ใคร ๆ ก็อยากไป “ญี่ปุ่น”

 

 

 

พัชรวรรณ วรพล

 

 

 

Takashi Images / Shutterstock.com

 

ญี่ปุ่น จุดหมายปลายทางในใจของนักท่องเที่ยวทั่วโลกที่อยากไปเยี่ยมเยือน เมื่อช่วง COVID-19 ระบาด ทำให้ญี่ปุ่นเงียบเหงาไปอย่างมากจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดที่เข้มงวด อย่าว่าแต่นักท่องเที่ยวจากต่างชาติเลย แม้แต่การท่องเที่ยวภายในประเทศเองก็ซบเซาเป็นอย่างมาก ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจระดับประเทศและท้องถิ่น เพราะรายได้หลักของประเทศนั้นมาจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว 

 

เมื่อสถานการณ์ต่าง ๆ คลี่คลาย ในปี 2566 นี้ ญี่ปุ่นจึงหวังว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวขึ้นเรื่อย ๆ เริ่มเห็นได้จากจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้น สนามบินนานาชาติฮาเนดะกลับมาเปิดใช้งานเต็มรูปแบบอีกครั้งในรอบ 3 ปี โดยเพิ่งเปิดเทอร์มินอล 2 สำหรับเที่ยวบินนานาชาติเมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ซึ่งญี่ปุ่นเคยมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากที่สุดถึง 32 ล้านคนในปี 2562 

 

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้วางให้การท่องเที่ยวเป็นเสาหลักของกลยุทธ์การเติบโตของประเทศ โดยเมื่อปี 2559 ได้ตั้งเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนญี่ปุ่นภายในปี 2563 จำนวน 40 ล้านคน และ 60 ล้านคนภายในปี 2573 ดังนั้น เพื่อที่จะดึงดูดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาเที่ยวอีกครั้ง รัฐฯ จึงออกมาตรการผ่อนปรนยกเว้นวีซ่าแก่หลาย ๆ ชาติ มีการพัฒนาการคมนาคมขนส่ง การปรับปรุงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เช่น ทำป้ายแนะนำให้มีหลากหลายภาษา มีโพรโมชันสิทธิพิเศษแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้งด้านความปลอดภัย ด้านสุขอนามัย ก็มีความพร้อมเป็นอย่างสูง ทำให้ตอนนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้พุ่งไปถึง 2 ล้านกว่าคนต่อเดือน ติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนมิถุนายนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

 

 

หลัง COVID-19 จะพบว่าพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป นั่นคือต้องการที่พักและกิจกรรมท่องเที่ยว “กลางแจ้ง” (Outdoor) สังเกตได้จาก “คีย์เวิร์ด” ที่ค้นหาในโลกออนไลน์ เช่น Farmstay, สถานที่ตั้งแคมป์, วิลล่าให้เช่า และโรงแรมริมทะเลสาบ แต่นักท่องเที่ยวส่วนมากที่หลั่งไหลเข้ามาเยือนให้สมกับที่รอคอยมานานนั้น ยังคงปักหมุดในพื้นที่หลัก ๆ เช่น โตเกียว โอซาก้า เกียวโต จนกลายเป็นข่าวขึ้นมาว่าญี่ปุ่นต้องประสบปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overtourism) ซึ่งญี่ปุ่นเองก็พยายามรับมือกับปัญหานี้ โดยรัฐฯ ต้องร่างแผนใหม่เพื่อรับมือและเริ่มดำเนินการสร้างระบบการคมนาคมในเมืองใหญ่ ๆ โดยเฉพาะการเพิ่มจำนวนรถบัสและแท็กซี่ให้เชื่อมโยงไปยังสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมจากสถานีหลัก การเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวไปยังพื้นที่ชนบทที่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก การท่องเที่ยวแบบผจญภัยในพื้นที่ธรรมชาติที่ยังบริสุทธิ์ การพักค้างคืนในหมู่บ้านประวัติศาสตร์ การสัมผัสกับธรรมชาติและสถานที่ท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์อื่น ๆ ที่ไม่สามารถพบได้ในเมืองใหญ่

 

นอกจากนี้รัฐบาลยังมีนโยบายให้ทุกกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรวบรวมข้อมูล แก้ไขปัญหาและวางแผนการป้องกันให้เข้ากับนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างสถานที่ท่องเที่ยวที่ยั่งยืนให้ทุกคนสามารถ “อยู่ เยี่ยมชม และยอมรับ (นักท่องเที่ยว)” รวมถึงสนับสนุนการแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการการรับมือนักท่องเที่ยวล้นเมืองโดยจัดตั้งเคาน์เตอร์ให้คำปรึกษาแก่เทศบาลและคนท้องถิ่นอีกด้วย

 

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงมุ่งสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพ ฟื้นฟูตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพิ่มยอดการใช้จ่ายเฉลี่ยในปี 2568 เป็นทริปละ 200,000 เยนต่อคน เพิ่มขึ้น 25% จากเฉลี่ยทริปละ 159,000 เยนต่อคนเมื่อปี 2562 

 

พอพูดถึงญี่ปุ่นกับความรักในสิ่งแวดล้อมและความสะอาดแล้ว ก็ทำให้อดนึกถึง Studio Ghibli ไม่ได้ หลายคนอาจจะคุ้น ๆ กับชื่อนี้ แต่ถ้ากล่าวถึงภาพยนตร์อนิเมะอันโด่งดังหลาย ๆ เรื่อง เช่น Spirited Away (มิติวิญญาณมหัศจรรย์) My Neighbor Totoro (โทโทโร่เพื่อนรัก) หลายคนอาจเคยดูกันมาแล้ว ใครที่เป็นแฟนตัวยงก็อาจจะเคยไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์สตูดิโอจิบลิ (Studio Ghibli Museum) ที่กรุงโตเกียว หรือสวนสนุกจิบลิ (Ghibli Park)จังหวัดไอจิ ที่จัดแสดงเกี่ยวกับภาพยนตร์ รวมถึงจำลองฉาก บรรยากาศ เครื่องเล่นต่าง ๆ พร้อมตัวละครที่เป็นที่รู้จักและประทับใจคนดูมาให้ชื่นชมถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนาน 

 

Studio Ghibli เป็นหนึ่งในบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งผู้ก่อตั้งนั้นเป็นที่รู้จักกันในฐานะนักสร้างอนิเมะที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลก แถมยังมีชื่อเสียงในฐานะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จากผลงานหลายเรื่องที่มีเรื่องราวอันน่าติดตาม ภาพที่สวยงาม ทั้งยังแฝงเนื้อหาที่สอนและเตือนใจแก่ผู้ชมอีกด้วย ซึ่งถ้าสังเกตดี ๆ แต่ละเรื่องจะถ่ายทอดความงดงามและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ การผสมผสานตำนานเข้ากับแนวคิดของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จนบางคนถึงกับเรียกสตูดิโอนี้ว่า “โรงภาพยนตร์สีเขียว” 

My Neighbor Totoro (1988)

 

หลายคนคงจะรู้จัก “โทโทโร่” ที่ดูเหมือนสัตว์หลาย ๆ อย่างผสมกัน ตัวอ้วนกลม ขนฟู น่ารัก ในเรื่อง My Neighbor Totoro ที่นำเสนอฉากบนโลกที่สงบสุข ทุ่งหญ้าเขียวขจี ผืนป่าที่สวยงามอายุนับร้อยปีที่มีสิ่งมีชีวิตและเทพเจ้าลึกลับอาศัยอยู่ ซึ่งโทโทโร่ก็คือผู้พิทักษ์ป่าที่ยิ่งใหญ่และมีเมตตา เขานอนหลับบนต้นการบูรศักดิ์สิทธิ์ มีเสียงคำรามที่ทำให้เกิดลมแรง แต่ก็เป็นมิตร ฉากที่เด็กผู้หญิงยื่นร่มให้โทโทโร่ตอนฝนตก และเขาก็ให้เมล็ดพืชซึ่งจะแตกหน่อออกเป็นสีเขียวแก่เธอเป็นการตอบแทน มิตรภาพที่เรียบง่ายของพวกเขาเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์ของผู้คนและสิ่งแวดล้อม เรื่องนี้กระตุ้นให้เด็ก ๆ ค้นพบความรักในธรรมชาติ อย่างเช่นการเก็บลูกโอ๊กและปลูกใหม่เพื่อแสดงให้เห็นว่าธรรมชาตินั้นมีค่า

 

Spirited Away (2001)

 

 

อีกเรื่องคือ Spirited Away มีฉากหนึ่งที่จิฮิโระ เด็กหญิงตัวเอกของเรื่องถูกบังคับให้ทำงานในโรงอาบน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด “วิญญาณเหม็น” ก็ปรากฏตัวขึ้นเพื่ออาบน้ำ ขณะที่ดูแลสัตว์สกปรกนั้น เด็กหญิงได้ดึงหนามออกจากตัวของมัน ส่งผลให้กองขยะระเบิดออกมา ซึ่งมีทั้งเฟอร์นิเจอร์เก่า ๆ จักรยาน ถังน้ำมันและขยะต่าง ๆ จากนั้นวิญญาณเหม็นก็คืนกลับเป็นวิญญาณที่บริสุทธิ์แห่งแม่น้ำ เนื่องจากเป็นอิสระจากสิ่งสกปรกที่สะสมมาจากน้ำมือของมนุษย์

 

Pom Poko (1994)

 

 

ปอมโปโกะ ทานูกิป่วนโลก (The Raccoon War) ปอมโปโกะเป็นเรื่องราวของเหล่าทานูกิ ที่ต้องร่วมมือกันปลอมตัวเป็นมนุษย์เพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามจากมนุษย์ที่เข้ามาทำลายป่าไม้ให้กลายเป็นเมือง ถึงแม้ว่าเรื่องจะดูสนุก ตลกขบขันไปกับฉากการกลั่นแกล้ง เช่น แปลงตัวเป็นผีเพื่อหลอกคนงานที่กำลังถางป่า แต่มันแสดงให้เห็นถึงความเป็นจริงที่ชาวบ้าน สัตว์ป่า พืชพันธุ์ ความเป็นชนบท ถูกความเป็นเมืองและทุนนิยมครอบงำไปในที่สุด สิ่งที่เรื่องนี้ต้องการจะบอกคือ การพัฒนา การขยายตัวของเมืองควรรักษาสมดุลของระบบนิเวศทางธรรมชาติไปพร้อม ๆ กันด้วย ความเป็นเมืองไม่ควรรบกวนจนทำให้ธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ต้องพบกับทางตันจนไม่สามารถเติบโต สืบต่อวัฒนธรรมได้ต่อไป เพราะความหลากหลายทางชีวภาพคือความสวยงามที่แท้จริงบนโลกใบนี้นั่นเอง

 

ยังมีอีกหลายเรื่องของสตูดิโอนี้ ที่มุ่งให้ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การส่งสารผ่านอนิเมะ กระตุ้นให้ผู้ชมไตร่ตรองและสนับสนุนแนวคิดการขับเคลื่อนความยั่งยืนของสภาพภูมิอากาศ และปกป้องสิ่งแวดล้อมให้เป็นแคมเปญระดับโลก

 

จึงเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นอันมาก ปัญหาที่เกิดจากนักท่องเที่ยวล้นเมืองและส่งผลกระทบต่อความเป็น “ญี่ปุ่น” นั้น ญี่ปุ่นเองคงจะต้องกลับไปทบทวนการเปิดรับนักท่องเที่ยวว่าจะทำอย่างไรจึงจะคัดกรองให้ได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูงเข้ามาท่องเที่ยว และเพื่อรักษาความเป็น “ญี่ปุ่น” ให้คงอยู่ตลอดไป.

 

อ้างอิง

https://i-d.vice.com/en/article/epg8pa/studio-ghibli-anime-climate-crisis-hayao-miyazaki

https://republicasiamedia.com/what-studio-ghibli-films-teach-us-about-the-environment/

https://www.japannakama.co.uk/the-environmental-messages-in-miyazakis-studio-ghibli-movies/

https://www.cbr.com/best-anime-series-about-environment-nature-not-studio-ghibli-mushishi-earth-maiden-arjuna/

https://www.thecambridgelanguagecollective.com/asia/hayao-miyazaki-studio-ghibli-and-the-environmental-message

https://www.asahi.com/ajw/articles/14946794

https://www.japantimes.co.jp/news/2023/10/18/japan/society/overtourism-prevention-plan/

https://statistics.jnto.go.jp/en/

 

Share This Story !

2.6 min read,Views: 960,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024