WRITING A NEW FUTURE

The consumer trends have altered in line with the major global changes. The emergence of COVID-19 has made everything seemingly unstable and difficult to be predicted. One of the short-term solutions is to closely monitor the consumer trends, especially the new behaviour that ‘has already occurred’. TrendWatching, a leading company in monitoring consumer trends, explained that the COVID-19 pandemic is an important factor to expedite the significant changes of consumer behaviour in 10 areas, including 1. VIRTUAL EXPERIENCE ECONOMY, 2. SHOPSTREAMING, 3. VIRTUAL COMPANIONS, 4. AMBIENT WELLNESS, 5. M2P (MENTOR TO PROTÉGÉ), 6. A-COMMERCE, 7. THE BURNOUT, 8. OPEN SOURCE SOLUTIONS, 9. ASSISTED DEVELOPMENT, and 10. VIRTUAL STATUS SYMBOLS.

 

แปลสรุปจากเอกสารเผยแพร่จากเว็บไซต์

trendwatching.com

 

ค่อนข้างชัดเจนว่า COVID-19 เป็นวิกฤตที่กินวงกว้างและลึก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เคยเป็นแหล่งรายได้ เมื่อเทียบดูแล้วความเสียหายและผลกระทบที่เกิดกับอุตสาหกรรมนี้น่าจะอยู่ในอันดับต้นๆ และกว่าจะถึงวันที่โลกมีวัคซีนรักษา หลายคนมองว่าแทบจะมองไม่เห็นความเป็นไปได้ในการกลับมาใช้ชีวิตเหมือนแต่ก่อน

จริงๆ แล้ว การเกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่และไม่แปลกอะไร เพราะเป็นความเสี่ยงที่โลกเคยเผชิญมาหลายต่อหลายครั้งแล้ว สิ่งที่แน่นอนบนสถานการณ์ที่คาดเดาได้ยากของ COVID-19 ก็คือความไม่แน่นอนต่างๆ ที่มาพร้อมกับการแพร่ระบาดของโรคที่น่าจะอยู่กับโลกและภาคธุรกิจต่างๆ ไปอย่างน้อยอีกหลายปีที่สำคัญคงไม่มีใครคาดการณ์ได้อย่างแน่ชัดว่าเมื่อไหร่การแพร่ระบาดนี้จะสิ้นสุดลง

 

 

ในมุมธุรกิจ องค์กรระดับใหญ่ๆ มองการจัดการกับ crisis ให้เป็นได้ทั้งความท้าทายและโอกาสที่ผู้บริหารและพนักงานจะได้ใช้ทักษะชุดใหม่สร้างจุดแข็งในการทำงาน ต้องใช้ทั้งความรู้และความเข้าใจ ส่วนองค์กรเก่าแก่ที่อยู่มานานก็มักจะมีปัญหาไม่ต่างกัน เพราะต้องปรับตัวให้เข้ากับโลกที่กำลังมีการ disrupt และปัญหาก็อาจใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ หากองค์กรนั้นปรับตัวไม่ทัน อย่างที่เห็นจากหลายองค์กรที่มีขนาดใหญ่ทำให้การเปลี่ยนแปลง ทำได้ยาก จนคู่แข่งรายใหม่ๆ อย่างกลุ่ม start up ที่มีขนาดเล็กกว่า คล่องตัวกว่า แก้ปัญหาได้รวดเร็วกว่ามักเห็นโอกาสทางการตลาดเร็วกว่าตามไปด้วย เรื่องนี้ทำให้พอทราบได้ว่า COVID-19 ชี้ภาพให้ชัดขึ้นว่า กฎเกณฑ์และวัฒนธรรมเดิมๆ ที่ปฏิบัติกันมาอย่างยาวนานก็สามารถเปลี่ยนแปลงได้ชั่วข้ามคืน

ตามปกติ เทรนด์ผู้บริโภคมักจะขยับไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ ของโลกอยู่แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่มักจะมีสัญญาณบางอย่างบ่งชี้มาก่อน โดยเมื่อมองกลับมาที่นาทีนี้ การเกิด COVID-19 ทำให้ทุกสิ่งดูจะขาดเสถียรภาพ และคาดเดาได้ยาก หนึ่งในทางออกระยะสั้นก็คือการติดตามดูแนวโน้มของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะพฤติกรรมใหม่ที่ ‘เกิดขึ้นแล้ว’ นั่นเอง

Trendwatching บริษัทชั้นนำด้านการติดตามเทรนด์ผู้บริโภคได้อธิบายไว้ว่า COVID-19 เป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญใน 10 เรื่องด้วยกัน ขณะที่หากมองอีกมุม เรื่องนี้ก็เปิดโอกาสมากมายรอบตัวเพื่อเป็นไอเดียให้ผู้นำด้านการตลาดสามารถนำไปปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการฝ่ามรสุมที่ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของโลกครั้งนี้

 

 

1. Virtual Experience Economy โลกเสมือนที่ออกแบบได้

 

มาถึงตอนนี้ นักการตลาดทุกคนน่าจะคุ้นเคยกับการทำตลาดแบบExperience Economy กันมาบ้างแล้ว แต่ถึงเวลาที่อาจต้องมองหากลยุทธ์อื่นๆ ไว้บ้าง เพราะไม่ว่าจะงานเล็กหรือใหญ่ระดับโลก พิษของ COVID-19 ก็ส่งผลให้การจัดงานต่างๆ ต้องมีการเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด อย่างทัวร์คอนเสิร์ตรอบโลกของ Billie Eilish ศิลปินนักแต่งเพลงแนวหน้าของโลกชาวอเมริกัน บิ๊กแมตช์การแข่งขันกีฬาต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่โอลิมปิกเกมส์ 2020 ตลอดจนแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกอย่างพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในกรุงปารีส

ยิ่งทุกคนบนโลกต้องร่วมมือกันรักษาระยะห่างเพื่อลดการแพร่เชื้อมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้ผู้คนต้องการหาอะไรทำให้หายเบื่อมากขึ้นเท่านั้น จึงไม่แปลกที่ COVID-19 จะเร่งให้ ‘เทคโนโลยี’ เข้ามามีบทบาทกับการใช้ชีวิตมากขึ้น และกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีสีสัน ไม่ต่างกับการรับเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในภาคธุรกิจซึ่งน่าจะได้เห็นกันมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้

เทคโนโลยีที่ว่านี้จะช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ที่พาเราเข้าไปอยู่ระหว่างโลกจริงที่สัมผัสได้ทางกายภาพกับโลกที่เป็นดิจิทัล ถูกพัฒนามาช่วยให้คนดื่มด่ำกับจินตนาการในโลกเสมือน หรือ Virtual Reality ผ่านสินค้ากลุ่มเอนเตอร์เทนเมนต์ต่างๆ โดยจะทำให้เรา ‘อิน’ กับการอยู่ในโลกเสมือนมากยิ่งขึ้น นั่นหมายถึงการขยายความเสมือนผ่านประสบการณ์และการสร้างความรู้สึกกลมกลืนระหว่างโลกเสมือนกับโลกจริงอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีแนวโน้มว่าเทคโนโลยีนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมอีกหลายสาขาที่เทคโนโลยีนี้อาจยังเข้าไปไม่ถึงสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก และอื่นๆ อีกมากมาย

 

2. Shopstreaming Live สด มิติใหม่แห่งการซื้อขาย

 

Trendwatching เคยพูดถึงเทรนด์ ‘Shopstreaming’ ในภูมิภาคเอเชียไปเมื่อครั้งแรกตั้งแต่ปลายปี 2017 ว่าต่อไป E-Commerce และ Livestreaming จะเป็น 2 เทรนด์ใหม่ที่เขย่าตลาดดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียและจะกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญในการกำหนดทิศทางการค้าขายและการเชื่อมต่อสังคมออนไลน์ในอนาคตในรูปแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะมีบทบาทต่อการติดต่อสื่อสารและการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภคอย่างไร้ข้อจำกัด จริงๆ แล้ว อุตสาหกรรม Livestreaming เกิดมาซักพักแล้ว แต่ดูเหมือนว่าปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะ COVID-19 เข้ามาเป็นตัวกระตุ้นให้เทรนด์นี้เกิดขึ้นรุนแรงและเข้มข้นมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในตลาดจีน เทรนด์นี้เข้ามาแทรกอยู่เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุค COVID-19 แต่กลับเป็นอะไรที่แตกต่างออกไป เช่น มีการผสมผสานความบันเทิง การรวมกลุ่มผู้คนเป็นคอมมิวนิตี้ที่มากับการค้าขาย ทำให้ Livestreaming ได้รับความสนใจจากทุกเพศทุกวัย หลายแบรนด์จึงหันมาสร้างเม็ดเงินผ่านการไลฟ์สดขายสินค้ากันอย่างจริงจังมากขึ้น เริ่มจากตลาดจีน แต่อีกไม่นานเทรนด์นี้น่าจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ ไปสู่ระดับโลกอย่างแน่นอน

 

3. Virtual Companions ผู้ช่วยอัจฉริยะของคนยุคนี้

 

อันที่จริง ช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ เรามักได้เห็นกระแสพฤติกรรมหนึ่งที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเคยชินเวลาเห็นผู้คนติดต่อสื่อสารกับผู้ช่วยที่ไม่ใช่คนเป็นๆ อย่างเดียว ใช่แล้ว เทคโนโลยีที่ว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ พูดง่ายๆ ก็คือCOVID-19 ต่างหากที่ทำให้ผู้ช่วยดิจิทัลเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัดด้วยความสามารถในการตอบสนองความต้องการให้ผู้บริโภคสะดวกสบายมากขึ้น แถมยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการแข่งขันให้กับธุรกิจ E-Commerce อีก จึงไม่น่าแปลกใจที่ผู้ช่วยดิจิทัลเหล่านี้จะถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อมอบความสะดวกและรวดเร็ว สร้างความบันเทิง เป็นเพื่อนคลายเหงา หรือแม้แต่ในแง่ของการศึกษาเพิ่มพูนความรู้ โดยหวังที่จะช่วยเรื่องการสร้างประสบการณ์ที่ดีและประสิทธภาพในการบริการให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์มากที่สุดกับผู้บริโภคนั่นเอง

 

4. Ambient Wellness ‘สาธารณสุข’ กับ ‘เศรษฐกิจ’

 

เห็นได้ว่าทุกวันนี้ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือจัดเป็นไอเท็มฮิตที่ขาดไม่ได้ในชีวิตประจำวันเพื่อสุขอนามัยที่ดี ไม่แน่ว่าหากการแพร่ระบาดของ COVID-19 หมดไป ผู้คนอาจจะลดความกังวลเรื่องความสะอาดไปได้บ้าง แต่เชื่อว่าก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังให้ความสำคัญกับมาตรฐานความสะอาดและปลอดภัย ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าที่เคยเป็น

สิ่งนี้เปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆ เรียกคืนความมั่นใจจากลูกค้าท่ามกลางสถานการณ์ที่โรคระบาดยังไม่มีวี่แววจะสิ้นสุด โดยเฉพาะธุรกิจที่มีหน้าร้านที่จะเกิดการสัมผัสบ่อยๆซึ่งการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากธุรกิจต่างๆ ขาดมาตรการความปลอดภัยและความสะอาดที่มีมาตรฐาน และเชื่อว่าในสายตาผู้บริโภค ความมุ่งมั่นนี้ยังมีอิทธิพลในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคตอีกด้วย

 

5. M2P (Mentor to Protégé) สกิลคนยุค COVID-19 กับการเรียนออนไลน์

 

แม้ว่าการระบาดของไวรัสที่เกิดขึ้น จะส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตในหลายๆ ด้าน ผู้คนต้องกักตัวและขอให้เว้นระยะห่างระหว่างกัน มาถึงตอนนี้คงจะเห็นกันแล้วว่าช่องทางออนไลน์มีความสำคัญและมีบทบาทมากกว่าที่เคยเข้าใจมาก เลยไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพฤติกรรมผู้บริโภคจึงมีการตอบสนองทาง offline มาเป็นแบบ online มากขึ้นอย่างเต็มตัว ไม่เว้นแม้แต่การหาองค์ความรู้ใส่ตัวผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ เกิดเป็นคลาสเรียนออนไลน์ที่หลากหลาย ซึ่งทำให้การกักตัวไม่สามารถหยุดการอัพสกิลความรู้ความสามารถไปได้เลย

 

6. A-Commerce หุ่นยนต์ส่งของขวัญใจในช่วง COVID-19

 

ในที่สุดก็มาจริงๆ เทรนด์นี้เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่ถูกพูดถึงตั้งแต่ 2-3 ปี ก่อนแล้ว และ COVID-19 ก็เข้ามาทำให้พฤติกรรมผู้คนเปลี่ยนไปตามรูปแบบของเทรนด์นี้อย่างเห็นได้ชัดมากยิ่งขึ้น ผ่านการเติบโตของการใช้ AI ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการลดความเสี่ยงจากการสัมผัสและการแพร่ระบาดของไวรัสจากคนสู่คน ที่ผ่านมามีการนำ AI มาใช้อย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในทางการแพทย์ การรักษาผู้ติดเชื้อ การขนส่ง อุปกรณ์ หรือแม้แต่การใช้แรงงาน AI แทนแรงงานคน

ล่าสุด Nuro ยานพาหนะขนาดกะทัดรัดและสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง ได้ออกให้บริการขนส่งอาหารให้กับผู้คนที่รัฐแคลิฟอร์เนีย Nuro รับบทบาทสำคัญในฐานะผู้ให้บริการขนสง่ อาหารสำหรับลูกค้าถึงหน้าบ้าน ซึ่งนับเป็นการปลดล็อกการนำออโตเมชันมาใช้แบบเต็มตัวและเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รถยนต์ไร้คนขับที่ให้บริการดังกล่าวยังต้องเผชิญความท้าทายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย แต่แน่นอนว่าปรากฏการณ์นี้น่าจะเปิดโอกาสให้ออโตเมชันเป็นที่ยอมรับจากผู้ใช้มากขึ้น และอาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกในที่สุด

 

7. The Burnout จุดไฟในตัวเองให้กลับมา

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า COVID-19 ได้ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตกับคนจำนวนมากทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์และความเครียด แม้ว่าก่อนหน้านี้ภาวะหมดไฟ หรือ Burnout Syndrome จะถูกพูดถึงมาก่อนหน้านี้ซักพักแล้วก่อนการเกิด COVID-19 โดยส่วนใหญ่ เกิดจากสาเหตุการใช้ชีวิตในยุคโมเดิร์นไลฟ์ ไม่ว่าจะเป็นการงานที่กดดันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา ความไม่เท่าเทียมและการแข่งขัน ทางสังคม สภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และอื่นๆ อีกมากมายที่ทำให้ผู้คนเกิดภาวะตึงเครียดและวิตกกังวล ส่งผลต่อสุขภาพจิตและร่างกาย

จึงเป็นโอกาสอันดีหากจะมีธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมุ่งมั่นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังเผชิญกับปัญหาจนตกอยู่ในภาวะเครียดสะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค COVID-19 เพราะผู้บริโภคจะรับรู้ได้ว่าแบรนด์กำลังส่งสารแสดงความห่วงใยและใส่ใจพวกเขาอยู่ (เราเรียกการทำตลาดแบบนี้ว่าการตลาดแบบสร้างสัมพันธ์กับผู้บริโภค) ในที่สุด หากความประทับใจแรกเกิดขึ้นในใจผู้บริโภคแล้ว แบรนด์ก็จะเข้าไปนั่งอยู่ในใจลูกค้าได้ไม่ยากและข้อดีที่มากกว่าการขยายกลุ่มลูกค้านั่นก็คือ ‘การบอกต่อ’ ซึ่งทรงพลังมากกว่าการโฆษณาไปอีกหลายเท่าตัว

 

8. Open Source Solutions ทุกคนก็คือฮีโร่

 

ที่ผ่านมา Trendwatching ให้คำจำกัดความของ Open Source Solutions ว่าคือเทรนด์ที่มุ่งเรื่อง ‘ความยั่งยืนที่เกิดจากสังคมแห่งการแบ่งปัน’ เพราะสำหรับผู้บริโภค สิ่งที่ทำให้แบรนด์แตกต่างกันอย่างแท้จริง คือ จริยธรรมทางธุรกิจผ่านแนวคิดการตระหนักถึงคุณค่าของความร่วมมือและร่วมมือกันลดผลกระทบต่างๆ ให้โลก ให้สังคมน่าอยู่ขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

ในนาทีนี้ เรารู้กันดีว่า COVID-19 เข้ามาเป็นปัญหาของทุกคนบนโลก ไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ เพศ อายุ หรือการศึกษาอีกต่อไป ไม่ว่าจะยากดีมีจนแค่ไหน เป็นใครก็ติดกันได้ทั้งนั้น การมีสุขภาพที่ดีเลยกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนบนโลกให้ความสนใจเป็นอันดับแรก ด้วยเหตุนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหาในอนาคตต่อจากนี้จะจบลงด้วยแนวทาง collaboration โดยแบรนด์ต่างๆ ทั้งที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันหรือต่างอุตสาหกรรม ปลายทางคือการลุกขึ้นมาร่วมมือกันลดผลกระทบอะไรบางอย่างเพื่อแสดงออกถึงการตระหนักกับปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถจุดประเด็นความสนใจให้กับผู้บริโภคอย่างกว้างขวาง เพราะนอกจากการนำเสนอประสบการณ์ สินค้า และการบริการที่มีคุณภาพ ธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตจะต้องสามารถแสดงจุดยืนในการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้พร้อมๆ กับการ connect ถึงผู้บริโภคแม้ในยามวิกฤตก็ตาม

 

9. Assisted Development ความแรงของธุรกิจ On-demand ในยุค New Normal

 

ในช่วงล็อกดาวน์ ข้อดีของการอยู่บ้านนานๆ มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน (ไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่) ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่เราได้กลับไปเรียนรู้และใช้ชีวิตความเป็นอยู่แบบ back to basic ได้ใช้ทักษะที่อาจหลงลืมไปแล้วอย่างการทำอาหารด้วยตัวเอง

พูดได้ว่า หนึ่งในธุรกิจที่บูมมากๆ ภายใต้วิถีชีวิตแบบ New Normal คือ กลุ่มธุรกิจ On-demand บนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่มีมูลค่าสูงและเติบโตมากขึ้นหลายเท่าตัว และเมื่อมองถึง ‘โอกาส’ ก็นับเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจรายเล็กๆ สร้างรายได้และความได้เปรียบเชิงธุรกิจด้านบริการในอนาคต เห็นได้ชัดที่สุดคือในธุรกิจส่งอาหาร หรือ Food Delivery ที่มีการขยายตัวอย่างก้าวกระโดด มีการขยายตลาดเข้าไปในหลายพื้นที่แม้กระทั่งเมืองเล็กๆ ซึ่งส่งผลให้ทิศทางการขยายตัวของตลาดแรงงานนอกระบบ (Gig Economy) มีอัตราเติบโตในเชิงบวกตามไปด้วย

ล่าสุด แบรนด์เครื่องครัว Equal Parts ได้ผุดไอเดียเปิดตัวผู้ช่วยในครัวในช่วง COVID-19 เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ต้องการทำอาหารเองที่บ้านได้ทำอาหารด้วยความสนุกมากขึ้น เรียกได้ว่าเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจแบบ On-demand เพื่อรับคำแนะนำตั้งแต่สูตรการทำอาหาร ปรุงวัตถุดิบจากผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เป็นอีกเครื่องมือที่ช่วยรักษาลูกค้าและช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

 

10. Virtual Status Symbols สร้างตัวตนบนโลกออนไลน์

 

ความต้องการทางด้านสังคมเป็นสิ่งจูงใจสำคัญต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคตลอดมา และ COVID-19 ก็เข้ามาเป็นตัวเร่งให้ผู้บริโภคหันมาเสพสื่อออนไลน์ และมีไลฟ์สไตล์การใช้ดิจิทัลเป็นสื่อกระแสหลักมากยิ่งขึ้น ภาพลักษณ์บนสื่อออนไลน์จึงเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคสมัยนี้ให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ มากตามไปด้วย

ทั้งนี้ ผู้บริโภคต่างเจเนอเรชันก็ให้ความสนใจกับคอนเทนต์ที่ต่างกันออกไป กลุ่มคนรุ่นใหม่อาจเคยชื่นชอบภาพกราฟิกสวยๆ อย่างที่เห็นในเกม แต่ตอนนี้กลับเริ่มมองหาความแปลกใหม่จากเทคโนโลยีอย่าง AR และ Blockchain ที่มีฟีเจอร์อลังการและดูทันสมัยมากขึ้น ในขณะที่ก่อนหน้านี้

สิ่งที่บ่งบอกสถานะอาจจะเป็นแรร์ไอเท็มราคาสูงลิบ เป็นชิ้นเป็นอันจับต้องได้ (กระเป๋าแบรนด์เนม นาฬิกา ฯลฯ) แต่มาในช่วง COVID-19 เมื่อคนส่วนใหญ่ทุ่มเวลาไปกับโลกออนไลน์ สิ่งที่จะบ่งบอกสถานะและตัวตนก็จะกลายมาเป็น Virtual Goods ด้วยเช่นกัน

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่พอมาในยุคนี้ แนวคิดนี้ได้ตอกย้ำความสำคัญของการทำตลาดที่เห็นความสำคัญในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นผลตอบแทนทางกำไรแต่เพียงอย่างเดียว

 


 

ทั้งหมดนี้คือแนวโน้มที่ Trendwatching มองว่าน่าจะเป็นทิศทางของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคครั้งใหญ่หลังช่วง COVID-19 ที่ต้องจับตาดูให้ดี ซึ่งในมุมมองทางการตลาด

การทำความเข้าใจในพฤติกรรมเบื้องลึก จะเป็นข้อมูลสำคัญในการย้อนกลับมาทำความเข้าใจในมิติการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย การวางแผนกลยุทธ์ด้านการตลาดของผู้ประกอบการธุรกิจ ซึ่งจะช่วยเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการธุรกิจได้ทบทวน เตรียมพร้อม ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์และมองหาลู่ทางด้านการตลาดหลังจากนี้ที่มีความท้าทายและความไม่แน่นอนรออยู่.

 

ที่มา: https://info.trendwatching.com/10-trends-for-a-post-coronavirus-world

Share This Story !

5.1 min read,Views: 242,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024