The Disappointing Night

แต่ไหนแต่ไร เมื่อพูดถึงทรัพยากรทางธรรมชาติ เรามักจะนึกถึงทรัพยากรดิน ป่าไม้ น้ำ แร่ธาตุ อากาศ หรือสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติซึ่งล้วนเป็นประโยชน์กับมนุษย์ แต่น้อยคนนักจะนึกถึงท้องฟ้าที่ ‘มืดมิด’

ในอดีตที่โลกยังไม่พึ่งพาแสงสว่างยามค่ำคืน ดวงจันทร์และดวงดาวระยิบระยับเคยมีอยู่เต็มท้องฟ้า จนกระทั่งแสงไฟฟ้าได้ถือกำเนิดขึ้นมาเพื่อเอาชนะความมืดมิดยามค่ำคืน เพียงเวลาไม่ถึงศตวรรษ แสงที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาได้เปลี่ยนท้องฟ้าให้กลายเป็นแหล่งสะสมมลภาวะทางแสง นับตั้งแต่นั้นมา เราก็พลาดโอกาสที่จะได้สัมผัสกับความมหัศจรรย์ของท้องฟ้ายามค่ำคืนอย่างในอดีต ถนน ตึกรามบ้านช่อง ป้ายโฆษณาทุกมุมเมืองถูกปกคลุมไปด้วยแสงสังเคราะห์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ล้วนมองว่าแสงสว่างเป็นสิ่งจำเป็น เพราะยิ่งมีไฟส่องแสงเท่าไร บ้านเมืองก็ยิ่งปลอดภัย ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัววัดระดับคุณภาพ ชีวิตและความสะดวกสบายของผู้คน และแน่นอนว่าความต้องการแสงไฟ ที่ใช้ในแต่ละวันก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

โลกกำลังเผชิญกับสภาวะอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ผลกระทบจากอุณหภูมิของโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ผ่านมาเราได้เห็นความพยายามของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในการแก้ไขปัญหามลพิษต่างๆ แต่ ‘มลพิษทางแสง’ กลับเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงในวงแคบทั้งที่ผลกระทบมหาศาล

คนทั่วโลกจำนวน 1 ใน 3 ไม่เคยเห็นทางช้างเผือกเลย ซึ่งรวมถึงร้อยละ 80 ของประชากรที่อาศัยในตัวเมืองของสหรัฐฯ และร้อยละ 60 ของยุโรป
เพราะแสงไฟในเมืองกำลังสร้างหมอกของมลพิษทางแสง ข้อมูลจาก Light Pollution Science and Technology Institute ระบุว่าพื้นที่โลกกว่าร้อยละ 80 ถูกปกคลุมไปด้วยมลพิษทางแสง และเกือบทั้งหมดของประชากรยุโรปและสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับมลพิษทางแสงที่ทำให้ท้องฟ้ามืดมนตลอดเวลา มีการประเมินว่าการใช้ไฟบนถนนที่ส่องแสงโดยไม่ก่อประโยชน์ทำให้สหรัฐฯ สูญเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 2.2 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ด้วยเหตุนี้ การวางระเบียบการใช้แสงสว่างจึงมีความสำคัญอย่างมากเพื่อการควบคุมการใช้แสงสว่างในเมือง จัดพื้นที่การใช้แสงสว่างในเวลาที่จำเป็นและปริมาณที่พอเหมาะ เมื่อแสงสว่างถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว นั่นหมายถึงการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ซึ่งจะช่วยประเทศประหยัดงบประมาณและทรัพยากรได้ในระยะยาว

จำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่ได้ดูดาวเต็มฟ้าคือเมื่อไหร่?

ปรากฏการณ์ Under the Dome สารคดีในประเทศจีนที่มีผู้ชมนับร้อยล้านที่ชวนให้คนจีนตื่นตัวและกลับมาคิดถึงปัญหามลภาวะในประเทศกัน
อีกครั้ง เนื้อหาส่วนหนึ่งของสารคดีเปิดเผยถึงเรื่องราวของเด็กจีนในเมืองใหญ่ที่ไม่ค่อยได้เห็นแม้แต่ท้องฟ้าสีฟ้า เมฆ และดวงดาว เนื่องจากหมอกควันจากมลพิษคือสิ่งที่บดบังท้องฟ้าอยู่ตลอดเวลา และหากย้อนกลับไปในปี 1994 ครั้งที่แคลิฟอร์เนียเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงขนาด 6.7 แมกนิจูด ขณะที่ไฟดับทั้งแอลเอตกอยู่ในความมืดสนิท ชาวเมืองจำนวนไม่น้อยกดโทรศัพท์ถึงสายด่วน 911 เพื่อแจ้งเหตุการณ์เกิดแสงสว่างประหลาดเรืองแสงขนาดใหญ่พาดตัวอยู่บนท้องฟ้า ทางช้างเผือกปรากฏขึ้น คืนนั้นพวกเขาเห็นเป็นครั้งแรกในชีวิตโดยที่ไม่รู้ว่ามันคืออะไร…

นอกจากผลเสียด้านสิ้นเปลืองพลังงานแล้ว มลภาวะทางแสงยังทำให้ระบบนิเวศเสียสมดุลอย่างยิ่งยวด ซึ่งเป็นความเสียหายที่ประเมินค่าไม่ได้ ผลกระทบที่ชัดเจนที่สุดคือผลกระทบต่อสัตว์มีชีวิตระดับล่างของห่วงโซ่อาหาร ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ การหลงทิศทางของนกอพยพและสัตว์กลางคืนมากมายหลายชนิด ในแต่ละปีจะมีนกอพยพในสหรัฐฯ มากกว่า 5 ล้านตัวที่ต้องตายเพราะมลพิษแสง จากการบินชนกระจกหรือบินวนหลงทางจนเหนื่อยตาย เกิดความคลาดเคลื่อนในการผสมเกสรพันธุ์พืช แทรกแซงกลไกการจับคู่ผสมพันธุ์ของหิ่งห้อย ลูกเต่าทะเลที่ฟักออกจากไข่แล้วพยายามมองหาทะเลจากแสงสะท้อนบนแนวคลื่นกระทบฝั่ง แต่เมื่อเมืองใกล้เคียงมีแสงสว่างมากเกินไปจึงทำให้ลูกเต่าสับสนเดินขึ้นไปตายบนบกนับล้านตัว ส่งผลกระทบต่อโอกาสรอดและประชากรลูกเต่าทะเลที่ลดลง นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยจึงมองว่ามลพิษแสงได้สร้างความเสียหายแก่โลกไม่ต่างกับมลพิษทางเคมีหรือปัญหาโลกร้อนโดยที่เราไม่รู้ตัว

ความสวยงามที่ซ่อนอยู่ในความมืด

ไม่ว่าจะดูดาวเป็นหรือไม่ หากเป็นค่ำคืนในสถานที่ที่ไม่มีแสงไฟมารบกวนมากนัก ทุกครั้งที่แหงนหน้ามองท้องฟ้า ดาวระยิบระยับนับล้านจะทำให้รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของโลกใบนี้อย่างอธิบายไม่ถูก ด้วยเหตุนี้กระแสการเดินทางตามล่าดูดวงดาวเริ่มเติบโตและขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ International Dark Sky Association หรือ IDA ออกโปรแกรมให้การรับรองพื้นที่ที่สามารถรักษามาตรฐานท้องฟ้าที่มืดมิดจนเข้าถึงความงามของธรรมชาติ เพื่อผลักดันให้เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ เพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในอนาคต ในปี 2017 ที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวราว 7 ล้านคนเดินทางในสหรัฐฯ เพื่อไปดูปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง (Solar Eclipse) สะท้อนให้เห็นว่าสาธารณชนสนใจสุริยุปราคากันมากขึ้น ซึ่งคาดการณ์ว่าสุริยุปราคาแบบเต็มดวง จะเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2019 ครอบคลุมทั้งทวีปอเมริกาใต้

ข้อมูลจาก Lonely Planet ชี้ให้เห็นว่า ทุกวันนี้แหล่งท่องเที่ยวทั่วโลกตอบรับกระแสการเดินทางไปดูดาวผ่านการออกแบบสินค้าทางการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก นอกจากนักท่องเที่ยวจะได้เห็นความสวยงามของสถานที่ใหม่ๆ แล้ว ยังได้พักผ่อนภายใต้แสงดาวอย่างเต็มอิ่ม ตั้งแต่ทัวร์เส้นทางดาว ไปจนถึงปาร์ตี้ใต้แสงดาวบนยอดภูเขาไฟ

ตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐฯ

มีสถานที่ที่เหมาะกับการดูดาวอยู่หลายแห่งด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น Natural Bridges เขตอนุรักษ์ฟ้ามืดแห่งแรกของโลกในรัฐ Utah เมือง Flafstaff ในรัฐ Arizona ที่ตั้งแคมป์ Cosmic ใน New Mexico ตลอดจนงานเลี้ยงฉลองค่ำคืนแห่งดวงดาวบริเวณแกรนด์แคนยอนที่จัดเป็นประจำในเดือนมิถุนายนของทุกปี

ญี่ปุ่น

อุทยานแห่งชาติ Iriomote-Ishigaki ในจังหวัดโอกินาว่า ประเทศญี่ปุ่นได้รับการรับรองให้เป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากลในปี 2018 ครอบคลุมบริเวณกว่า 406 ตารางกิโลเมตร รวมไปถึงเกาะ Yaeyama ที่อยู่ห่างออกไปทางทะเลตอนใต้ ซึ่งนับเป็นบริเวณที่เหมาะสมกับการดูดาวมากที่สุดในประเทศ

ตอนเหนือของสหราชอาณาจักร

บริเวณที่ท้องฟ้ามืดที่สุดในยุโรปอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศอังกฤษ อย่าง อุทยานแห่งชาติ Northumberland ซึ่งได้การรับรองเป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดแห่งแรกในอังกฤษ รวมถึงเขต Kielder Water & Forest Park โดยมีจิตอาสาซึ่งเป็นคนในพื้นที่ สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับพื้นที่ที่จะเห็นดาวในสหราชอาณาจักรได้อย่างทะลุปรุโปร่งเป็นผู้นำทีมทริปการออกดูดาว

แค่ปิดไฟ!

เชื่อกันว่าในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์เราสามารถมองเห็นทางช้างเผือกด้วยตาเปล่าในทุกค่ำคืน กล่าวได้ว่าท้องฟ้าเป็นธรรมชาติที่เราเข้าถึงได้ง่ายที่สุด กลางวันเห็นเมฆ กลางคืนเห็นดาว ในค่ำคืนที่ฟ้ามืดมิดเป็นพิเศษนั้น ก็จะกลายเป็นมูลค่าเชิงการท่องเที่ยวได้

เมืองเล็กๆ หลายเมืองเล็งเห็นจุดขายนี้และรณรงค์ลดมลภาวะแสงในเมืองมาซักระยะแล้ว เมืองที่ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีวิวสวยอลังการ ไม่มีภูเขา ทะเล สวนดอกไม้ หรือสัตว์แปลกๆ ไปแข่งขันกับคู่แข่งในตลาดการท่องเที่ยว แต่เมืองนั้นมีท้องฟ้าสวยและอากาศสดใส เพียงแค่การออกแบบแสงสว่างในเมือง จำกัดการใช้แสงแต่พอสมควร กำหนดทิศทางไฟสว่างตามท้องถนนไม่ให้สะท้อนขึ้นบนฟ้า จัดวางแสงไฟในตำแหน่งที่จำกัด เมื่อฟ้ามืดสนิทพอให้ดาวปรากฏตัว เมืองนั้นก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวได้ โดยอาจเพิ่มมูลค่าทางการท่องเที่ยวด้วยการมีข้อมูลแผนที่ดูดาว โปรแกรมทัวร์ดูดาว จนถึงการจัดเทศกาลดูดาว

  • เมื่อ 10 ปีที่แล้ว เมือง Boulder ออกกฎเทศบาลเรื่องการรณรงค์ต่อต้านมลภาวะ โดยกำหนดการใช้แสงสว่างทั่วเมือง โคมไฟตามท้องถนนในเมือง จะส่องลงไปที่ฟุตปาทโดยตรง และมีโคมหุ้มหลอดไฟเพื่อป้องกันไม่ให้แสงไฟสว่างขึ้นไปบนท้องฟ้า นอกจากนี้ ยังไม่มีโคมไฟตามถนนบางสายในแหล่งที่พักอาศัยอีกด้วย
  • หลายเมืองใหญ่อย่าง New York เริ่มออกมาตรการลดมลภาวะแสง ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจว่ากระบวนทัศน์ของเมืองจะเปลี่ยนแปลงในรูปแบบนี้ จากเดิมที่สังคมยอมรับว่าเมืองต้องสว่างไสวด้วยแสงไฟอย่างขาดไม่ได้ เปลี่ยนเป็นว่าการมองเห็นดาวในเมืองเป็นสิ่งที่ควรจะเป็นและเป็นไปได้
  • ชุมชนแห่งโคโลราโด ได้นำแปลนแม่แบบการจัดแสงไฟในเมืองที่ต้องการจำกัดมลภาวะแสงมาสู่ภาคปฏิบัติ ซึ่งจะช่วยให้เมืองมีฟ้ามืดสนิทจนสามารถมองเห็นดาวได้มากขึ้น
  • ท้องฟ้ายามค่ำคืนที่สวยงามของชาว Westcliffe และ Silver Cliff ทางตะวันตกของโคโลราโดไม่ได้สูญหายไป จากที่ 2 เมืองเล็กๆ นี้ไม่ค่อยเคยเห็นดวงดาวบนท้องฟ้าเลย ปัจจุบันดวงดาวกลับมาอีกครั้ง เพราะสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติได้กลับมาสดใสเหมือนเดิมด้วยความร่วมมือของคนในชุมชนที่เห็นตรงกันว่าแสงสว่างและธรรมชาติบนท้องฟ้า เปรียบเสมือนความสุขของชาวเมืองและนักท่องเที่ยว
  • แม้ว่ามรดกทางธรรมชาติที่โดดเด่นของทะเลสาบเทคาโพ เมืองทวิเซล นิวซีแลนด์ คือนกตีนเทียนดำที่ไม่เคยพบที่อื่นในโลก แต่ทะเลสาบแห่งนี้กลับเป็นสถานที่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในเรื่องแสงดาวบนท้องฟ้า ซึ่งถือได้ว่าเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้นักท่องเที่ยวคุณภาพมาเยี่ยมเยือนเป็นจำนวนมาก

คืนฟ้ามืดให้ดาวที่อินทนนท์

หลายพื้นที่ในประเทศไทยอย่างอุทยานแห่งชาติ เมือง หรือหมู่บ้านเล็กๆ มีศักยภาพพอที่จะผลักดันให้เป็นพื้นที่นำร่องด้านการบริหารจัดการการใช้ไฟสว่างยามค่ำคืนเพื่อให้เมืองปลอดมลพิษแสง เพียงการเปลี่ยนโคมไฟด้วยงบประมาณเพียงเล็กน้อย สร้างมูลค่าเพิ่มทางการท่องเที่ยวด้วยการจัดการที่เรียบง่าย แต่ช่วยลดการใช้พลังงานได้ในระยะยาว

องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (UNESCO) ได้ประกาศให้ปี 2558 เป็นปีสากลแห่งแสงและเทคโนโลยีแสง โดยเน้นความสำคัญของแสงและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องซึ่งมีผลต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนของมนุษยชาติ นับตั้งแต่นั้นมา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร. จึงได้ริเริ่มโครงการลดมลภาวะทางแสงในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์เป็นแห่งแรกในประเทศไทย ทำหน้าที่รณรงค์ลดการใช้แสงสะท้อนส่วนเกิน และปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าให้เกิดมลภาวะน้อยที่สุด ภายใต้ชื่อ ‘Dark Sky
Campaign’ ที่ดำเนินการในระดับนานาชาติ และหากโครงการดังกล่าวบรรลุผลสำเร็จ ดอยอินทนนท์ก็จะกลายเป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จเรื่องการจัดการมลภาวะทางแสงบนท้องฟ้า

ปูทางสู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

การรณรงค์ลดมลภาวะทางแสง สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนดอยอินทนนท์ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ห่างไกลจากแสงรบกวน ช่วยให้มองเห็นทางช้างเผือกได้ด้วยตาเปล่า นับเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับการได้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์กลับคืนมา

สดร. ได้บันทึกภาพทางช้างเผือกบนดอยอินทนนท์ได้เมื่อต้นปี 2561ในช่วงเช้ามืด ซึ่งมีดาวพฤหัสบดี ดาวอังคาร และดาวเสาร์ปรากฏอยู่ด้วยในเวลาดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าสภาพท้องฟ้าบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์มืดสนิทอยู่ในระดับค่อนข้างสูง และหากดอยอินทนนท์ได้การรับรองให้เป็นเขตอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (Dark Sky Certification) จากสมาคมอนุรักษ์ฟ้ามืดสากล (International Dark-Sky Association หรือ IDA องค์กรระหว่างประเทศที่สร้างมาตรฐานท้องฟ้ามืดมิดจนเข้าถึงความงดงามของธรรมชาติ) ก็จะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเป็นต้นแบบระบบการจัดการชุมชนเพื่อเป็นตัวอย่างให้กับพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทยต่อไปในอนาคต

ด้วยความร่วมมือจากคนในพื้นที่ควบคู่ไปกับการให้ ‘เวลา’ เป็นข้อพิสูจน์ว่าท้องฟ้าที่มืดลงจะให้อะไรกลับมากับชุมชนบ้างจนเกิดเป็นความรู้สึกที่ดี โมเดลสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ตามโครงการอุทยานฟ้ามืดเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการดูดาว ณ ตำบลแม่อูคอ อำเภอขุนยวม แหล่งท่องเที่ยวดูดาวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่ามีนักท่องเที่ยวเดินทางมาพักค้างคืนกับโฮมสเตย์กันเพิ่มขึ้น ชาวบ้านจึงต้องการรักษาฟ้ามืดแบบนี้ให้คงไว้ เนื่องจากเป็นแหล่งรายได้ของคนในชุมชน กล่าวได้ว่าการรณรงค์ลดมลพิษทางแสงนี้ ไม่ได้มีผลดีเฉพาะด้านการประหยัดพลังงานหรือรักษาสภาพแวดล้อมแต่เพียงเท่านั้น แต่ยังช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับชุมชนอีกด้วย

5 (Million) Stars Hotel

กระแสการเดินทางท่องเที่ยวเพื่อการดูดาวที่ได้รับความนิยมมากขึ้นส่งผลให้เกิดสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

