Cryptourism คริปโตกับท่องเที่ยว เกี่ยวกันอย่างไร ?

สร้างบุญ แสงมณี

 

ทุกวันนี้ เวลาเราเปิดดูข่าวสารต่าง ๆ ฟังหรือดูสื่อหลักและสื่อโซเชียล หรือแม้เวลานัดเม้าธ์มอยกับเพื่อน ๆ หนึ่งในหัวข้อที่หนีไม้พ้นและพูดถึงกันอย่างเมามันหรือบางครั้งเมากาว ก็คือเรื่องคริปโต มันต้องมีใครซักคนที่โต๊ะเราหรือโต๊ะข้าง ๆ ที่โม้ได้ว่ามื้อนี้กินฟรี เพราะกำไรจากคริปโต หรือมื้อนี้เพื่อนช่วยเลี้ยงหน่อย แล้วเมื่อเราลงจากดอยอันหนาวเหน็บจะมาเลี้ยงคืนนะ หรือเธอรับไอ้ต้าวเหรียญหมาของชั้นเป็นค่าอาหารมั้ย เป็นต้น

 

คริปโตไม่ได้มีแค่ดอยกับ Moon

 

ไม่ว่าเราจะถึงดวงจันทร์ (to the moon!) หรือจบเพียงยอดดอย คริปโต หรือคริปโทเคอร์เรนซีก็เป็นกระแสที่ร้อนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกวงการจะต้องขอมามีเอี่ยว แต่คุณรู้หรือไม่ว่าวงการคริปโตไม่ได้มีแค่การเทรดเก็งกำไรนะ จริง ๆ คริปโทเคอร์เรนซีแรกอย่าง Bitcoin ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้สะดวกและไร้พรมแดนมากขึ้น แต่ด้วยเจตนารมณ์ของผู้สร้างที่เค้าต้องการให้ Bitcoin มีปริมาณจำกัด หลายๆคนก็เลยเอาไปเปรียบว่ามันเป็น Digital Gold เหมือนทองที่เป็นแร่ธาตุที่มีอยู่อย่างจำกัด พออะไรที่มีจำกัดและมีคนให้ค่ากับสิ่งนั้น ก็จะมีการปรับตัวของราคาของสิ่งของนั้น ๆ เหมือนกับ ทอง หรือแม้แต่เนื้อหมู… Bitcoin ก็เช่นกัน แต่หลังจากนั้นก็มีคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ เกิดขึ้นมาอีกมากมายเพื่อมาตอบโจทย์หลาย ๆ ด้าน หนึ่งในหลายด้านที่อยากชวนคุยวันนี้ก็คือด้านการท่องเที่ยว

 

คริปโตกับการท่องเที่ยวเกี่ยวกันยังไง

 

หลายคนอาจจะบอกว่า มาอีกและ เอะอะอะไรก็พาเลี้ยวไปเกาะกระแส แต่จริง ๆ แล้วคริปโตมีการนำมาใช้ในวงการการท่องเที่ยวตั้งแต่ปี 2014 แล้ว ก่อนที่เราชาวไทยจะหอบผ้าขึ้นจรวดหรือขึ้นดอยกันซะอีก โดยสายการบิน airBaltic ได้เปิดให้ชำระค่าบัตรโดยสารเครื่องบินด้วย Bitcoin ได้ ต่อมาปี 2017 Coinsbank ได้จัดงานชื่อ CoinsBank Blockchain Cruise เป็นเหมือนงานสัมมนาให้คนในวงการคริปโตไปร่วม โดยไปล่องแถบทะเลแคริบเบียนอยู่บนเรือ Anthem of the Seas กันถึง 10 วัน และแน่นอนว่าทริปสัมมนานี้รับชำระด้วยคริปโต มาถึงปี 2019 ก็มี Online Travel Agency (OTA) ชื่อ CheapAir.com รับชำระการจองด้วย Bitcoin Ethereum คริปโตสกุลอื่น ๆ รวมกว่า 10 สกุล และปี 2020 ก็มีเว็บ OTA อีกเจ้าคือ Travala.com ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์กับ Expedia ที่เปิดให้มีการรับชำระการจองโรงแรมและเครื่องบินผ่านคริปโตกว่า 40 สกุล โดยทาง CEO ของ Travala.com เคยให้ข้อมูลไว้ในปี 2021 ว่ายอดขายเติบโตขึ้นแตะเดือนละ 2 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยกว่า 70% เป็นการชำระด้วยคริปโต ที่น่าสนใจกว่านั้นคือในปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่โควิดเริ่มกระจายไปทั่วโลก ทางบริษัทเคยให้ข้อมูลว่า ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 2 ที่ลูกค้าเค้าทำการจองและชำระด้วยคริปโต รองจากสหรัฐอเมริกา และเหนือกว่าสหราชอาณาจักรซะอีก

 

จะเห็นว่าที่ใช้กันมาก็คือการนำคริปโตมาเป็นสื่อกลางในการชำระค่าบริการในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งก่อนโควิดก็เริ่มไปได้สวยแต่พอมาเจอวิกฤติโควิด ทำให้ตลาดท่องเที่ยวต้องชะงักลง แต่เหมือนชะตาฟ้าลิขิต โควิดกลับเป็นตัวเร่งให้ตลาดคริปโต โตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทุกคนอยู่บ้านเพราะต้อง​ Work from Home หรือบางคนอาจต้องออกจากงานเพราะผลกระทบจากโควิด ทำให้มีการมองหาทางทำมาหากินหรือการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนเร็ว แบบที่สามารถทำที่บ้านได้จากคอมหรือมือถือของเรา การเทรดคริปโต การ Stake เหรียญในฟาร์มหรือ Pool ใน DeFi การไปเล่นเกมส์พวก Play-to-Earn ฯลฯ ก็เป็นวิธีที่สะดวก ง่าย ๆ และสนุกด้วย ในการที่จะทำให้เหรียญต้นทุนของเรางอกเงย (แต่ทำให้รวยขึ้นหรือเปล่าก็อยู่ที่ว่ามูลค่าของเหรียญมันทรงตัวอยู่ได้หรือขึ้นไปหรือเปล่า ถ้ามูลค่าของเหรียญตกลงเยอะ ก็อาจจะจนลงถึงแม้มีจำนวนเหรียญมากขึ้น)

 

ถ้ามองภาพตลาดคริปโตในปีช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าปรับตัวขึ้นมาเรื่อยๆ ถ้าเราใช้ Bitcoin เป็นเหมือนตัววัดสภาพตลาด (เนื่องจากคริปโตไม่มี Index ของแต่ละตลาดแบบหุ้นและเทรนด์ตลาดก็จะตามเหรียญใหญ่ ๆ แบบ Bitcoin) จะเห็นว่าแม้จะมีย่อรอบใหญ่ตอนเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม ปี 2021 แต่ตอนขึ้นก็วิ่งขึ้นอุตหลุด มาทำ New high โดยเฉพาะเหรียญกลุ่มที่เรียกว่า Altcoin คือเหรียญอื่น ๆ นอกจาก Bitcoin ยิ่งพุ่งขึ้นหนักโดยเฉพาะเหรียญใหม่ ๆ เช่น  Gala ขึ้นไปประมาณ 4000% Sand ประมาณ 8000%

 

ถึงแม้ปัจจุบันเดือนกุมภาพันธ์ปี 2022 ตลาดจะย่อลงมาเยอะ ส่วนใหญ่มูลค่าเหลือประมาณ 40-50% ของจุดสูงสุดปีที่แล้ว แต่ปีนี้ก็เกิดการเฟื่องของสินทรัพย์ในหมวดของคริปโตอีกอันที่เรียกว่า NFT มีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันจนหลาย ๆ Collection ราคาน่าจะไปถึงดาวเสาร์แล้ว เราอาจจะเห็นข่าวกันอยู่บ้าง เช่น เด็กมหาวิทยาลัยที่อินโดนีเซียขายงาน Selfie ตัวเองหน้าคอม ฯ ที่ถ่ายมาทุกวันเป็นเวลา 5 ปีได้ที่ราคา 1 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ เด็กอายุ 12 ที่อังกฤษทำ NFT รูปวาฬในรูปแบบพิกเซลก็ขายไป 290,000 ปอนด์สเตอลิง หรือ Collection ที่กล่าวขานกันมากอย่าง Bored Ape Yacht Club (BAYC) ที่เปิดตัวตอนปีต้นปี 2021 สร้างโดยกลุ่มเพื่อน ๆ 4 คนวัย 30 กว่า ๆ ที่ตอนเปิดตัวขายหมดใน 24 ชั่วโมง และได้ค่า Royalty 2.5% ทุกครั้งที่มีการขายเปลี่ยนมือของ BAYC แต่ละตัว ซึ่งตอนนี้มูลค่าของทั้ง Collection นี้ไปไกลถึงกว่า 2,800 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

 

เมื่อตลาดคริปโตทั้งในส่วนการเทรดเหรียญ การลงทุน DeFi และ NFT บันเทิงกันมากขนาดนี้ ก็แน่นอนว่าจะมีเศรษฐีเกิดใหม่ขึ้นเยอะมากๆและส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่อายุยังน้อย การก้าวกระโดดของราคา NFT แสดงให้เห็นถึงความไม่คิดมากในการใช้เงินที่หามาได้อย่างรวดเร็วจากการลงทุนในตลาดคริปโตช่วงขาขึ้น และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่คือการตามหาความสมดุลในการใช้ชีวิต การท่องเที่ยวเดินทาง กินดื่ม และช้อปปิ้ง จึงเป็นสิ่งที่กลุ่มเศรษฐีใหม่เหล่านี้ย่อมยินดีที่จะใช้จ่าย แต่คนกลุ่มนี้ก็ต้องการความสะดวกสบาย ง่ายในการจับจ่าย 

 

แล้วคริปโตจะมาช่วยอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวประเทศไทยอย่างไร

 

ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของโลกในด้านการท่องเที่ยว ที่ไม่ใช่แค่การมาชมสถานที่ การมาซึมซับวัฒนธรรมหรือการลิ้มรสอาหารไทยที่ขึ้นชื่อ แต่มี Medical tourism มีการมาพักผ่อนออกกำลังเล่นกอล์ฟ ฯลฯ และโควิดทำให้เกิดเทรนด์ Work From Anywhere ที่เมื่อโควิดซาลง จะมีคนไทยและต่างชาติจำนวนมากเดินทางไปอยู่ในที่ๆเค้ามีความสุขกับสภาพแวดล้อม ผู้คน และค่าครองชีพที่ถูกกว่าในประเทศที่เค้าอยู่ ซึ่งประเทศไทยอยู่ใน Positioning ที่ดีมากในการรองรับกระแส Work From Anywhere นี้ 

 

เมื่อเรานำจุดเด่นด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่กล่าวมา มาวางคู่กับการเกิดขึ้นของคนรุ่นใหม่ที่หาเงินได้เก่งจากตลาดคริปโตและพร้อมใช้ เราเหลือเพียงทำสะพานเชื่อมต่อให้เกิดการใช้จ่ายที่ง่ายขึ้น ทำยังไงให้เงินจากคริปโต Wallet ของเค้าสามารถวิ่งเข้ามาสู่ Wallet ของผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้อย่างง่ายดาย ไม่ใช่ต้องแปลงคริปโตเป็นเงินเฟียตของแต่ละคนเช่น ดอลลาร์ ยูโร ปอนด์สเตอลิง วอน เยน ฯลฯ แล้วต้องมาแลกเป็นเงินบาทอีก โดนค่า Spread อัตราแลกเปลี่ยนหลายต่อ ถ้าใช้บัตรเครดิตก็โดนทั้ง Spread อัตราแลกเปลี่ยนและค่าธรรมเนียมความเสี่ยง หากมีการสร้างทางเลือกในการชำระด้วยคริปโตให้ง่าย เหมือนสร้างสะพานทางด่วนราคาประหยัดอันใหม่ ช่วงแรกอาจจะมีจำนวนไม่มากแต่กำลังซื้อจะเยอะ และจำนวนคนจะโตขึ้นเรื่อย ๆ ตามการ Adopt การลงทุนคริปโตทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันมีนักลงทุนในคริปโตอยู่ประมาณ 300 ล้านคน และ crypto.com ประเมินว่าจะถึง 1,000 ล้านคนตอนสิ้นปี 2022 นี้

 

อันที่จริงนักลงทุนหลายคนอาจเคยทราบถึงหรือได้ลองลงทุนใน Defi Platform (Decentralized Finance Platform) ชื่อ Plearn ซึ่งเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยเป็นบริการลักษณะเดียวกับ Pancake swap หรือพวกตระกูลที่ลงท้ายด้วย Swap แต่มีการให้สิทธิประโยชน์ด้านการท่องเที่ยวและ Lifestyle อื่น ๆ โดยการร่วมมือกับ Phill Club ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Phill Collection’ Lifestyle Club ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและพัทยา เจาะกลุ่มนักธุรกิจและคนรุ่นใหม่ เพื่อให้เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนเรื่องราวประสบการณ์ รวมไปถึงไลฟ์สไตล์ในหลากหลายวงการ โดยรวบรวมบริการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นบริการเช่าเรือหรู วิสกี้และซิก้าบาร์ รวมถึงการจับมือกับผู้ให้บริการจองที่พักเริ่มจาก favstay.com ซึ่งจะมีการขยายไปทั่วประเทศ

 

โดยในส่วนของ Plearn Defi Platform นั้นเปิดให้นักลงทุนสามารถมาแลกเปลี่ยนเหรียญคริปโตได้หลายสกุลและนำเหรียญมา Stake เพื่อได้รับ Reward เป็นเหรียญ PLN ซึ่งเป็นเหรียญของ Platform เอง จากการตรวจสอบราคาของ PLN ใน arken.finance พบว่าได้ปรับตัวขึ้นมาประมาณ 7500% จากวันเปิดตัว และมีนักลงทุนนำคริปโตมา Stake ไว้เป็นมูลค่ากว่า 61 ล้านเหรียญสหรัฐ ในส่วนของบริการต่าง ๆ เช่น การล่องเรือ จากการสอบถามที่ Phill Club ก็มีการจองกันจนแน่นไปจนถึงเดือนมีนาคมแล้ว แสดงให้เห็นถึงความต้องการและกำลังซื้อของลูกค้ากลุ่มนี้ที่สนใจผสมผสานการลงทุนกับการท่องเที่ยวและไลฟ์สไตล์

 

หากหันมามองภาพตลาดท่องเที่ยวในประเทศ ควรเริ่มสังเกตที่พฤติกรรมผู้บริโภคคนไทยที่เริ่มคุ้นชินกับการใช้โทรศัพท์สแกนเพื่อจ่ายเงิน เพียงแต่เงินตอนนี้เป็นการตัดจากบัญชีธนาคารหรือจาก Wallet โครงการของรัฐต่าง ๆ เช่น คนละครึ่ง เที่ยวด้วยกัน ฯลฯ ซึ่งมีผู้ประกอบการตั้งแต่รายเล็ก ๆ ไปจนถึงรายใหญ่ที่คุ้นชินกับการรับชำระในรูปแบบ Digital ดังนั้นคงไม่ยากที่ผู้ประกอบการจะมี Crypto wallet ที่จะรับโอนเงิน อย่างไรก็ดี คงจะมีข้อห่วงจากภาครัฐไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดเก็บภาษี การฟอกเงิน หรือการดำเนินนโยบายด้านการเงิน การคลัง เนื่องจากไม่ได้อยู่ในระบบหรือรูปแบบของเงินเฟียตแล้ว รวมไปถึงความผันผวนของคริปโทเคอร์เรนซีที่อาจจะส่งผลถึงผู้ประกอบการที่รับชำระเป็นคริปโต 

 

 

ดังนั้นเพื่อลดข้อกังวลเหล่านี้รัฐอาจพิจารณาปรับแก้หรือออกกฎหมายหรือระเบียบที่สอดคล้องกับการอำนวยให้เกิดการใช้งานคริปโตได้อย่างสะดวก แพร่หลาย และเข้ามาเป็นเจ้าภาพในการจัดตั้งตัวกลาง ซึ่งอาจเป็นการร่วมจัดตั้งโดยกลุ่มเอกชนหลาย ๆ ราย ในรูปแบบของ Exchange เพื่อรองรับการแลกเปลี่ยนสกุลเงินคริปโตที่ผันผวนให้กลายเป็นสกุลเงินคริปโตกลุ่ม Stable coin เช่น USDT BUSD DAO ฯลฯ ที่ผันผวนน้อยมาก เพื่อนำไปชำระค่าบริการ (ค่าห้องพัก ค่าทัวร์ ฯลฯ) ให้กับผู้ประกอบการ ลดความเสี่ยงจากการผันผวน รวมถึงเชิญชวนผู้ประกอบการให้มาเข้าร่วมเชื่อมต่อกับตัวกลางนี้ ในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างโลกคริปโตกับโลกเงินเฟียตโดยรับแลกเปลี่ยนจาก Stable coin เป็นเงินบาทด้วย ซึ่งจะลดปัญหาเรื่องการจัดเก็บภาษีและการฟอกเงินไปได้อย่างมากเนื่องจากผ่านตัวกลางที่รัฐสามารถดูแลตรวจสอบได้อย่างใกล้ชิด

 

อย่างไรก็ดี สำหรับประเทศไทยซึ่งได้เปรียบในเชิงที่เป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยว ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนควรรีบเคลื่อนที่ให้เร็วเพื่อผลักดันให้ Cryptourism เป็นรูปธรรมและเข้าครองพื้นที่ตลาดนี้ให้ได้ก่อนคนอื่น ๆ ในภูมิภาค และไทยจะได้ก้าวขึ้นเป็นอันดับ 1 ในใจชาวคริปโตทั้งในและต่างประเทศได้ในที่สุด

 

อ้างอิง:

https://www.forbes.com/sites/suzannerowankelleher/2022/01/13/travel-brands-crypto-payments-study/?sh=8c15a2a21df7

https://hackernoon.com/the-future-of-travelling-an-interview-with-matt-luczynski-the-founder-of-travalacom-6b5u32a4

https://www.bbc.com/news/technology-58343062

https://www.businessinsider.com/indonesia-student-makes-a-million-selling-expressionless-selfies-as-nfts-2022-1

https://finance.yahoo.com/news/global-crypto-users-reach-1-101646507.html

 

Share This Story !

3.9 min read,Views: 1294,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 14, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 14, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 14, 2025