‘ท่องเที่ยว กับ ภัยพิบัติ’ เรื่องไกลๆ ที่อาจใกล้ตัวเข้าไปทุกที

หากจะถามว่าภัยพิบัติกับการท่องเที่ยวเกี่ยวโยงกันอย่างไร คงพูดได้แค่ว่า สองสิ่งนี้ดูไม่ใกล้ แต่ก็ไม่ไกลกันซะทีเดียว

เพราะหลังๆ มานี้ เราคงสังเกตเห็นว่าโลกประสบเหตุภัยพิบัติบ่อยขึ้น ทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ อย่างที่ประเทศอินโดนีเซีย ที่มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงหลายพันคน หรือไฟป่าที่แคลิฟอร์เนีย เฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ หรือไต้ฝุ่นมังคุด ทุกเหตุการณ์ที่ว่ามา ล้วนแต่เป็นภัยพิบัติรุนแรงที่เกิดขึ้นในปีเดียวกัน และสร้างความเสียหายไม่เพียงแต่ผู้อยู่อาศัยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย

นี่คือเหตุผลที่ผู้เขียนอยากชวนทุกคนไปทบทวนและทำความเข้าใจ ‘ภัยพิบัติ’ กันให้มากกว่านี้สักหน่อย

เมื่อพูดถึงภัยพิบัติ เราต้องแยกให้ออกระหว่าง ‘ปรากฏการณ์’ กับ ‘ภัยพิบัติ’ เสียก่อน

ปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว หรือดินโคลนถล่ม แต่ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติเหล่านี้จะกลายเป็นภัยพิบัติก็ต่อเมื่อมันกระทบกับชีวิตของมนุษย์ ก่อให้เกิดความสูญเสียทางทรัพย์สินหรือชีวิตและยังส่งผลให้ชีวิตประจำวันของผู้คนต้องเดือดร้อน

ส่วนภัยพิบัติก็ไม่ได้จำกัดแค่ภัยที่เกิดจากธรรมชาติอย่าง แผ่นดินไหวน้ำท่วม สึนามิ พายุ ภัยแล้ง ภัยหนาว และโรคระบาดเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยที่เกิดขึ้นด้วยฝีมือมนุษย์ เช่น เหตุระเบิด เหตุก่อการร้ายที่ทำให้มีการสูญเสีย และอื่นๆ อีกมากมายอีกด้วย

เมื่อเราเข้าใจความแตกต่างระหว่างปรากฏการณ์ธรรมชาติกับภัยพิบัติแล้วเราก็จะออกแบบการรับมือกับภัยพิบัติได้บ้างไม่มากก็น้อย โดยหลักๆ ก็คือการเตรียมตัว การรับมือ และการฟื้นฟู ‘ก่อน-ระหว่าง-หลัง’ ภัยพิบัตินั่นเอง

โดยปกติ ภัยพิบัติมีทั้งแบบที่เตรียมตัวทันและแบบฉับพลัน ยกตัวอย่างเช่น หากเกิดเหตุการณ์น้ำท่วม ควรมีผู้คอยรายงานอย่างต่อเนื่องว่าน้ำถึงจังหวัดใกล้เคียงแล้วหรือยัง เหลือเวลาอีกกี่วันในการอพยพ นี่คือกรณีที่มีเวลาเตรียมตัว แต่บางครั้งก็อาจเกิดภัยพิบัติแบบฉับพลันที่ไม่ทันตั้งตัวหรือรู้ล่วงหน้าไม่กี่วินาทีได้ อย่างเหตุการณ์สึนามิถล่มโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี 2011 ที่แม้จะสร้างกำแพงในทะเลเพื่อป้องกันสึนามิไว้แน่นหนาแล้ว แต่ท้ายที่สุด คลื่นสึนามิในครั้งนั้นกลับรุนแรงเกินคาดและโถมเข้าชายฝั่งอย่างไม่ปรานี

ดังนั้นขั้นตอนการเตรียมตัวรับมือกับภัยพิบัติ จึงต้องอาศัยการฝึกฝนซักซ้อมเสมือนเหตุการณ์เกิดขึ้นจริงอยู่เป็นระยะ การเคลื่อนย้ายผู้คนก็ดีการศึกษาเส้นทางอพยพก็ดี เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ต้องอาศัยข้อมูลประกอบ เช่น กรณีสถานที่ท่องเที่ยวนี้เคยเกิดเหตุการณ์สึนามิ ก็ต้องรู้ก่อนว่าถ้าสึนามิมาควรต้องไปทางไหน หรือขึ้นภูเขาสูงตรงไหนได้บ้าง รวมถึงฝึกการปฏิบัติงานในภาวะวิกฤติ เช่น การค้นหาผู้ประสบภัย การกู้ชีพ ในช่วง 1-2 วันแรก ซึ่งต้องรวดเร็ว ทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังต้องมีแผน เยียวยาผู้ประสบภัย และการเข้าไปตรวจสอบความปลอดภัยของอาคาร ฟื้นฟูสิ่งก่อสร้างและซ่อมแซมปรับปรุงให้ดีกว่าเดิม เพื่อที่จะรับมือกับภัยในครั้งต่อๆ ไปได้

