รวมพลังชาวเจน Z ผู้เรียกร้องเพื่อ ‘สิ่งแวดล้อม’

 

Gen Z (Generation Z) คือกลุ่มคนที่เกิดในช่วงปี 1996 – ปัจจุบัน ที่เติบโตมาพร้อมกับการรับข่าวสารและความคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและมลพิษผ่านช่องทางต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา เช่น โซเชียลมีเดีย

ทำให้คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงโลกไปในทิศทางที่ดีขึ้น นับเป็น Gen เปลี่ยนโลกเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ยังชอบเข้าร่วมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย

 

Gen Z นั้นมีความคิดเห็นเป็นของตนเอง คิดการใหญ่ และคิดแล้วก็มักจะลงมือทำพร้อมกับเรียนรู้ไปในขณะเดียวกัน มีความคาดหวังสูงว่างานต้องบรรลุผลสำเร็จ หากรู้ว่าทำเองคนเดียวอาจไม่ประสบผลสำเร็จหรือล่าช้า ก็จะชักชวนเพื่อน ๆ มาร่วมช่วยกัน อีกทั้งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต การส่งสารแชร์ข้อความผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น วางกลยุทธ์และลงมือทำอย่างทันทีทันใด

 

จะเห็นได้จากนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ มีอายุน้อย ทำแคมเปญรณรงค์ให้คนในประเทศหรือคนทั้งโลกร่วมกันรักษาสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น เหตุการณ์ที่เด็ก ๆ นับล้านคนทั่วโลกได้นัดหยุดเรียนทุกวันศุกร์เพื่อเรียกร้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาจัดการกับสภาพอากาศที่กำลังวิกฤติ (Climate Strike) ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการวันศุกร์เพื่ออนาคต (Friday for Future) ซึ่งเริ่มขึ้นมาก่อนหน้านี้โดยเรียกร้องให้ผู้ปกครองซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ ไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลือง 10 ชนิดมาใช้ที่สถานศึกษา การเพิ่มทรัพยากรหมุนเวียน (พลังงานสะอาด) เพื่อใช้ทดแทนและลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยมี เกรตา ธันเบิร์ก (Greta Thunberg) เด็กสาวชาวสวีเดนผู้ใส่ใจในปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นแกนนำ การเคลื่อนไหวของเด็กและเยาวชนจากทั่วโลกนี้ได้สะท้อนแนวคิดของพวกเขาออกไปได้ในวงกว้างและรวดเร็ว

 

เกรตา ธันเบิร์ก ได้เข้าร่วมการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN) เผชิญหน้ากับผู้นำหลายประเทศอย่างกล้าหาญ พร้อมกล่าวข้อความเรียกร้องต่อหน้าคณะกรรมการเกี่ยวกับผลกระทบจากภาวะโลกร้อน โดยอ้างจากรายงานของนักวิทยาศาสตร์ที่วิจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมแห่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC: Intergovernmental Panel on Climate Change) ว่า ถ้าหากมนุษย์ยังคงปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณเท่าเดิม ภายในไม่กี่ปีนี้หากอุณหภูมิโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อไหร่ โลกก็ยากที่จะรับมือ และอาจเกิดเป็น “มหันตภัยทางสภาพภูมิอากาศ” แล้วโลกจะถึงจุดที่ไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก ตอนนี้เป็นโอกาสสุดท้ายที่มนุษย์จะช่วยกันลดสภาวะโลกร้อน ทำให้ผู้นำและนักการเมืองของประเทศต่าง ๆ ต้องออกนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นวาระเร่งด่วนในทันที นอกจากเกรตาแล้ว ก็ยังมี Gen Z คนอื่น ๆ ที่มีบทบาทในการแก้ไขภาวะโลกร้อน เช่น

 

เจมี มาร์โกลิน (Jamie Margolin) ผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรปฏิบัติการสภาพภูมิอากาศสำหรับเยาวชน (Zero Hour) โดยเยาวชนนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้ให้ความสำคัญในเรื่องร้องเรียนภาครัฐฯ หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกที่ยังไม่ดำเนินการใด ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง

 

ออทัมน์ เพลเทียร์ (Autumn Peltier) เป็น Gen Z อีกคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะกรรมาธิการน้ำของ Anishinabek Nation โดยใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตในการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาน้ำในชุมชน First Nations ทั่วประเทศแคนาดา เธอต่อสู้และเรียกร้องเพื่อให้เด็กที่เติบโตขึ้นมาเข้าถึงน้ำประปาที่สามารถดื่มได้ อาบได้ โดยไม่เสี่ยงต่อการได้รับสารก่อมะเร็ง

 

อิชรา เฮอร์ซี (Isra Hirsi) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ US Youth Climate Strike สนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศของเยาวชนทั่วโลก

 

ประเทศไทยเองนั้นก็มีเด็กหญิงคนหนึ่งที่เข้าร่วม Climate Strike ด.ญ. ระริน สถิตธนาสาร หรือลิลลี่ ซึ่งพยายามผลักดันให้ภาครัฐและเอกชนใช้มาตรการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างจริงจัง ด้วยการเข้าพบผู้บริหารห้างสรรพสินค้าเพื่อเรียกร้องให้ลดขยะพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งยื่นหนังสือให้กระทรวงศึกษาธิการบรรจุวิชาสิ่งแวดล้อม (Eco Education) เป็นวิชาบังคับในทุกโรงเรียนอีกด้วย

 

เด็ก Gen Z บางคนยังนำแนวคิดส่วนตัวมาใช้ร่วมด้วย เช่น เอมมา ลิม (Emma Lim) ชาวแคนาดา ได้เคลื่อนไหวในเรื่อง “#NoFutureNoChildren” โดยกล่าวคำปฏิญาณว่าจะไม่มีลูกจนกว่ารัฐบาล
จะดำเนินการอย่างจริงจังต่อเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

และเรื่องราวอื่น ๆ ที่น่าสนใจ บน TAT REVIEW Vol.7 No.3 July-September 2021 | 90’s Nostalgia ได้ที่ : https://tatreviewmagazine.com/e-magazine/vol-7-no-3-july-september-2021/

Share This Story !

1.5 min read,Views: 2604,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    มกราคม 28, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    มกราคม 28, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    มกราคม 28, 2025