
TTM TALK 2019 ‘Fun at Any Cost? Tourism vs. Environment’
For a boy, the sea was a place of wonder, yet it was also a place of mystery. And those childhood experiences somehow survive the flow of time while growing up, which led me into the field of marine biology to learn about the life in the deep and its habitat, into the career of conservation to contribute what I can do, and eventually made me pick up a camera to share stories of the world beneath the wave.
เล่าเรื่องราวจุดเริ่มต้นความเป็นมา กับความหลงใหลในโลกใต้ทะเล

คุณศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย
ผมจำไม่ได้หรอก ว่าผมเริ่มจะหลงรักในท้องทะเลตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่เท่าที่จำความได้ตั้งแต่ผมยังเด็ก ทะเลมักเป็นส่วนสำคัญในประสบการณ์ชีวิตของผมอยู่เสมอ ทั้งช่วงเวลาที่ได้เดินไล่ตามชายหาดข้างๆ พ่อแม่ในยามเช้า มองหาสิ่งมีชีวิตที่ติดอยู่ในแอ่งหิน (Tide pool) หรือแม้แต่การได้ตามเก็บปูเสฉวนมาประดับบนยอดปราสาททรายที่ได้ก่อขึ้น
ผมยังจำได้ถึงประสบการณ์การได้ไปตลาดปลาครั้งแรกของผม มันเป็นความรู้สึกที่ตื่นตาและปนไปกับความมึนงง ผมได้เห็นสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด มีจำนวนมากที่ผมเพิ่งเห็นเป็นครั้งแรก มันทำให้ผมต้องร้องขอให้แม่ซื้อกลับไปแช่เก็บไว้ในตู้แช่แข็ง
ช่วงอายุ 6 ขวบ นับเป็นประสบการณ์ครั้งแรกของผมที่ได้สัมผัสกับความอัศจรรย์ของโลกใต้น้ำได้ดำดิ่งลงไปพบกับโลกอีกใบที่เต็มไปด้วยสีสันสดใสของสิ่งมีชีวิตมากมายตามแนวปะการังใต้ท้องทะเล ในตอนนั้นท้องทะเลนับเป็นสถานที่น่าพิศวงที่เต็มไปด้วยเสน่ห์สำหรับผม
ประสบการณ์และความชื่นชอบในวัยเด็กส่งผลต่อมาจนทำให้ผมเลือกที่จะศึกษาความรู้ด้านชีววิทยาทางทะเล (Marine Biology) อย่างจริงจังในช่วงมหาวิทยาลัย ความต้องการที่จะศึกษาและเรียนรู้ถึงพฤติกรรมและการดำรงชีวิตของสัตว์ท้องทะเลลึก รวมทั้งการได้เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์ท้องทะเลและสัตว์น้ำได้นำพาผมเข้าสู่การเป็นช่างภาพเชิงอนุรักษ์ (Conservative Photographer) ในที่สุด
ช่างภาพเชิงอนุรักษ์คืออะไร
และประสบการณ์ที่ประทับใจมีอะไรบ้าง
งานของผมคือการถ่ายภาพความน่าอัศจรรย์ของโลกธรรมชาติเพื่อสะท้อนผลกระทบและปัญหาที่เกิดขึ้นต่อธรรมชาติ รวมถึงภาพของมนุษย์และกลุ่มคนบางส่วนที่พยายามจะสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านบวกอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อสร้างความหวังให้กับอนาคตการเปลี่ยนแปลงของสัตว์และสิ่งแวดล้อม
ผมมองว่าการถ่ายภาพคือการบอกเล่าเรื่องราวโดยไม่ต้องพูดอะไร และในบางครั้งมันสามารถสื่อสารได้ดีกว่าการพูดคุยจริงๆ เสียอีก
เป็นเวลามากกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ผมได้ก้าวเข้ามาทำงานอยู่ในสายงานของนักชีววิทยาและช่างภาพอนุรักษ์ นับเป็นช่วงเวลาสุดพิเศษที่ผมได้รับสิทธิ์ในการสำรวจสถานที่ใต้น้ำอันน่าอัศจรรย์หลากหลายแห่งในโลก ได้พบเจอประสบการณ์น่าทึ่งที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเลมากมาย ยกตัวอย่างเช่น

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
- การได้ว่ายน้ำร่วมกับฝูงฉลามในบาฮามาส หนึ่งในสถานที่อยู่อาศัย ของฉลาม (Shark Sanctuary) ที่มีความอุดมสมบูรณ์และเหลืออยู่ไม่กี่แห่งบนโลก
- การได้ดำน้ำอยู่ท่ามกลางฝูงแพลงก์ตอน (Plankton) และเฝ้าจับตารอดูฉลามวาฬกินพวกมันในยามค่ำคืนใต้ท้องทะเลมัลดีฟส์ สถานที่ที่ฝูงฉลามวาฬเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากแสงไฟเรือในการใช้เป็นตัวล่อเหยื่อสำหรับอาหารมื้อค่ำทุกๆ วัน
- การได้ดำน้ำใต้ทะเลเย็นยะเยือกแห่งรัฐแทสมาเนีย ประเทศออสเตรเลีย และถูกห้อมล้อมไปด้วยฝูงแมวน้ำ Fur Seal ขี้อ้อน ขี้เล่น เหมือนสุนัขพันธุ์โกลเด้น รีทรีฟเวอร์ ที่ได้รับยาสเตียรอยด์
ทะเลไทยในอดีตกับปัจจุบันแตกต่างกันอย่างไร
ประเทศไทยโชคดีมากมีทะเลประกบ 2 ฝั่งซ้ายขวา ทั้งท้องทะเลอันดามันแห่งมหาสมุทรอินเดียและน่านน้ำอ่าวไทยแห่งมหาสมุทรแปซิฟิก นับเป็นแหล่งศูนย์รวมทรัพยากรทางท้องทะเลและสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่ง ประกอบกับการมีจุดเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติและวิถีชีวิตของคนไทยมานับแต่อดีตกาล ภาพในหัวเกี่ยวกับทะเลในอุดมคติของคนปกติทั่วไปคงหนีไม่พ้น หาดทรายสีขาวหยาบละเอียดผสมกับน้ำทะเลสีใสเหมือนคริสตัล แนวปะการังหลากสีที่มีฝูงปลานับพันว่ายเวียนอยู่รอบๆ หรือเพียงแค่ ชายหาดธรรมดาแสนธรรมดาที่คุณสามารถนั่งมองดูพระอาทิตย์ตกดิน ไปพร้อมๆ กับการยกซดพีน่า โคลาดา (Piña Colada)
แต่น่าเสียดายที่ภาพในหัวเหล่านั้นคงหาได้ยากและไม่สามารถพบเห็นได้ง่ายๆ เฉกเช่นเมื่อก่อน ท้องทะเลของประเทศไทยที่ผมเติบโตและหลงรักมาตั้งแต่เยาว์วัยได้เปลี่ยนแปลงไปมากมายและรวดเร็วจนผม และใครหลายๆ คนคาดไม่ถึง ท้องทะเลไทยกำลังถูกคุกคามด้วยกิจกรรม ที่พวกเรานั้นกระทำกันเอง ทั้งรูปแบบการบริโภคและการจัดการขยะที่ขาดวินัยที่สร้างพลาสติกและมลพิษสู่ระบบนิเวศทางทะเล สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิดที่อาศัยอยู่ใต้ผิวน้ำตั้งแต่ปลาขนาดใหญ่ ฉลามวาฬ หรือแม้แต่สัตว์น้ำขนาดเล็ก ใต้ท้องทะเลในปัจจุบันต่างเต็มไปด้วยขยะพลาสติก ยังไม่รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลกที่ส่งผล ทำให้เกิดปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว (Coral Bleaching) และฆ่าชีวิตปะการังจำนวนมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องแปลกใจเลยถ้าคุณไปดำน้ำกันแล้วไม่ค่อยเจอปะการังสวยๆ เหมือนเมื่อก่อน

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
ทะเลมีความสำคัญต่อมนุษย์อย่างไร
แม้ว่าใครหลายๆ คนจะไม่ได้อาศัยหรือทำงานอยู่แถบชายทะเลแบบผม แต่เชื่อหรือไม่ว่าคนทุกคนมีความเชื่อมโยงกับทะเลทั้งหมด ทะเลมีความสำคัญกับพวกเราทุกคน ตั้งแต่อาหารการกินไปจนถึงอากาศที่เราหายใจ ในทุกวัน หลายคนที่ไม่กินอาหารทะเลคงเถียงผมอยู่ข้างในใจ แต่รู้หรือไม่ว่า ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนที่ไม่รับประทานอาหารทะเล แต่แหล่งโปรตีนจากอาหารที่คุณรับประทานเข้าไปในแต่ละมื้อก็มาจากท้องทะเลอยู่ดี ในเมื่อสัตว์ที่ถูกเลี้ยงเพื่อทำปศุสัตว์ส่วนใหญ่ก็ได้รับอาหารใน การเลี้ยงจาก ‘การจับสัตว์น้ำพลอยได้’ อยู่ดี

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
นอกจากนั้น อากาศออกซิเจนที่คุณสูดหายใจเข้าไปในทุกวัน ส่วนหนึ่งก็มาจากท้องทะเล เพราะ 70% ของออกซิเจนในโลกถูกผลิตขึ้นโดยแพลงก์ตอนพืชขนาดเล็กที่สามารถมองเห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์
∗การจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch) คือ การจับสัตว์ทะเลที่เป็นผลพลอยได้จากการจับสัตว์ทะเลประเภทประมงอวนลากที่มักจะได้ปลาและสัตว์น้ำนอกเหนือกลุ่มเป้าหมาย มีราคาต่ำยังไม่เจริญเต็มวัย และมีมูลค่าทางเศรษฐกิจต่ำโดยมักจะถูกนำไปขายในราคาถูกเพื่อนำไปใช้ผสมอาหารสำหรับสัตว์เลี้ยงในปศุสัตว์
ทำไมคนถึงอยากไปเที่ยวทะเล
คงเป็นเรื่องของบรรยากาศ บรรยากาศทะเลมันสบายๆ มีลมเย็นๆ มีคลื่นกระทบฝั่ง ทุกอย่างล้วนผสมผสานกันทำให้คนไปรู้สึกรีแลกซ์ เป็นที่ที่ทำให้คนทุกคนที่ไปรู้สึกผ่อนคลาย สำหรับเหตุผลที่ผมชอบไป ทะเลเพราะผมชอบสิ่งมีชีวิตในน้ำชอบสัตว์ทะเล ชอบน้ำทะเล ลมทะเล และเสียงคลื่นทะเล ทะเลแต่ละที่ก็ให้บรรยากาศและความชอบที่แตกต่างกันไป อย่างที่หัวหินผมชอบเสียงลมพัดกับแนวสน แถวพังงาผมชอบบรรยากาศฝนริมทะเล แต่ละที่มันให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน แม้กระทั่งทราย อย่างทรายที่หัวหินจะร่วนเดินสบายเท้าหน่อย ไม่เหมือนทรายที่ชายฝั่งของสตูลที่ผมไม่ค่อยชอบสักเท่าไหร่ หรือแม้แต่น้ำทะเลฝั่งอ่าวไทยกับอันดามันก็คนละรสกัน น้ำทะเลอ่าวไทยรสชาติจะกลมกล่อม กว่าปนรสชาติขมนิดๆ ส่วนน้ำทะเลอันดามันจะเค็มแหลม ให้ความรู้สึกคลีนๆ ส่วนสิมิลันไกลๆ ฝั่งก็จะรสชาติออกเค็มแหลมไปเลย
ผลกระทบจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวต่อทะเลไทย
การที่ประเทศไทยถูกประกบด้วยทะเลทั้งสองฝั่ง ทำให้ประเทศไทยมีแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลมากมาย ดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลายรสนิยมทั่วโลกให้มาเยือน มีหมู่เกาะเขตร้อนชื้นมากมายที่มองเห็นวิวทิวทัศน์ทะเลที่น่าตะลึง ในขณะเดียวกันใต้ท้องทะเลก็เต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่หลากหลายภายใต้ระบบนิเวศที่สมบูรณ์แบบอันเป็นที่ตั้ง Biodiversity Hotspot ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
สาเหตุที่นักท่องเที่ยวเลือกมาเที่ยวทะเลไทยเป็นจำนวนมาก เพราะการมาเที่ยวไทยนั้นสามารถจองทริปเดินทางท่องเที่ยวได้ง่าย ราคาถูก และเต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่เติมเต็มและตอบโจทย์ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างครบเครื่อง ด้วยเหตุนี้ประเทศไทยจึงกลายเป็นประเทศยอดนิยมอันดับต้นๆ ด้านการท่องเที่ยวทางทะเล แต่แน่นอน ผลประโยชน์มักมาควบคู่กับผลกระทบ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น กิจกรรมที่เพิ่มขึ้น ส่งผลต่อการก่อความวุ่นวายต่อระบบนิเวศทางทะเล
สถานการณ์ของทะเลไทยในแต่ละแหล่งเป็นอย่างไรบ้าง

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
หาดกะรน จ.ภูเก็ต
ภูเก็ตตอบโจทย์ทุกๆ ด้าน ทั้งอาหารทะเลเลอรส อาหารใต้โอชา การเดินทางไปชายทะเลสะดวกสบาย ทัศนียภาพน่าทึ่งรอบเกาะ หรือแม้แต่กิจกรรมกลางคืนสุดเหวี่ยง แต่ภายใต้สิ่งเหล่านี้ ใต้ท้องทะเล ภูเก็ตได้รับผลกระทบเป็นที่สุด อย่าง หาดกะรน โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง สิ้นสุดฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ สิ่งที่เกิดขึ้นใต้ท้องทะเลอันสวยงามนั้น ประกอบไปด้วยเศษขยะและซากปรักหักพังใต้ท้องทะเล ที่ส่วนมากเป็น ขยะพลาสติกที่นักท่องเที่ยวทิ้งลงไป แต่ก็ไม่สามารถโทษเต็มปากว่า เป็นฝีมือและความรับผิดชอบของนักท่องเที่ยวอย่างเดียว มันเป็น ความรับผิดชอบของเราทุกคน และเราทุกคนก็ควรจะรับรู้ไว้ว่าในตอนนี้ ประเทศไทยคือผู้นำด้านการสร้างขยะพลาสติกสู่ท้องทะเลอันดับที่ 6 ของโลก แล้วปัญหาของที่นี่เกิดจากการจัดการขยะที่ไร้ประสิทธิภาพที่ส่ง ผลระยะยาวต่อสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเล และท้ายที่สุดพวกมันก็ต้องมารับ เคราะห์ต้องอยู่อาศัยกับกองขยะที่พวกเราสร้างขึ้น
หาดไม้ขาว จ.ภูเก็ต
หาดไม้ขาวตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในการถ่ายรูปเซลฟี่คู่กับเครื่องบินที่กำลังลงจอด ท่าอากาศยานแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับจำนวน นักท่องเที่ยวมหาศาลที่เดินทางเข้ามาสู่ทะเลอันดามันและเป็นท่าอากาศยานอันดับ 3 ของประเทศไทยที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวและ เที่ยวบินมากที่สุด แต่ชายหาดแห่งนี้ก็เป็นอะไรที่มากกว่าจุด Check-in หรือลานจอดส่งผู้โดยสาร

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
ชายหาดแห่งนี้เป็นหนึ่งในสถานที่ทำรังสำคัญของเต่ามะเฟือง (Leatherback Turtle) เต่าชนิดนี้คือหนึ่งในสายพันธุ์เต่าใกล้สูญพันธุ์ที่ได้รับการปกป้องทางกฎหมายของประเทศไทย แต่ถึงแม้จะได้รับการปกป้องทางกฎหมายแล้วก็ตาม ปัจจุบันเต่าชนิดนี้ก็แทบจะหาไม่ได้แล้ว ปัจจัยก็หนีไม่พ้นการที่แหล่งอาศัยของพวกมันถูกทำลายจากพฤติกรรมของมนุษย์ การพัฒนา การก่อสร้างตามแนวชายฝั่ง ที่เกิดขึ้นในบริเวณสถานที่แห่งนี้ ส่วนมากขาดการวางแผน การออกแบบที่คำนวณถึงการลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ทั้งการสร้างกำแพงกั้นชายหาด (ที่หลายแห่งยังคงดำเนินการสร้างอยู่) ที่ส่งผลทำให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งแย่ไปกว่าเดิมอีก สิ่งเหล่านี้กำลังส่งผลต่อพฤติกรรมของเต่า และทำลายแหล่งอาศัยของพวกมัน
เรื่องโชคร้ายก็ยังมีโชคดีปะปนอยู่บ้าง ช่วงปลายปี 2018 เราได้พบรังวางไข่แห่งใหม่ 3 รัง ของเต่าชนิดนี้ บริเวณชายหาดเงียบๆ ไม่ไกลมากทางทิศเหนือของจังหวัดพังงา ทำให้พวกเรายังพอมีหวังที่จะอนุรักษ์เต่าชนิดนี้กันต่อไปได้
หมู่เกาะสิมิลัน จ.พังงา
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน (Similan National Park) นั่งสปีดโบ๊ตไปไม่ไกล หมู่เกาะนอกชายฝั่งที่รู้จักกันในภาพหาดที่มีทรายขาวนวลละเอียดยิบและน้ำสีใสที่สุดในประเทศ นับเป็นอุทยานแห่งชาติทางทะเลของไทยอันดับหนึ่งที่สร้างเงินให้กับประเทศเลยทีเดียว แน่นอน เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นสถานที่งดงามสมบูรณ์แบบดั้งเดิมแล้ว ใครๆ ก็อยากมาเยือน มาเที่ยวชมและลิ้มรสของอุทยานทางทะเลแห่งนี้ ผมยังจำได้ถึงครั้งแรก ที่ผมได้ไปเยือนหมู่เกาะสิมิลัน ประมาณ 15 ปีที่แล้ว ในตอนนั้นผมเป็น เด็กน้อยนักดำน้ำแรกเริ่มที่อยากจะเห็นโลกใต้ทะเลอันสวยงามที่สุดแห่งนี้ของประเทศไทย ในตอนนั้นประสบการณ์ที่ผมได้พบก็เป็นไป ตามคาด มันมหัศจรรย์มาก ทั้งน้ำทะเลสีใส ปะการังหลากสีสันมากมาย สัตว์ใต้น้ำขนาดใหญ่ และปลากระเบนที่ว่ายเวียนอยู่ใต้ท้องทะเล แต่ในปัจจุบันสถานที่แห่งนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว
แนวปะการังไม่สวยและสมบูรณ์เหมือนเมื่อก่อน สารเคมีและตะกอนในน้ำทะเลที่มาจากเรือและนักท่องเที่ยวมากมาย จะกล่าวได้ว่าปัญหา Overtourism ที่ขาดการวางแผนควบคุมอย่างถูกต้องได้เข้ามาทำลายที่แห่งนี้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
อ่าวมาหยา จ.กระบี่
หินปูนมากมาย ตั้งอยู่บนเกาะพีพีเล สถานที่แห่งนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลกจากภาพยนตร์เรื่อง The Beach นำแสดงโดยนักแสดงชื่อดัง ลีโอนาร์โด ดิแคพรีโอ (วัยเยาว์) ไม่จำเป็นต้องบอกเลยใช่ไหมครับว่าเกิดอะไรขึ้นหลังจากนั้นเป็นต้นมา ช่วงฤดูการท่องเที่ยว อ่าวเล็กๆ แห่งนี้ต้องรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่า 5,000 คนต่อวัน อ่าวแห่งนี้เต็มไปด้วยเสียงคนและจำนวนคนมากมาย จำนวนสปีดโบ๊ตที่เดินทางเข้าออกอ่าวแห่งนี้แทบไม่ขาดสาย ทั้งที่ขีดความสามารถในการรองรับ (Carrying Capacity: CC) ของอ่าวแห่งนี้จริงๆ แล้วคือสามารถรองรับคนพร้อมกันได้แค่ 170 คนเท่านั้น

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
ท้ายที่สุด อ่าวมาหยาก็ถูกปิดเพื่อฟื้นฟูชั่วคราวโดยกรมอุทยานแห่งชาติ (Department of National Parks, Wildlife and Plant Conservation) การเปลี่ยนแปลงภายหลังการปิดเพียง 6 เดือน ฉลามจำนวนมากที่เข้ามาในบริเวณอ่าวแห่งนี้ ส่วนมากเป็นปลาฉลามครีบดำ (Blacktip Reef Shark) ทางผมและทีมงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรฯ สามารถเก็บภาพจากโดรนและพบการรวมกลุ่มของพวกมันบริเวณต้นอ่าว (น้ำตื้น) มากกว่า 60 ตัว ผมศึกษาต่อก็ได้พบ ว่าอ่าวมาหยาเป็นสถานที่ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของปลาฉลาม สายพันธุ์นี้ โดยเฉพาะปลาฉลามตัวเมียที่กำลังตั้งท้องแก่ ปลาฉลาม ครีบดำผู้เป็นแม่กลับมาที่อ่าวแห่งนี้เพราะเป็นพื้นที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม หาอาหาร และที่สำคัญที่สุด ‘เพื่อให้กำเนิดลูกฉลาม’ (ขนาดประมาณ 1 ฟุต)
และทราบหรือไม่ว่า ฉลามหลากสายพันธุ์ทั่วโลกถูกคุกคามจนใกล้ต่อการสูญพันธุ์แล้ว แน่นอนว่าอ่าวมาหยาคือพื้นที่สำคัญสำหรับการอยู่รอด ของสายพันธุ์ปลาฉลามชนิดนี้ที่เหลืออยู่ในทางฝั่งอันดามัน เหตุการณ์การปิดอ่าวมาหยาแสดงให้เห็นว่า ‘ธรรมชาติสามารถฟื้นฟูตัวเองได้ หากเราให้เวลากับมัน’ การปิดอ่าวมาหยาเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่แสดง ให้เห็นถึงการเคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลง มันทำให้โลกได้เห็นว่า ประเทศไทยเริ่มต้นเอาจริงกับการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตและทรัพยากรใต้ท้องทะเล
สถานที่ในประเทศไทยที่ยังอุดมสมบูรณ์
และเราควรรักษาไว้

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จ.พังงา
ป่าโกงกางของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์เป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ได้ ชื่อว่าเป็นสถานบ่มเพาะลูกฉลาม ป่าโกงกางประเภทนี้ไม่ได้เป็นแค่ สถานที่สำคัญต่อฉลามเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานบ่มเลี้ยงสัตว์และสิ่งมีชีวิตทางทะเลชนิดอื่นๆ อีกมากมาย เป็นทั้งสถานที่หลบภัยของลูกปลาหลายประเภทและสัตว์ชนิดอื่นๆ
แต่ในปัจจุบัน เรากำลังสูญเสียป่าโกงกางอย่างรวดเร็วจากการเบียดเบียน ของมนุษย์ ทั้งการทำฟาร์มกุ้งและการทำไร่ปาล์ม ความบกพร่องในการรักษาพื้นที่อนุรักษ์เช่นนี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแค่ความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น ยังส่งผลทางอ้อมต่อพวกเราด้านความปลอดภัยทางอาหารอีกด้วย เพราะอาหารทะเลที่พวกเรารับประทานกัน สัตว์ทะเล เหล่านั้นก็อาศัยช่วงเวลาเติบโตจากสถานที่ประเภทนี้ เพื่อการเจริญพันธุ์
ยังจำข่าวการเปลี่ยนกฎหมายทำประมงเพื่อต่อต้านการทำประมง ผิดกฎหมายในประเทศไทยเมื่อ 3 ปีก่อนได้หรือไหม การเปลี่ยนแปลง ครั้งนั้นทำให้ความพยายามที่จะทำการประมงลดลงไปเยอะเลย มีเรือประมงจำนวนมากไม่สามารถปรับปรุงได้ตามมาตรฐานกฎระเบียบ ส่งผลให้เรือประมงที่ผ่านกฎระเบียบนั้นมีจำนวนลดลงไปมาก ลดลงจนผมสามารถเห็นได้ถึงปริมาณการฟื้นตัวของปลาที่มีเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเล อย่าง กองหินริชิลิว (Richelieu Rock) หนึ่งในพื้นที่ดำน้ำที่ดีที่สุดในประเทศไทย (ตั้งอยู่บนอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์) ช่วงเวลา 3 ปีที่แล้วจนกระทั่งต้นปี 2019 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยือนและเก็บภาพ สิ่งที่เห็นคือจำนวนปลา ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสามารถเห็นเต็มไปหมดตั้งแต่ใต้ท้องทะเลจนสูงขึ้นถึงผิวน้ำกว่า 40 เมตร สิ่งนี้สามารถบ่งบอกได้ว่าการฟื้นฟูนั้นไม่ได้ใช้ เวลานานเสมอไป ถ้าเราทำอย่างเหมาะสมและถูกวิธี
เกาะบุโหลนเล ในอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จ.สตูล
ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้นับเป็นบริเวณที่มีแนวปะการังน้ำตื้นที่บริสุทธิ์ และสมบูรณ์มากที่สุดในน่านน้ำไทยเลยก็ว่าได้ สาเหตุเพราะมันไม่ได้รับ การรบกวนจากพฤติกรรมของมนุษย์และนักท่องเที่ยว ปะการังในโซน น้ำตื้นของเกาะแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์และไม่ได้ถูกทำลาย ถึงขนาดที่ว่าสามารถพบเห็นได้เป็นกลุ่มขนาดพอๆ กับขนาดสนามฟุตบอลในช่วง น้ำลงเลยทีเดียว กลุ่มแนวปะการังขนาดใหญ่ที่อุดมสมบูรณ์นั้นเป็นอะไร
ที่หาดูได้ยาก ในช่วงน้ำลดสิ่งที่สามารถเห็นได้จะมีเพียงแค่ปะการังตายแล้ว เศษหินปูน และขยะเพียงเท่านั้น เราควรอนุรักษ์และให้ความสำคัญในการป้องกันและดำรงไว้ซึ่งสถานที่บริสุทธิ์และอุดมสมบูรณ์แห่งนี้ เพราะสถานที่แห่งนี้เปรียบเสมือนแหล่งกำเนิดของปะการังใหม่ๆ กิ่งอ่อนปะการังที่จะเข้ามาทดแทนปะการังเก่าๆ ที่ถูกทำลายและตายไปแล้ว หากสถานที่แห่งนี้ถูกทำลายไปการที่เราจะได้กลับมาเห็นการฟื้นตัวของปะการังนั้นอาจกินเวลานับ 100 ปีเลยทีเดียว
จะแก้ไขปัญหาเพื่ออนุรักษ์
และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลอย่างไรได้บ้าง
การแก้ไขปัญหาเพื่ออนุรักษ์และรักษาสิ่งแวดล้อมทางทะเลก็เหมือนกับการเล่นหมากรุก ที่ถึงแม้ว่าหมากทุกตัวจะมีหน้าที่และบทบาทที่แตกต่างกันออกไป แต่สุดท้ายถ้าต้องการจะเอาชนะหรือก้าวข้ามปัญหา หมากทุกตัวก็ควรที่จะทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด ผนวกกับการบูรณาการงานร่วมกัน คอยสนับสนุนซึ่งกันและกัน

Photographer : Sirachai Arunrugstichai
สำหรับหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทด้านการท่องเที่ยวก็เป็นอีกหมากตัวสำคัญไม่แพ้กรมอุทยานแห่งชาติ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมประมง หน่วยงานที่มีบทบาทด้านการท่องเที่ยวควรที่จะสนับสนุน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ไม่เห็นแก่ตัว ปฏิบัติโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม มีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม และถือปฏิบัติเพื่อช่วยลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เพราะการสนับสนุนในส่วนนี้จะช่วยนำพาประเทศไทยไปสู่การเปลี่ยนแปลงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง มิใช่เป็นผู้นำที่ส่งเสริมแต่ Mass Tourism และการท่องเที่ยวถูกๆ ที่หวังแค่จำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินโดยไม่คำนึงที่ความคุ้มค่า และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการท่องเที่ยว ในส่วนของผู้ประกอบการ ด้านการจัดทำทัวร์ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่คุณจะร่วมเป็นหนึ่งในการลดการใช้พลาสติก Single use และปรับเปลี่ยนมาสนับสนุนให้นักท่องเที่ยว ใช้ภาชนะและอุปกรณ์ประเภท Reusable แทน หรือแม้แต่การสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวหันมาใช้ครีมกันแดดประเภทที่ไม่ส่งผลต่อปะการัง และสัตว์น้ำแทน