
ในวันที่ Local Alike ต้อง Stay Alive
Since the situation of the COVID-19 outbreak, tourism-related business operators have faced a hard time. “Local Alike” is one of them that needs to adjust for survival. The interview is about the changes in the working format and processes, the way to seek opportunities in a crisis that occurred to the community-based tourism business so as to be able to further run the business, and the aspects of sustainable tourism in the future.
สรุปและเรียบเรียง
จากงานเสวนา Tourism Trend Talk
บรรยายโดย คุณสมศักดิ์ บุญคำ (ไผ)
Founder & CEO บริษัท Local Alike
เพราะ ‘มีเต็นท์ให้เช่า’ เป็นแค่เพียงแผ่นป้ายเล็กๆ ตรงเชิงดอยตุง นักท่องเที่ยวจึงเดินผ่านเลยไป พลาดโอกาสชมวิวสวยงามจากจุดกางเต็นท์บนดอย ที่ชาวเขาของหมู่บ้านแห่งนี้ตั้งใจอยากทำให้ชุมชนของพวกเขาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ปัญหาเหล่านี้คือสิ่งที่ สมศักดิ์ บุญคำหรือ ไผ ได้เห็นขณะฝึกงานที่มูลนิธิ แม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ทำให้เกิดความคิดที่ว่า หากมีธุรกิจท่องเที่ยวชุมชนที่มีศักยภาพ ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้ จนเกิดเป็น Local Alike กิจการเพื่อสังคมด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ที่พาผู้คนมากมายเข้าไปสู่หลากหลายชุมชนผ่านการท่องเที่ยวและประสบความสำเร็จอย่างสูงมาตลอด กระทั่งเจอผลกระทบ จากวิกฤต COVID-19… ที่ทำให้ Local Alike ต้องรู้จัก ปรับตัวเพื่อให้ Stay Alive
จุดเริ่มต้นของโลเคิล อไลค์ (Local Alike)
เริ่มจากที่ผมเคยเรียนเกี่ยวกับการบริหารแบบยั่งยืนมา ทำให้รู้สึกว่า มันเป็นโมเดลที่ดี ไม่โลภ เกื้อกูลทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงนำไอเดียนี้ เข้าไปทำงานกับคนในชุมชน จนเกิดเป็น โลเคิล อไลค์ (Local Alike) กิจการเพื่อสังคมที่ใช้ ‘การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน เพื่อชุมชนโดยชุมชน’ ให้การสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาชุมชน ให้คนมีความรู้และศักยภาพ ในการจัดการกับเรื่องท่องเที่ยว เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อระหว่าง ชุมชนกับตลาดท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะฉะนั้น ต้องทำให้ชุมชนรู้ถึงศักยภาพของตนและพัฒนาจนเป็นวิสาหกิจที่สามารถ อยู่ได้ด้วยตนเองและอย่างยั่งยืน ซึ่งความยั่งยืนในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ การขายทัวร์กับที่พักเท่านั้น แต่รวมไปถึงการขายอาหาร สินค้า และบริการ ต่างๆ รู้จักการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางและสร้าง โอกาสให้กับชุมชนมากขึ้น แล้วจึงนำเงินกำไรที่ได้มาพัฒนาสังคมและ สิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ แก้ปัญหาขยะหรือน้ำเน่าเสีย
แต่ต่อมา เราคิดว่าการหวังพึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวอย่างเดียวนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะหลายๆ ชุมชนไม่ได้โดดเด่นในเรื่องท่องเที่ยว เราจึงต้องหาทางสร้างรายได้ด้วยวิธีการอื่นเสริม และเห็นว่าอาหารนั้นแสดงถึงวัฒนธรรมและเรื่องราวของแต่ละชุมชน เลยคิดทำเป็นอาหารชุมชนชื่อว่า โลเคิล อร่อย (Local Aroi) เป็นการนำอาหารชุมชนที่ปรุงโดยคนในชุมชนนั้นและคงรสชาติดั้งเดิมมาสร้างมูลค่าและคุณค่าโดยการใส่เรื่องราวลงไปในอาหารเหล่านั้น เพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับประเทศและระดับโลก เป็นการพัฒนาทักษะเชฟชุมชน สร้างโอกาสทางอาชีพและความยั่งยืนของอาหารชุมชน โดยเริ่มต้นจากการให้เชฟชุมชนสวมรอยเข้าไปลองทำอาหารในร้านอาหารระดับ 4-5 ดาวในกรุงเทพฯ เพื่อเรียนรู้การทำครัวที่สะอาด และการตกแต่งจานอาหารให้มีความน่ารับประทานในปี 2562 โลเคิล อร่อย ประสบความสำเร็จและสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น Chef Table ดื่มด่ำกับอาหารท้องถิ่นที่ปรุงโดยเชฟชุมชน รับทำอาหารมื้อค่ำหรือจัดปาร์ตี้ส่วนตัว และรับทำ Catering
แนวทางในการทำงานและพัฒนาร่วมกับชุมชน
หลายปีที่ผ่านมา โลเคิล อไลค์ ได้ทำงานร่วมกับชุมชนกว่า 150 ชุมชนทั่วประเทศ มีนักท่องเที่ยวได้เข้าไปยังชุมชนแล้วมากกว่า 40,000 คน สร้างรายได้มากกว่า 70 ล้านบาท โดยแรกเริ่มในการทำงานกับชุมชนนั้นหลักๆ คือ ต้องพัฒนาคนในชุมชนก่อน โดยเข้าไปทำงานร่วมกันเพื่อให้พวกเขาได้เรียนรู้และเห็นศักยภาพของตนเอง ทั้งนี้ หลักการทำงานของโลเคิล อไลค์ คือ Community-Based Tourism ซึ่งคือการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อชุมชนเอง โดยไม่ให้การท่องเที่ยวเข้ามาควบคุมและเปลี่ยนแปลงชุมชน เพราะสิ่งนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ให้ชุมชนเลย นอกจากสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ซึ่งการท่องเที่ยวชุมชนสามารถเป็นได้ทั้งแบบทั่วไป แบบทางเลือก และแบบผสมผสาน โดยชุมชนอาจจะสามารถเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ตลอดเวลา หรือจะเปิดรับในช่วงที่พักจากอาชีพหลัก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพของชุมชน เพื่อชุมชนจะได้เรียนรู้ถึงการรับมือและแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
การเห็นคุณค่าของความไม่สมบูรณ์ของบางชุมชน ซึ่งคนอื่นอาจจะคิดว่าขายไม่ได้ เพราะกังวลเรื่องความสะอาดและความปลอดภัย แต่ถ้าเรา
ทำให้คนอื่นรับรู้ถึงคุณค่าของความไม่สมบูรณ์นั้น ตัวอย่างเช่น homeless หรือคนไร้บ้าน ที่บริษัททัวร์แห่งหนึ่งในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
คิดทำโปรแกรมทัวร์ชื่อว่า Unseen Tours โดยฝึกให้คนไร้บ้านมาเป็นไกด์นำเที่ยว ทำให้จากที่เคยเร่ร่อนหาที่นอนตามข้างถนน ตอนนี้กลับมีเงินจ่ายค่าอพาร์ตเมนต์เพราะมีรายได้จากการทำงาน สามารถช่วยแก้ปัญหาคนไร้บ้าน จนเป็นแนวคิดนำมาทำเป็นทัวร์ชุมชนคลองเตยซึ่งทำให้ผู้อื่นเข้าใจถึงชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขา ว่าไม่ได้มีแต่เรื่องแย่ๆ อย่างที่เคยคิดกัน แต่ยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่ดีและน่าสนใจ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาชุมชนไปในตัวอีกด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนของกิจกรรมท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวควรเป็นผู้เลือกเอง ส่วนชุมชนควรตระหนักถึงศักยภาพ รู้จักการจัดการ และเรียนรู้การสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุธรรมชาติ สร้างเอกลักษณ์ให้กับสินค้าแทนการเลือก ขายแต่สินค้าในรูปแบบเดิมๆ ซึ่งสุดท้ายแล้ว ผมได้เรียนรู้ว่าทุกอย่าง ที่จะขายได้นั้น ขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ว่าจะขายแบบไหนและขายให้ใคร
ธุรกิจของ โลเคิล อไลค์ สร้างความยั่งยืนให้แก่ชุมชนในระยะยาวหรือไม่
ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเป็นวิทยากรให้กับเด็กๆ จากชุมชนท่องเที่ยว โดยตั้งคำถามกับเด็กๆ ว่า ‘ความยั่งยืนคืออะไร’ และให้เวลาคิดคำตอบ 3 นาที เด็กคนหนึ่งตอบว่า “แค่อยากโตแล้วไม่เบียดเบียนใคร” ซึ่งทำให้ผมเข้าใจ ถึงความยั่งยืนที่หลากหลาย แต่ละสถานที่ก็อาจมีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งที่คนทำงานร่วมกันกับชุมชน ควรเรียนรู้ก็คือ ‘ความยั่งยืนที่แตกต่างอย่างเข้าใจ’ นอกจากนี้เราต้องไม่เดือดร้อนแทนชุมชน เพราะเขาคือ เจ้าของสิ่งเหล่านั้น ส่วนชุมชนก็จะได้รับรู้ผลลัพธ์จากการตัดสินใจและเรียนรู้ด้วยตนเอง เช่น หมู่บ้านหล่อโย ซึ่งเป็นชุมชนชาวไทยภูเขา บนดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชุมชนที่เราเข้าไปพัฒนาตั้งแต่ปี 2555 หลายบริษัทอาจจะแค่เข้าไปทำทัวร์ จ้างคนในหมู่บ้านถางป่า
แต่สิ่งที่โลเคิล อไลค์ทำคือ กระบวนการในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งเส้นทางเดินป่า โฮมสเตย์ รวมถึงแพลตฟอร์มออนไลน์ แล้วจึงขายทัวร์ควบคู่กันไป และเอาเงินที่เป็นกำไรของชุมชนมาแก้ปัญหาขยะ สร้างถนน สิ่งนี้คือกระบวนการที่ผมเรียกว่าใช้การท่องเที่ยว มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนา อีกทั้งยังมีการวัดผลว่ามีผลกระทบต่อสังคมที่ชัดเจนว่าลงทุนไปแล้วได้กลับมา เท่าไหร่ เพราะเศรษฐกิจสามารถเกิดขึ้นได้ในหลายชุมชน แต่สังคมกับสิ่งแวดล้อมก็ต้องควบคู่ไปด้วยกัน เพราะฉะนั้นจากการทำให้เศรษฐกิจของชุมชนนำไปก่อน เมื่อเศรษฐกิจดีแล้ว สังคมกับสิ่งแวดล้อมที่ดีก็จะตามมา เช่น ชุมชนคลองเตยที่ทำงานร่วมกันมา 3 ปี ซึ่งผมได้แรงบันดาลใจจากสลัมทัวร์ในมุมไบ ประเทศอินเดีย และคิดว่าคลองเตยก็น่าจะทำได้เหมือนกัน โลเคิล อไลค์ได้ทำให้ชุมชนคลองเตยมีเงินกองทุนที่มาจากรายได้ จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น ซึ่งเงินส่วนนี้จะเอาไปพัฒนาและแก้ไขปัญหาขยะหรือน้ำเน่าเสียต่อไป
โลเคิล อไลค์มีวิธีมองหาโอกาสจากวิกฤต COVID-19 อย่างไร
โลเคิล อไลค์ได้วางแผนแบ่งสายการผลิตไปยังธุรกิจอื่นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสินค้าชุมชน โดยในปี 2562 ได้เปิดธุรกิจอาหารชุมชนที่มีชื่อว่า โลเคิล อร่อย (Local Aroi) แต่เมื่อมีการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้ยอดจองทัวร์ถูกยกเลิกเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถทำทัวร์ท่องเที่ยวชุมชนได้ งาน CSR ที่ร่วมกับบริษัทต่างๆ ก็หายไป หลายชุมชนตัดสินใจปิดตัวลงเพราะไม่อยากเสี่ยงที่จะติดเชื้อโรค ผลกระทบเหล่านี้ทำให้โลเคิล อไลค์ต้องหาวิธีการรับมือ โดยเริ่มจากฐานข้อมูล ชุมชนที่มีอยู่กว่า 100 แห่ง ร่วมกับข้อมูลของ โลเคิล อร่อย ว่าคนกรุงเทพฯ ชอบรับประทานอาหารชุมชน แต่เมื่อรัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ ยอดจอง Chef Table ลดลง เลยต้องคิดต่อว่าควรทำอย่างไรกับ โลเคิล อร่อย เพราะคนในชุมชนไม่สามารถเดินทางมาทำอาหารได้ นักท่องเที่ยวก็ไปอุดหนุนไม่ได้ จึงเกิดเป็นการส่งอาหาร Delivery ภายใต้ชื่อ โลเคิล อร่อยดี ซึ่งคำว่า ‘ดี’ ที่เพิ่มมานั้นก็คือมาจากคำว่า เดลิเวอรี นั่นเอง (Local Aroi Delivery) โดยขายอาหารอันเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ปรุงจากวัตถุดิบท้องถิ่นและใช้กรรมวิธีดั้งเดิม แต่ด้วยค่าบริการในการจัดส่งที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับราคาอาหาร จึงแก้ปัญหาโดยใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างจากชุมชนคลองเตยที่ขาดรายได้เพราะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เช่นกัน
นอกจากนี้ยังมี โลเคิล อะลอท (Local Alot) ซึ่งเป็นศูนย์กลางตลาดสินค้าออนไลน์จากชุมชนทั่วทุกภูมิภาค เพื่อเพิ่มการขายสินค้าอีกช่องทางหนึ่ง ให้เป็นแหล่งรวบรวมวัตถุดิบท้องถิ่นจากภูมิภาคต่างๆ ที่ผ่านการคัดสรรคุณภาพ ราคา ตลอดจนเอกลักษณ์ที่โดดเด่น และถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีจุดประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้ชุมชนสามารถเป็นผู้ประกอบการด้วยตนเองได้ โดยสินค้าชิ้นแรกที่เปิดให้ Pre-order คือหน้ากากผ้าทอจากชุมชนเวียงท่ากาน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกอบอาชีพทอผ้าส่งขายให้กับประเทศญี่ปุ่น แต่หลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ญี่ปุ่นยกเลิกคำสั่งซื้อ โลเคิล อะลอท จึงชักชวนชุมชนเวียงท่ากานหันมาผลิตหน้ากากผ้าทอ นอกจากนี้ยังขายพวงมาลัยผ้าขาวม้าในช่วงสงกรานต์ ขายผลไม้ตามฤดูกาล จนเป็นที่มาของคำว่า ‘ชุมชนล้านรอยยิ้ม’ ซึ่งในช่วงแรกจะเน้นเรื่องอาหาร ผลไม้และไลฟ์สไตล์แฟชั่น โดยตั้งเป้าหมายว่าอยากให้เป็นเหมือน Etsy เว็บไซต์ที่ขายงานคราฟต์และสินค้าทำมือชื่อดังอันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกา
สุดท้ายคือ โลเคิล อะราวนด์ (Local Around) เนื่องจากโลเคิล อไลค์มีเรื่องราวมากมายที่อยากเล่าและนำเสนอเกี่ยวกับชุมชน จึงชักชวนคนในชุมชนมาทำคอนเทนต์ เช่น การ live ขายสินค้าชุมชนผ่านช่องทาง Youtube ซึ่งนอกจากจะสร้างการรับรู้ให้กับคนอื่นๆ แล้ว ยังเป็นการสร้างทักษะใหม่ด้านการใช้เทคโนโลยีและสร้างความสนุกสนานให้กับคนในชุมชนอีกด้วย
แผนการทำงานหรือโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ของโลเคิล อไลค์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร
เรากำลังวางแผนทำ HOTOWN (โฮทาวน์) คือการทำให้ทั้งเมืองเป็นโรงแรม โดยการเชื่อมโยงธุรกิจต่างๆ ของคนในชุมชนเข้ากับการดำเนินงานของโรงแรมที่พัก เป็นการพัฒนาแบบบูรณาการเพื่อให้ชุมชนเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวแบบองค์รวม ตามหลักแนวความคิด HOTOWN ของประเทศญี่ปุ่น โดยได้เริ่มทดลองทำ HOTOWN ที่หมู่บ้านชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยงที่ตำบลแม่เหาะ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ด้วยการสร้างโฮมสเตย์และปลูกต้นไม้ดอกไม้สวยงามโดยรอบ ซึ่งสิ่งที่นักท่องเที่ยวได้รับจะไม่ใช่แค่ความสวยงาม แต่ยังมีกิจกรรมและเรื่องราวอีกมากมายให้น่าค้นหา ซึ่งจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการเดินป่าให้มาร่วมสร้างประสบการณ์เดินป่ากับคนในชุมชนที่เป็นชาวกะเหรี่ยง
อีกทั้งโครงการ The 10 MasterPeace ที่ทำร่วมกับ 10 ชุมชนของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ที่อยากพานักท่องเที่ยวเข้าไปศึกษาประวัติศาสตร์ เรียนรู้วัฒนธรรม และสัมผัสความสงบของธรรมชาติ ในพื้นที่ที่คนส่วนมากยังเกรงกลัวที่จะเข้าไป เป็นการสร้างการรับรู้ สร้างความมั่นใจให้คนอยากเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่ดังกล่าวมากขึ้น และคาดหวังว่าหากคนที่ไปมาแล้ว จะกลับมาสร้างคอนเทนต์ บอกเล่าประสบการณ์ระหว่างทริป เช่น วิธีการเดินทางไปยังชุมชน เส้นทางการเดินป่า เพื่อเป็นแนวทางให้คนที่สนใจอยากจะไป แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร ได้ตัดสินใจออกเดินทางไปท่องเที่ยวที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น แม้จะไม่ไปกับโลเคิล อไลค์ก็ตาม
มีความคิดเห็นอย่างไรกับอนาคตของการท่องเที่ยวไทยหลัง COVID-19
ผมคิดว่าธรรมชาติได้มีเวลาฟื้นฟูในช่วงที่เกิด COVID-19 เยอะมาก เราได้เห็นแล้วว่าการที่ไม่มีคนไปเที่ยวหรือทิ้งขยะ ทำให้ธรรมชาติได้ฟื้นฟู
ตัวเอง ซึ่งเราสามารถนำมาโปรโมตเป็นการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนได้ นักท่องเที่ยวน่าจะได้เรียนรู้ว่าการกระทำส่งผลต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นอย่างมาก ทำให้ โลเคิล อไลค์ อยากจัดตั้งโครงการ #TravelWithCare โดยมุ่งเน้นที่จะทำให้เมืองไทยเป็นต้นแบบของการ ‘ยิ่งเที่ยว ยิ่งยั่งยืน’ ซึ่งไทยอยู่ในสถานะที่สามารถทำได้ เพราะถึงแม้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีศักยภาพในการฟื้นฟูจาก COVID-19 ได้เร็วมากเช่นกัน เป็นโครงการที่ต้องการให้นักท่องเที่ยวตระหนักว่า หากเราใช้ทรัพยากรเพื่อการท่องเที่ยวมากเท่าไหร่ เราก็ต้อง #ยิ่งเที่ยวยิ่งดูแล
สิ่งที่ต้องปักหมุดก็คือ เมืองไทยต้องไม่ใช่แค่จุดหมาย ท่องเที่ยวทั่วไป แต่ต้องทำให้เป็น ‘จุดหมายการท่องเที่ยว อย่างยั่งยืน’ ที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องนึกถึง ประเทศไทยเป็นอันดับต้นๆ