ภูเขาหรือทะเล ไปหรูหรือไปลุย เราตัดสินใจเรื่องการท่องเที่ยวกันอย่างไร?

 

“รูปที่ถ่ายมาสวยมากเลย… สงสัยต้องเลือกไปเที่ยวที่นี่บ้างแล้ว”

 

“โรงแรมนี้คนไทยคอมเมนต์ไม่ดีเท่าไร แต่คนต่างชาติดูจะชอบ เราเลือกตามคนไทยก็แล้วกัน”

 

ก่อนเดินทางไปเที่ยว 

คุณรู้สึกว่าตนเองเคยคิดหรือตัดสินใจแบบนี้บ้างไหม

เลือกสถานที่ท่องเที่ยวที่ยังไม่เคยไปโดยฟังจากเพื่อนเล่า

หรือเพียงดูจากรูปภาพสวย ๆ 

 

เราอ่านรีวิวเกี่ยวกับโรงแรมที่จะเลือกไปพัก ก่อนตัดสินใจเลือกโรงแรมตามคนชาติเดียวกัน

 

หรือเราเลือกแพ็กเกจทัวร์ที่ราคาถูกที่สุด เพียงเพราะกลัวว่าจะได้สิ่งที่ไม่คุ้มกับเงินที่ต้องเสีย

 

ถ้าคุณตอบว่า ‘ไม่’ กับตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อยสักหนึ่งข้อ คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่นำเหตุผลมาช่วยในการตัดสินใจก่อนการเดินทาง

 

แต่ถ้าคุณตอบว่า ‘เคย’ กับทุกข้อ

 

คุณก็เหมือนกับพวกเราหลายคน

ที่มักใช้การคิดทางลัด (Heuristics)

หรือใช้ความรู้สึก (Emotion) มาเป็นตัวช่วยในการตัดสินใจ

 

ซึ่งก็คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกว่า การใช้ระบบความคิดที่ 1 หรือ System 1 นั่นเอง

 

แล้วอะไรคือการคิดหรือตัดสินใจโดยใช้ระบบความคิดที่ 1 หรือ System 1 กันล่ะ?

 

บทความโดย ผศ.ดร.วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ และ ผศ.ดร. ดลชัย ละออนวล

 


 

มนุษย์มีความคิดอยู่สองระบบ

 

 

ระบบความคิดที่ 1 คือการใช้ความคิดทางลัด (Heuristics) หรืออารมณ์ (Emotion) ตอบสนองรวดเร็ว อัตโนมัติ 

 

ระบบความคิดที่ 2 คือระบบที่ต้องอาศัยการคิด ไตร่ตรอง หรือแม้แต่การคำนวณผลลัพธ์ก่อนการตัดสินใจ

 

ระบบความคิดที่ 1 ถือว่ามีความสำคัญกับมนุษย์อย่างเรา เพราะเป็นระบบที่เกิดจากวิวัฒนาการของมนุษย์ เพื่อให้เราคิดทันและเอาตัวรอดจากภัยร้ายต่าง ๆ ได้ ดังนั้นระบบความคิดประเภทนี้จึงติดตัวเรามาอย่างยาวนาน และเป็นระบบความคิดที่คนใช้ตัดสินใจ ทั้งที่อาจรู้ตัว และไม่รู้ตัว

 

นักท่องเที่ยวใช้ระบบความคิดที่ 1 ในการตัดสินใจอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งผลของมันก็อาจทำให้พวกเราใช้อคติหรือความเอนเอียงในการตัดสินใจโดยไม่รู้ตัว และอาจทำให้เลือกสิ่งที่ไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุดแก่ตัวเอง

 


 

เราใช้อคติในการตัดสินใจมากที่สุดในช่วง ‘ก่อนการเดินทางท่องเที่ยว (Pre-trip)’

 

 

ความเอนเอียงในการตัดสินใจ

เกิดได้ตั้งแต่ก่อนเดินทาง ระหว่างเดินทาง และหลังจากเดินทางกลับถึงบ้าน

 

จากการศึกษางานวิจัยการท่องเที่ยวในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

เราพบว่าช่วงเวลาที่เกิดอคติทางความคิดที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมากที่สุดช่วงหนึ่งคือ 

ก่อนเดินทางท่องเที่ยว (Pre-trip)

 

โดยเฉพาะตอนที่นักท่องเที่ยวจะต้องเลือกสถานที่ท่องเที่ยว เลือกจุดหมายปลายทาง จองโรงแรม/ที่พัก จองตั๋วเครื่องบิน หรือเลือกซื้อแพ็กเกจทัวร์

 


 

 

อคติในการเลือกที่ท่องเที่ยว/ที่พัก 

 

 

1. Stereotype : หรือที่รู้จักกันว่าการเหมารวม

 

อคติประเภทเป็นอคติทางความคิดที่คนเราเลือกชอบหรือไม่ชอบคนบางกลุ่ม บางประเทศ ซึ่งมาจากการด่วนตัดสินในเรื่องเพศ เชื้อชาติ ศาสนา หรือแนวคิด โดยที่ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอในการตัดสินใจ 

 

Stereotype ทำให้นักท่องเที่ยวเกิดอคติต่อคน ประเทศ ภาพลักษณ์ของแหล่งท่องเที่ยว (Destination Image) ที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริงของสถานที่นั้น ๆ 

 

งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวเลือกที่จะไม่เดินทางไปยังประเทศที่เคยมีปัญหา หรือกำลังมีปัญหากับประเทศของตนในด้านการเมือง ศาสนา หรือมีภาพลักษณ์ที่ตนไม่ชื่นชอบ

 

2. Bandwagon Effect : เลือกที่เที่ยวตามกระแสนิยม

 

การที่คนทำอะไรตาม ๆ กันจะทำให้รู้สึกอุ่นใจ รู้สึกว่าตัวเองปลอดภัย ไม่โดดเดี่ยว ดังนั้นหากมีอะไรผิดพลาด คนจะรู้สึกว่าเรายังมีพวก

 

ดังนั้นมีหลายครั้งหลายหนที่นักท่องเที่ยวเลือกเดินทางไปยังสถานที่หนึ่ง หรือประเทศหนึ่ง ๆ เพียงเพราะผู้คนนิยมไปกัน ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าสถานที่นั้นจะเหมาะกับแรงจูงใจในการเดินทาง และความชอบของเราหรือเปล่า

 

3. Snob Effect : เลือกที่เที่ยวแบบสวนกระแสนิยม

 

การเลือกสิ่งที่แตกต่างจากสิ่งที่คนส่วนใหญ่เลือก เพื่อไม่ให้ดูว่าตนบริโภคตามกระแสนิยมและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

4. Veblen Effect

 

เลือกผลิตภัณฑ์ท่องเที่ยวโดยเน้นที่ราคาสูง ภาพลักษณ์ดี เพื่อให้ดูเหนือระดับและไม่ตกอยู่ในกลุ่มที่เป็นกระแสส่วนใหญ่

 

 

5. Framing Effect : ความเอนเอียงจากการวางกรอบความคิด

 

อคติประเภทนี้จะเกิดขึ้นเมื่อเราตอบสนองต่อเนื้อหาที่มีการตีกรอบไว้ในแต่ละแบบ ด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป แม้ว่าแท้จริงแล้ว เนื้อหาจะไม่แตกต่างกันเลยก็ตาม มักพบตามสื่อโฆษณาที่มีการตีกรอบความคิดไว้ให้ผู้อ่านแล้ว แต่ผู้รับสารอาจไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น

 

จากแขกที่มาเยือนเราทั้งสิ้นกว่า 2,000 คนในปีที่แล้ว

ร้อยละ 97 พอใจกับการเลือกมาพักผ่อนที่โรงแรมของเรา

 

จากแขกที่มาเยือนเราทั้งสิ้นกว่า 2,000 คนในปีที่แล้ว

มีเพียงร้อยละ 3 เท่านั้นที่ไม่พอใจกับโรงแรมของเรา

 

