ประสบการณ์’ทำงานไปเที่ยวไป’และกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่

ประสบการณ์ทำงานไปเที่ยวไปและกระแสความนิยมของคนรุ่นใหม่
The ‘work and travel’ experience among young travelers

‘Work and travel’ is a phenomenon that began first in the US and the commonwealth and later in East Asian countries such as Japan, Taiwan, South Korea. Motivations for young people to join work and travel programs differ across regions. For Westerners the main factor is the desire to experience a different, preferably sunny, environment. For young Asian travelers, the main purpose is to learn English and gain experience of western culture which they hope will improve their socio-economic status back home. A unique concern among Thai youths is the concern for financial returns through work and travel.

ที่มาของปรากฎการณ์ ‘ทำงานไป เที่ยวไป’

ในช่วงเวลาเกือบหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มีปรากฏการณ์หนึ่งซึ่งเป็นกระแสนิยมของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ทั้งในกลุ่มนิสิต-นักศึกษามหาวิทยาลัย ตลอดจนคนวัยทำงานระยะเริ่มต้นที่อยากมีประสบการณ์การใช้ชีวิตในต่างแดนและมีโอกาสทำงานและท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น

ประสบการณ์นี้มีหลายชื่อ และมักถูกเรียกขานตามชื่อของโปรแกรมที่จัดเช่น Work and Travel หรือ Work and Holiday นักเดินทางกลุ่มนี้มักจะถูกเรียกว่า Working and Holiday Makers (WHMs) หรือนักเดินทางที่ไปทำงานและไปท่องเที่ยวพร้อมๆ กัน ในบทความนี้ ผู้เขียนจะขอใช้คำเพื่อเรียกการเดินทางและนักเดินทางกลุ่มนี้ว่าการเดินทางและนักท่องเที่ยวแบบ ‘ทำงานไป เที่ยวไป’

ประสบการณ์ ‘ทำงานไป เที่ยวไป’ นี้ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่เป็นรูปแบบหนึ่งของการเดินทางท่องเที่ยวแบบแบ็กแพ็ก (backpacking) การเดินทางแบบนี้ถือกำเนิดขึ้นตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตกซึ่งมีมาแล้วกว่า 50 ปี โดยเริ่มจากนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอังกฤษที่เดินทางไปประเทศสหรัฐอเมริกา ผ่านโครงการอาสาสมัครทำงาน ที่เน้นการใช้แรงงานไร้ทักษะและใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นในช่วงเวลาหนึ่ง การเดินทางประเภทนี้เริ่มเกิดให้เห็นเป็นรูปธรรมในช่วงหลังปี 1970 (พ.ศ. 2513) เมื่อประเทศสหราชอาณาจักรอนุญาตคนหนุ่มสาวจากประเทศในเครือจักรภพ (commonwealth) ได้แก่ แคนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ให้เข้าไปทำงานชั่วคราวและอาศัยอยู่ในประเทศได้ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติและเป็นที่นิยมของวัยรุ่นหนุ่มสาวชาวนิวซีแลนด์


ต่อเนื่องไปอีกหลายศตวรรษประสบการณ์ ‘ทำงานไป เที่ยวไป’ นี้ มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นกระแสการเดินทางของหนุ่มสาวชาวตะวันตก ที่อยากมีโอกาสไปอาศัยอยู่ประเทศใหม่ที่มีสภาพแวดล้อมซึ่งเหมาะกับความต้องการ
ทางการท่องเที่ยวและสันทนาการที่หาไม่ได้จากประเทศของตน และมีโอกาสหางานประเภทแรงงานไร้ทักษะทำเพื่อยังชีพ ตัวอย่างเช่น วัยรุ่นจากอังกฤษมักนิยมเลือกประเทศแถบร้อน เช่น ออสเตรเลีย ที่มีภาพลักษณ์ของทะเลและชายหาดเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวประเภทนี้ เป็นต้น

กระแสการเดินทาง ‘ทำงานไป เที่ยวไป’ ยังได้รับการตอบรับอย่างดีจากประเทศแถบเอเชีย โดยเฉพาะญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน แต่ด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างจากกลุ่มวัยรุ่นชาวตะวันตก นอกเหนือจากความอยากเดินทางออกนอกประเทศเพื่อพ้นจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ เพื่อรู้จักผู้คนและเรียนรู้วัฒนธรรมใหม่ๆ แล้วกลุ่มวัยหนุ่มสาวจากเอเชียที่เลือกไปใช้ชีวิตแบบ ‘ทำงานไป เที่ยวไป’ ยังมีจุดประสงค์สำคัญคือเพื่อฝึกภาษาอังกฤษ เพื่อหัดพึ่งพาตัวเอง และเพื่อยกระดับความศิวิไลซ์จากประสบการณ์ในประเทศตะวันตกที่ตนคิดว่ามีความเจริญเทียบชั้นหรือเจริญกว่าประเทศของตน ทั้งยังหวังว่าภาพลักษณ์ใหม่นี้จะช่วยเพิ่มโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจเมื่อกลับคืนสู่ประเทศ

สำหรับประเทศไทย ในช่วงระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมา ชาวไทยรุ่นใหม่ให้ความสนใจกับการเดินทางลักษณะนี้ในจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากรายงานของรัฐบาลออสเตรเลีย ในปี 2015 ที่ชื่อ Working Holiday Maker Visa Programme แสดงให้เห็นว่าจำนวนวีซ่า Work and Holiday ที่ออกให้กับหนุ่มสาวชาวไทยอายุไม่เกิน 31 ปีภายใต้ชื่อ Work and Holiday Visa (WAH) เพิ่มจำนวนจาก 200 ในปี 2005  (พ.ศ. 2548) เป็น 500 ในปัจจุบัน เนื่องจากความนิยมที่เพิ่มขึ้นและผลตอบรับที่ดีของโครงการ วีซ่าประเภท WAH เป็นวีซ่าที่ออกเพียงครั้งเดียวให้กับกลุ่มประเทศ 18 ประเทศ ซึ่งประเทศไทยได้เข้าเป็นประเทศพันธมิตรในโครงการนี้เมื่อปี 2005 (พ.ศ. 2548)

สิ่งที่น่าสนใจคือ อะไรเป็นสาเหตุให้คนไทยรุ่นใหม่หันมาเดินทางและเข้าร่วมโปรแกรม ‘ทำงานไป เที่ยวไป’ กันมากขึ้น อะไรคือแรงจูงใจของพวกเขา และแรงจูงใจนี้เมื่อเปรียบเทียบกับคนรุ่นใหม่จากประเทศตะวันตกและจากประเทศแถบเอเชีย อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ นั้นมีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร

1 ประเทศออสเตรเลียออกวีซ่าสองประเภทให้กับกลุ่มคนรุ่นใหม่อายุระหว่าง 18-30 ปีจาก 36 ประเทศเพื่อให้สามารถเดินทาง”งานไป-เที่ยวไป“ 1 ปี

วีซ่าประเภทแรกมีชื่อว่า Working Holiday Visa ออกให้กับกลุ่มประเทศ 18 ประเทศ โดยรวม 4 ประเทศในเอเชียได้แก่ ไต้หวัน เกาหลีใต้ ฮ่องกง (เขตปกครองพิเศษของจีน) และ ญี่ปุ่น ซึ่งวีซ่าประเภทนี้สามารถออกได้สองครั้งตามเงื่อนไข ส่วนวีซ่าประเภทที่สองชื่อว่า Work and Holiday Visa ออกให้กับกลุ่มประเทศ 18 ประเทศโดยมี 3 ประเทศจากอาเซียนรวมอยู่ในกลุ่มนี้ซึ่งได้แก่ ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ซึ่งออกเพียงครั้งเดียว

ความเหมือนและความต่าง

เพื่อตอบคำถามดังกล่าว ผู้เขียนจึงทำการศึกษาเบื้องต้น โดยเก็บข้อมูลจากเว็บไซต์ บล็อก และเว็บบอร์ดของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เพื่อศึกษาแรงบันดาลใจของนักเดินทางชาวไทยประเภท ‘ทำงานไป เที่ยวไป’ ที่เลือกเดินทางไปประเทศออสเตรเลียเป็นจุดหมายปลายทางจากโครงการ WAH และเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่ได้กับงานที่ศึกษานักเดินทางประเภทเดียวกันในอดีตจากกลุ่มประเทศตะวันตก ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และไต้หวัน ซึ่งพบว่าปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับนักเดินทางทั้งชาวไทยและวัยรุ่นชาวตะวันตก โดยเฉพาะในประเด็นที่คนกลุ่มหลังเห็นว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญคือ ความอยากสัมผัสกับประสบการณ์ในวัฒนธรรมต่างแดน อยากหลีกหนีจากสภาพแวดล้อมเดิมๆ และความอยากย้ายถิ่นฐานไปอยู่ในประเทศจุดหมายปลายทางอย่างถาวร

หากเทียบแรงบันดาลใจกับนักท่องเที่ยวจากเอเชีย แล้วสิ่งที่ถือว่าเป็นแรงจูงใจสำคัญสำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและนักท่องเที่ยวจากสามประเทศที่แตกต่างจากวัยรุ่นชาวตะวันตกคือ ความอยากเพิ่มพูนทักษะภาษาอังกฤษ อยากใช้ชีวิตในสังคมตะวันตกที่มองว่าเป็นความศิวิไลซ์และอยากรู้สึกภาคภูมิใจจากการพึ่งพาตนเองในต่างแดน

นอกจากลักษณะร่วมกับนักเดินทางประเภทเดียวกันดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น นักเดินทางชาวไทยประเภท ‘เดินทางไป เที่ยวไป’ ยังมีแรงจูงใจที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ที่สะท้อนให้เห็นจากนักเดินทางรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งนั่นคือความสนใจเรื่องผลตอบแทนระหว่างพำนักอยู่ในต่างประเทศผลตอบแทนทางการเงินเป็นแรงจูงใจสำคัญก่อนการเดินทาง และเป็นความหนักใจที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความกังวลเรื่องภาษา ซึ่งวัยรุ่นชาวไทยมักนำมาพิจารณาก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ

ความกังวลว่าจะไม่มีงานทำเมื่อเดินทางไปถึงประเทศจุดหมายปลายทางมีมากพอๆกับความกังวลว่าจะไม่ได้ค่าแรงในอัตราที่เหมาะสมจากงานที่ทำ เนื่องจากนักเดินทางกลุ่มนี้ส่วนหนึ่งมองว่านี่คือโอกาสในการเก็บหอมรอมริบ และต้องการเก็บออมรายได้ส่วนหนึ่งให้เพียงพอก่อนกลับประเทศ แรงจูงใจนี้ทำให้นักเดินทางชาวไทยรุ่นใหม่แตกต่างจากนักเดินทางวัยรุ่นจากชาติตะวันตก และจากญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวันเนื่องจากกลุ่มคนดังกล่าวให้ความสำคัญกับการทำงานเพื่อยังชีพ (เช่น จ่ายค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าสันทนาการ) ระหว่างที่ตนพำนักอยู่ และเลือกนำเงินที่ได้ ใช้จ่ายไปกับการท่องเที่ยวเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์โดยไม่ได้ให้ความสำคัญการเก็บออมเพื่ออนาคตมากเท่ากับนักเดินทางชาวไทย

เหตุผลสำคัญที่ทำให้วัยรุ่นชาวไทยจำนวนมากให้ความสำคัญกับการหารายได้และการเก็บออมมาจากปัจจัยสภาพเศรษฐกิจของสองประเทศความแตกต่างเรื่องค่าครองชีพของประเทศที่ออกวีซ่า (เช่น ประเทศออสเตรเลียหรือนิวซีแลนด์) ที่สูงกว่าประเทศไทย ทำให้ผลตอบแทนที่ได้รับจากการทำงานสูงกว่าค่าแรงที่ได้รับจากประเทศของตน แม้จะเป็นเพียงค่าแรงขั้นต่ำจากการทำงานไร้ทักษะก็ตามซึ่งเพียงพอต่อการเก็บออมส่งผลให้นักเดินทางสามารถเก็บเงินจากการทำงาน หากพวกเขาสามารถบริหารจัดการการเงินได้ดี จะสามารถมีเงินเก็บในจำนวนที่น่าพอใจ เพื่อนำไปใช้ตอบสนองความต้องการอื่นๆ เมื่อกลับคืนสู่ประเทศของตน

นอกเหนือจากแรงจูงใจเรื่องการเก็บเงินแล้ว ประเด็นที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวชาวไทยส่วนหนึ่งซึ่งเป็นภาพสะท้อนมายาคติชนชั้นกลางของสังคมได้เป็นอย่างดี คือความรู้สึกว่าตัวเองภูมิใจ จากการทำงานไร้ทักษะ ที่อาจไม่มีประสบการณ์ หรือเลือกจะไม่มีประสบการณ์ ขณะที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศของตน ซึ่งถือว่ามีความแตกต่างจากนักท่องเที่ยวชาวตะวันตกอย่างมีนัย

วัยรุ่นชาวตะวันตกส่วนมากไม่ได้มองว่าการทำงานไร้ทักษะเป็นสิ่งพิเศษแต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวไทยกลุ่มนี้ ที่ส่วนหนึ่งแทบไม่มีโอกาสได้สัมผัสงานประเภทนี้ตอนอยู่ในประเทศ กลับมองว่าการทำงานใช้แรงงานเป็นสิ่งพิเศษ ที่ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ชีวิต ทำให้รู้สึกเติบโตจากการพึ่งพาตัวเอง จากความอดทนต่อความลำบาก และเกิดความภูมิใจกับตัวตน (เห็นได้จากตัวอย่างความเห็น ดังนี้  “ก่อนมาหุงข้าวยังไม่เป็นเลย
ตอนนี้ต้มไข่ได้แล้ว” หรือ “ทำงานเสิร์ฟวันแรกอยากกลับบ้าน โดนเจ้านาย บ่น ด่า เหนื่อย ปวดขา …แต่ถ้าคุณผ่านมันมาได้ คุณจะภูมิใจกับมัน มีเรื่องเล่ายันลูกยันหลาน”)

ความรู้สึกภาคภูมิใจจากการทำงานใช้แรงงาน และความสามารถในการก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดจากการทำงาน เป็นแรงจูงใจที่มีความสอดคล้องกับแรงจูงใจของนักเดินทางชาวเอเชีย ในด้านความภูมิใจในการจัดการตนเองจากการหาเลี้ยงตนเองได้และจากการใช้ชีวิตตามลำพังโดยปราศจากการแทรกแซงหรือช่วยเหลือ
ของครอบครัว ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผิน สามารถกล่าวได้ว่าประสบการณ์นี้ช่วยหล่อหลอมนักเดินทางรุ่นใหม่ ทำให้พวกเขาเกิดความมั่นใจ และรู้สึกว่าตนเติบโตและแข็งแกร่งขึ้น

แต่หากมองลึกลงไปถึงค่านิยมของสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้วัฒนธรรมที่หล่อหลอมกระบวนการเติบโตของชนชั้นกลาง และการกำหนดคำนิยามคำว่า ‘การเติบโต’ แล้ว ลักษณะแรงจูงใจและวิถีการใช้ชีวิตของนักเดินทางไทยในต่างแดนประเภท ‘ทำงานไป เที่ยวไป’กลับสะท้อนให้เห็นคำจำกัดความการเติบโต
ของชนชั้นกลางในแบบไทยๆที่ยังมีลักษณะผิวเผิน และเป็นการให้คุณค่ากับมายาคติเชิงบวกจากประสบการณ์ที่อยู่ภายใต้แพ็กเกจ การทำงานเมืองนอก ซึ่งให้ความสำคัญกับบริบทความเป็นต่างประเทศ และความเป็นสังคมศิวิไลซ์มากกว่าจะพยายามเข้าใจถึงกระบวนการเติบโตจากภายในที่ได้จากการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาตนเอง จากการตีความคำว่า ยากลำบาก อย่างเหมาะสม และจากการพยายามค้นหาและค้นพบตัวตน

ในมุมมองด้านการท่องเที่ยวการศึกษาครั้งนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเดินทางประเภทเดียวกันของคนวัยใกล้เคียงกันและเป็นการเดินทางที่มีจุดประสงค์ชัดเจนจากประเทศที่ออกวีซ่ากลับดึงดูดกลุ่มคนที่มีแรงจูงใจแตกต่างกันในรายละเอียด อันเป็นผลมาจากบริบททางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันของนักเดินทาง

ความเข้าใจในบริบทที่แตกต่างกันนี้จะช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดโครงการ ทั้งจากประเทศผู้ออกวีซ่า และจากประเทศไทยสามารถเข้าใจถึงแรงจูงใจและความต้องการเฉพาะของนักเดินทางกลุ่มนี้ ซึ่งส่งผลต่อการให้คำแนะนำ การชี้แนะแนวทางรวมถึงปรับกรอบความคิดหรือทัศนคติที่ยังเป็นข้อจำกัดของวัยรุ่นไทยในระหว่างที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างแดนอีกทั้งหน่วยงานดังกล่าวยังสามารถเตรียมความพร้อมและชี้ให้นักเดินทางเห็นถึงคุณค่าและเป้าหมายสำคัญของการเดินทาง รวมทั้งแนะนำให้เห็นถึงความสมดุลของการสร้างประสบการณ์ชีวิตและการเก็บออม เพื่อให้ประสบการณ์ครั้งนี้ก่อประโยชน์รอบด้านทั้งแก่นักเดินทางเอง แก่ประเทศผู้ให้วีซ่า และแก่ประเทศของตนในท้ายที่สุด

2 อ้างอ้างอิงจาก Wattanacharoensil, W.,and Talawanich, (In print, expected April 2018). An insight into the motivations of Thai Working and Holiday Makers (WHMs). In C.Khoo-Lattimore and E.C.L. Yang (eds.), Asian Youth Travellers,Perspectives on Asian Tourism.

Singapore: Springer. เนื่องจากเป็นการศึกษาเบื้องต้น งานนี้มีข้อจำกัดในด้านปริมาณและความหลากหลายของข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ เนื่องจากผู้เขียนใช้ข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์จากทางบล็อก ฟอรัม เว็บไซต์เว็บบอร์ดเป็นข้อมูลเบื้องต้นใน“การศึกษา“เท่านั้น

3 อ้างอิงจากงานวิจัยเฉพาะประเทศที่มีการศึกษาเรื่องนี้มาก่อนได้แก่ ญี่ปุ่นเกาหลีใต้ และไต้หวัน

4 เนื่องจากการศึกษาครั้งนี้ไม่ได้เปรียบเทียบกับนักเดินทางในประเทศใกล้เคียงที่มีลักษณะเศรษฐกิจคล้ายกัน เช่น จากประเทศมาเลเซียหรือเวียดน“ม จึงทำให้การรายงานผลเป็นบริบทเฉพาะของนักเดินทางชาวไทยเปรียบเทียบกับประเทศในเอเชียสามประเทศที่ได้มีการศึกษาแรงจูงใจของนักเดินทางประเภทนี้มาแล้ว

 

บรรณานุกรม

Clarke, N., 2005. Detailing transnational lives of the middle: British working holiday makers in Australia. Journal of Ethnic and Migration studies, 31(2), pp.307-322.

Ho, C. I., Lin, P. Y. and Huang, S. C. 2014. Exploring Taiwanses working of Hospitality & Tourism Research, 38(4), pp.463-486.

Jung, S., 2013. Ambivalent cosmopolitan desires: Newly arrived Koreans in Australia and community websites. Continuum, 27(2), pp.193-213.

Kawashima, K., 2010. Japanese working holiday makers in Australia and their relationship to the Japanese labour market: before and after. Asian studies review, 34(3), pp.267-286.

Reilly, A., 2015. Low-cost labour or cultural exchange? Reforming the Working Holiday visa programmeme. The Economic and Labour Relations Review, 26(3), pp.474-489.

Wattanacharoensil, W., and Talawanich, (In print, expected April 2018).

An insight into the motivations of Thai Working and Holiday Makers (WHMs). In C. Khoo-Lattimore and E.C.L. Yang (eds.), Asian Youth Travellers, Perspectives on Asian Tourism. Singapore: Springer.

WHM visa programmeme report., 2015, June 30. Working Holiday Maker visa programmeme report. [Online] Available at: <http://www.border.gov.au/ReportsandPublications/Documents/statistics/working-holiday-report-june15.pdf > [Accessed 15 October 2016].

Yoon, K., 2014. Transnational youth mobility in the neoliberal economy of experience. Journal of youth studies, 17(8), pp.1014-1028.

เรื่องโดย : วลัญชลี วัฒนาเจริญศิลป์ และ สุวดีตาลาวนิช

Share This Story !

7.4 min read,Views: 1113,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    พฤศจิกายน 26, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    พฤศจิกายน 26, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    พฤศจิกายน 26, 2024