที่เพื่อทำประมงส่วนตัว พบว่ามีผู้ประกอบการอ้างสิทธิในการครอบครองพื้นที่อ่าวโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย และลักลอบสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำ
แม้ชาวบ้านสามารถเข้าไปทำประมงได้อย่างถูกต้อง เพราะอ่าวบ้านดอนได้รับอนุญาตให้เป็นเขตพื้นที่ประมงชายฝั่ง แต่ผู้มีอิทธิพลกลับผูกขาดสิทธิในพื้นที่ทะเล และการบังคับใช้กฏหมายยังไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ชาวบ้านถูกเอาเปรียบ และการใช้พื้นที่ทะเลเพื่อประกอบอาชีพไม่เป็นไปตามหลักการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่งผลให้ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลรอบอ่าวเสื่อมโทรมลงจนน่าเป็นห่วง
การพัฒนาเศรษฐกิจและพัฒนาเมือง เช่น การสร้างโรงงาน การสร้างเขื่อนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ควรมีหลักการตั้งต้นจาก “การพัฒนาที่ยั่งยืน” เพื่อประสานประโยชน์ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นใหม่กับการคงไว้ของธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิม เพราะความสูญเสียทางธรรมชาติไม่อาจเทียบเป็นตัวเงินได้อย่างแน่นอน
สำหรับภาครัฐและเจ้าหน้าที่ ควรแสดงออกอย่างจริงใจต่อการออกนโยบายการพัฒนา และรับฟังเสียงของประชาชน (ประชาพิจารณ์) เพื่อเกิดการยอมรับและสร้างความเข้าใจให้ไปในทิศทางเดียวกัน
เราในฐานะผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยว จึงมีบทบาทใหม่ นอกเหนือจาก ผู้เยี่ยมชมและส่งเสริมธุรกิจ คือ ผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนและรักษาความสมบูรณ์ของธรรมชาติ โดยให้ความสำคัญต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อม สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และยั่งยืน เพื่อรักษาเสน่ห์ของการท่องเที่ยวในแหล่งธรรมชาติของประเทศไทยไว้ตลอดไป
ติดตามบทความน่าสนใจอื่น ๆ ได้ที่ Groove on Green ไปกับ TAT Review Magazine เล่มใหม่! Vol.7 No.4 October – December คลิกอ่านเลยที่: https://bit.ly/3zRItin