Change O’ 9ine | ‘9 กลุ่มในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จะเปลี่ยนไปอย่างไรหลัง COVID-19?’

Although the number of the COVID-19-infected patients and deaths has continuously increased, several countries have already reopened their territory. Therefore, the number of travellers has gradually risen. A number of airlines have also resumed their flights. Although the risk of the coronavirus transmission still remains, several countries have started to receive international tourists again. In the foreseeable future, what changes will there be? From the perspective of the experts from various groups, how will those changes be? Let’s explore the changes in 9 business groups in the tourism industry.

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ The Washington Post

 

ปัจจุบัน การใส่หน้ากาก การเว้นระยะห่าง (Social Distancing) การแบ่งแยกราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้น บริการการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป – ผู้เชี่ยวชาญจากแต่ละสายธุรกิจภายใต้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ออกมาคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก COVID-19 จะสร้างแรงกระเพื่อมและการเปลี่ยนแปลงมากน้อยเพียงใด

 

วิกฤตเหมือนกันแต่แตกต่าง

หากมองย้อนกลับไปสมัยก่อน เหตุการณ์โศกนาฏกรรมใหญ่ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลกส่วนใหญ่จะสร้างผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ทีเดียว เป็นเหตุการณ์ใหญ่ๆ ที่ทำให้ตะลึง แตกตื่น ในระยะสั้นๆ

แต่ในทางกลับกัน วิกฤต COVID-19 ในครั้งนี้ กลับไม่เป็นเช่นนั้น การแสดงผลกระทบของ COVID-19 เปรียบเสมือนเพชฌฆาตเงียบที่เข้าโจมตีแบบไม่ทันตั้งตัว สร้างผลกระทบ ทิ้งเชื้อโรคไว้ ย้ายจากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง จากประเทศสู่ประเทศ จากทวีปสู่ทวีป และด้วยปัจจัยเอื้อสนับสนุนยุคโลกาภิวัตน์ด้วยแล้ว ไม่แปลกเลยที่เพชฌฆาตเงียบตัวนี้จะสามารถเคลื่อนย้ายได้รวดเร็วและทั่วถึง จะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 10 ล้านคน ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนหลังพบผู้ติดเชื้อรายแรกของโลก

ในขณะที่ประชากรโลกพยายามที่จะต่อสู้ ใช้วิธีต่างๆ นานา ทั้งปิดชายแดนยกเลิกงานอีเวนต์ และกักตัวเองอยู่บ้าน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอื่นๆ ก็เริ่มไถลลงสู่ก้นเหวมากขึ้น ความพยายามที่จะลดปริมาณผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตกลับต้องแลกมาด้วยโศกนาฏกรรมทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง เนื่องจากการเคลื่อนตัวของประชากรโลกที่หยุดชะงักโดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจทำเงินอย่างอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว หรือธุรกิจที่ทำเงิน  เมื่อคนไม่อยากอยู่กับบ้านเฉยๆ

 

คาดการณ์สิ่งที่จะเปลี่ยน

ถึงแม้ตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตจะยังเพิ่มอยู่ทุกวัน แต่ในขณะเดียวกัน หลายต่อหลายประเทศก็เริ่มกลับมาเปิดอีกครั้ง จำนวนนักเดินทางเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น สายการบินหลายแบรนด์เริ่มกลับมาให้บริการอีกครั้ง หลายประเทศเริ่มต้นกลับมารับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ถึงแม้ว่าความเสี่ยงนั้นยังคงมีอยู่ แม้ว่าในปัจจุบันการท่องเที่ยวจะแตกกระจายออกไปหลากหลายรูปแบบ แต่ก็เป็นไปตามคาดที่ในระหว่างการเดินทางเกือบทุกที่ เราจะได้เห็นถึงโลกที่มองไปทางไหนก็มีแต่คนสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง หากจะมองถึงอนาคตแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นนั้นจะมีอะไรบ้างและจากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญหลายกลุ่ม พวกเขามองสิ่งที่จะเปลี่ยนไปเป็นแบบไหน ตามมาดูกัน

 

1. สถานที่ท่องเที่ยว (Attractions)

ปริมาณความหนาแน่นของนักท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมจะลดลง

 

สวนสนุก พิพิธภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง (Iconic Landmark) สถานที่เหล่านี้ก่อนเกิดการระบาดของ COVID-19 ล้วนเป็นสถานที่รวมตัวของคนจำนวนมาก แต่เมื่อกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง จำนวนผู้เยี่ยมเยือนจะมีปริมาณความหนาแน่นที่ลดลง และสามารถควบคุมได้ง่ายขึ้น

 

 

 

1.1 สวนสนุก

 