แต่สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องตระหนักว่า ภัยพิบัติเป็นเรื่องไม่แน่นอนการเตรียมความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญเสมอก่อนออกเดินทางแต่ละครั้ง แต่แค่เช็กสภาพอากาศ วางแผนทริป ลิสต์จุดเช็กอินห้ามพลาด หามุมที่ต้องไปถ่ายรูปสักครั้งในชีวิต หรือปักหมุดร้านเด็ดร้านดังที่ต้องไปเยือน อาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เพราะเราอาจต้องนึกถึงการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดสูงขึ้นเรื่อยๆ การเปลี่ยนวิธีคิดในการเที่ยวปรับมุมมองเรื่องภัยพิบัติเข้าไปด้วย จึงเป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวรุ่นใหม่จะต้องนึกถึงไว้ด้วย

ที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะนิยามตัวเองเป็นนักท่องเที่ยว นักเดินทาง แบ็กแพ็กเกอร์ นักผจญภัย หรือนักสำรวจ เราก็ต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการออกไปสัมผัสความงาม ไม่ว่าจะความงามที่ตาเห็น หรือความงามที่ใจรู้สึก บางคนชอบท่องเที่ยวแบบชิลล์ๆ ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ เน้นกิน เที่ยว ถ่ายรูปตามสถานที่สวยงาม อย่างเช่น หอไอเฟล หรือบางคนชอบไปในที่ที่ดูธรรมดา แต่มีเสน่ห์อย่างชุมชนพื้นบ้าน เพื่อเรียนรู้วัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ ขณะที่คนบางกลุ่มก็ชอบชมธรรมชาติ ไปดูปะการังใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่เปราะบางที่ออสเตรเลีย หรือแม้แต่สถานที่ท่องเที่ยวที่ผ่านภัยพิบัติมาหมาดๆ เช่น แผ่นดินไหว ก็มีคนอยากไปดูอยากไปเห็นเช่นกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราอยากจะใช้เวลาในการเดินทางของเราในแบบไหน

การคลุกคลีและทำงานด้านภัยพิบัติตลอดกว่า 10 ปีของผู้เขียน คิดว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ ยังไม่มองการท่องเที่ยวในฐานะที่มันเป็นการเผชิญ
ความเสี่ยงจากภัยพิบัติเท่าที่ควร โดยส่วนใหญ่เราไปเที่ยวเพื่อให้รู้สึกว่าได้ไป ไปเพื่อให้ได้เรียนรู้ เพื่อให้ได้เข้าใจในสิ่งที่มากกว่าภาพถ่าย
และที่สำคัญคือ ไปเพื่อให้ได้ตกผลึก นำมาต่อยอดให้เป็นสิ่งดีงามทั้งทางรูปธรรมและทางนามธรรม ซึ่งเราสามารถนำประสบการณ์ที่พบเจอ
มาสร้างสิ่งใหม่ที่เกิดประโยชน์​ หรือเก็บเรื่องราวต่างๆ มาขัดเกลาจิตใจตัวเองให้ดีขึ้นได้ เมื่อรู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง ณ ที่แห่งนั้น เราจะมองเห็นความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์ ระหว่างสิ่งต่างๆ รอบตัวกับตัวเรา

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ผลพวงจากภาวะโลกร้อน ทำให้ทุกวันนี้หลายประเทศทั่วโลก รวมทั้งไทย ต่างต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่แปรปรวน ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ทวีคูณความรุนแรงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นนี่อาจถึงเวลาที่เราต้องมาคิดเรื่องการอยู่กับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนมากขึ้น การท่องเที่ยวก็เช่นเดียวกัน เราต้องส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวนอกจากจะทำให้เราได้เห็นทั้งวิถีชีวิตหรือเห็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่อยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมแล้ว เรายังต้องช่วยกันทำให้นักท่องเที่ยว ร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการท่องเที่ยว

จากการอ่านหนังสือเล่มนึงที่ประทับใจมาก คือ Architecture Without Architects ที่เขียนโดย Bernard Rudofsky เป็นหนังสือว่าด้วย
สถาปัตยกรรมเก่าแก่และภูมิปัญญาของชาวบ้านในการสร้างที่อยู่อาศัยให้เหมาะกับสภาพภูมิอากาศหรือสภาพภูมิประเทศ เช่น เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ในเมืองซิน ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งตะวันตกของปากีสถาน ในช่วงฤดูร้อนมีอุณหภูมิสูงถึงกว่า 50 องศาฯ จึงนิยมสร้างหลังคาบ้านให้เป็นปล่องดักลม ลาดเอียงในองศาที่เปิดรับลมผ่านสะดวก ทะลุทะลวงลงเข้ามาในตัวบ้าน ได้ถึงชั้นล่างสุด หรือบางพื้นที่ของจีนในสมัยโบราณ มีการสร้างบ้านเป็นหลุมลึกลงไปใต้ดินและมีหลายครอบครัวอยู่ร่วมกันรอบๆ แล้วทำไร่เกษตรกรรมด้านบน ด้วยลักษณะของดินในพื้นที่และการสร้างบ้านที่มีคอร์ตกลางใต้ดินนี้ ทำให้ทุกบ้านมีอากาศอบอุ่นในช่วงฤดูหนาว และเย็นสบายในช่วงฤดูร้อน ซึ่งภูมิปัญญาเหล่านี้ (ที่หลายแห่งสูญหายไปแล้ว) มันน่าไปดู ไปเรียนรู้ แล้วก็เอามาประยุกต์ใช้กับการปรับตัวอยู่กับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวในปัจจุบันได้

ทีนี้ทำอย่างไรเมื่อภัยพิบัติแวะมาทักทาย?

หากการท่องเที่ยว คือ ‘การใช้ชีวิต’ ภัยพิบัติ ก็คงไม่ต่างอะไรกับสิ่งไม่พึงปรารถนาที่มาในรูปของ ‘ความทุกข์’ดังนั้น ทุกสถานที่ที่เราไปเยือน ต่อให้ไม่ใช่สถานที่ท่องเที่ยว หรือแม้กระทั่ง สถานที่รอบตัวเราเองในชีวิตประจำวัน ขอแค่เราเปิดใจ และเคารพในสรรพสิ่ง โลกกว้างใบนี้จะสอนอะไรเราเยอะมาก บางครั้งการปิดตาทำให้เราได้ยินเสียงที่ชัดขึ้น ปิดหูก็อาจทำให้เราเห็นภาพต่างๆ ชัดขึ้น หรือปิดปากแล้วหันมาพิจารณาตัวเอง โลกใบนี้ก็น่าจะดีขึ้นได้ อาจฟังดูโรแมนติก แต่สิ่งนี้คงช่วยได้ไม่มากก็น้อย ทั้งในแง่สิ่งรอบตัว และสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในอนาคต

สารคดีที่ผู้เขียนชอบเรื่องหนึ่งคือ Powers of Ten โดย Charles and Ray Eames เป็นสารคดีฉายให้เราเห็นถึงภาพที่มีมุมมองค่อยๆ ไกลออกไปจากตัวเรา ไกลออกไปจากโลกใบนี้ และหยุดที่ ‘จักรวาล’ จากนั้นซูมภาพกลับเข้ามายังโลก เคลื่อนผ่านตัวเรา และเข้าไปยังภายใน ณ จุดที่เล็ที่สุดคือ อะตอมในร่างกายมนุษย์ทั้งสองมุมมองภาพนี้สะท้อนว่าเราเป็นเพียงเศษเสี้ยวอันน้อยนิดในจักรวาล ที่ทุกอย่างล้วนสัมพันธ์กันหมด

อันที่จริงโลกของเราเกิดขึ้นและตั้งอยู่มาหลายล้านปีแล้ว เปลี่ยนผ่านมาหลายยุคสมัยด้วยภัยพิบัติที่รุนแรงกว่าหลายเท่า ทว่าประวัติศาสตร์มนุษยชาติเพิ่งเริ่มต้นเมื่อไม่กี่หมื่นปีนี้เอง ดังนั้น การเกิดภัยพิบัติล้วนแต่มีความเป็นไปได้ และไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร

คำถามคือ เราจะอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ได้อย่างไร?

เมื่อเราต้องเผชิญกับภัยพิบัติ ขอให้เรามีสติ เตรียมพร้อมทั้งร่างกาย  และจิตใจ รักษาชีวิตของตัวเองและคนรอบข้างให้ได้หากมีกำลัง แต่ถ้าเลี่ยงกับสิ่งไม่คาดฝันไม่ได้ ก็ต้องปล่อยใจให้สงบและมีมรณานุสติ ระลึกไว้ว่าอะไรจะเกิดมันก็ต้องเกิด

ขอบคุณแสงอาทิตย์ที่ทำให้เห็นความงามของสรรพสิ่งบนโลกมนุษย์ใบนี้ แม้เป็นเพียงเสี้ยวเล็กๆ ของจักรวาล

เพราะ ‘ภัยพิบัติ’ ไม่เข้าใครออกใคร ความพร้อมของกายและใจ จึงเป็นสิ่งที่เราต้องพกพาระหว่างออกเดินทางด้วยทุกครั้ง

 

เรื่อง : วิภาวี คุณาวิชยานนท์

Illustration  : Nannicha Sriwut

Share This Story !

0.4 min read,Views: 1416,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 21, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 21, 2024