แม้ว่าสองประโยคนี้จะมีความหมายเดียวกัน

นั่นก็คือแขกที่มาพักจำนวน 1,940 คนพอใจกับการเลือกมาพักที่โรงแรมนี้

 

แต่ปฏิกิริยาของคนที่ตอบสนองต่อสองประโยคนี้กลับแตกต่างกัน ทั้งที่ผลลัพธ์ของเนื้อหาไม่ต่างกัน 

 

งานวิจัยหลายชิ้นเผยให้เห็นว่า โดยปกติคนจะให้ความสนใจและตอบรับกับข้อความที่เน้นการได้ประโยชน์ หรือเป็น Gain-Framed มากกว่าข้อความที่เน้นการลดภาพเชิงลบหรือ Loss-Framed

 


 

 

อคติที่เกิดขึ้นในขั้นตอนการหาข้อมูลที่พัก

 

 

ขั้นตอนการหาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยว (หรือที่พัก) จาก Search Engine หรือรีวิวไซต์ ซึ่งนักท่องเที่ยวอาจตกหลุมอคติที่เรียกว่า Primacy Effect และ Recency Effect

 

Primacy Effect : รีวิวด้านบนไม่ว่าจะเป็นรีวิวเชิงบวกหรือลบ จะส่งผลอย่างมากต่อทัศนคติของผู้อ่านรีวิว

 

Recency Effect : ผู้คนจดจำกับรีวิวอันที่อ่านล่าสุด เพราะจำสิ่งที่เห็นในช่วงท้ายได้ดีกว่าในช่วงกลาง

 

ทำให้โรงแรมลำดับต้น ๆ ตอนค้นหาและมีรีวิวที่ดี มีโอกาสถูกเลือกสูงกว่า

 

การตระหนักรู้ว่าพวกเรามักจะให้น้ำหนักกับข้อมูลต้นและข้อมูลปลายมากเกินไป จะทำให้เราเริ่มระมัดระวังตัวมากขึ้นเวลาต้องเลือกสถานที่พัก หรือเลือกเชื่อรีวิว และอาจเริ่มให้ความสำคัญกับการดูข้อมูลที่อยู่ระหว่างกลางเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจด้วย

 


 

 

อคติเกี่ยวกับการตัดสินใจด้านราคา

Decoy Effect การสร้างทางเลือกลวง เพื่อตั้งราคาให้ไขว้เขว

 

 

ระหว่างการเลือกซื้อสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจทัวร์ หรือการจองตั๋วเครื่องบินที่มีทางเลือกหลายแบบนั้น 

 

จากตัวอย่างดังรูปด้านบนในภาพที่ 1

 

ผู้ประกอบการอยากให้ลูกค้าส่วนมากตัดสินใจเลือกซื้อห้องประเภท Deluxe 

จึงได้คิดสร้างแพ็กเกจห้องพักขึ้นมาอีกอันหนึ่ง

ซึ่งก็คือแพ็กเกจห้องประเภท Superior ราคา 1,500 บาท

ออกแบบให้มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับแพ็กเกจห้อง Standard ราคา 900 บาท โดยมีขนาดห้องอยู่ที่ 25 ตารางเมตร ไม่รวมอาหารเช้าแต่ราคากลับไม่แตกต่างจากห้อง Deluxe มากนัก

 

ดังนั้นจะเห็นว่าภายใต้ราคาที่ใกล้เคียงกัน แพ็กเกจ Deluxe ดูจะมีความคุ้มค่ากว่าแพ็กเกจห้อง Superior จึงมีโอกาสสูงที่ลูกค้าจะหันมาเลือกซื้อแพ็กเกจห้องราคา 1,800 บาท 

 

เราจะเรียกทางเลือกลวงหรือแพ็กเกจห้อง Superior นี้ว่า Decoy ซึ่งแปลว่าตัวล่อ และเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Decoy Effect นั่นเอง

Share This Story !

2.5 min read,Views: 1040,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 3, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 3, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 3, 2025