เกณฑ์การพัฒนา การท่องเที่ยวโดยชุมชน ของไทย เทียบเท่าเกณฑ์ระดับสากล
Bring up Thailand community based tourism development criteria to equalize international standard
On pathway of developing Thailand designated areas to meet the criteria of global standard, DASTA expands and cooperates with international partners such as Global Sustainable Tourism Council Criteria (GSTC). We implemented GSTC’s criteria and adapted it to make it suitable with Thailand’s communities. Making it as a human resource development and networking tool which can be use for sustainability and effective tourism management.
ด้วยความมุ่งหวังสู่การพัฒนาชุมชนในพื้นที่พิเศษให้เกิดความยั่งยืนอย่างมี มาตรฐานในระดับสากล อพท. ได้ขยายความร่วมมือกับภาคีระดับนานาชาติ อย่างสภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council Criteria) หรือ GSTC โดยการนำเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ GSTC มาเป็นกรอบในการสร้างองค์ความรู้ ต่อยอด ประยุกต์ให้เข้ากับบริบท ของชุมชนในเมืองไทย เกิดเป็น ‘เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ ประเทศไทย’ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาบุคลากรและเครือข่ายให้สามารถ นำไปบริหารจัดการการท่องเที่ยวให้มีประสิทธิภาพ และสร้างความยั่งยืน อย่างแท้จริง
เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย ถือเป็น เครื่องมือสำคัญในการวางแผน ดำเนินการ และประเมินผลการพัฒนา การท่องเที่ยวโดยชุมชน โดยมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ดังนี้
1. ด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
2. ด้านการจัดการเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตที่ดี
3. ด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกทางวัฒนธรรมชุมชน
4. ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
5. ด้านคุณภาพการบริการการท่องเที่ยวโดยชุมชน
โดยเกณฑ์ฯ ดังกล่าว ถือเป็นหลักเกณฑ์ที่จะช่วยประเมินว่าชุมชนมีจุดแข็ง จุดอ่อนในประเด็นใด เพื่อให้ชุมชน และหน่วยงานพี่เลี้ยงสามารถเติมเต็มและเสริมสร้างศักยภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทั้งนี้การนำเกณฑ์ฯ ไปใช้ก็เพื่อประโยชน์ของการพัฒนาการท่องเที่ยวในชุมชนต้นแบบ ผ่านการขับเคลื่อน ของชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่พิเศษต่างๆ โดยเป้าประสงค์ของการพัฒนาในระยะยาว ของการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ การที่แหล่งท่องเที่ยวมีระบบการบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อให้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว กระจายสู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
อพท. ได้นำเกณฑ์ดังกล่าวทดลองใช้เป็นแนวทางการพัฒนา 14 ชุมชนต้นแบบในพื้นที่พิเศษ โดยมีกระบวนการ ให้ชุมชนประเมินตนเอง นำผลการประเมินพัฒนาเป็นแผนการเสริมสร้างศักยภาพแต่ละชุมชน และติดตาม ประเมินผลการพัฒนาโดยคณะทำงาน ทั้งมีการถอดบทเรียนมาตลอดระยะเวลา 5 ปี และได้นำเสนอเกณฑ์ ให้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) เห็นชอบให้ใช้เกณฑ์ฉบับนี้เป็นแนวทางการพัฒนา การท่องเที่ยวโดยชุมชนของประเทศไทย
และเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2561 สภาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Council: GSTC) ได้พิจารณาความสอดคล้องของมาตรฐานการจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของ อพท. กับหลักเกณฑ์ GSTC และที่ประชุม GSTC Accreditation Panel ได้มีมติยอมรับ ‘เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนของ ประเทศไทย’ เทียบเท่ากับหลักเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสำหรับสถานที่ท่องเที่ยวของ GSTC ซึ่งเป็นที่ ยอมรับในระดับสากล
เครื่องมือ ‘เกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยชุมชนของประเทศไทย’ หนทางสู่ชุมชน อยู่ดีมีสุข
หลายชุมชนต้นแบบและชุมชนขยายผล ที่นำเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยชุมชนของประเทศไทย ไปปรับใช้ให้เข้ากับบริบทและเป้าหมาย ของการท่องเที่ยวในชุมชน การประเมินชุมชนด้วยเกณฑ์เปรียบเสมือน การตรวจสุขภาพประจำปี ร่างกายที่อาจมีส่วนสึกหรอรอการฟื้นฟู ‘เครื่องมือ’ นี้ ก็คงไม่ต่างจากวัคซีนที่ฉีดไว้เป็นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
ตัวอย่างเช่น ชุมชนในหุบเขาสีชมพู ‘กกสะทอน’ จ.เลย ที่มีภูลมโล หมุดหมายสุดฮิตสำหรับผู้ที่อยากชมความงามของ ซากุระเมืองไทย ในบรรยากาศลมหนาวช่วงเดือนมกราคม–กุมภาพันธ์ สีชมพูกลายเป็น ฉากโรแมนติก ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลเข้ามาสู่ชุมชน ทางชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนกกสะทอน จึงมีการประเมิน และสร้างความเข้าใจให้คนในชุมชนตระหนักถึงการดูแลรักษาทรัพยากร และสภาพแวดล้อมของภูลมโล มีการจัดการทรัพยากร ธรรมชาติ และ สิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ โดยมีกฎร่วมกันว่า ต้องไม่มีการก่อกองไฟ ห้ามนักท่องเที่ยวกางเต็นท์ และจำกัดปริมาณนักท่องเที่ยวต่อวัน เพื่อความปลอดภัยและรักษาสภาพแวดล้อมของชุมชนไว้ให้ยั่งยืน อีกทั้งยังบริหารจัดการเรื่องกองทุนส่วนกลางอย่างละเอียดและโปร่งใส มีเส้นทางรายรับ รายจ่าย และการกระจายรายได้ไปสู่กลุ่มต่างๆ อย่างชัดเจน ซึ่งนี่ทำให้ชุมชนกกสะทอน สามารถบริหารจัดการ กับจำนวนนักท่องเที่ยวและบริหารจัดการเงินได้อย่างดี
หรือที่ ‘บ้านไร่กองขิง’ จ.เชียงใหม่ ถึงแม้จะไม่มีทรัพยากรทาง การท่องเที่ยวที่ดึงดูดตา แต่ที่นี่มีสิ่งที่ดึงดูดใจนักท่องเที่ยวได้ นั่นคือ ความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน การบริหารจัดการกลุ่มที่มีความเข้มแข็ง ความสามัคคี ทุกคนในชุมชนมีส่วนร่วม เหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวบอกกัน ปากต่อปาก ถึงความเอาใจใส่ และหัวใจที่รักในการทำการท่องเที่ยวโดย ชุมชน จนทำให้เป็นที่ยอมรับและได้รับรางวัลทางการท่องเที่ยวมากมาย
จะเห็นได้ว่าชุมชนเป็นเจ้าของทรัพยากรท่องเที่ยวในชุมชน เป็นผู้ตัดสินใจ และเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยว เครื่องมือที่เกิดจากการลองผิด ลองถูก แล้วนำมาถอดบทเรียน เป็นเครื่องยืนยันว่าสามารถนำไปใช้ ได้จริง องค์ความรู้นี้จะเป็นการต่อยอดให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ในชุมชนท้องถิ่น เมื่อฐานเข้มแข็งก็สามารถต่อยอดไปสู่จังหวัด ภูมิภาค สังคม และประเทศได้ต่อไป
เรื่องโดย : องค์การบริหารการพัฒนา พื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)