คาดการณ์แนวโน้มสถานการณ์ท่องเที่ยว
ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว
ข้อมูล ณ พฤศจิกายน 2563
- วิกฤต COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวทั่วโลก UNWTO คาดว่าตัวเลขการเดินทางระหว่างประเทศลดลงกว่า 70% และอาจใช้เวลาถึง 3 ปี จึงจะฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ
- จำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวของภูมิภาคอาเซียนลดลงเกือบ 90%
- ปี 2564 ภาพรวมการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยจะเป็นอย่างไร มีแนวโน้มและประเด็นท้าทายอะไรที่ควรจับตามอง
สถานการณ์ท่องเที่ยวไทยปี 2563
ตลาดต่างประเทศ
ปี 2563 คาดว่า จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยเพียง 6.7 ล้านคนและสร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 3.3 แสนล้านบาททั้งจำนวนและรายได้หดตัวร้อยละ 83 (ประมาณการ ณ เดือนตุลาคม 2563) การหดตัวอย่างรุนแรงดังกล่าวเป็นผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ซึ่งประเทศต่าง ๆ ใช้มาตรการขั้นสูงสุดสกัดกั้นการเดินทางเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดฯ เข้าสู่ประเทศ เช่น ยกเลิกวีซ่า ล็อกดาวน์เมือง/ประเทศ ปิดพรมแดน ขณะที่ประเทศไทยใช้มาตรการห้ามทำการบินเข้าประเทศตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา ส่งผลให้ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยในช่วงดังกล่าวแม้ว่าช่วงปลายปี 2563 จะผ่อนคลายมาตรการอนุญาตนักท่องเที่ยวต่างชาติภายใต้ข้อตกลงพิเศษ เช่น ผู้ถือบัตร Thailand Elite Card, ผู้ได้รับ Special Tourist Visa (STV) เดินทางเข้าประเทศไทย แต่กลุ่มดังกล่าวมีจำนวนที่น้อยมาก
ทั้งนี้ วิกฤต COVID-19 ยังส่งผลกระทบให้การท่องเที่ยวทั่วโลกหดตัวรุนแรงเช่นเดียวกับประเทศไทย โดยข้อมูลจาก UNWTO ช่วง 8 เดือนแรกปี 2563 พบว่าการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกหดตัวลง ร้อยละ 70 โดยประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียต่างได้รับผลกระทบระดับใกล้เคียงกัน เช่น ฮ่องกง (ลดลงร้อยละ 93), ญี่ปุ่น (ลดลงร้อยละ 82), สิงคโปร์ (ลดลงร้อยละ 79), เวียดนาม (ลดลงร้อยละ 71) โดย UNWTO คาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศทั่วโลกจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติอีกครั้งในปี 2566
ตลาดในประเทศ
สถานการณ์ท่องเที่ยวของผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยปี 2563 (มกราคม – ธันวาคม)
ในปี 2563 สถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 ถือเป็นช่วงวิกฤตของสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศ เนื่องจากในเดือนมีนาคม – เมษายน ประเทศไทยต้องรับมือกับการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส COVID-19 ทำให้มาตรการล็อกดาวน์, พ.ร.ก.ฉุกเฉิน, มาตรการเคอร์ฟิวถูกนำมาใช้ รวมทั้งการยกเลิกกิจกรรมด้านการ
ท่องเที่ยวต่าง ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจทุกภาคส่วนของประเทศหยุดลงแบบฉับพลัน ภาคธุรกิจทยอยปิดกิจการเป็นจำนวนมากและการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหยุดชะงัก แต่อย่างไรก็ตาม ผลจากการใช้มาตรการต่าง ๆ กอปรกับความร่วมมือจากภาครัฐและประชาชน ทำให้ประเทศไทยสามารถรับมือและควบคุมการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเดือนพฤษภาคมรัฐบาลได้ประกาศมาตรการผ่อนคลายปลดล็อคพื้นที่และกิจการ/กิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งออกมาตรการกระตุ้นการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นการหมุนเวียนของเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้ประชาชนทยอยออกเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
ซึ่งการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศหลังล็อกดาวน์เริ่มฟื้นตัวได้บ้าง เนื่องจากได้รับแรงหนุนจากภาครัฐที่ประกาศให้มีวันหยุดชดเชยเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนหลังของปี 2563 และมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศภายใต้ 2 โครงการหลักได้แก่ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการกำลังใจ ผนวกกับ ททท. และภาคเอกชนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ
และโปรโมชั่นแพ็กเกจท่องเที่ยว ทั้งนี้การฟื้นตัวของการท่องเที่ยวภายในประเทศยังไม่ทั่วถึงทุกพื้นที่ โดยภูมิภาคระยะใกล้อย่างภาคตะวันออกภาคกลางและภาคตะวันตกจะฟื้นตัวได้เร็วกว่า โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวที่มีระยะทางใกล้กรุงเทพฯ เช่น ชลบุรี ระยอง กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยสูงกว่าจังหวัดท่องเที่ยวที่ไกลกว่า เพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และคนไทยยังนิยมเดินทางด้วยรถยนต์ถึงร้อยละ 70 (อ้างอิงจากงานสำรวจความคิดเห็นคนไทยออกเดินทางท่องเที่ยวหลัง COVID-19 ของ ททท.) อย่างไรก็ดี ภูมิภาคระยะไกลก็มีบางจังหวัดที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยได้แก่ นครศรีธรรมราช ที่ได้รับกระแสแรงศรัทธาความเชื่อ “ไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์” รวมทั้งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินของสายการบินในประเทศ ส่งผลให้คนไทยเดินทางเข้านครศรีธรรมราชเพิ่มขึ้น และจังหวัดที่มีสภาพอากาศที่หนาวเย็นเหมาะแก่การเดินทางท่องเที่ยวอย่างเชียงใหม่ เชียงราย ยะลา อุบลราชธานีหรือเลย ก็มีอัตราจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ดังนั้น ภาพรวมสถานการณ์ท่องเที่ยวในประเทศปี 2563 จึงมีแนวโน้มขยับตัวดีขึ้นแต่ยังต่ำกว่าระดับปกติก่อนเกิด COVID-19 เพราะยังมีแนวโน้มความกังวลต่อความเสี่ยงของการระบาดระลอกใหม่ ทำให้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยอยู่ที่ 90.23 ล้านคน-ครั้งลดลงร้อยละ 48 ขณะที่รายได้ทางการท่องเที่ยวยังไม่กลับคืนมาในระดับปกติเช่นกัน เนื่องจากยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศ นักท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่าย และลดจำนวนความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยว ส่งผลให้มีรายได้ทางการท่องเที่ยวอยู่ที่ 5.00 แสนล้านบาท ลดลงร้อยละ 54
จับกระแสท่องเที่ยวไทยปี 2564
ปี 2564 คาดว่าภาพรวมการเติบโตของตลาดต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 แต่จะยังไม่ฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ เช่น การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ระลอกใหม่ โอกาสความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนและการกระจายวัคซีนให้เพียงพอทั่วโลก การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศ การกลับมาบินระหว่างประเทศของสายการบินต่าง ๆ รวมถึงทัศนคติของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและชาวไทยต่อการเดินทางระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่ออุปสงค์และอุปทานการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทย ทั้งนี้ คาดว่าปี 2564 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทยประมาณ 6 – 15.5 ล้านคน และสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยประมาณ 3 – 7 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์สถานการณ์ปี 2564 เป็น 3 กรณี (ปรับประมาณการ ณ เดือนตุลาคม 2563)
ประเด็นท้าทายปี 2564
- ประสิทธิภาพวัคซีนป้องกัน COVID-19 และโอกาสเข้าถึงวัคซีนของประเทศกำลังพัฒนา
- การอยู่รอดของ Supply Chain ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น สายการบิน โรงแรม บริษัทนำเที่ยว บางส่วนอาจไม่สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จะเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัว
- ภาวการณ์แข่งขันสูงจากการกระตุ้นท่องเที่ยว Domestic ของแต่ละประเทศ
- ทัศนคติของชาวไทยบางส่วนยังคงกังวลต่อการเข้ามาของชาวต่างชาติ
- นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่มั่นใจความปลอดภัยจาก COVID-19 ต่อการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศ
- กำลังซื้อของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมาจากผลกระทบวิกฤต COVID-19
- ข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศจากกฎระเบียบใหม่ เช่น การออกพาสปอร์ตอนุญาตให้ออกต่างประเทศ การให้วีซ่าชาวต่างชาติเข้าประเทศ