“สำหรับการเตรียมความพร้อมที่จะกลับมาเปิดในช่วงเวลาเช่นนี้นั้น

เราต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดการหลายส่วนที่แตกต่างไปจากเดิมที่เคยทำกันมาเกือบทั้งหมด”

Thomas Smith, Editorial Content Director,

Disney Parks & Resorts

 

สำหรับสวนสนุกระดับแนวหน้าของโลก Disney World มีแผนกลับมาเปิดให้บริการในเร็วๆ นี้ ทางบริษัทได้คาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเปลี่ยนไปภายในสวนสนุก ได้แก่ การบังคับวัดอุณหภูมิร่างกาย ผู้เข้าจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยทุกคน การเข้าคิวที่บังคับเว้นระยะห่าง ที่นั่งเครื่องเล่น มีการจัดเว้นระยะห่างที่ว่าง และที่สำคัญการปรับเปลี่ยนรูปแบบการแสดงที่จะถูกปรับให้เป็นการแสดงที่สามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนดูได้จากระยะไกลแทน และยกเลิกการแสดงพลุและการแสดงพาเหรดทั้งหมด

ตัวอย่างการปรับเปลี่ยนหลัง COVID-19 ของบริษัท Walt Disney อื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ ศูนย์การค้า Disney Springs ในรัฐฟลอริดาที่กลับมาเปิดอีกครั้งตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2020 ผู้ที่มาใช้บริการจะได้พบเห็นทหาร Stormtrooper (ตัวละครเด่นประจำภาพยนตร์ Star Wars) คอยยืนสอดส่อง ตรวจตราตามระเบียง ตรวจหาผู้ที่ไม่ใส่หน้ากากอนามัย และคอยเตือนเมื่อพบเห็นการเว้นระยะห่างของผู้เยี่ยมเยือนที่ไม่เหมาะสม

สำหรับสวนสนุก Six Flags อีกหนึ่งสวนสนุกแนวหน้าในสหรัฐฯ ก็ได้ออกนโยบายระงับการซื้อบัตรเข้าหน้างาน และเปิดขายบัตรเข้าสวนสนุกผ่านระบบการจองออนไลน์เท่านั้น เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมจำนวนผู้เยี่ยมเยือนภายในสวนสนุก

 

1.2 พิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์หลายแห่งพยายามวางแผนรูปแบบการให้บริการที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมรู้สึกปลอดภัย ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์และสวนสัตว์แห่งชาติสมิทโซเนียน (The Smithsonian Museums and the National Zoo) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. พิพิธภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลก มีผู้เยี่ยมชมในปี 2019 กว่า 22 ล้านคน

ถึงแม้จะยังไม่มีการแถลงถึงวันเดือนปีที่จะกลับมาเปิดอย่างแน่ชัด แต่ทางพิพิธภัณฑ์ได้วางแผนที่จะใช้วิธีทยอยเปิด โดยเปิดทีละส่วนก่อนเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในภายหลัง โดยจะจำกัดจำนวนผู้เข้าชมให้น้อยลง และเน้นปริมาณเจ้าหน้าที่ตรวจตราการเว้นระยะห่างให้มากขึ้น มีการตรวจวัดไข้ แจกหน้ากากอนามัย และเน้นเพิ่มความถี่การทำความสะอาดภายในอาคาร

สำหรับอีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ชื่อดังฝั่งยุโรป พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ แห่งกรุงปารีสในประเทศฝรั่งเศส (Louvre Museum) พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ที่เคยหนาแน่นไปด้วยนักท่องเที่ยว ได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2020 ที่ผ่านมา โดยผู้เข้าชมจะต้องทำการจองเวลาเข้าชมล่วงหน้าเท่านั้น

 

2. สายการบิน (Airlines)

ธุรกิจสายการบินต้องสร้างความสมดุลระหว่างความปลอดภัยและผลประกอบการ

 

 

เมื่อเปรียบเทียบแล้ว ธุรกิจสายการบินแตกต่างจากธุรกิจอื่นๆ สายการบินเปิดให้บริการตลอดช่วงระยะเวลาการแพร่ระบาดของ COVID-19 แต่ในขณะเดียวกัน กลับถูกจำกัดจำนวนเที่ยวบินให้เหลือน้อยลงเป็นอย่างมาก การเปลี่ยนแปลงด้านมาตรการความปลอดภัยช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นส่วนสำคัญที่กำหนดรูปแบบการให้บริการของสายการบินในปัจจุบันและในอนาคต ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ระยะสั้นคือรูปแบบในตอนนี้ที่เรากำลังเจออยู่ ทั้งระงับการให้บริการที่นั่งภายในเครื่องบินบางส่วน จำกัดปริมาณบัตรโดยสารที่ออกจำหน่าย ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นไม่นานนัก เพราะทุกคนจะเริ่มกลับมาบินมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนเดิม

 

“ท้ายที่สุด ผู้ใช้บริการสายการบินก็จะต้องกลับมานั่งใกล้กับคนแปลกหน้าเหมือนเดิมอยู่ดี ส่วนหนึ่งก็เพราะรูปแบบเศรษฐกิจภายในอุตสาหกรรมการบินที่สายการบินส่วนใหญ่มีจุดคุ้มทุนของจำนวนผู้โดยสารต่อหนึ่งลำเครื่องบินจะตกอยู่ที่ราวๆ 75-80% ซึ่งแน่นอนว่าการจำกัดที่นั่งให้บริการไว้ที่ 55-60% ที่ทำกันอยู่ในตอนนี้ คือการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน สิ่งที่สายการบินจำเป็นจะต้องเปลี่ยนในอนาคต ก็คือความยืดหยุ่นสำหรับผู้ใช้บริการให้สิทธิ์ผู้ใช้บริการในการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบินได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องจ่ายเงินที่สูงขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องที่ไม่สามารถยอมรับได้หากใครสักคนรู้สึกไม่ค่อยดี รู้สึกป่วย แต่ยังต้องฝืนเดินทางเพราะไม่อยากเสียสิทธิ์”

Robin Hayes, Chief Executive, JetBlue (สายการบินต้นทุนต่ำสัญชาติอเมริกัน)

 

สำหรับสิ่งที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน สายการบินหลายแห่งบังคับให้ลูกเรือและผู้โดยสารทุกคนสวมหน้ากากอนามัย ระงับการให้บริการอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเที่ยวบิน เพิ่มความถี่การทำความสะอาดภายในห้องโดยสาร ให้ผู้โดยสารกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ และตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายก่อนขึ้นเครื่อง องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO: International Civil Aviation Organisation) ได้ปล่อยคำแนะนำในการบินที่มีการปรับเปลี่ยนแล้วหลังสถานการณ์ COVID-19 โดยภายใต้คำแนะนำของ ICAO ฉบับดังกล่าว ได้ระบุไว้ว่า สายการบินควรจำกัดสิทธิการใช้ห้องน้ำ และกระตุ้นให้ผู้โดยสารใช้กระเป๋าขึ้นเครื่อง (Carry-on Luggage) ที่มีขนาดเล็กที่สามารถเก็บใต้ที่นั่งได้เท่านั้น

 

2.1 ท่าอากาศยาน

 

“สนามบินก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน การระบาดทั่วโลกแทบจะส่งผลต่อการยกเครื่องปรับเปลี่ยนรูปแบบการเคลื่อนตัวของผู้โดยสารภายในท่าอากาศยานใหม่แทบทั้งหมด”

Ty Osbaugh, Aviation Leader

(หัวหน้าด้านการออกแบบด้านการบิน)

Gensler (บริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมระดับโลก)

 

ในอนาคต ภายในท่าอากาศยานส่วนใหญ่จะมีการใช้เทคโนโลยีไบโอเมทริกซ์เข้ามาช่วยตรวจสอบเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งองค์ประกอบของเทคโนโลยีประเภทไร้สัมผัส จะถูกหยิบนำมาใช้งานมากขึ้นเช่นกัน หากจินตนาการถึงอนาคตการซื้อสินค้าภายในท่าอากาศยาน เราจะสามารถซื้อสินค้าได้ผ่านระบบสแกนไบโอเมทริกซ์ ไม่ต้องหยิบกระเป๋าออกมาควักเงินหรือบัตรเครดิตออกมาจ่าย และสามารถสแกนใบหน้าเพื่อเช็กอินขึ้นเครื่องได้

 

3. การเดินทางภายในประเทศ (Domestic Travel)

นักท่องเที่ยวที่หวาดระแวง และเลือกที่จะเดินทางระยะใกล้ๆ

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายแห่งได้คาดการณ์ไว้ว่าก่อนที่นักเดินทางจะเลือกเดินทางระยะไกลนั้น พวกเขาจะเริ่มออกเดินทางในพื้นที่ใกล้ๆ ก่อน

 

“นักท่องเที่ยวประเภทเดินทางเพื่อจุดประสงค์เพื่อพักผ่อน (Leisure Travel) จะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกที่กลับมา และจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนเที่ยวบินเดินทางภายในประเทศ”

Roger Dow, Chief Executive

U.S. Travel Association (สมาคมท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา)

 

ในสหรัฐอเมริกา เพื่อสนับสนุนและสร้างความต่อเนื่องและการฟื้นตัวให้กับผู้ประกอบการและบริษัทท่องเที่ยวในประเทศ สมาคมท่องเที่ยวสหรัฐฯ (U.S. Travel Association) ได้ออกชุดคำแนะนำใหม่ ‘Travel in the New Normal’ หรือ ‘การเดินทางวิถีใหม่’ มีใจความสำคัญมุ่งเน้น การปรับปรุงพื้นที่สาธารณะเพื่อสร้างระยะห่างทางสังคม อาทิ การติดตั้งแผ่นกั้น พัฒนาด้านความสะอาด และสนับสนุนการใช้งานเทคโนโลยีไร้สัมผัส (U.S. Travel Association 2020)

สำหรับนักเดินทางที่มองหาความต่อเนื่องในการเดินทาง บอกได้เลยว่าความต่อเนื่องและความรวดเร็วในการเดินทางจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ยกตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา ความต่อเนื่องเรื่องการเดินทางข้ามรัฐถูกจำกัดด้วยกฎระเบียบของแต่ละรัฐ เช่น รัฐฮาวาย (Hawaii) และรัฐเมน (Maine) ประชากรชาวสหรัฐฯ ที่เดินทางจากรัฐอื่นเข้ารัฐฮาวายหรือรัฐเมนจะต้องเข้ารับการกักตัว 2 สัปดาห์ หรือแสดงเอกสารยืนยันปลอดเชื้อการออกกฎที่แตกต่างกันและข้อกำหนดจำนวนการรวมกลุ่มของแต่ละพื้นที่ เป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนจะต้องศึกษากฎระเบียบการเดินทางช่วงสถานการณ์ COVID-19 ของแต่ละพื้นที่ก่อนออกเดินทาง

 

 

4. การเดินทางระหว่างประเทศ (International Travel)

จำนวนคนเดินทางที่ลดลง เป็นไปได้ว่าจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศมีราคาสูงขึ้น

 

ในขณะที่เรากำลังรู้สึกเหมือนกับว่าสายการบินเก็บเงินผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเกือบทุกๆ Process ตั้งแต่การเลือกที่นั่งไปจนถึงการเช็กอินกระเป๋า แต่ในความเป็นจริง การกระจายการขายนอกเหนือจากราคาบัตรโดยสารช่วยปรับลดอัตราราคาต้นทุนการบินต่อไมล์ และทำให้สามารถซื้อบัตรโดยสารได้ในราคาที่ถูกลงกว่าสมัยก่อน

แต่หลายคนกลับกังวลว่าผลกระทบของการแพร่ระบาดทั่วโลกจะส่งผลให้มีปริมาณนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศน้อยลง และส่งผลให้องค์ประกอบส่วนอื่นๆ ภายใต้การเดินทางระหว่างประเทศปรับราคาสูงขึ้น

 

“เมื่อเครื่องบินสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพียงครึ่งเดียว ราคาบัตรโดยสารจะแพงขึ้นเป็นเท่าตัว การเดินทางระหว่างประเทศจะกลายเป็นกิจกรรมสำหรับคนที่มีเงิน ไม่ใช่แค่เรื่องราคาบัตรโดยสารเครื่องบินเท่านั้น แต่ปัญหานี้จะส่งผลต่อสินค้าการท่องเที่ยวอื่นๆ ด้วย เช่น สถานบันเทิงและค่าโรงแรม/ที่พักที่ต้องปรับราคาขึ้นเพื่อมาชดเชยจำนวนหัวนักท่องเที่ยวที่หายไป”

Rick Steves, นักเขียนไกด์บุ๊ก

และพิธีกรรายการโทรทัศน์ท่องเที่ยวชื่อดังชาวอเมริกัน

 

องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO: Nations World Tourism Organization) ได้คาดการณ์ว่าจำนวนรายได้จากการเดินทางระหว่างประเทศในปี 2020 จะสูญเสียรายได้อยู่ที่ระหว่าง 910,000 ล้าน – 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับอนาคตการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ท้ายที่สุดองค์ประกอบและกิจกรรมต่างๆ ที่ตรงกันข้ามกับการเว้นระยะห่าง ที่นักท่องเที่ยวหลายคนชื่นชอบ ทั้งการนั่งกินอาหารสตรีทฟู้ดใจกลางกรุงเทพฯ ปาร์ตี้นัวสุดเหวี่ยงมากฝูงชนกลางไนต์คลับในเทลอาวีฟ หรือแม้แต่การใช้บริการห้องพักโฮสเทลราคาประหยัดในแอฟริกาใต้ จะกลับมาหลังสถานการณ์การระบาดคลี่คลายและสามารถคิดค้นวัคซีนได้

 

“ท้ายที่สุดองค์ประกอบที่เราหลงรักทั้งการนั่งดื่มเบียร์ใน Irish Pub ข้างๆ คนแปลกหน้า การทักทายด้วยการหอมแก้มตามวัฒนธรรมฝรั่งเศส สิ่งเหล่านี้จะกลับมาเป็นเฉกเช่นเดิม แต่อาจใช้ระยะเวลาสักพักใหญ่”

Rick Steves, นักเขียนไกด์บุ๊ก

และพิธีกรรายการโทรทัศน์ท่องเที่ยวชื่อดังชาวอเมริกัน

 

5. อุตสาหกรรมเรือสำราญ (Cruises)

ยกเลิกบุฟเฟต์ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายทุกครั้ง เมื่อเรือกลับจากออกทะเล

ธุรกิจเรือสำราญทั้งหมดต้องหยุดการเดินเรือตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2020 พร้อมกับ 2 คำถามสำคัญก็คือเมื่อไหร่ที่ธุรกิจเรือสำราญจะกลับมาเปิดพานักท่องเที่ยวออกไปล่องทะเลอีกครั้ง? และรูปแบบการเดินเรือสำราญในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร?

 

“ในช่วงแรกที่สถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราจะได้เห็นการเดินเรือสำราญ ในระยะทางสั้นๆ ไปยังจุดหมายปลายทางที่สามารถควบคุมได้ภายใต้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม”

Richard D. Fain, CEO, Royal Caribbean Cruises

 

สิ่งที่เกิดขึ้นแน่ๆ คือการเดินเรือจะไม่กลับมาเป็นปกติในทันทีทันใด จำนวนลูกค้า/นักท่องเที่ยวจะไม่เยอะเหมือนเมื่อก่อน การตรวจสอบอุณหภูมิร่างกาย (ที่พอทำเป็นพิธี) จะกลายเป็นเรื่องปกติ และรูปแบบบุฟเฟต์เดินตักเลือกหยิบ จะหายไปหรือหายากในอนาคต 2 สายการเดินเรือสำราญระหว่างประเทศชั้นนำ Carnival Cruise Line และ Norwegian Cruise Line ได้ออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า พวกเขาจะเริ่มกลับมาเดินเรืออีกครั้งโดยเริ่มจากเรือจำนวนผู้โดยสารน้อยๆ ก่อน

 

 

“เป้าหมายของเราคือการคงไว้ซึ่งองค์ประกอบของประสบการณ์การเดินเรือ – คุณค่าทางประสบการณ์ การแวะจุดหมายปลายทางหลายๆ จุด ห้องรับประทานอาหารที่เต็มไปด้วยอาหารให้เลือกรับประทานมากมาย และสิ่งอำนวยความบันเทิงหลากหลายรูปแบบ โดยทั้งหมดทั้งมวลจะต้องปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมเข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบัน”

Frank Del Rio, Chief Executive, Norwegian Cruise Line Holdings

 

คำว่า ‘ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม’ อาจฟังดูไม่ค่อยกระจ่างสักเท่าไหร่ แต่สำหรับสายการเดินเรือสำราญยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง Norwegian Cruise Line ได้อธิบายการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นของทางบริษัทไว้ว่า

บริษัทจะทำการปรับเปลี่ยนตัวกรองอากาศภายในเรือทั้งหมด จากแบบปกติเป็นตัวกรองอากาศระดับที่ใช้ในทางการแพทย์ ติดตั้งระบบตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายแบบไร้สัมผัส อาหารบุฟเฟต์แบบมีบริกรให้บริการเสิร์ฟ ลดปริมาณความหนาแน่นของคนภายในเรือ และเพิ่มความถี่/ช่วงเวลาในการทำความสะอาด

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC: Centers for Disease Control Productivity and Prevention) ได้ออกมาให้คำแนะนำสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือสำราญว่า บริษัทเดินเรือสำราญทั้งหมดจะต้องมีการตรวจวัดอุณหภูมิ มีการคัดกรองทางการแพทย์ มีการตรวจเชื้อ COVID-19 และมีกระบวนการการจัดการที่เป็นระบบและเป็นไปตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการให้บริการเรือสำราญได้คาดการณ์ไว้ว่า อุตสาหกรรมจะกลับมาบวกอีกครั้งในปี 2021 โดยช่วงแรกจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีใจรักในการเดินเรือสำราญเป็นพิเศษ

 

6. ธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจการแบ่งปัน (Home Sharing)

การเคลื่อนที่/ย้ายถิ่นที่พักของผู้คนจะมีมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของความต้องการในการเช่าที่พัก

 

ระหว่างการแพร่ระบาดของ COVID-19 หลายบริษัทได้เรียนรู้ถึงบทเรียนสำคัญว่า ‘ผลิตภาพเกิดขึ้นได้นอกที่ทำงาน’ แนวโน้มการทำงานทางไกล/ทำงานจากที่อื่นกลายเป็นสิ่งที่ได้รับความนิยมมากขึ้น และในอนาคต เราจะได้เห็นเทรนด์ทริปท่องเที่ยวที่มีระยะเวลายาวขึ้นจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ทำงานไปพร้อมๆ กับการพักผ่อน

 

“หลายคนรู้สึกสะดวกและสบายใจที่พวกเขาไม่ต้องบีบระยะเวลาพักร้อนของตัวเองจาก 9 เหลือ 6 วัน แต่สามารถลาหยุดเพิ่มได้ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถทำงานจากทางไกลและแบ่งเวลาทำงานบางส่วนไปด้วยเช่นกัน เราจะเริ่มเห็นได้ถึงจินตนาการของผู้คนในเรื่องการทำงานนอกสถานที่ จากบ้าน (บ้านที่ไหนก็ได้) นอกเหนือจากบ้านที่ตัวเองเป็นเจ้าของ หรือที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่ออฟฟิศ”

Jeff Hurst, President, Vrbo (Vacation-rental Company)

 

สิ่งที่ Jeff Hurst ได้พูดนั้นสอดคล้องกับสิ่งที่ Brian Chesky, Chief Executive ของ Airbnb ได้เคยพูดไว้ว่า

 

“ผมสร้างสันนิษฐานไว้ในใจว่าในอีกประมาณ 20 ปีข้างหน้า เราจะก้าวเข้าสู่ยุคที่ทุกคนไม่ยึดติด/ล่ามโซ่ตัวเองไว้กับการอยู่อาศัยที่เมืองใดเมืองหนึ่ง หรือในยุคที่ผู้คนตระหนักได้ว่าการทำงานนอกออฟฟศิ ก็ทำได้ดีไม่ต่างกัน และผมก็ไม่คิดว่าสิ่งที่ผมคาดคิดจะมาเกิดเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา”

Brian Chesky, Chief Executive, Airbnb

 

 

เมื่อเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมา Airbnb ได้เพิ่มเติมลูกเล่นใหม่บนหน้า Homepage ของตัวเอง เพื่อโฆษณาโปรโมต ‘Monthly Stays’ (การให้เช่าที่พักรายเดือน) สนับสนุนการเติบโตของเทรนด์การเดินทางระยะยาว Airbnb ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าในช่วงที่พีกที่สุดของ Pandemic Shutdown นั้น 40% ของการจองที่พักเป็นการจองระยะยาว

การเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่เกิดขึ้นในตลาดการให้เช่าที่พักหลังการระบาดทั่วโลกของ COVID-19 ก็คือ ‘การยกเครื่องใหม่เรื่องระเบียบการด้านความสะอาด’ ในอดีตความสะอาดของที่พักนั้นสามารถดูได้จากดาวคะแนนความสะอาดของที่พักภายในเว็บไซต์ แต่หลังจากที่เชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เข้าโจมตี มันได้เข้ามาปรับเปลี่ยนนิยามของความสะอาดใหม่ทั้งหมด

บริษัทที่ให้บริการธุรกิจ Home Sharing ใหญ่ๆ อย่าง Airbnb และ Vrbo ได้ออกมาสร้างระเบียบการด้านความสะอาดฉบับใหม่ขึ้นมาให้เจ้าบ้านปฏิบัติตามเพื่อสอดคล้องกับมาตรการการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส

 

“COVID-19 ทำให้ความคาดหวังเรื่องมาตรฐานความสะอาดและสุขอนามัยของผู้บริโภคนั้นสูงมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้เองทำให้บริษัทของเราต้องสร้างคู่มือแนวทางด้านความสะอาดและสุขอนามัยขึ้นเพื่อให้ความรู้กับเจ้าของบ้าน ผู้จัดการอสังหาริมทรัพย์ และนักเดินทาง เกี่ยวกับมาตรฐานความสะอาดของสถานที่เช่าที่ดี ควรมีลักษณะเป็นอย่างไรถึงจะปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสและแน่นอนเมื่อนักเดินทางเชื่อมั่นในข้อมูลของเจ้าของที่พักแล้วมันก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องหนีไปใช้บริการโรงแรมแทน”

Jeff Hurst, President, Vrbo (Vacation-rental Company)

 

ถึงแม้ว่าการจองที่พักจะมีอัตราที่ลดลงในช่วงนี้ แต่ในอนาคต การพักแบบ Long-term stay จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง

 

เทรนด์การเดินทางท่องเที่ยวระยะยาวจะเติบโตขึ้นหลังจากนี้ จะสร้างประโยชน์ต่อธุรกิจให้เช่าที่พักระยะยาว เอื้อประโยชน์ด้านการอำนวยความสะดวกในราคาที่สามารถจับต้องได้ แน่นอนว่าที่พักสไตล์ Airbnbที่มีห้องครัวและโรงจอดรถนั้นเป็นอะไรที่เข้าถึงและตอบโจทย์การใช้ชีวิตแบบวันต่อวันได้ดีกว่าโรงแรมที่ลูกค้าต้องฝากชีวิตไว้กับ Room Service

 

7. ร้านอาหาร (Restaurant)

ร้านอาหารขนาดเล็กและบาร์เลือกที่จะปิดตัวลงดีกว่าฝืนต่อไป

 

บาร์ Amor y Amargo คือหนึ่งในบาร์ชื่อดังที่ตั้งอยู่ในย่านอีสต์ วิลเลจในนครนิวยอร์ก บาร์แห่งนี้มีชื่อเสียงในเรื่องให้ความสำคัญกับรสชาติขม

ในวันที่ 16 มีนาคม 2563 บาร์แห่งนี้ปิดพื้นที่ลง 2 ส่วนอย่างไม่มีกำหนด

ไม่ต่างจากร้านอาหารอื่นๆ ช่วงการแพร่ระบาดนั้น บาร์แห่งนี้ต้องปรับตัวโดยการขาย to-go cocktail และชุดเครื่องดื่มแทน แต่ทว่าการปรับตัวก็ไม่ได้ช่วยอะไรสักเท่าไหร่ ช่วยสร้างรายได้เพียง 1% จากรายได้ที่เคยทำได้ในช่วงสถานการณ์ปกติ สาเหตุสำคัญคือ Amor y Amargo และร้านอาหารขนาดเล็กอื่นๆ เป็นธุรกิจที่ใช้ระบบการบริการขนาดเล็ก

และไม่ได้มี Cash flow ที่สูงเท่าไหร่ และแน่นอนว่าในสถานการณ์เช่นนี้ร้านอาหารที่เน้นและให้ความสำคัญด้านประสบการณ์มีโอกาสสูงที่จะไม่รอด Investment Bank UBS ได้คาดการณ์ไว้ว่า ธุรกิจร้านอาหารในสหรัฐฯ จะปิดตัวถาวรเป็นจำนวนสูงถึง 1 ใน 5 ของธุรกิจร้านอาหารทั้งหมดในสหรัฐฯ

การดีดตัวกลับของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร้านอาหารในชุมชนสามารถฟื้นตัวกลับมาได้อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ๆ ที่ธุรกิจต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวพอๆ กับประชาชนในพื้นที่

 

8. โรงแรม (Hotels)

ความสะอาดและเทคโนโลยีไร้สัมผัสจะกลายเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ

 

โรงแรมส่วนใหญ่จะมุ่งพัฒนาและยกระดับสิ่งอำนวยความสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นฐานด้านความสะอาดและด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิต แตกต่างจากสมัยก่อนที่โรงแรมส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับห้องอาหาร สระว่ายน้ำ ยิม และบาร์ โดยสิ่งที่เคยได้รับความสนใจในอดีตได้ถูกลดความสำคัญลงในปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ผู้เชี่ยวชาญต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าโรงแรมกำลังเผชิญกับสถานการณ์ตึงเครียดที่จะสร้างสมดุลในการเลือกปฏิบัติที่เหมาะสมหรือพูดง่ายๆ ก็คือ ในขณะที่โรงแรมต้องพัฒนาและให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย แต่ก็ต้องทำให้ผู้ใช้บริการรู้สึกสะดวกสบายไม่ยุ่งยากเหมือนอยู่บ้าน

 

“ความท้าทายสำคัญคือ ทำอย่างไรถึงมั่นใจได้ว่าไม่ได้ส่งต่อ/เน้นย้ำเรื่องของไวรัสมากจนเกินไป ถึงแม้ว่าโรงแรมจะมีความต้องการที่จะสื่อสารว่าโรงแรมมีความสะอาด ปลอดภัย และปลอดเชื้อโรคแต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องไม่ทำให้ผู้เข้าพักรู้สึกเหมือนว่ากำลังเดินเข้าโรงพยาบาล”

Kate Walsh, the Dean of Cornell University’s School of

Hotel Administration

 

ผู้บริโภคจะได้เห็นการทำความสะอาดที่เพิ่มมากขึ้น แผงที่กั้นโปร่งแสงจุดบริการเจลล้างมือ ป้ายเตือนเว้นระยะห่างทาง การออกแบบบริเวณล็อบบี้ใหม่ที่ปลอดโปร่งมากขึ้น และในขณะเดียวกัน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เข้าพักกับพนักงานก็จะลดน้อยลง และเน้นการสนับสนุนการเช็กอินออนไลน์ล่วงหน้า และใช้โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนแทนการใช้บัตรกุญแจหรือคีย์การ์ด

American Hotel & Lodging Association ได้แนะนำให้ผู้ประกอบการโรงแรมควรใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัสโดยตรงระหว่างพนักงานโรงแรมกับแขกที่เข้าพัก โดยเฉพาะบริเวณที่สามารถนำมาปรับใช้ได้เพื่อลดความหนาแน่นและการต่อคิว เช่น บริเวณล็อบบี้ และพนักงานทำห้องก็ไม่ควรเข้าไปในห้องพักในขณะที่แขกอยู่ แต่จะเข้าไปเฉพาะเวลาที่ผู้เข้าพักร้องขอใช้บริการเพียงเท่านั้น

คำนิยามของโรงแรมหลัง COVID-19 ถูกเปลี่ยนเป็นการเว้นระยะห่างระหว่างแขกและผู้ให้บริการ ซึ่งสิ่งที่ตรงกันข้ามกับหัวใจสำคัญของงานบริการที่ต้องการให้ผู้ใช้บริการรู้สึกอบอุ่นและได้รับการดูแลเป็นอย่างดี

ในอนาคตหลังจากนี้ เราจะได้เห็นโรงแรมมีการปรับใช้พื้นที่เอาต์ดอร์ในมุมมองที่แปลกใหม่มากยิ่งขึ้น เพิ่มพื้นที่ภายในห้องพัก นำของใช้ไม่จำเป็นออก อาทิ เมนูอาหาร สินค้ามินิบาร์ ปากกา หรือแม้กระทั่งการนำเครื่องออกกำลังกายมาไว้ภายในห้องพัก หรือให้ผู้ใช้บริการสามารถจองเวลาใช้ยิมส่วนตัวได้ การให้บริการ Room Service จะเป็นในลักษณะ Knock-and-drop

 

 

9. งานกิจกรรม และเทศกาลต่างๆ (Events)

กิจกรรมที่มีการรวมตัวของมวลชนเริ่มกลับมาจัดอีกครั้งภายใต้คำเตือนและข้อกำหนด

 

การเดินทางเพื่อจุดประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อมีปฏิสัมพันธ์กับมวลชนนับสิบนับร้อย หรือเป็นจำนวนหลักพัน กลายเป็นสิ่งที่อันตรายในตอนนี้ อนาคตของกิจกรรมเหล่านี้ก็ยังไม่กระจ่างและยังไม่มีอะไรที่ชัดเจน กิจกรรมและงานเทศกาลใหญ่ๆ ยกตัวอย่างเช่น SXSW (South by Southwest: งานสัมมนาใหญ่ประจำปีด้านสื่ออินเทอร์แอ็กทีฟ, ภาพยนตร์และดนตรี) เทศกาลหนังเมืองคานส์ และโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ถูกยกเลิกหรือเลื่อนการจัดออกไปก่อน งานเทศกาลบางส่วนถูกปรับลดจำนวนผู้เข้าชมพร้อมข้อกำหนดในการจัดต่างๆ นานา ในขณะเดียวกันก็มีหลายกิจกรรมเปลี่ยนรูปแบบการจัดเป็น Virtual Event แทน

 

“ในช่วงแรกนั้นงานอีเวนต์ต่างๆ จะเป็นการจัดกิจกรรมสำหรับคนในท้องที่ โดยส่วนใหญ่จะจัดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ แต่จะไม่ใช่งานอีเวนต์ใหญ่ๆ ที่รวมคนหมู่มากจากทั่วทุกสารทิศหรือจากต่างประเทศให้มาเข้าร่วมงาน”

Julius Solaris, the Editor of EventMB

 

เมื่อพูดถึงระยะเวลาการจัดงาน ช่วงแรกๆ ระยะเวลาจำนวนวันจัดจะเน้นจัดแบบสั้น เน้นจบภายใน 1 วัน ถ้าเป็นการประชุม/งานสัมมนา แต่ละ Session จะมีความยาวไม่เกิน 30 นาที ที่นั่งภายในงานจะจำกัดจำนวนให้น้อยลง มีการเว้นระยะห่างมากกว่าเดิม ที่สำคัญที่สุดหลังจากนี้ไปเราจะได้เห็นการจัดงานอีเวนต์และการประชุมต่างๆ ในรูปแบบ Hybrid ผสมผสานมากยิ่งขึ้น ที่มีทางเลือกให้สามารถเข้าชมสดภายในสถานที่จัดงาน และชมผ่านช่องทางออนไลน์เสมือนอื่นๆ

 

“การจัดอีเวนต์ เทศกาล เฟสติวัล มันคือการจัดกิจกรรมที่เน้นการรวมตัวของคนหมู่มาก มันคือรูปแบบของกิจกรรมที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ง่ายๆ”

Steve Schmader, the President and Chief Executive

International Festivals & Events Association

 

งานเทศกาลเฟสติวัล และการจัดอีเวนต์พาเหรดจะยังเผชิญกับความท้าทายในการจัดอยู่มาก ทั้งข้อจำกัดด้านการรวมกลุ่มของผู้คน การเว้นระยะห่างที่เหมาะสม และการตรวจเช็กอุณหภูมิร่างกายอย่างเหมาะสมตลอดการจัดงาน.

Share This Story !

8.4 min read,Views: 979,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024