Trump’s Up New Normal of Uncertainty: เมื่อ Geopolitics อยู่เหนือ Geoeconomics

 

โตมร ศุขปรีชา

 

 

 

Editorial credit: divdevelopment / Shutterstock.com

 

หลายคนคิดว่า – การกลับมาของทรัมป์อาจเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบของ ‘เสรีภาพในการเดินทาง’ ในแบบที่เรา ‘เคย’ คุ้น โดยเฉพาะในยุคก่อนโควิด-19

 

คำถามก็คือ – ทรัมป์จะเปลี่ยนโลกให้เป็นแบบนั้นจริงหรือ?

 

ใครที่เคยเดินทางท่องเที่ยวในยุคก่อนโควิด-19 น่าจะจำได้ว่ายุคนั้นคือ ‘สวรรค์’ ของนักเดินทางมากแค่ไหน แม้คนไทยจะไม่ได้มีฟรีวีซ่าไปทั่วโลก แต่การเกิดขึ้นของสายการบินราคาประหยัดและเทคโนโลยีการจองตั๋วที่ทำได้ในไม่กี่คลิก ก็ทำให้เราบินไปโน่นมานี่ได้ปีละหลายหน ไม่ใช่เพื่อไปทำงาน แต่เพื่อการเดินทางท่องเที่ยวล้วน ๆ

 

การมาถึงของโควิด-19 เปลี่ยนโลกไปแล้วรอบหนึ่ง แต่การมาถึงของ ‘ทรัมป์ 1.0’ คล้ายได้เปลี่ยนโลกไปอีกคำรบหนึ่ง และหลายคนเชื่อว่า ทรัมป์ 2.0 ที่มาถึงเราแล้วนี้ น่าจะทำให้ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางท่องเที่ยว (และเรื่องอื่น ๆ อีกหลายมิติ) เปลี่ยนแปลงไปอีกครั้ง

 

แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีหรือเปล่า – มีแต่อนาคตเท่านั้นที่จะตอบได้!

 

ทรัมป์ 2.0 จะไม่ใช่แค่การทำให้อเมริกายิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง แต่การทำอย่างนั้นคือการเปลี่ยน ‘เกมโลก’ ครั้งใหญ่ ถ้ามองในมุมของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว การเปลี่ยนเกมโลกนี้อาจส่งผลให้เราเดินทางได้ยากขึ้น มีข้อจำกัดมากขึ้น และอาจถึงขั้น ‘หมดสิทธิ์’ เดินทางไปยังบางจุดหมายปลายทางด้วยซ้ำ

 

หลายคนอาจคิดว่าการเมืองสหรัฐฯ ไม่น่าจะเกี่ยวข้องอะไรกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากนัก แต่ความจริงแล้ว นโยบายของสหรัฐฯ ที่มาจากประธานาธิบดีโดยตรงเป็นเรื่องที่ส่งแรงสั่นสะเทือนไปทั่วโลก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า เทคโนโลยี ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ส่งผลมายังการเดินทางและการท่องเที่ยวอย่างช่วยไม่ได้

 

Photo by zelle duda on Unsplash

 

ในอดีต เราพูดได้ว่าอเมริกาถือเป็นหัวหอกของโลกาภิวัตน์ โดยเฉพาะการ ‘ขาย’ แนวคิดเสรีประชาธิปไตย สนับสนุนการค้าเสรี การเปิดตลาด และการเดินทางข้ามพรมแดนอย่างเสรี เรื่องนี้เริ่มมานานแล้ว คือตั้งแต่ยุคของประธานาธิบดี FDR หรือแฟรงคลิน ดี. รูสเวลต์ คือในช่วงปี 1933-1945 ซึ่งเป็นยุคแห่งการฟื้นฟูประเทศหลังภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ รัฐบาลมีนโยบายที่เรียกว่า New Deal ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจ นักวิเคราะห์บางคนบอกว่า การที่อเมริกาเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่สอง มีส่วนทำให้เศรษฐกิจอเมริกากระเตื้องขึ้นอย่างมาก และการเมืองระหว่างประเทศกับเศรษฐกิจค่อย ๆ เข้ามาผสมกลมกลืนกัน จนสุดท้าย อเมริกาก็ได้เปลี่ยนตัวเองไปเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกพร้อม ๆ กับเป็น ‘พี่ใหญ่’ ในทางการเมืองโลกด้วย

 

ยุคของริชาร์ด นิกสัน (1969–1974) ก็ถือว่าสำคัญ เพราะเป็นยุคที่อเมริกามีความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนเป็นครั้งแรก จึงอาจถือได้ว่าเป็นโลกาภิวัตน์ยุคต้น ๆ เพราะนี่คือจุดเริ่มต้นการ ‘เชื่อม’ เศรษฐกิจโลกจากสองฟากฝั่งเข้าด้วยกัน ยิ่งมาถึงยุคของประธานาธิบดีนักแสดงอย่าง โรนัลด์ เรแกน (1981–1989) ต้องบอกว่าเป็น ‘ยุคทอง’ ของทุนนิยมเลย แม้เรแกนจะเป็นรีพับลิกัน (แบบเดียวกับทรัมป์) แต่มีนโยบายหลายอย่างที่กระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การลดภาษี ดึงดูดการลงทุนระหว่างประเทศ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง จนทำให้การค้าเสรีขยายตัว คนอเมริกันเดินทางออกนอกประเทศกันมากขึ้น 

 

และแน่นอน – ยุคที่น่าจะเรียกได้ว่าเกิดโลกาภิวัตน์เต็มรูปแบบ ก็คือยุคของรัฐบาล บิล คลินตัน (1993–2001) ซึ่งกระตุ้นให้โลกเกิดการค้าเสรี ผ่านข้อตกลงอย่าง NAFTA (North American Free Trade Agreement) และอื่น ๆ จนคำว่า ‘ฟรีเทรด’ กลายเป็นคำฮิตของทศวรรษ 1990s และเกิดการเดินทางข้ามพรมแดนที่ง่ายขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

 

แต่แล้วโลกก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดเหตุการณ์ 9/11 ขึ้นมา มาตรการตรวจคนเข้าเมืองเข้มงวดขึ้น นักเดินทางต้องเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น กว่าจะคลี่คลายได้ก็ใช้เวลาหลายปี จนหลายคนตั้งคำถามว่า เกิดอาการ Deglobalization ขึ้นหรือเปล่า แต่พอถึงยุคของบารัก โอบามา (2009–2017) ซึ่งอเมริกาเน้นนโยบายเกี่ยวกับความยั่งยืนและเศรษฐกิจสีเขียวมากขึ้น ก็หวนกลับไปสนับสนุนการค้าเสรีผ่านข้อตกลงต่าง ๆ และปรับความสัมพันธ์กับประเทศในเอเชีย ทำให้ทิศทางทั้งหมดหันกลับมา ‘เปิดกว้าง’ อีกครั้ง

 

แต่ถึงปี 2017 เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นครองตำแหน่งประธานาธิบดีครั้งแรก โลกเริ่มเปลี่ยนไปอีก จากการเปิดกว้างกลายมาเป็นการ ‘ปิด’ ตัวเองเพื่อสร้างความยิ่งใหญ่ให้อเมริกาผ่านนโยบาย America First 

 

Editorial credit: Joshua Sukoff / Shutterstock.com

 

ถ้ายังจำกันได้ ทรัมป์พาอเมริกาไปสู่ทิศทางใหม่ ๆ อย่างการทำสงครามการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีน ทำให้ต้นทุนสินค้าพุ่งสูง หรือถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ซึ่งคือการไม่ให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนโยบายเข้มงวดด้านคนเข้าเมือง ทำให้การเดินทางข้ามพรมแดนยุ่งยากขึ้น ที่สำคัญ นโยบาย America First ซึ่งคือการหันไปสนใจภายในประเทศมากกว่าภายนอกประเทศ ก็มีผลลดบทบาทของอเมริกาในเวทีโลกลง ทั้งหมดนี้ยิ่งเข้มข้นขึ้นเมื่อก้าวเข้าสู่ยุคทรัมป์ 2.0

 

นักวิเคราะห์หลายคนบอกว่า ก่อนหน้ายุคทรัมป์ (ทั้ง 1.0 และ 2.0) สิ่งที่อเมริกาทำก็คือการมุ่งเน้นไปที่ Geoeconomics หรือภูมิศาสตร์เศรษฐกิจ คือการใช้เศรษฐกิจเป็นเครื่องมือหลักในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น มุ่งเน้นเรื่องการค้า การลงทุน การพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานโลก รวมไปถึงเรื่องค่าเงินหรือการผลิตพลังงานด้วย โดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายไปที่การ ‘ข้ามพรมแดน’ ดังนั้น คำว่า Geo ใน Geoeconomics จึงไม่ใช่การสร้างอุปสรรคขวางกั้น แต่คือการพยายาม ‘ทำลาย’ พรมแดนต่าง ๆ ลง

 

ทว่าในยุคของทรัมป์ สิ่งที่เขาทำกลับคือการมุ่งเน้นไปที่ Geopolitics หรือภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งหลายส่วนมีลักษณะย้อนกลับไปสู่อดีตกาล คำว่า Geo ใน Geopolitics ของทรัมป์ คือการให้ความสำคัญกับเขตแดน พรมแดน เช่น การประกาศว่าอเมริกาอยากครอบครองกรีนแลนด์ แคนาดา หรือการเปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโกเป็นอ่าวอเมริกา ฯลฯ ทั้งที่การจะ ‘ได้’ ทรัพยากรในพื้นที่เหล่านี้ สามารถทำได้ผ่านการเจรจาการค้าแบบเสรีอยู่แล้ว แต่ทรัมป์ ‘กลับหลังหัน’ ด้วยการ ‘ปิด’ มากกว่า ‘เปิด’ และมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นการใช้การเมือง อำนาจทางทหาร และความสัมพันธ์ทางการทูต มากำหนดทิศทางของโลก Geopolitics แบบนี้จึงต่างจาก Geoeconomics ในอดีตอย่างกลับหัวกลับหาง ส่งผลให้แต่ละประเทศต้องหันกลับมาให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ ความมั่นคง พันธมิตรทางทหาร ข้อขัดแย้งระหว่างประเทศแทน เช่น ยุโรปอาจต้องเพิ่มงบประมาณทางทหารมากขึ้น ผลลัพธ์คือเกิดสงครามเย็นจนถึงสงครามจริง (กรณีระหว่างนาโต้กับรัสเซียคือตัวอย่างหนึ่ง) หรือสงครามเศรษฐกิจ (เช่น ระหว่างอเมริกากับจีน) ซึ่งไม่ได้เป็นแค่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น แต่มีอำนาจทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเต็มประตู

 

หลายคนวิเคราะห์ว่า ยุคทรัมป์ 2.0 คือจุดเปลี่ยนที่จะทำให้ Geopolitics อยู่เหนือ Geoeconomics อย่างจริงจังทั่วโลก เพราะหลายประเทศต้องขับเคลื่อนไปตามทิศทางของอเมริกา โดยเฉพาะยุโรป ในยุคโลกาภิวัตน์นั้น โลกขับเคลื่อนด้วยเศรษฐกิจ ใครจะค้าขายกับใครที่ไหนก็ได้ นโยบายของประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นไปที่การ ‘ข้ามพรมแดน’ ระหว่างกัน แต่ในยุคทรัมป์ 2.0 ดูเหมือนการเมืองและมหาอำนาจกำลังบงการเศรษฐกิจ การทำการค้าต่าง ๆ นั้นขึ้นอยู่กับว่า – คุณอยู่ฝั่งการเมืองไหนด้วย ถ้าผิดฝั่งก็อาจโดนคว่ำบาตรได้ง่าย ๆ ผลก็คือ เศรษฐกิจไม่ได้ถูกกำหนดโดยตลาดอีกต่อไป แต่ถูกกำหนดโดยอำนาจทางการเมือง ทั้งที่เมื่อไม่นานมานี้ การค้าขายข้ามพรมแดนเคยเป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สงครามเย็นจบลงไปได้ด้วยโลกาภิวัตน์ และเงินทุนจากตะวันตกก็ไหลไปสู่ทุกมุมโลกแบบไร้ข้อจำกัด แต่ทรัมป์กำลังทำให้โลกของเราย้อนกลับไปคลับคล้ายยุคอดีต เช่นในยุคสงครามเย็น (Cold War 1947–1991) ซึ่งโลกถูกแบ่งเป็นสองขั้วระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพโซเวียต เศรษฐกิจขึ้นอยู่กับการเมืองเต็มตัว ล่าสุด เพียงทรัมป์ไม่ยืนยันว่าอเมริกาจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ ก็ทำให้ตลาดหุ้นในอเมริการ่วงระนาว หุ้นของบริษัทใหญ่ ๆ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยีตกลงมาเป็นประวัติการณ์ ไม่เว้นกระทั่งหุ้นของ Tesla ซึ่งเป็นบริษัทของอีลอน มัสก์

 

มีผู้วิเคราะห์ไว้ว่า โลกภายใต้ทรัมป์ 2.0 คือโลกแห่งการแบ่งขั้วอีกครั้ง ทรัมป์น่าจะนำโลกเข้าสู่สงครามการค้าครั้งใหม่ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้อเมริกาเผชิญหน้ากับการถูก ‘โต้กลับ’ (Backlash) ในหลายมิติ จนเป็นไปได้ว่าทรัมป์อาจต้องเปลี่ยนนโยบายที่ประกาศไว้ ซึ่งทรัมป์ก็ทำอย่างนั้นจริง ๆ

 

ในช่วงเวลาสั้น ๆ ไม่กี่เดือนที่ทรัมป์เข้ามาบริหารประเทศ เขาเปลี่ยนนโยบายหลายอย่างจนตลาดการเงิน นักลงทุน และพันธมิตรระหว่างประเทศเริ่มตั้งคำถามถึงเสถียรภาพของการบริหาร เช่น ทรัมป์เคยประกาศขึ้นภาษีนำเข้าจากจีน แต่เมื่อตลาดหุ้นเริ่มเป็นกังวล ทรัมป์ก็กลับลำในบางเรื่อง และเปิดช่องให้มีการยกเว้นภาษีบางส่วน นักลงทุนจึงสับสนและทำให้ตลาดเกิดความผันผวนเพราะไม่รู้ว่าคำประกาศของทรัมป์จะถูกบังคับใช้จริงไหม หรือนโยบายสิ่งแวดล้อมของทรัมป์ที่เคยแข็งกร้าว เมื่อเผชิญการต่อต้านจากรัฐบลูสเตทหลายรัฐ เขาก็เริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดบางอย่าง โดยบอกว่าจะหาจุดสมดุลระหว่างเศรษฐกิจกับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงนโยบายเกี่ยวกับอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาหลายรอบ ทั้งช่วงหาเสียง หลังเข้ารับตำแหน่ง และเมื่อเกิดแรงกดดันจากโลกมุสลิม รวมไปถึงนโยบายแรงงานต่างด้าวที่เคยแข็งกร้าว เมื่อภาคธุรกิจออกมาคัดค้านเพราะขาดแคลนแรงงาน ทรัมป์ก็ต้องหันกลับมาพิจารณาใหม่ หลายเรื่องแสดงให้เห็นว่า ทรัมป์ถนัดการ ‘ทุบโต๊ะ’ โดยยัง ‘คิดไม่เสร็จ’ หรือไม่ได้มองปัจจัยต่าง ๆ ให้รอบด้านเพียงพอ การ ‘โยนหินถามทาง’ ของเขา ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมเกินจำเป็น จนสุดท้ายก็ต้องกลับลำ

 

นั่นทำให้อเมริกาเริ่มกลายเป็น ‘ตัวแปรที่คาดเดาไม่ได้’ ขึ้นมา เพราะกลายเป็นว่า ทุกการตัดสินใจไปขึ้นอยู่กับ ‘อารมณ์ทางการเมือง’ และเสียงสนับสนุนมากกว่าหลักการใด ๆ

 

ปกติแล้ว อเมริกาเป็นเหมือนเสาหลักของระเบียบเศรษฐกิจโลก (Global Economic Order) ทั้งตลาดการเงิน ตลาดค้าเงิน และระบบการค้าเสรี ล้วนพึ่งพา ‘เสถียรภาพ’ ของอเมริกา แต่ถ้าอเมริกาเปลี่ยนนโยบายไปมาตามอารมณ์ทางการเมือง ไม่ว่าจะขึ้นภาษี ลดภาษี ถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศแล้วกลับเข้าใหม่ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะเป็นลูกโซ่ และอาจทำให้เกิดความเสียหายระยะยาวหลายเรื่อง เช่น นักลงทุนขาดความเชื่อมั่น เงินจะไหลออกจากอเมริกา ตลาดหุ้นอาจผันผวนหนัก เพราะไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลจะกลับลำหรือเปลี่ยนกฎตอนไหน ทำให้เงินไหลเข้าสู่ตลาดอื่นที่มีเสถียรภาพมากกว่า เช่น ยุโรปหรือเอเชีย และอาจทำให้ค่าเงินดอลลาร์ผันผวน

 

Photo by Natilyn Hicks Photography on Unsplash

 

นอกจากนี้ นโยบาย America First ยังอาจทำให้ระบบพันธมิตรโลกอ่อนแอลง เพราะถ้าอเมริกาเปลี่ยนจุดยืนบ่อยๆ พันธมิตรระหว่างประเทศจะเริ่มไม่ไว้วางใจ หลายประเทศโดยเฉพาะประเทศในยุโรปอาจต้องหันมาพึ่งพากันเองมากขึ้น และลดการพึ่งพาอเมริกาลง ซึ่งหมายถึงการ ‘ลดความสำคัญ’ ของอเมริกาในระดับโลกลงด้วย ผลลัพธ์อาจกลายเป็นว่า จีนและรัสเซียจะมีบทบาทมากขึ้นในเวทีโลก และอาจเกิดการ ‘กระจายศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ’ (Decentralisation of Economic Power) ขึ้นมา 

 

ทั้งหมดนี้แปลว่า โลกอาจเข้าสู่ยุคที่เรียกว่า New Normal of Uncertainty คือมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้นจนกลายเป็น ‘ความปกติใหม่’ ไปเสียแล้ว!

 

สำหรับอุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยว หลายคนวิเคราะห์ว่าทรัมป์อาจทำให้ ‘หนังสือเดินทาง’ เป็นสิ่งที่มีค่าน้อยลง เพราะถ้า Geopolitics มาแรงแซง Geoeconomics อาจก่อให้เกิดกำแพงทางการทูตและเศรษฐกิจมากขึ้นทั่วโลก นั่นแปลว่าพาสปอร์ตของเราอาจเป็นประโยชน์น้อยลง เพราะบางประเทศอาจกลายเป็น ‘เขตต้องห้าม’ โดยเฉพาะเมื่อเกิดสงครามการค้าหรือสงครามเย็นขึ้นมาจริง ๆ หรืออย่างน้อยที่สุด มาตรการตรวจคนเข้าเมืองก็อาจเข้มงวดขึ้นจนกลายเป็นการกีดกันได้ในหลายมิติ และ ‘วีซ่า’ ก็อาจถูกนำมาใช้เป็นอาวุธทางการเมืองได้ด้วย ที่สำคัญก็คือ เป็นไปได้ที่ความตึงเครียดด้าน Geopolitics อาจทำให้ราคาน้ำมันพุ่งสูงขึ้น สายการบินจึงอาจเผชิญกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ‘ราคา’ ของการเดินทางก็จะเพิ่มสูงขึ้นด้วย

 

นั่นแปลว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยต้องปรับตัวโดยเน้นตลาดระยะใกล้มากขึ้น เพราะความไม่แน่นอนอาจทำให้การวางแผนระยะยาวเสียเปล่าไปได้ จึงเป็นไปได้ว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่โลกใบใหม่ที่ ‘กฎเดิม’ ใช้ไม่ได้อีกต่อไป ดังนั้น ประเทศที่จะอยู่รอดได้จึงอาจไม่ใช่ประเทศที่แข็งแกร่งที่สุด แต่คือประเทศที่รู้ทัน และปรับตัวได้เร็วที่สุดต่างหาก

 

คำถามก็คือ – นโยบายภายในประเทศของเราเอื้อให้เราเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า?

Share This Story !

2.4 min read,Views: 197,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 19, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 19, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 19, 2025