แนวโน้มท่องเที่ยวตลาดในประเทศปี 2564
คาดว่า มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยอยู่ที่ 93.30 ล้านคน-ครั้ง มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 จากปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 อย่างไรก็ดี จำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยอาจจะขยับตัวเพิ่มขึ้นหากได้รับปัจจัยหนุนท่องเที่ยวไทย ซึ่งได้แก่
- ความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ททท. และเอกชนในการออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ และแผนการตลาดที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางและเกิดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงลดความยุ่งยากซับซ้อนในการเข้าร่วมและใช้สิทธิ์ของมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น
- การดึงกลุ่มคนไทยเที่ยวนอกให้หันกลับมาเที่ยวในประเทศมากขึ้น (ซึ่งในปี 2562 มีคนไทยเที่ยวนอกอยู่ที่ 12 ล้านคน) โดยอาศัยโอกาสจากความไม่แน่นอนของวัคซีน COVID-19 และแม้ว่าจะมีวัคซีนก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ทันที ดังนั้น กลุ่มคนไทยเที่ยวนอกมีแนวโน้มที่จะเลือกเที่ยวในประเทศก่อน เนื่องจากต้องการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในต่างประเทศที่สูงกว่าไทย โดยกลุ่มนี้จะเป็นการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศแบบทริปสั้น ๆ แต่มีจำนวนหลายทริป
สำหรับรายได้ทางการท่องเที่ยวในปี 2564 มีแนวโน้มอยู่ที่ 5.36 แสนล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 71 จากปีที่ผ่านมา แต่ยังต่ำกว่าเมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ เศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงหดตัว จากความอ่อนแอที่มีมาตั้งแต่ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 แม้ว่าจะผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 มาแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับเข้าสู่ระดับปกติได้เช่นเดิม ส่งผลต่อการตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวของคนไทยที่มีกำลังการใช้จ่ายไม่สูง ทำให้เกิดการระมัดระวังการใช้จ่ายของครัวเรือนมากขึ้น อย่างไรก็ตามปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าว อาจไม่ได้ส่งผลมากนักต่อกลุ่มคนไทยเที่ยวนอกที่มีกำลังการใช้จ่ายสูง แต่กลุ่มนี้กลับไม่ได้ใช้จ่ายมากเท่ากับการไปเที่ยวต่างประเทศ เนื่องจากราคาของสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวในประเทศที่ถูก กอปรกับไม่มีแหล่งชอปปิงที่ต้องการซื้อเหมือนในต่างประเทศ คาดว่าการใช้จ่ายของกลุ่มนี้จะใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในประเทศ จึงไม่ได้เป็นแรงฉุดให้รายได้ทางการท่องเที่ยวเติบโตเท่าไหร่นัก
นอกจากนี้ ประเด็นที่ควรติดตามเพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศคือ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤต COVID-19 (อ้างอิงข้อมูลผลสำรวจพฤติกรรม New Normal ของการท่องเที่ยวที่จัดทำโดย McKinsey)
- เที่ยวในประเทศกลายเป็นตัวเลือกแรก ซึ่งมาจากปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจ และความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 จากการไปเที่ยวต่างประเทศ
- เที่ยวใกล้ ๆ สั้น ๆ ขับรถไป โดยเน้นเดินทางท่องเที่ยวไปยังจังหวัดที่อยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ หรือใช้ระยะเวลาเดินทางไม่เกิน 4 ชั่วโมง เช่น กาญจนบุรี นครราชสีมา ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลนักท่องเที่ยวที่ขอรับเส้นทางจาก Apple Map)
- เลือกเที่ยวสถานที่ Unseen เช่น แหล่งท่องเที่ยวมหัศจรรย์และธรรมชาติ แหล่งท่องเที่ยวผจญภัย แหล่งท่องเที่ยวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แหล่งท่องเที่ยวประเพณีวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิต
- ให้ความสำคัญอย่างมากกับการเลือกใช้บริการธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับมาตรฐานด้านความปลอดภัย สุขอนามัยเพื่อนักท่องเที่ยว