
แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรม ท่องเที่ยวไทย ภายหลัง วิกฤต COVID-19 ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Due to the global COVID-19 outbreak, the Royal Thai Government declared an
emergency situation in all areas of the Kingdom of Thailand according to the
Emergency Decree on Public Administration in Emergency Situation B.E. 2548
(2005), effective since 26 March, 2020, and established special units to perform
duties in emergency situations. Later, during 5-6 May, 2020, the Tourism
Authority of Thailand (TAT) drew up the recovery plan for the Thai tourism
industry after the COVID-19 crisis in order to set the goals and measures for
recovering the Thai tourism industry in accordance with the present situation
and the guidelines from the Ministry of Public Health.
โดย กองกลยุทธ์การตลาด
นับจากเดือนธันวาคม 2562 ที่นครอู่ฮั่น เมืองหลวงของมณฑลหูเป่ย์ สาธารณรัฐประชาชนจีนพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และมีการแพร่ระบาดไปอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย ทำให้องค์การอนามัยโลกจึงได้ประกาศให้การระบาดครั้งนี้ เป็น ‘ภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ’ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2563 ต่อมาในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 องค์การอนามัยโลกประกาศชื่อที่เป็นทางการของโรคทางเดินหายใจที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ว่า โควิด-ไนน์ทีน (Covid-19)
ในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 คนแรกเป็นนักท่องเที่ยวหญิงชาวจีนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 และมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่องและกระจายทั่วประเทศไทย รัฐบาลจึงได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 รวมถึงการจัดตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เป็นหน่วยงานพิเศษ เพื่อปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้อำนวยการ ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 รัฐบาลได้กำหนดให้โรคไวรัส COVID-19 เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ และมอบให้สำนักงบประมาณประสานกับทุกหน่วยงาน กำหนดมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจาก COVID-19 ภายใต้งบประมาณของแต่ละหน่วยงาน
ในเวลาต่อมา ททท. ได้จัดทำ ‘แผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายหลังวิกฤต COVID-19’ เมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2563 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบเป้าหมายและแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับทราบและดำเนินการดังนี้
เป้าหมายด้านการท่องเที่ยว ปี 2563
ททท. คาดหวังว่าสถานการณ์ประเทศไทย หลังจากสถานการณ์ COVID-19 อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจะสามารถสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 ไม่ต่ำกว่า 1.23 ล้านล้านบาท โดยมีนักท่องเที่ยวคนไทยเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ จำนวน 80-100 ล้านคน-ครั้ง และนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยจำนวน 14-16 ล้านคน
แนวทางและแผนการดำเนินงานด้านการท่องเที่ยว
การแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมกับทุกภาคส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่อยู่ในภาวะหดตัวอย่างรุนแรง ทั้งด้านอุปทานและอุปสงค์ ไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเต็มขีดความสามารถ จนกระทั่งบางธุรกิจต้องปิดกิจการ ดังนั้น หลังจากสถานการณ์ COVID-19 การส่งเสริมและผลักดันให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวสามารถดำรงอยู่และขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจได้ ททท. ต้องดำเนินการตามแนวทางการกำกับของกระทรวงสาธารณสุข ควบคู่กับการปรับวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) โดยเริ่มจากการให้ข้อมูลข่าวสารที่ชัดเจน ฉับไว และสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด การสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางเพื่อท่องเที่ยว ตลอดจนการกำหนดแนวทางและรูปแบบการท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ที่เหมาะสมและปลอดภัย เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดซ้ำได้
เพื่อให้การท่องเที่ยวของไทยกลับมาอย่างแข็งแกร่ง และยั่งยืน
ททท. กำหนดชูจุดขาย 3 ประการ ดังนี้
1. ความปลอดภัย ระบบสาธารณสุขและการจัดการที่มีประสิทธิภาพและเป็นที่ยอมรับ
2. ความคุ้นเคย อาหาร และวัฒนธรรมที่โดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
3. ความสวยงาม ธรรมชาติ และผู้คนเป็นจุดขายที่ต้องคงรักษาไว้เพื่อความยั่งยืน
ทั้งนี้ เพื่อให้การฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขมากที่สุด ททท. จึงกำหนดแนวคิด 5 R (Rebuild Rebrand Rebalance Rebound และ Reboot) และแนวทางการดำเนินงานเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 Lockdown Exit Rebuild, Rebrand และ Rebalance
ในช่วงระยะเวลาที่รัฐบาลผ่อนคลายมาตรการควบคุมให้สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้บ้าง โดยมีการกำกับและแนวปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวกับการเดินทาง การปฏิบัติตัวในสถานที่ชุมนุมชน ซึ่ง ททท. จะได้เตรียมความพร้อมของบุคลากร ซ่อมสร้างอุปทานเพื่อปรับตัวสู่การท่องเที่ยววิถีใหม่ (New Normal) ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การยกระดับคุณภาพสินค้าและบริการด้วยมาตรฐาน Amazing Thailand Safety & Health Administration หรือ SHA ตลอดจนการใช้เครื่องมือ/อุปกรณ์ในการจัดเก็บข้อมูลของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยร่วมกับทุกภาคส่วนที่มีความพร้อมและความเต็มใจในการให้ความร่วมมือ ซึ่งเป็น Key success factor เพื่อให้ประเทศไทยยังคงเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยและชาวต่างชาติยังนึกถึงเสมอ (Top of mind)
ระยะที่ 2 Selective Open
เป็นการขยายผลจากระยะที่ 1 ด้วยแนวคิด Rebound ในช่วงการเริ่มเปิดเมือง เปิดประเทศเพื่อการท่องเที่ยวอย่างจำกัดไม่เกินร้อยละ 60 ของพื้นที่ที่อนุญาตให้เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศเป็นอันดับแรก ซึ่ง ททท. จะได้กำหนดกิจกรรมการตลาดให้คนไทยที่คิดถึงการเที่ยว จะได้เที่ยวอย่างปลอดภัย โดย ททท. จะคัดเลือกพื้นที่ดำเนินการกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมท่องเที่ยวให้เหมาะสมที่สุด พร้อมกับนำเสนอธุรกิจที่ผ่านการรับรองมาตรฐาน SHA มาขยายผลในการส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวให้กับคนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้อย่างมั่นใจและช่วยเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศไทย
ระยะที่ 3 Extensive Open
เป็นช่วงของการควบคุมสถานการณ์ COVID-19 ได้อย่างมั่นใจ รัฐบาลประกาศเปิดเมือง เปิดประเทศสู่ความยั่งยืน ภายใต้ New Normal กระตุ้นไทยเที่ยวไทย ด้วยรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่ปลอดภัยต่อสุขภาพและบริการที่มีคุณภาพ เมื่อชาวต่างชาติสามารถเข้า-ออกประเทศไทยได้แล้ว ททท. จะดำเนินการตลาดด้วยแนวคิด Reboot โดยมุ่งส่งเสริมนักท่องเที่ยวต่างชาติระดับบน ด้วยภาพลักษณ์ประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ขยายฐานกลุ่มท่องเที่ยวซ้ำ (Revisit) และกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล (Incentive Travel) ด้วยการนำเสนอน้ำใจของคนไทยและแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ฟื้นตัวกลับมาอย่างสวยงาม และให้ความสำคัญยิ่งกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism)