พฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยในสถานการณ์ COVID-19
งานวิจัย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท.
นับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ในช่วงต้นปี 2563 อุตสาหกรรมการเดินทางท่องเที่ยวก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ ตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อันไม่แน่ไม่นอนในทุกๆ ด้าน รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทย แล้วพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวไทยท่ามกลางสถานการณ์ New normal นี้คืออะไรบ้าง
ในปี 2564 กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท. ได้จัดทำโครงการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ชาวไทยจากสถานการณ์ COVID-19 เพื่อทราบถึงข้อมูลพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เปลี่ยนแปลงไปท่ามกลางบรรยากาศการแพร่ระบาดของ COVID-19 หรือ Covidmosphere และเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนด้านการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยว
โดยดำเนินการเก็บข้อมูลเชิงปริมาณและคุณภาพจากชาวไทยในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และพื้นที่ครอบคลุมทั้ง 5 ภูมิภาคของทั่วประเทศ แบ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นผ่าน Online Poll จำนวน 2,000 ตัวอย่าง และจัด Co-Creation Workshop จำนวน 25 กลุ่ม (กลุ่มละ 6 ตัวอย่าง) ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564*
นักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงการแพร่ระบาด COVID-19
การแพร่ระบาด COVID-19 ส่งผลกระทบต่อการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยสัดส่วนของผู้ที่มีการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศนับตั้งแต่เกิดเหตุการณ์แพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2563 คิดเป็นร้อยละ 43.7
– กลุ่มตัวอย่างที่มีการเดินทางท่องเที่ยว ส่วนใหญ่เป็นคนกรุงเทพฯ (ร้อยละ 53.21)
– กลุ่ม Gen Y มีสัดส่วนการออกเดินทางท่องเที่ยวมากที่สุด (ร้อยละ 47.02)
– ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรัฐวิสาหกิจ (ร้อยละ 57.45)
– มีรายได้ระหว่าง 30,001-40,000 บาท (ร้อยละ 58.72)
– ส่วนใหญ่สถานภาพสมรสมีบุตร (ร้อยละ 49.08)
– และมีการศึกษาระดับปริญญาโท (ร้อยละ 50.98)
เหตุผลในการออกท่องเที่ยวช่วง COVID-19
- รู้สึกอึดอัดอยากออกจากบ้าน
- อยากเปลี่ยนบรรยากาศของสถานที่พัก
- แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติมีการฟื้นฟู มีความสวยงามมากกว่าเดิม
- โปรโมชั่นทำให้อยากออกท่องเที่ยวในสถานที่ที่ให้ประสบการณ์พิเศษที่ไม่สามารถทำได้ในช่วงเวลาที่ราคาปกติ
พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนแปลงไป
- รูปแบบการเดินทาง มีสัดส่วนการใช้รถยนต์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่เดินทางเป็นครอบครัว
- การเลือกจุดหมายปลายทางที่ใกล้ขึ้น ร้อยละ 43.59 เลือกจุดหมายปลายทางภายในจังหวัด
- ระยะเวลาการท่องเที่ยว จำนวนวันต่อทริปเปลี่ยนเป็นเดินทางเพียง 1 วัน (ไม่ค้างคืน) มากที่สุด
- ความถี่ในการเดินทางท่องเที่ยวลดลง ร้อยละ 68.54 เดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ 1-2 ครั้งต่อปี
- งบประมาณที่ใช้ มีสัดส่วนภาพรวมของการใช้จ่ายที่ลดลง แต่มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในหมวดหมู่ของการเดินทางหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการต้องระมัดระวังมากขึ้น (มุมมองจากการวิจัยเชิงคุณภาพ เช่น เลือกร้านอาหารที่มีคุณภาพดี มีมาตรฐานมากขึ้น)
ความสนใจในรูปแบบสินค้าการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป
รูปแบบสินค้าการท่องเที่ยวมีแนวโน้มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในช่วง COVID-19 ได้แก่
การท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ มีความเสี่ยงน้อย ให้ความสงบผ่อนคลาย
การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เน้นกิจกรรมเพื่อรักษาบำบัดที่หลีกเลี่ยงการสัมผัส
การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ได้รับความสนใจมากขึ้นจากสถานการณ์ COVID-19
การท่องเที่ยวตามความเชื่อความศรัทธา ช่วยในเรื่องของที่พึ่งทางใจ
How to Boost Up การสื่อสารเพื่อเข้าถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมาย
ผลการศึกษาพบว่า สื่อออนไลน์ถูกใช้เป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม โดยข้อมูลที่ควรนำเสนอ นอกจากเรื่องราวท่องเที่ยวแล้ว ควรสื่อสารถึงมาตรการต่างๆ ที่รัฐได้ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงควรให้คู่มือวิธีปฏิบัติในการเดินทางท่องเที่ยว และควรเพิ่มข้อมูลที่อัพเดทเรียลไทม์ถึงสถานะและมาตรการของแหล่งท่องเที่ยวที่ครบถ้วน
- Social Media เข้าถึงง่าย ข้อมูลหาง่ายและน่าสนใจ โดยเฉพาะ YouTube จะทำให้เห็นภาพรวมของสถานที่ หรือรายละเอียดที่ลึกยิ่งขึ้น
- Search Engine ใช้ในการค้นหาข้อมูลตั้งแต่การวางแผนไปจนถึงระหว่างการเดินทาง
- Travel Website ใช้หาข้อมูลที่มีความละเอียด เฉพาะเจาะจง ทั้งภาพรวมและเชิงลึก
- Mobile Application ใช้งานได้สะดวกสบาย มีโปรโมชั่นที่น่าสนใจ สามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย
*หมายเหตุ: การเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพอยู่ระหว่างเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดระลอก 3 ในประเทศไทย โดยเป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศก่อนและหลังเกิดสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งข้อมูลที่ได้จะเป็นการเปรียบเทียบพฤติกรรมใน 2 ช่วงดังกล่าว รวมถึงคาดการณ์พฤติกรรมการท่องเที่ยวที่ต่อเนื่องในอนาคต ดำเนินการโดยบริษัท บารามีซี่ จำกัด เพื่อการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
อ่านงานวิจัย โครงการศึกษาแนวโน้มพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยจากสถานการณ์ COVID-19
ฉบับเต็มได้ที่ https://intelligencecenter.tat.or.th/articles/12311