ในช่วงปีที่ผ่านมา กระแสที่พักแบบ Bubble Hotel คลื่นลูกใหม่ที่ก้าวขึ้นมาเป็นที่พักรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์นักท่องเที่ยวที่ต้องการพักผ่อนนอนดูดาวบนท้องฟ้าแบบไม่มีหลังคามาบดบัง ภูมิทัศน์โดยรอบสุดลูกหูลูกตา ห้องพักถูกออกแบบมาอย่างโดดเด่นท่ามกลางธรรมชาติ และที่สำคัญคือเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม! Bubble Hotel ทยอยเปิดตัวขึ้นอย่างแพร่หลายในพื้นที่ที่มีความงดงามทางธรรมชาติทั่วโลก นับตั้งแต่กลางทะเลทรายประเทศจอร์แดนแบบหรูหราในชนบทไปจนถึงกลางป่าที่ปกคลุมไปด้วยหิมะในประเทศไอซ์แลนด์ โดยเอกลักษณ์เฉพาะคือการออกแบบที่พักให้เป็นรูปร่างทรงโดมโปร่งใสมีแค่เตียงนอนสไตล์มินิมอล

แม้จะได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากแค่ไหน แต่สภาพแวดล้อมภายนอกก็เป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ อุณหภูมิที่สุดขั้ว แมลงและสัตว์เลื้อยคลาน ล้วนเป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้อต่อการนอนหลับพักผ่อน แต่ในปัจจุบันนี้Bubble Hotel ได้เพิ่มศักยภาพและความพร้อมในการรองรับนักท่องเที่ยวทั้งในด้านความสะดวกสบาย และความหรูหรา ซึ่งนับเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ผู้เข้าพักให้ความสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวสามารถเลือกห้องพักแบบ Suite พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นเตียงนอนขนาด King Size อ่างอาบน้ำ และฮีทเตอร์ทำความร้อน ทั้งนี้ สิ่งที่ทำให้ที่พัก Bubble Hotel โดดเด่นกว่าที่พักแบบดั้งเดิม คือการได้พักผ่อนแบบแนบชิดกับธรรมชาติมากที่สุด โดยที่ผู้เข้าพักยังได้รับความสะดวกสบายไม่ต่างกับโรงแรม

นอกจากนี้ แอปพลิเคชันต่างๆ ก็นับเป็นสิ่งที่มีประโยชน์อย่างยิ่งในการวางแผนและหาข้อมูลเกี่ยวกับการเดินทางไปดูดาว แอปพลิเคชันมากมายได้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้สำหรับตรวจสอบมลพิษทางแสงทั่วโลก อาทิ Light Pollution Map-Dark Sky, Dark Sky Meter, Sky Live เป็นต้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้มีข้อมูลวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการดูดาว และการถ่ายภาพ

แน่นอนว่าในปีนี้การเดินทางท่องเที่ยวตามแหล่งท่องเที่ยว ‘นอกกระแส’จะยังเป็นเทรนด์ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกให้ความสนใจต่อเนื่องจากปีที่แล้ว การขยายตัวของเมืองในบริบทของโลกยุคใหม่ที่มีจำนวนประชากรโลกสูงเป็นตัวแปรสำคัญที่ส่งผลต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมความวุ่นวายในเมืองทำให้เวลาในการศึกษาเรียนรู้สิ่งต่างๆ รอบตัวลดน้อยตามลงไป ผู้คนจึงยิ่งหวนหาการกลับสู่ธรรมชาติ และให้ความสนใจและตามหาพื้นที่บนโลกใบนี้ที่มีฟ้ามืดมิด รับรู้ถึงความสำคัญและคุณค่าที่ได้เข้าถึงฟ้าปลอดโปร่ง ไร้มลพิษ และได้มองเห็นดวงดาวนับล้านที่ลอยอยู่ตรงหน้า การออกเดินทางท่องเที่ยวจะมีความท้าทายมากขึ้น นักท่องเที่ยวจะเดินทางไปยังสถานที่ห่างไกลเพื่อสัมผัสความสวยงามของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด แต่ก็ยังมองหาความสะดวกสบายที่ครบครัน

โดย พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล

Share This Story !

1.8 min read,Views: 1443,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 27, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 27, 2024