ทิศทางท่องเที่ยวไทยในปี 2562

Tourism Thailand :

Keep calm and Look forward to 2019

In 2019, the direction of Thai tourism aims to respond to the national strategy by emphasising three major issues: eating style, value-added content, and environmental care, and continues promoting tourism in secondary cities and communities.

The target of 2019 is an increase of 11.5% in total tourism income, with a target of a 12% increase from overseas markets and a 10% increase from domestic markets, and a continuing marketing campaign under the Amazing Thailand theme with the campaigns ‘Amazing Thailand: Open to the New Shades’ for the overseas markets and ‘Amazing Thai The’ for the domestic markets. 

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) แถลงทิศทางการส่งเสริมการท่องเที่ยว ประจำปี 2562 โดยเน้นย้ำว่า ททท. จะปรับแผนการตลาดให้น้ำหนักไปยังเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง ผลักดันการกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวรอง ให้เดินทางได้ทุกฤดูกาล เพิ่มเป้าหมายจากรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 11.5

การส่งเสริมการท่องเที่ยว ปี 2562 ต้องตอบโจทย์ ยุทธศาสตร์ชาติ

ยุทธศาสตร์ชาติ คือ กรอบพัฒนาประเทศระยะยาว เพื่อให้ประเทศบรรลุวิสัยทัศน์ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยครอบคลุมตั้งแต่ปี 2561-2580 ในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก หรือ เป็นแม่เหล็กการท่องเที่ยวระดับโลก โดยแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์

  • การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรม ส่งเสริมการท่องเที่ยว ผ่านการพัฒนาสินค้าและบริการด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น
  • การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ความงาม และแพทย์แผนไทยยกระดับมาตรฐานธุรกิจบริการด้านการส่งเสริมสุขภาพ

  • การเสริมความงามสู่ตลาดระดับสูง

  • การท่องเที่ยวทางน้ำ

  • การท่องเที่ยวเชื่อมโยงภูมิภาค เพื่อขยายการท่องเที่ยวของไทย และภูมิภาคไปพร้อมกัน ซึ่งนับเป็นมูลค่ามากมายที่จะสามารถพัฒนาชุมชนให้น่าท่องเที่ยว เน้นพัฒนาระดับท้องถิ่น

ด้วยเหตุนี้ การขับเคลื่อนการทำงานใน 20 ปีข้างหน้าของ ททท. จึงต้องนำเป้าประสงค์ดังกล่าวมาเป็นส่วนสำคัญของการทำงาน

ความคาดหวังของรัฐบาลในปี 2562

ในปี 2562 รัฐบาลยังคงมีความไว้วางใจให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ถึงท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยให้น้ำหนักไปยังเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำอย่างจริงจัง พร้อมกับกำหนดเป้าหมายชัดเจนให้ผลักดันการกระจายรายได้สู่จังหวัดท่องเที่ยวรอง และความมุ่งมั่นของ ททท. ที่ต้องการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติที่มุ่งให้ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ควบคู่กับการพัฒนาประเทศ ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ในส่วนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับโลก หรือเป็นแม่เหล็กของการท่องเที่ยวระดับโลก

ททท. ในฐานะหน่วยงานหลักทางการตลาด จึงเผชิญกับโจทย์ที่ยากและท้าทาย เพราะต้องแสวงหาโอกาสทางการตลาด ไปพร้อมๆ กับการแสวงหา ความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า การขยายและกระจายตัวของนักท่องเที่ยวจะส่งผลดี
มากกว่าผลเสียต่อประเทศ โดยเฉพาะต่อชุมชนที่มีความเปราะบาง

จุดเน้นการดำเนินการในปี 2562

เมื่อนำบริบทเหล่านี้มาวิเคราะห์ร่วมกับนโยบายของรัฐบาล ปี 2562ในภาพรวม ททท. จะต่อยอดการทำงานบน 3 จุดเน้นเดิมของปี 2561 คือ

1 ใช้วิถีการกินนำไปสู่การสัมผัส Local Experience

2 สร้างมูลค่าเพิ่มด้วย content

สร้างกระแสใส่ใจสิ่งแวดล้อม และเพิ่มเรื่องชูอัตลักษณ์เมืองรอง มาเป็นส่วนผสมหลักในการสร้างสรรค์สินค้า สร้างประสบการณ์ ด้านการท่องเที่ยวเพื่อตอบความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
ทั้งในตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศต่อไป

โดยแนวทางการคัดสรรสินค้าและบริการ สำหรับทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ จะคำนึงถึง 4 เกณฑ์ประกอบกัน คือ เมืองหลักพ่วงเมืองรอง ชุมชนพร้อมขาย ตอบโจทย์ปัญหาของภูมิภาค และสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มตลาดเป้าหมายในพื้นที่

4 ส่งเสริมเมืองรองและชุมชน

สำหรับการส่งเสริมเมืองรองและชุมชน คือ ความชัดเจนด้านนโยบายที่ต้องการให้การท่องเที่ยวช่วยลดความเหลื่อมล้ำในแง่ของพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย แต่ความท้าทายอย่างที่สุด คือ วิธีการดำเนินการในทางปฏิบัติที่จะให้การเปิดตัวเมืองรองและชุมชนสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ไม่ทิ้งความเสียหายไว้ในภายหลัง ททท. จึงให้ความสำคัญเรื่อง การประเมินความพร้อมของเมืองรองและชุมชน เพื่อให้มั่นใจว่า ความต้องการด้านการตลาดจะดำเนินไปอย่างสมดุลกับความพร้อม
ด้านอุปทาน

การทำงานกับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุด โดย การส่งเสริมเมืองรองและชุมชนของ ททท. แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ

  • การสร้างสรรค์เส้นทางท่องเที่ยวที่กระจายการเดินทางจากเมืองหลักเข้าสู่เมืองรองและชุมชน ภายใต้แนวคิด A B C ดังนี้
    A. Additional คือ เส้นทางเมืองหลัก เชื่อม เมืองรอง
    B. Brand New คือ เมืองรองศักยภาพ
    C. Combined คือ เส้นทางเมืองรอง เชื่อม เมืองรอง

  • ประเมินศักยภาพเมืองรอง โดยพิจารณาจำนวนผู้เยี่ยมเยือนเข้าพื้นที่ร่วมกับอัตราการเข้าพักแรม โดยสามารถแบ่งระดับจังหวัดเป็น 3 Tiers ดังนี้

    Tier 1    จังหวัดที่มีความพร้อม แบบเที่ยวได้ และ พักแรมได้
    Tier 2    จังหวัดที่ควรส่งเสริม ให้เที่ยว และ พักแรม
    Tier 3    จังหวัดที่ควรส่งเสริม ให้เที่ยวไปเช้า-เย็นกลับ

  • ประเมินศักยภาพชุมชน โดยทำงานร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเจ้าของแหล่ง เพื่อคัดกรองชุมชนที่พร้อมในการส่งเสริมให้ตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

เป้าหมายและทิศทางปี 2562 และการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมาย

ปี 2562 ททท. กำหนดให้เป้าหมายรายได้รวม ทั้งจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศและในประเทศเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 11.5 โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของตลาดต่างประเทศ ร้อยละ 12 และในประเทศร้อยละ 10 เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ผลที่ได้ทางเศรษฐกิจจะไม่ได้มุ่งแต่เรื่องการเพิ่มรายได้ แต่จะให้ความสำคัญกับการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ในขณะเดียวกันต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมเมืองรองและชุมชน

การดำเนินงานของ ททท. ให้บรรลุตามเป้าหมาย เน้นการดำเนินงานใน 3 ส่วน คือ การส่งเสริมตลาดต่างประเทศ ตลาดในประเทศ และการกำหนด แคมเปญการสื่อสารการตลาด

5.1 ตลาดต่างประเทศ

การส่งเสริมตลาดต่างประเทศจะดำเนินการภายใต้ 3 กลยุทธ์หลัก คือ

  • ปรับภาพลักษณ์แบรนด์ท่องเที่ยวไทยสู่การเป็น Preferred Destination
  • กระตุ้นการใช้จ่ายและขยายฐานตลาดกลุ่มระดับกลาง-บน
  • ขยายฐานตลาดกลุ่มความสนใจพิเศษ

จากการศึกษาข้อมูลนักท่องเที่ยวต่างประเทศในช่วงปี 2555-2559 พบว่า ในภาพรวมระยะเวลาพำนักเฉลี่ยเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว โดยมีแนวโน้มลดลง จึงควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มความถี่ในการเดินทางและเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวัน ในขณะที่ภาวะทางเศรษฐกิจของภูมิภาคยุโรปที่ยังอ่อนไหว ก็อาจต้องพึ่งกลุ่มตลาดอาเซียนและเอเชียใต้ (อินเดีย) มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยง เพราะมีความได้เปรียบทั้งเรื่องความสะดวกในการเดินทาง และความแข็งแรงของพื้นฐานเศรษฐกิจ

สำหรับทิศทางการตลาดต่างประเทศของแต่ละภูมิภาค มีจุดเน้นหลักๆ ดังนี้

  • East Asia : เพิ่มสัดส่วนนักท่องเที่ยวระดับบน
  • ASEAN : ส่งเสริมให้ไทยเป็น Family & Weekend
    Destination
  • South Asia : ขยายฐานนักท่องเที่ยว Niche Markets
    (Wedding & Honeymoon)
  • Europe : เจาะนักท่องเที่ยว First Visit และ New Segment
  • Middle East : กระตุ้นการเดินทางช่วง Green Season
  • The Americas : มุ่งกลุ่มผู้หญิงวัยทำงาน

5.2  ตลาดในประเทศ

การส่งเสริมตลาดในประเทศจะดำเนินการภายใต้ 4 กลยุทธ์หลัก คือ

  • กระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวกระแสหลัก
  • กระตุ้นการใช้จ่ายนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพ
  • กระจายพื้นที่และช่วงเวลาในการเดินทาง
  • สร้างความเข้มแข็งให้สังคมและรักษาสิ่งแวดล้อม

ตลาดในประเทศในภาพรวมมีลักษณะเช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ คือ จากการศึกษาข้อมูลสถิติย้อนหลัง 5 ปี พบว่าระยะเวลาพำนักเฉลี่ยในภาพรวมมีแนวโน้มลดลง แต่การเดินทางเชื่อมโยงเพิ่มขึ้น การเพิ่มรายได้ จากการเพิ่มความถี่ในการเดินทาง และเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวัน น่าจะเป็นทางเลือกที่มีความเป็นไปได้สูงกว่า

ในขณะเดียวกัน แต่ละภูมิภาคจะให้ความสำคัญในการใช้ Content มากขึ้น (More) เพิ่มคุณค่าและความน่าสนใจให้กับพื้นที่ มีการกำหนดเรื่องราวที่จะช่วยเสริมจุดเด่นของภาค มุ่งนำเสนอประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ตอกย้ำ การรับรู้อัตลักษณ์เมืองรอง และปลุกจิตสำนึกการท่องเที่ยว
เชิงอนุรักษ์

สำหรับ ทิศทางการส่งเสริมตลาดในประเทศของแต่ละภูมิภาค จะมีจุดเน้น ดังนี้

  • ภาคเหนือ : เจาะตลาดศักยภาพด้วยประสบการณ์สัมผัสวิถีเหนือแท้ๆ
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : ขยายฐานกลุ่ม Silver Age ด้วยฮีต 12 คอง 14 หัตถกรรมและอาหารถิ่นอีสาน
  • ภาคกลาง : เดินทางย้อนอดีตแบบ Premium Nostalgia
  • ภาคตะวันออก : เจาะกลุ่ม SMEs และ Corporate เดินทางในวันธรรมดา
  • ภาคใต้ : ปรับมุมมองการรับรู้ที่ไม่ได้มีดีแค่ทะเล และพลิกมุมมองของจังหวัดภาคใต้ชายแดน

5.3 แคมเปญการสื่อสารการตลาด

ททท. จะยังคงใช้ Amazing Thailand เป็นแคมเปญการสื่อสารการตลาดในปี 2562 ต่อเนื่อง แต่มีการแตกแคมเปญสำหรับตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ ดังนี้

แคมเปญสื่อสารตลาดต่างประเทศ / Amazing Thailand: Open to the New Shades

เพื่อกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ให้เกิดความสนใจเดินทางมาเยือนประเทศไทย Key Message ที่จะใช้ คือ การเชิญชวนให้เดินทางมาสัมผัส Thai Unique Local Experience ผ่านแคมเปญ Amazing Thailand : Open to the New Shades จะทำให้นักท่องเที่ยวดื่มด่ำกับประสบการณ์ท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนที่ใดในโลก สัมผัสวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา แต่ยังคงกลิ่นอายความเป็นไทยอย่างสมบูรณ์ เป็นประสบการณ์ที่จะเปิดประสาทสัมผัสของนักท่องเที่ยวทั้งร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณ ในลักษณะ The Millions of Hidden Shades

แคมเปญสื่อสารตลาดในประเทศ /Amazing ไทยเท่

การกระตุ้นให้คนไทยหันมาสนใจเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ Key Message ในการสื่อสาร คือ ทำให้การท่องเที่ยวเมืองไทยเท่กว่าที่เคยด้วย แคมเปญ Amazing ไทยเท่ แคมเปญที่จะทำให้คนไทยเห็นว่าการเที่ยวเมืองไทยสวยทุกที่ เท่ทุกเวลา ด้วยการเที่ยวแบบลึกซึ้งและเข้าถึง

ในปี 2562 คนท้องถิ่นทั่วไทยจะถูกเรียกว่า Local Hero

  • ฮีโร่ ผู้ปกป้องวิถีชีวิต วัฒนธรรมให้คงอยู่
  • ฮีโร่ ผู้สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ต่อยอดและเพิ่มคุณค่า
  • ฮีโร่ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราวท้องถิ่นให้เป็นแรงบันดาลใจของผู้คน
  • ฮีโร่ ที่จะทำให้คนไทยมองโลกและเข้าใจชีวิตในมุมใหม่
  • ฮีโร่ ที่เป็นคนธรรมดา แต่มีศักดิ์ศรีที่น่าชื่นชม เพราะมีความเข้าใจ
    ถิ่น และรักถิ่นอย่างจริงใจ

 

โดย ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร  ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

 

Share This Story !

3.9 min read,Views: 2267,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 1, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 1, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 1, 2025