ใครกันเที่ยวโลคอล
งานวิจัย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท.
กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว ททท. ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อมุ่งส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์อันทรงคุณค่า โดยเฉพาะการส่งเสริมอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่น ทั้งวัฒนธรรม วิถีชีวิต อาหาร และธรรมชาติ ที่จะสามารถทำให้เกิดการเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพชาวไทย ให้เกิดการกระจายการเดินทางทั้งในเชิงพื้นที่และช่วงเวลา สร้างโอกาสในการกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนท้องถิ่น อันจะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่มีความหมายและตอบโจทย์ความยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
โดยได้มีการค้นหานักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวชุมชนจากนักท่องเที่ยวชาวไทยทั่วไปซึ่งเป็นกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 5,994 ราย พบว่านักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพจะท่องเที่ยวชุมชนในอนาคตมีสัดส่วนถึงร้อยละ 50.05 (จำนวน 3,000 ราย) โดยร้อยละ 81.33 เคยมีประสบการณ์การท่องเที่ยวชุมชนมาบ้างแล้ว แต่ยังไม่ได้ออกท่องเที่ยวชุมชนบ่อยนัก เนื่องจากความน่าสนใจของโปรแกรมและกิจกรรมการท่องเที่ยว รวมถึงบรรยากาศและสภาพแวดล้อมของชุมชนยังไม่ดึงดูดใจมากพอ และช่องทางที่สร้างการรับรู้และการเข้าถึงข้อมูลยังมีน้อยหรือเข้าถึงยาก โดยความคาดหวังของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือ ความน่าสนใจของกิจกรรมที่ได้ทำ ความสวยงามทางธรรมชาติที่โดดเด่น และสถานที่ท่องเที่ยวอื่น ๆ ที่อยู่ใกล้เคียงกับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน
เมื่อเจาะลึกถึงพฤติกรรมการท่องเที่ยวชุมชนของนักท่องเที่ยวชุมชนชาวไทย ว่ามีการเดินทางท่องเที่ยวชุมชนอย่างไรเพื่อไปสัมผัสวิถีชีวิต วัฒนธรรม ธรรมชาติ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ผ่านการมีส่วนร่วมกับชุมชน เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลของนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ท่องเที่ยวและทำกิจกรรมในพื้นที่ชุมชนทั้ง 5 ภูมิภาค โดยใช้แบบสอบถามจำนวน 2,000 ราย และการทำ Co-creation Workshop ร่วมกับนักท่องเที่ยวชุมชนชาวไทยจำนวน 60 ราย พบว่า
- มีสัดส่วนของเพศหญิง (ร้อยละ 60.45) มากกว่าเพศชาย (ร้อยละ 39.55)
- ส่วนใหญ่มีที่พักอาศัยในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมากที่สุด (ร้อยละ 30.70)
- มีรายได้เฉลี่ยอยู่ในช่วง 15,001-30,000 บาทต่อเดือน ส่วนใหญ่เป็นพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 40.45
- มีประสบการณ์การท่องเที่ยวชุมชน 3-5 ปี
- เหตุผลในการท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ ต้องการแสวงหาแนวทางการใช้ชีวิตใหม่ ๆ ได้เปิดหูเปิดตา เพิ่มประสบการณ์และได้รับมุมมองใหม่ ๆ ในชีวิต ได้พักผ่อนเยียวยาจิตใจฟื้นฟูพลังให้กลับมาสดใหม่อีกครั้ง
- นิยมท่องเที่ยวชุมชนแบบ 1 วัน (เต็มวันทั้งช่วงเช้าและบ่าย หรืออาจเลยไปถึงช่วงกลางคืน) โอกาสในการเดินทางท่องเที่ยวชุมชนมากที่สุดเป็นช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ / ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ โดยเฉพาะในเดือนเมษายน ธันวาคม และมกราคม
- ชุมชนไม่ใช่จุดหมายหลัก แต่มักจะตั้งใจมองหาชุมชนท่องเที่ยวที่น่าสนใจ เพื่อเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของทริป ท่องเที่ยวในทุก ๆ ครั้ง และมักจะเดินทางท่องเที่ยวชุมชนในจังหวัดที่อยู่ในภูมิภาคที่อาศัย โดยใช้พาหนะส่วนตัวในการเดินทาง
- ความเป็นมิตรและอัธยาศัยที่ดีของคนในชุมชน ความเป็นเอกลักษณ์ของอาหารท้องถิ่น และความสะอาดของชุมชน เป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกท่องเที่ยวชุมชน
- ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวและข้อมูลเส้นทางการเดินทางเป็นข้อมูลที่นักท่องเที่ยวนิยมค้นหามากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่นิยมเดินทางโดยพาหนะส่วนตัว จึงทำให้ต้องการข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนเรื่องอื่น ๆ ต่อไป และข้อมูลกิจกรรมของชุมชนเป็นข้อมูลที่จะทำให้นักท่องเที่ยวสนใจเดินทางท่องเที่ยวชุมชนมากยิ่งขึ้น
- นักท่องเที่ยวชุมชนชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เที่ยวชุมชนแบบเชิงลึกหรือฝังตัวเป็นคนท้องถิ่น แต่จะเดินทางท่องเที่ยวชุมชนเพื่อการนันทนาการหรือเพื่อพักผ่อน ได้ใช้เวลาช้าลง ท่องเที่ยวแบบสบาย ๆ ถ่ายรูป ชอบทำกิจกรรมหลากหลาย และยังต้องการได้รับความสะดวกสบายจากการท่องเที่ยว
- แหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่มักไปบ่อยที่สุด ได้แก่ ชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม งานเทศกาล ประเพณี ชุมชนท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติทางทะเล และชุมชนท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ป่า ภูเขา ถ้ำ
- กิจกรรมที่ชอบทำในการท่องเที่ยวชุมชน ได้แก่ การถ่ายรูป เช็กอินสถานที่ในชุมชน รับประทานอาหารหรือประกอบอาหารท้องถิ่น และซื้อสินค้าและของฝากภายในชุมชน โดยกิจกรรมการทดลองสัมผัสวิถีชีวิตของคนในชุมชน (ร้อยละ 26.01) หรือกิจกรรม Workshop (ร้อยละ 17.96) ยังไม่ค่อยได้รับความนิยมมากนัก
- มักใช้จ่ายในแหล่งท่องเที่ยวชุมชนไปกับค่าอาหาร ซื้อของหรือของฝากท้องถิ่น และอุดหนุนร้านค้าหรือสินค้าท้องถิ่น
- ส่วนใหญ่ทราบว่าชุมชนมีบริการที่พัก แต่ไม่ได้เข้าพัก เพราะยังรู้สึกไม่มั่นใจในมาตรฐานของที่พัก ที่พักในชุมชนยังไม่ตอบโจทย์ด้านความสวยงามและการบริการ รวมทั้งการเดินทางที่ลำบาก เนื่องจากชุมชนอยู่ห่างไกลจากแหล่งท่องเที่ยวอื่น ๆ แต่หากเข้าพักจะเลือกพักโฮมสเตย์ที่ให้บริการในชุมชนเป็นตัวเลือกแรก
- ในการเดินทางท่องเที่ยวชุมชน นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจด้านทัศนคติความมีน้ำใจของคนในชุมชนสูงที่สุด รองลงมาเป็นสิ่งดึงดูดที่น่าสนใจของแหล่งท่องเที่ยวชุมชน และอาหาร ตามลำดับ แต่ในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ชุมชนได้คะแนนความพึงพอใจน้อยที่สุด ตามมาด้วยเรื่องที่พัก การเดินทางและสิ่งอำนวยความสะดวก ตามลำดับ
- อัตราความเป็น Superfans ของการท่องเที่ยวชุมชนของนักท่องเที่ยวจากการสำรวจนี้ ส่วนใหญ่ร้อยละ 66.90 อยู่ในระดับ Medium คือ รู้สึกด้านบวกกับการท่องเที่ยวชุมชนแต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะรักเชิงรุก ในขณะที่กลุ่ม Superfans มีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 32.90 ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม Gen-Y อาศัยอยู่ภาคใต้สูงที่สุด และภาคใต้เป็นภูมิภาคที่กลุ่ม Superfans เลือกไปท่องเที่ยวสูงที่สุดเช่นกัน
หากมองในรายกลุ่ม Segment จะพบความโดดเด่นในการท่องเที่ยวชุมชนของแต่ละกลุ่มดังนี้
- กลุ่ม Gen-X และกลุ่ม Silver Age จะให้ชุมชนเป็นจุดหมายปลายทางหลักในหลายทริปของการเดินทาง เพราะมีประสบการณ์ในการท่องเที่ยวหลากหลายรูปแบบและเคยไปสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังบ่อยแล้ว จึงมองว่าการท่องเที่ยวชุมชนจะทำให้ได้รับประสบการณ์ใหม่ ๆ ในขณะที่กลุ่ม Gen-Z และกลุ่ม Gen-Y มีความสนใจหลากหลายในแต่ละทริป จึงทำให้ชุมชนไม่ใช่จุดหมายหลัก แต่จะหาชุมชนที่น่าสนใจเป็นส่วนหนึ่งของทริปท่องเที่ยวทุก ๆ ครั้งแทน
- กลุ่ม Gen-Y และกลุ่ม Gen-X เลือกเดินทางท่องเที่ยวชุมชนในภูมิภาคเดียวกับจังหวัดที่อาศัย มักไปกับครอบครัวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ ในขณะที่กลุ่ม Silver Age ชื่นชอบการท่องเที่ยวชุมชนที่มีกิจกรรมแปลกใหม่ ทำให้ยอมเดินทางไปไกลยังจังหวัดในภูมิภาคอื่นได้
- กลุ่ม Silver Age มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยในการท่องเที่ยวชุมชนสูงที่สุดที่ 1,151 บาท/คน และมีสัดส่วนแรงจูงใจในการท่องเที่ยวชุมชนแบบฝังตัวเป็นคนท้องถิ่นสูงเมื่อเทียบกับทุกกลุ่ม Segment
โอกาสสำหรับการท่องเที่ยวชุมชน
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่เริ่มมองหาสถานที่ท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ห่างไกลจากความแออัด และตอบสนองความต้องการทางจิตใจที่อยากแบ่งปันประสบการณ์การค้นพบใหม่ ๆ เป็นโอกาสสำหรับการท่องเที่ยวชุมชน
ความเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ทั้งกิจกรรมและบรรยากาศของชุมชนเป็นสิ่งที่จะทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพจะท่องเที่ยวชุมชนในอนาคตหันมาสนใจการท่องเที่ยวชุมชนมากขึ้น แต่ถ้าจะดึงคนที่ยังไม่เคยเที่ยวชุมชนมาก่อน ควรให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงเส้นทางของแหล่งท่องเที่ยวชุมชนเข้ากับแหล่งท่องเที่ยวหลัก
การพัฒนากิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่นที่สะท้อนเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ มีความหลากหลายของกิจกรรม และการพัฒนาความสามารถของไกด์ชุมชน นักเล่าเรื่อง และไกด์ท้องถิ่นที่เล่าเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เป็นสิ่งสำคัญที่จะสามารถเพิ่มรายได้หรือเพิ่มงบประมาณในการท่องเที่ยวชุมชนของนักท่องเที่ยวได้มากกว่าเท่าตัว
ถึงแม้ว่าความสนใจในการเข้าร่วมทำกิจกรรม Workshop ในชุมชนจะเป็นกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวให้ความสำคัญ แต่กลับ
เลือกทำกิจกรรมในสัดส่วนที่ไม่สูง เนื่องจากแรงจูงใจในการเดินทางท่องเที่ยวส่วนใหญ่จะเน้น “การได้เห็น” มากกว่า “การได้สัมผัส” แต่กิจกรรม Workshop ในชุมชนก็ยังเป็นโอกาสสำหรับชุมชนในการเพิ่มรายได้ หากมีการพัฒนากิจกรรมให้เกิดเอกลักษณ์และมีความแตกต่าง สื่อถึงความเป็นชุมชนที่ชัดเจน
ที่มาข้อมูล: โครงการศึกษาพฤติกรรมและความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยต่อการท่องเที่ยวชุมชน ประจำปี 2567 (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย)