
The Closest Distancing ยิ่งห่างไกล ยิ่งอยากใกล้
บัณฑิต เอนกพูนสินสุข
- การระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้พวกเราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม แต่มนุษย์คือสัตว์สังคม ความหดหู่และความเบื่อหน่าย จึงกลายเป็นปัญหาที่ตามมา
- ผู้ผลิตสินค้าและการบริการ ต้องหาคำตอบให้ได้ว่า จะทำอย่างไรเพื่อนำเสนอประสบการณ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ ๆ ภายใต้โจทย์ว่าต้องป้องกันการแพร่ระบาด
- พบกับตัวอย่างธุรกิจที่เข้ามาตอบโจทย์ที่น่าสนใจ ทั้งเทศกาลบนโลกเสมือน แอปพลิเคชันพาหาคู่ข้ามโลก ไปจนถึงหน้ากากแปลภาษา
ห่างกันสักพัก ใส่หน้ากากสักนิด กฎพื้นฐานง่าย ๆ ที่พูดและถือปฏิบัติกันทั่วทั้งโลก ณ ขณะนี้ แบรนด์และผู้บริโภครับรู้และคุ้นเคยเป็นอย่างดี
แน่นอนความปลอดภัยที่ได้จากการเว้นระยะห่างทางสังคมนั้นต้องแลกมาด้วยผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้บริโภค ทั้งความหดหู่ สิ้นหวัง เบื่อหน่ายและความรู้สึกถูกจำกัดการเชื่อมโยงและการติดต่อระหว่างกัน
หลายคนอาจมองข้ามและมองว่าเป็นเพียงปัญหาเล็ก ๆ การอยู่บ้านคนเดียว อยู่บ้านกับครอบครัว ไม่ต้องไปเจอสังคมสักหน่อยก็ดีเหมือนกัน แต่มันไม่ได้เป็นอย่างนั้นนี่สิ ปัญหาการถูกจำกัดการถูกเนื้อต้องตัว จำกัดการพบปะพูดคุย จำกัดการรวมกลุ่ม และจำกัดการมีปฏิสัมพันธ์ กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเสียแล้ว
เพราะมนุษย์คือสัตว์สังคม
มนุษย์แยกกันอยู่ได้ไหม? ลองมาดูผลวิจัยของ The Valuegraphics Database (บริษัททำการวิจัยและศึกษาความต้องการของผู้บริโภค) กัน บริษัทดังกล่าว ได้ทำการสำรวจชาวอเมริกัน เกี่ยวกับสิ่งที่พวกเขาอยากจะทำมากที่สุดแม้มาตรการการรวมกลุ่มถูกยกเลิก ผลปรากฏว่า ชาวอเมริกัน กว่า 57% เลือกที่จะใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น พูดคุยกับเพื่อน ๆ และคนที่พวกเขารักให้มากกว่าเดิม
พวกเรากำลังอยู่ในช่วงที่โหยหาการพบเจอ การสัมผัสซึ่งกันและกันเป็นอย่างมาก และเพื่อที่จะเข้ามาช่วยเหลือให้มนุษย์ผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้นั้น องค์กรและหน่วยงานต่าง ๆ ก็เริ่มที่จะเข้ามามีบทบาท The Emily Post Institute สถาบันเอมิลี่โพสต์ สถาบันสอนมารยาทและการวางตัวทางสังคมออกมาปรับเปลี่ยนนโยบายคำแนะนำเรื่องการจับมือทักทายที่มีมาช้านาน โดยให้คำแนะนำว่า
“การทักทายที่มีการสัมผัสตัวนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แนะนำให้กระทำในช่วงนี้ และให้ทักทายโดยการโบกมือแทน ไปพร้อมกับการเปล่งถ้อยคำที่เหมาะสมกับสถานการณ์เพื่อทักทาย” The Emily Post Institute, 2020
แม้แต่ในฝรั่งเศส รัฐบาลภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง (Emmanuel Macron) ก็สั่งห้ามประชาชนหอมแก้มทักทายกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ แม้ว่าการหอมแก้มทักทายหรือ “La Bise” จะเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ประจำประเทศ (Business Insider 2020)
ความสัมพันธ์ เรื่องรัก เรื่องใหญ่
เมื่อพูดถึงการทำงานที่บ้าน อยู่บ้าน เว้นระยะห่าง ใช้เวลากับครอบครัวหรือใช้เวลากับแฟน หลายคนอาจคิดในใจว่าต้องหวานแหวว ไม่มีปัญหาแน่ ได้ทายาทสืบตระกูลแน่นอน
ที่จีน เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ สถานที่ที่หลายคนเชื่อว่าเป็นต้นต่อของไวรัส
COVID-19 อาจเป็นไปตามคาด เพราะ 76 วันหลัง Lockdown ถูกผ่อนปรน มีประชากรต้องการทำเรื่องจดทะเบียนสมรสผ่านระบบแอปพลิเคชันของเมืองเพิ่มขึ้นถึง 300% (Business Insider 2020) เรียกได้ว่าระบบล่มกันเลยทีเดียว
แต่มันก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ในทางกลับกัน ประเทศเดียวกัน ที่เมืองซีอาน (Xi’an) มณฑลส่านซี (Shaanxi) ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน กลับมีอัตราการหย่าร้างพุ่งทะยานสูงขึ้น สำนักงานเขตท้องถิ่นหลายแห่งได้พบเจอกับจำนวนคำร้องขอหย่าร้างที่มีมาก อย่างไม่เคยพบเจอมาก่อน หลังจากเมืองกลับมาเปิดอีกครั้ง จนทำให้เกิดกระแสแฮชแท็ก (hashtag) “ซีอานมหกรรมการหย่าร้าง“ (#西安离婚预约爆满#) ที่ขึ้นเทรนด์ค้นหาและมีการอ่านสูงถึง 32 ล้านครั้งผ่านแพลตฟอร์ม Weibo (BBC 2020)
การเปลี่ยนแปลง = ความคาดหวัง
COVID-19 เข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน สิ่งที่เปลี่ยนมากที่สุดก็คือความสัมพันธ์ ความคาดหวัง และความต้องการที่จะเชื่อมโยงและติดต่อกันและกัน จนก่อให้เกิดเป็นเทรนด์ความกระหายประสบการณ์ทางสังคมในรูปแบบใหม่ แบรนด์ผู้ผลิตสินค้าและการบริการ จะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าจะทำอย่างไรเพื่อนำเสนอประสบการณ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยสนับสนุน/สร้างคำนิยามใหม่ ๆ สร้างการเชื่อมต่อในช่วงผลัดเปลี่ยนเช่นนี้และนี่คือตัวอย่างของแบรนด์ที่เข้ามาตอบโจทย์ความต้องการนี้
1. Virtual May Day Concert เที่ยวงานเทศกาลวันแรงงานบนโลกเสมือน
วันแรงงานบ้านเราอาจเป็นเพียงแค่วันหยุดวันนึง แต่ไม่ใช่ที่ประเทศฟินแลนด์ ที่ฟินแลนด์ “Vappu” หรือ วันแรงงาน (1 พฤษภาคม ของทุกปี) นับเป็นอีกหนึ่งวันหยุดสำคัญประจำปีที่ประชาชนจะออกมาเฉลิมฉลองกัน
มีงานเทศกาล มีขบวนพาเหรด และมีการจัดคอนเสิร์ตอย่างคึกคัก แม้ประเทศจะอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ แต่งานเทศกาลก็ยังมีอยู่ แต่เปลี่ยนเป็นการจัดในรูปแบบของ VR แทน คนที่สนใจสามารถสร้าง Avatar เพื่อเข้าร่วมงานเทศกาลวันแรงงานและเดินชมได้ทั่วเมืองหลวงเฮลซิงกิ งานนี้มีผู้เข้าร่วมชมมากกว่า 700,000 คน นับเป็นหนึ่งในงานเทศกาลออนไลน์ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดของฟินแลนด์เลยทีเดียว สำหรับเมืองจำลองและงานเทศกาลถูกพัฒนาขึ้นโดย Zoan บริษัทพัฒนาเทคโนโลยี VR ในประเทศฟินแลนด์ (Business Insider 2020; The Guardian 2020)
2. C-MASK หน้ากากอัจฉริยะแปลภาษา
Donut Robotics บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์และเทคโนโลยีสัญชาติญี่ปุ่น กลายเป็นบริษัทแรกของโลกเลยก็ว่าได้ ที่ได้สร้าง “หน้ากากอนามัยอัจฉริยะ” ที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกับหุ่นยนต์และสามารถทำงานร่วมกับสมาร์ตโฟน (Donut Robotics 2020; Forbes 2020) โดยหน้ากากรุ่นล่าสุดที่มีชื่อรุ่นว่า C-mask สามารถแปลภาษาได้ 8 ภาษา การทำงานของมันคือเมื่อผู้สวมใส่พูด ถ้อยคำจะปรากฏบนจอสมาร์ตโฟน และหากผู้สวมใส่เลือกภาษาอื่น ๆ ถ้อยคำนั้น ๆ ก็จะแปลเป็นภาษาอื่น ๆ ในทันที เรียกได้ว่าช่วยป้องกันละอองฝอยน้ำลายได้แล้ว ยังช่วยให้สามารถสื่อสารกับคนต่างชาติได้อีกด้วย สำหรับราคาของหน้ากากรุ่นนี้ก็มีราคาอยู่ที่ 3,980 เยน หรือประมาณ 1,200 บาท (Forbes 2020)
3. TINDER ปัดไกล ๆ ไปได้ทั่วโลก
หลังจากที่ Tinder ได้เอาใจคนขี้เหงาไปรอบนึงและเปิดให้ใช้งานฟีเจอร์ปักหมุดไปเมืองไหนก็ได้ทั่วโลกเพื่อหาคู่ฟรี โดยไม่ต้องเสียเงินจนถึงสิ้นเดือนเมษายน หลังจากนั้นไม่นาน Tinder ก็ได้วางแผนเอาใจคนขี้เหงาอีกครั้ง และได้เริ่มทดสอบการให้บริการโหมดหาคู่ไร้พรมแดน (Global Mode) ที่สนับสนุนให้สามารถจับคู่กับผู้ใช้งานที่อยู่ที่ไหนบนโลกก็ได้ลดขีดจำกัดเรื่องระยะทางพร้อมทั้งแสดงโปรไฟล์ของผู้ใช้งานที่เปิดใช้งานทั่วโลก โดยฟีเจอร์ใหม่นี้อยู่นอกเหนือจากระบบ Passport ที่ต้องชำระเงิน (The Verge 2020) และไม่มีค่าบริการใด ๆ นอกจากนี้ Tinder ยังได้วางแผนขยายการให้บริการให้สามารถวิดีโอคอลแบบ 1:1 หรือ Face-to-Face ได้อีกด้วย (Tinder 2020) คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป หากคุณเป็นคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยและอยากจะได้สาวผมทองมาพูดคุยด้วยแก้เหงาหรือเป็นแม่ของลูก
4. EMERSONS บาร์ป๊อปอัปสำหรับพบปะสังสรรค์ได้ ไม่ติดเชื้อ
บริษัทเบียร์สัญชาตินิวซีแลนด์เปิดตัว Tiny Pub บาร์ป๊อปอัปสำหรับให้บริการลูกค้า 2 ท่าน ภายในมีบาร์เทนเดอร์ 1 คน เปียโนตัวเล็ก ๆ 1 ตัว และเกมปาลูกดอก บาร์นี้ถูกทำขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้คนได้พบปะสังสรรค์อย่างปลอดภัยภายหลังการล็อกดาวน์ถูกผ่อนปรน การให้บริการของที่นี่ถูกแบ่งเป็น Session ให้บริการ Session ละ 27 นาที ซึ่งเป็นตัวเลขที่ทางบริษัทได้ทำการศึกษามาเรียบร้อยแล้วว่า มันคือเวลาที่เหมาะสม ไม่มากไป และน้อยไป สำหรับคน 2 คน ที่จะมานั่งพูดคุยไปพร้อมกับการจิบเบียร์สักแก้วสองแก้ว ภายใต้ป๊อปอัป บาร์เล็ก ๆ ที่ไม่มีลูกเล่นอะไรให้เล่นมากนัก สำหรับผู้ที่สนใจสามารถจอง Session ได้ทางเว็บไซต์โดยลองดูที่แผนที่ว่าตอนนี้ Tiny Pub เคลื่อนที่ไปให้บริการละแวกไหนบ้าง
5. STELLA ARTOIS Social Distancing Street Art
เพื่อที่จะสนับสนุนให้ผู้บริโภคปฏิบัติตามมาตรการ Social Distancing ได้ดีขึ้น บริษัทเบียร์ชื่อดัง Stella Artois แห่งสหราชอาณาจักร ได้ปรับแต่งพื้นที่กิจกรรมและแหล่งรวมธุรกิจสุดไอเดียย่าน Old Truman Brewery ที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของกรุงลอนดอน โดยเปลี่ยนพื้นที่บางส่วนให้กลายเป็นภาพวาดงานจิตรกรรมภาคพื้นระนาบ (Floor Mural) งานศิลปะภาคพื้นระนาบในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสตูดิโอศิลปะชื่อดัง Studio
Number One งานดังกล่าว ใช้ลักษณะของรูปทรงและสีที่ตัดกันเพื่อสร้างความตระหนักและช่วยให้ผู้ที่เข้ามาใช้พื้นที่ได้ปฏิบัติตามนโยบาย Social Distancing มากขึ้น งานศิลปะชิ้นนี้ถูกแชร์และกลายเป็นแรงบันดาลใจถูกนำไปใช้ในบาร์และผับหลายแห่งทั่วสหราชอาณาจักรกว่า 1,000 แห่งเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังได้พัฒนาต่อยอดกลายเป็นแคมเปญสตรีทอาร์ต (Street Art) ที่วาดในประเทศอื่น ๆ ทั้งในนครชิคาโก (Chicago) ประเทศสหรัฐอเมริกา กรุงเม็กซิโก ซิตี้ (Mexico City) ประเทศเม็กซิโก และนครมิลาน (Milan) ประเทศอิตาลี
6. OCTI AR โซเชียลเน็ตเวิร์กที่เข้ามาช่วยขยายประสบการณ์การปฏิสัมพันธ์ในชีวิตจริง
Octi คืออีกหนึ่งในตัวอย่างความสำเร็จของการเพิ่มความสนุกสนาน ความแปลกใหม่ลงไปในโลกที่เราไม่สามารถพบปะกันได้บ่อย ๆ หรืออยู่ใกล้ชิดกับเพื่อน ๆ ได้เหมือนเช่นเคย
Octi เป็นโซเชียลเน็ตเวิร์กตัวแรกที่ใช้เทคโนโลยี AR เชื่อมต่อกับผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริง ผู้ใช้งานสามารถหันกล้องโทรศัพท์มือถือไปที่เพื่อน หลังจากนั้นก็จะเห็นองค์ประกอบโซเชียลต่าง ๆ ของเพื่อนคนนั้นลอยอยู่ภายในจอมือถือเต็มไปหมด แอปพลิเคชัน Octi ทำงานด้วยระบบตรวจจับใบหน้า หรือ Facial Recognition Profile Octi จะโชว์เฉพาะผู้ที่เป็นเพื่อนกันแล้วในแอปฯ เท่านั้น ปัจจุบัน Octi ได้บูรณาการร่วมกับ Snapchat เมื่อผู้ใช้งานโพสต์ Stories ลงใน Snapchat วิดีโอ Stories นั้น ๆ ก็จะปรากฏใน Octi AR Profile ทันทีด้วย
7. MAYO แอปพลิเคชันที่ช่วยสนับสนุนให้คนท้องถิ่นช่วยเหลือกันและกัน
เมื่อผู้บริโภคส่วนใหญ่ติดอยู่กับบ้าน COVID-19 เข้ามาเบนเข็มและเพิ่มความสำคัญของคำว่า ‘ชุมชน’ การชักจูงผู้คนมารวมกันผ่านการกระทำง่าย ๆ ที่แสดงออกถึงความเอื้อเฟื้อและความมีน้ำใจ ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่
น่าสนใจที่ช่วยทำให้ชุมชนนั้นมีความสัมพันธ์ที่แข็งแรง
แอปพลิเคชัน Mayo กลับมาเปิดอีกครั้งในสหรัฐอเมริกาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 แอปพลิเคชันที่ให้ผู้ใช้สามารถขอความช่วยเหลือและสามารถยื่นมือให้ความช่วยเหลือคนภายในชุมชนหรือละแวกใกล้เคียงได้ ผู้ใช้งานสามารถขอความช่วยเหลือผ่านแอปฯ ยกตัวอย่างเช่น ขอความช่วยเหลือเรื่องการขนส่งสินค้าจากร้านขายของ และผู้ที่อยู่ใกล้ละแวกนั้น ๆ สามารถเข้ามาตอบ หรือให้การช่วยเหลือการร้องขอได้ภายใน 1 ชั่วโมง ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 แอปพลิเคชัน Mayo ได้จับมือร่วมกับสมาคม Heroic Together สมาคมในนครซีแอตเทิล (Seattle) ที่ร่วมกลุ่มกันเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับชุมชน โดยในช่วงการระบาดนั้น Mayo ได้เป็นส่วนสำคัญให้การช่วยเหลือและแบ่งปันสินค้าหายาก อาทิ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ และกระดาษชำระ
ที่สุดแล้วมันถึงเวลาแล้ว ที่แบรนด์จะต้องเข้ามามีบทบาท ปรับเปลี่ยน ปรับตัว สร้างความยืดหยุ่น ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือผู้บริโภค นำเสนอประสบการณ์ทางสังคมรูปแบบใหม่ ๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างความแปลกใหม่ น่าจดจำ ให้เสมือนผู้บริโภคได้ให้ออกเดินทางอีกครั้ง