เทรนด์ท่องเที่ยว ใคร ‘รุ่ง’ และ ใคร ‘ร่วง’ ในปี 2021 ?
วิกฤตการระบาดของไวรัส COVID-19 ถือเป็นหมุดใหญ่หมุดหนึ่งที่จะโดดเด่นอยู่บนไทม์ไลน์ประวัติศาสตร์โลก เพราะไวรัสนี้ ทำให้ผู้คนต้องเข้าสู่ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) ทั้งงดการเดินทาง กักตัวอยู่บ้าน ใส่หน้ากากอนามัยเกือบตลอดเวลา ล้างมือเป็นกิจวัตร และรักษาระยะห่างระหว่างกัน
เมื่อเกิดการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตกันขนานใหญ่ กระแสคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงก็ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และสาดเข้ากระทบทั้งไลฟ์สไตล์ของผู้คน ไปจนถึงธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
บางอย่างก็ถูกคลื่นนี้สาดซัดอย่างหนักหน่วง
บางอย่างก็มีคลื่นนี้เป็นแรงหนุนสำคัญ
แล้วคลื่นที่เกิดขึ้นโดยมีวิกฤตการระบาดของไวรัส Covid-19 เป็นต้นเหตุนี้ หนุนนำเทรนด์อะไรจนรุ่ง หรือสาดซัดเทรนด์อะไรจนร่วงบ้าง
เทรนด์รุ่ง
- ธุรกิจบริการจัดส่งอาหาร (Food Delivery)
: การกักตัวอยู่บ้าน ทำให้อาหารจัดส่งถึงบ้านกลายเป็นที่นิยมในหมู่ผู้บริโภค ซึ่งนอกจากร้านอาหารจะปรับตัวมาทำแบบนี้แล้ว โรงแรมและสายการบินก็ยังหันมาหารายได้จากธุรกิจนี้ด้วย
- ตลาดค้าปลีกออนไลน์ (E-commerce)
: ตลาดค้าปลีกออนไลน์ กลายเป็นช่องทางในการเลือกซื้อสินค้าของผู้บริโภค เมื่อต้องกักตัวอยู่บ้าน จึงมีการเติบโตที่น่าสนใจ
- ท่องเที่ยวแบบผจญภัย (Adventure Tourism)
: การแคมป์ปิ้งตามสถานที่ธรรมชาติ ไปจนถึงอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะตอบโจทย์การรักษาระยะห่างทางสังคม ได้สูดอากาศบริสุทธิ์ท่ามกลางธรรมชาติอีกด้วย
- นักท่องเที่ยวเจน Y และ Z (GEN Y and GEN Z Tourist)
: กลุ่มคนเจนเนอเรชัน Y และเจนเนอเรชัน Z ทั้ง 2 เจนเนอเรชันนี้ จะกลายเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาแรง โดยข้อมูลจาก Deloitte Insights ระบุว่าในช่วงเมษายน – พฤษภาคมที่ผ่านมา กลุ่มอายุ 18 – 34 ปี เป็นกลุ่มที่มองหาซื้อดีลท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด
- ความบันเทิงและการท่องเที่ยวในบ้าน (Hometainment + Hometravel)
: สื่อบันเทิงและศิลปะที่เจาะกลุ่มคนอยู่บ้านมากขึ้น เช่น การจัดคอนเสิร์ตแบบเสมือนจริง เดินเที่ยวพิพิธภัณฑ์แบบเสมือนจริง หรือการลงทุนทำสตรีมมิ่งคอนเทนท์ผ่าน OTT TV เช่น Netflix ที่ลงทุนทำ Original Content มากที่สุดในตลาด
- เกษตรประยุกต์ (Applied Farming)
: กระแสที่มาควบคู่กับความยั่งยืน ก็คือการเกษตร ที่ประยุกต์ดัดแปลงเป็นแหล่งท่องเที่ยว หรือเป็นมากกว่าการเกษตรแบบดั้งเดิม เช่น ร้านกาแฟในทุ่งนา บุฟเฟต์ไร่ผลไม้ ร้านชาพรีเมียมในไร่ชา และฟาร์มสเตย์ เป็นต้น
เทรนด์ร่วง
- เรือสำราญ (Cruise Travel)
: เนื่องจากการท่องเที่ยวบนเรือสำราญเป็นสถานที่ปิด และใช้เวลาเดินทางนาน ทำให้สุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัส
- สายการบิน (Airlines)
: การเดินทางหยุดชะงัก เนื่องจากมาตรการปิดประเทศ ทำให้สายการบินหันมาพึ่งการขนส่งสินค้า และธุรกิจอื่น ๆ แทน
- กลุ่มนักท่องเที่ยวสูงวัย (Baby Boomer Tourist)
: คนสูงวัยเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ COVID-19 แล้วได้รับผลกระทบร้ายแรง ทำให้เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อที่ฟื้นตัวยากที่สุดในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริษัทประกันมีแนวโน้มจะไม่อนุมัติ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูง
- ภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism)
: อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่หยุดชะงัก ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายหันมาตระหนักถึงปัญหาภาวะนักท่องเที่ยวล้นเมืองหรือ Overtourism ที่มีมาก่อนหน้า จนเกิดปัญหาระบบนิเวศน์และประชาชนท้องถิ่นถูกรบกวน โดยจะใช้ช่วงเวลาที่เงียบสงบ วางแผนป้องกันไม่ให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอีก
- โรงแรมและที่พัก (Hotel Industry)
: ธุรกิจโรงแรมและที่พัก เป็นธุรกิจที่พึ่งพาเงินทุนหมุนเวียนมาก การหยุดชะงักของการท่องเที่ยว อาจทำให้ผู้ทำธุรกิจรายย่อยขาดสภาพคล่อง และยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้
- กลุ่มทัวร์ (Tour group)
: ทัวร์เป็นกลุ่ม กับคนหลากหลาย สุ่มเสี่ยงต่อโรคระบาด ทำให้อาจไม่ได้รับความนิยมไปอีกพักใหญ่ และเช่นเดียวกันกับธุรกิจโรงแรม ถ้าการท่องเที่ยวหยุดชะงัก ธุรกิจรายย่อยนั้นก็มีทุนหมุนเวียนน้อย ทำให้ใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวได้อีก