‘URBANISM’ THEN & NOW

 

พรรณรศา ธีระวงศ์สกุล

 

“In New York… Concrete jungle where dreams are made of

There’s nothin’ you can’t do
Now you’re in New York”

 

พูดถึงเมืองก็ชวนให้นึกถึงเนื้อหาของเพลงท่อนบนที่บอกเล่า ‘ความเป็นเมือง’ ได้อย่างตรงไปตรงมาที่สุด

แต่ใครเคยสงสัยบ้างว่า กว่าจะมาเป็นเมืองใหญ่อย่างทุกวันนี้ เมืองในอดีตหน้าตาเป็นแบบไหนกัน? 

 

เมืองแรกของโลกอยู่ที่ไหน? 

 

อะไรกันที่หล่อหลอม ‘ความเป็นเมือง’ ให้เราใช้ชีวิตได้ป๊อปกันอย่างทุกวันนี้ TAT Review จะพาไปเปิดประวัติศาสตร์ของเมืองและปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลกับการใช้ชีวิต ความคิด และความเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

ก่อนคริสตกาล

ภาพจาก thearchaeologist.org

 

‘เจริโค’ เมืองตากอากาศของพระนางคลีโอพัตรา นักโบราณคดีเชื่อว่า ‘เจริโค’ คือเมืองแห่งต้นปาล์มตามที่ปรากฏในคัมภีร์ไบเบิล เป็นหนึ่งในชุมชนเมืองที่เก่าแก่ที่สุดของโลกในช่วง 7 พันปีก่อนคริสตกาล แม้จะเติบโตจากหมู่บ้านเล็ก ๆ โดยกลุ่มคนที่ต้องการเพาะปลูกพืช แต่ก็กลายเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในยุคนั้น ว่ากันว่า ‘คานาอัน’ ชาวยิวเร่ร่อนกลางทะเลทรายได้เข้ามายึดครองที่แห่งนี้เพราะหวังจะละทิ้งวิถีชีวิตนักล่าและคนเก็บของป่าแล้วหันมาเพาะปลูก ใช้ประโยชน์จากอาหารส่วนเกินมาแลกเปลี่ยนสินค้ากันแทน เมืองนี้น่าจะมีพลเมืองราว 2,000 คน แถมยังรุ่งเรืองจนเกิดเส้นทางการค้าจากเจริโคไปถึงเยรูซาเลม  ระบบการขนส่งที่จำเป็นเพื่อการค้าจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในโลกอีกด้วย

 

ภาพจาก artefacts-berlin.de

 

เมื่อ 3,200 ปีก่อนคริสตกาล ‘อุรุค’ ก่อตัวขึ้นเป็นชุมชนใหญ่ที่สุดทางตอนใต้ของเมโสโปเตเมียเท่าที่มีการค้นพบ เป็นศูนย์กลางของการเกษตรและการค้าบริเวณกลุ่มลุ่มแม่น้ำไทกริส-ยูเฟรติส พลเมืองชาวสุเมเรียน 80,000 คนคือมนุษย์กลุ่มแรกที่พัฒนาอารยธรรมด้านการเขียน สร้างตัวอักษร จนต่อยอดมาเป็นภาษา ‘สุเมเรียน’ ภาษาแรกของโลก นอกจากนี้ ยังมีการคิดค้นงานศิลปะ ประติมากรรม การหล่อโลหะ อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นคนยังขาดความเชี่ยวชาญด้านการใช้ที่ดิน ผังเมืองจึงไม่ค่อยมีระเบียบเท่าที่ควร

 

ภาพจาก dkfindout.com

 

ในช่วง 1,500 ปีก่อนคริสตกาล ครั้งหนึ่ง ‘บาบิโลน’ เคยเป็นอาณาจักรที่มีความรุ่งเรืองสุดขีดในยุคเมโสโปเตเมียโบราณ เป็นดินแดนของความร่ำรวยแห่งยุคสมัยโดยระบบกษัตริย์ทรงอำนาจ นับถือพระเจ้า ด้วยจำนวนพลเมืองกว่า 1 แสนคนทำให้อารยธรรมของ ‘บาบิโลน’ ดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีการสร้างกฎหมายของพระเจ้าฮัมมูราบีที่เป็นลายลักษณ์อักษรไว้ใช้ในการบริหารบ้านเมืองเป็นครั้งแรกของโลก พื้นที่ใจกลางเมืองจะถูกจัดสรรไว้ให้ชนชั้นสูง ส่วนคนที่ฐานะด้อยกว่าก็จะอาศัยอยู่รอบ ๆ นอกเมือง ปัจจุบัน ‘บาบิโลน’ ตั้งอยู่ในประเทศอิรัก

 

ช่วงต้นคริสต์ศตวรรษ

 

ภาพจาก shutterstock.com

 

ในช่วงปี 200 ‘โรม’ คือความยิ่งใหญ่ที่สุดของจักรวรรดิโรมันโบราณที่แผ่ขยายอาณาเขตกว้างใหญ่ เป็นต้นแบบแนวคิดเชิงปรัชญาและเทคโนโลยีต่าง ๆ นานัปการ ‘โรม’ ได้รับการหล่อเลี้ยงด้วยอาหารจากยุโรปและรอบ ๆ ทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ก่อนจะเข้าสู่ยุคมืด ‘โรม’ มีพลเมืองสูงถึง 1.2 ล้านคน มีการสร้างถนน ‘Via Romana’ เพื่อเชื่อมเมืองต่าง ๆ สู่เมืองหลวง จนเกิดเป็นสำนวนที่ว่า All roads lead to Rome โรมคือขุมทรัพย์สำคัญของวิวัฒนาการโลก ไม่ว่าจะเป็นสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ศิลปะ ดนตรี เรขาคณิต ดาราศาสตร์ กฎหมาย ฯลฯ ซึ่งการค้นพบสำคัญเหล่านี้นี่เองคือรากฐานสำคัญที่ทำให้โลกเติบโตไปอย่างก้าวกระโดดจนถึงทุกวันนี้

 

ปี 762 ‘The round city of Baghdad’ คือก้าวสำคัญในประวัติศาสตร์ด้านการออกแบบวางผังเมือง ย้อนกลับไปเมื่อ 1,260 ปีที่ผ่านมา ความมุ่งมั่นในการสร้างเมืองอันเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมของโลกด้วยประชากร 600,000 คนคือรากฐานของ ‘The round city of Baghdad’ เมืองหลวงของอาณาจักรอิสลาม

 

ภาพจาก ancient-origins.net

 

เมืองในช่วงปี 1500 เริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้น อย่างกรุง ‘ปักกิ่ง’ ของจีน โดดเด่นด้วยจำนวนประชากรราว 1 ล้านคนซึ่งมากที่สุดในยุคนั้น เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าไม้เพื่อสร้างบ้านเรือน รวมถึงการเผาถ่านเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดปัญหาด้านสภาพแวดล้อมเป็นพิษไปทั่วภูมิภาค

 

ปฏิวัติอุตสาหกรรมเปลี่ยน ‘เมือง’ ไปตลอดกาล

 

ภาพจาก re-thinkingthefuture.com

 

ในช่วงหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกในอังกฤษปี 1760 ในตอนนั้นมีประชากรโลกเพียง 3% เท่านั้นที่อยู่ในเขตเมือง การมีไฟฟ้าใช้อย่างกว้างขวางทำให้เกิดการรวมศูนย์ทางเศรษฐกิจบริเวณใจกลางเมือง เช่น ธนาคาร บริษัท อาคารพาณิชย์ ไม่นานนักผู้คนเริ่มย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพื่อประกอบอาชีพ เกิดโรงงานอุตสาหกรรม มีการแบ่งโซนที่อยู่อาศัยชัดเจน เกิดระบบขนส่งอย่างรถไฟ รถราง และรถยนต์ ด้วยเหตุนี้เมืองใหม่ ๆ จึงขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว กล่าวได้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่แผ่ขยายไปทั่วโลกเร่งให้เกิดการขยายตัวของเมืองแบบก้าวกระโดดเป็นประวัติการณ์ ภายในเวลาไม่นาน หลายล้านคนในอเมริกาและอังกฤษมุ่งหน้าเข้าสู่เมืองใหญ่ จนทำให้ ‘ลอนดอน’ กลายเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ด้วยจำนวนคนเพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่า หรือจาก 1 ล้านคนกลายเป็น 6 ล้านคนในทศวรรษต่อมา โดยต้องอยู่กันอย่างแออัด และเกิดปัญหาอาชญากรรมทั่วเมือง

 

‘Megacity’

 

ภาพจาก buffalonews.com

 

เรื่องราวของ ‘Megacity’ เริ่มต้นขึ้นเมื่อ 72 ปีที่แล้ว คำนี้เอาไว้ใช้เรียกเมืองขนาดใหญ่ที่มีคนเกิน 10 ล้านคน โดยมีนิวยอร์กและโตเกียวเป็นเพียงสองมหานครใหญ่ที่สุดในโลกในปี 1950 แต่สุดท้าย ‘Megacity’ ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนแตะจำนวน 32 เมืองทั่วโลกในปี 2017 ถือเป็นปรากฏการณ์ของเมืองที่เกิดขึ้นเร็วและแรงที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพื่อตอบโจทย์จำนวนคนที่เพิ่มมากขึ้น การเติบโตของประชากรในเมืองมีเทคโนโลยีเป็นตัวแปรสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการสร้างตึกสูงด้วยสองมือมนุษย์และเทคนิคต่าง ๆ เช่น การใช้เหล็ก การก่อสร้างตึกระฟ้าจึงเกิดขึ้นได้ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันกับ ‘ลิฟต์’ ซึ่งถูกคิดค้นขึ้นเพื่อช่วยให้การเดินทางในอาคารสะดวกสบายและกลายเป็นสิ่งที่อาคารขาดไม่ได้นับแต่นั้นเป็นต้นมา ตึกระฟ้ามากมายที่นิวยอร์กสะท้อนภาพเมืองแห่งอนาคตอย่างแท้จริง ด้วยจำนวนประชากรที่โตขึ้นแบบฉุดไม่อยู่ภายในระยะเวลาแค่ศตวรรษเศษ ในที่สุดนิวยอร์กก็ขึ้นแท่นมหานครที่ใหญ่ที่สุดด้วยจำนวนประชากร 12.5 ล้านคนในปี 1950 และปีเดียวกันประชากรในเขตเมืองทั่วโลกดีดตัวสูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว เมืองทั่วโลกที่มีคนมากกว่า 1 ล้านคนโตขึ้น 6 เท่า หลังจากนั้นไม่นานโตเกียวก็กลายเป็นมหานครที่มีประชากรสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ด้วยจำนวน 20.5 ล้านคนในปี 1968 

 

อาคารประหยัดพลังงานหลังแรก ๆ ของโลกเกิดขึ้นที่แคลิฟอร์เนียช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 ในตอนนั้นการสร้างเมืองหรือตึกรามบ้านช่องเริ่มใส่ใจกับการลดปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เมืองต้องเชื่อมถึงกันด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สะดวกและรวดเร็ว

 

ในอนาคต Megacity จะเป็นวาระสำคัญของโลกและกระทบต่อความเป็นอยู่ของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ UN คาดการณ์ว่าในปี 2050 จะมี Megacity กว่า 47 เมืองทั่วโลก และประชากรโลกมากกว่า 70% จะอาศัยอยู่ในเมือง ภายใต้ปัญหาทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งภาพไอเดียการพัฒนาเมืองในอนาคตที่พูดถึงกันเป็นวงกว้างนั่นคือ ‘Sustainable Urban’ โดดเด่นด้วยระบบเมืองอัจฉริยะ เน้นการใช้นวัตกรรมเพื่อปัจจัยพื้นฐานของเมือง มีพื้นที่สีเขียว เดินทางเชื่อมถึงกันได้ง่าย ใช้พลังงานหมุนเวียน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

อีกไม่กี่ชั่วอายุคนข้างหน้า เมืองต่าง ๆ ก็จะเติบโตทั้งในแง่ของจำนวน ขนาด และความทันสมัย และเชื่อเหลือเกินว่าการเดินทางของคำว่า ‘เมือง’ ที่ยาวนานกว่าพันปีจะไม่จบลงง่าย ๆ เท่านี้อย่างแน่นอน

 

 

ที่มา:
https://education.nationalgeographic.org/resource/history-cities
https://ourworldindata.org/urbanization
https://open.lib.umn.edu/socialproblems/chapter/14-1-a-brief-history-of-urbanization/
https://www.theguardian.com/cities/2016/jun/27/rise-fall-great-world-cities-5700-years-urbanisation-mapped
https://www.the101.world/jericho
https://www.facebook.com/warofhistory/

Share This Story !

2.9 min read,Views: 1076,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ธันวาคม 12, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ธันวาคม 12, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ธันวาคม 12, 2024