Vintage Travel Trend 2021 ย้อนเวลาพักใจ เพราะความเก่าหาที่ไหนไม่ได้อีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมาความวินเทจเป็นจุดขายนึงของธุรกิจท่องเที่ยวย่านเมืองเก่าถูกอนุรักษ์และดัดแปลงให้เป็นแลนด์มาร์กสำคัญ ร้านอาหารเจ้าเก่ามีคนต่อแถวยาวเหยียด กระทั่งโรงแรมที่พักก็มักนำของเก่าสะสมมาตกแต่งให้เป็นที่สะดุดตานักเดินทาง ด้วยธรรมชาติของคนที่มีความรู้สึกโหยหาอดีต (Nostalgia) สไตล์ย้อนยุคจึงยังคงอยู่ในปัจจุบัน
โดยเฉพาะเมื่อเกิด COVID-19 ผู้คนตกอยู่ในความไม่แน่นอน การย้อนไปหาวันวานที่แสนสงบ จึงกลายเป็นจุดพักใจที่คนรุ่นใหม่มองหา เพื่อปลีกตัวออกจากปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่ย่ำแย่
ไม่ใช่แค่เรื่องของมูลค่าที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ความเก่าแต่เก๋ายังมอบความแตกต่างและเอกลักษณ์ให้กับผู้บริโภคสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในการแสดงตัวตนผ่านสิ่งต่าง ๆ
เดินทางแบบ 90 ไปกับ Skate Culture
สเก็ตบอร์ดของเล่นยอดฮิตจากปี 1965 กลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง วัยรุ่นวัยใหญ่พากันฝึกสกิลการเคลื่อนไหวบนกระดานบอร์ด งานวิจัยโดย Seifert และ Hedderson พบว่า ในทางจิตวิทยา การเล่นสเก็ตบอร์ดคือการเอาชนะความท้าทายใหม่ ๆ กล้าที่จะล้ม กล้าที่จะลุก ฝึกฝนจนควบคุมการเคลื่อนไหวได้ ทำให้รู้สึกถึงความสำเร็จและอิสรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนโหยหาจากการต้องกักตัวอยู่บ้าน
แฟชั่นย้อนยุค มูลค่าที่คนตามหา
คนซื้อเสื้อผ้าวินเทจ เพราะพวกเขาได้ความ Rare และ Original หรือมูลค่าที่สะสมจากวันเวลา ต่างจากเสื้อผ้า Fast Fashion ที่ใส่แล้วซ้ำกับคนเป็นโหล ปัจจุบันก็มีแบรนด์ระดับโลกกลับมาผลิตกระเป๋าทรงวินเทจ เช่น กระเป๋าสะพาย Celine Vintage Macadam กระเป๋าสะพาย Gucci 1955 Horsebit แสดงให้เห็นมูลค่าของความเก่าที่ยังคงอยู่
COVID-19 ทำให้คนนึกถึงผลกระทบของการจับจ่ายใช้สอยต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ผู้บริโภคให้ค่าที่ตัวสินค้าโดยตรง อย่างโปรเจกต์ Clothes Swap Party หรือการนำเอาเสื้อผ้าที่เราไม่ใส่แล้วมาแลกกับของคนอื่น เพื่อให้เราตระหนักว่าแฟชั่นไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ พร้อมทั้งช่วยลดขยะไปในตัว
สถานที่-คาเฟ่ เสพกลิ่นอายของยุคเก่า
บ้านในยุคเก่าจะมีรายละเอียดที่ต่างจากบ้านสมัยใหม่ให้เห็น ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้าง หรือวัตถุที่ใช้ทำ อย่างอาคารในย่านเมืองเก่าของจังหวัดภูเก็ต ก็ถูกสร้างแบบชิโน-โปรตุกิส (Sino-Portuguese) สถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่ผสมผสานระหว่างจีนกับตะวันตก
เมื่อ COVID-19 ทำให้เราออกสำรวจความแปลกใหม่จากต่างประเทศไม่ได้ สถานที่วินเทจย้อนยุคในไทยจึงกลายเป็นหมุดหมายหลักแทน เช่น อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา เป็นต้น เรียกได้ว่าทุกคนต่างมองหาที่เที่ยวในจังหวัดตัวเอง
บันทึกความทรงจำ ผ่านเสน่ห์กล้องฟิล์ม
ไม่กี่ปีที่ผ่านมา กระแสกล้องฟิล์มเฟื่องฟูอย่างเห็นได้ชัด เหล่าคนดังต่างลงภาพจากกล้องฟิล์มในอินสตาแกรมตัวเอง ช่างกล้องหลายคนหันมาจับกล้องฟิล์มคู่ไปกับกล้องดิจิทัล
เสน่ห์ของกล้องฟิล์มอยู่ที่ขั้นตอนการใช้งาน ตั้งแต่เลือกฟิล์มเอง ดูแสงเอง แถมพอกดชัตเตอร์แล้ว ก็ไม่รู้จะได้ภาพออกมาแบบไหน แต่ผู้คนกลับพอใจและตื่นเต้นที่ได้รอ บางทีเราอาจมองเห็นคุณค่าของความช้า และให้ความสำคัญกับการบันทึกโมเมนต์มากขึ้น กลายเป็นว่าภาพสีซีดมัว ๆ กลับน่าค้นหากว่าภาพชัดแบบ HD
Mood & Tone ของรูปที่ไม่เหมือนใคร เป็นอีกสิ่งที่ดึงดูดให้คนหันมาเล่นกล้องฟิล์มจำนวนมาก ขนาดบริษัทฟูจิฟิล์มนำเข้าฟิล์มถึง 10,000 ม้วนต่อเดือน ก็ยังไม่พอต่อความต้องการของตลาดในไทย ยังไม่นับราคากล้องฟิล์มและฟิล์มที่สูงขึ้นตามความต้องการอีก นอกจากนั้นฟูจิฟิล์มยังพัฒนา ระบบการจำลองฟิล์ม (Film Simulation) ไว้ในกล้องดิจิทัลเพื่อเอาใจลูกค้าอีกด้วย
รถบ้านวินเทจ แคมป์ส่วนตัวสุดฮิต
ขณะที่โรงแรมส่วนใหญ่ซบเซา ที่พักสไตล์แคมป์ปิ้งกลับมาแรง โดยเฉพาะในโซนภาคเหนือและพื้นที่ติดภูเขา มีที่พักเปิดใหม่ในรูปแบบรถบ้านส่วนตัวให้เราได้ผ่อนคลายใกล้ชิดธรรมชาติ เข้ากับยุค Social Distancing
ไอเดียสุดสร้างสรรค์นี้ เกิดจากการดัดแปลงรถตู้คันเก่าให้เป็นห้องพักขนาดกะทัดรัดน่านอน
ช่วง COVID-19 ชาวออสเตรเลียออกมาตั้งแคมป์รถตู้วินเทจกันมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงวันหยุด (Caravan Holidays) ความต้องการเช่ารถบ้านจะสูงเป็นพิเศษ บางคันสามารถขายได้ในราคา 20,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือหกแสนกว่าบาท Justin Hales CEO ของ Camplify
อย่างไรก็ตามธุรกิจท่องเที่ยวที่คิดจะนำความวินเทจมาเป็นจุดขาย ก็ต้องมั่นใจว่ามีบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวเพราะคนรุ่นใหม่ยังคงติดความสะดวกสบายอยู่ดี พูดง่าย ๆ ว่า ดีไซน์เป็นวินเทจได้แต่ฟังก์ชันต้องเป็นดิจิทัลแบบปัจจุบัน
และเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ บน TAT REVIEW Vol.7 No.3 July-September 2021 | 90’s Nostalgia