Last Chance Tourism: โอกาสสุดท้าย – ยิ่งไปยิ่งหาย
คำว่า Last-Chance Tourism หรือ ‘ท่องเที่ยวโอกาสสุดท้าย’ อาจฟังดูแปลกๆ
แต่ที่จริงต้องบอกคุณว่า การท่องเที่ยวแบบนี้กำลังเป็นเทรนด์ใหญ่เทรนด์หนึ่ง นั่นคือเทรนด์การท่องเที่ยวในสถานที่ที่ใกล้จะวอดวายจนไปไม่ได้แล้ว ที่จริงไม่ได้มีแค่คำว่า Last-Chance Tourism เท่านั้นนะครับ แต่ยังมีผู้ใช้คำอื่นๆ อีกหลายคำ เช่น Climate Tourism ซึ่งหมายถึงการไปเที่ยวในสถานที่ที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังจะทำให้สถานที่แห่งนั้นหายไป
ดังนั้น หลายคนจึงเรียกจุดหมายปลายทางประภทนี้ว่า Disappearing Destinations หรือ Endangered Destinations คือเป็นปลายทางที่กำลังจะหายสาบสูญไปตลอดกาลด้วย และเพราะเป็นการท่องเที่ยวในที่ที่กำลังจะหายไป บางคนจึงเรียกการท่องเที่ยวแบบนี้ว่า Doom Tourism หรือ Tourism of Doom คือการไปเที่ยวในที่แห่งหายนะ หรือไม่ก็เป็นการไปเที่ยวในสถานที่ที่มี Dying Environments หรือสภาพแวดล้อมที่กำลังจะตายนั่นเอง แต่ไม่ว่าจะเรียกการท่องเที่ยวแบบนี้ว่าอะไร มันก็กลายเป็นเทรนด์ท่องเที่ยวใหญ่เทรนด์หนึ่งในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา และยังคงทำท่าว่าจะเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างของสถานที่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น มีอาทิ
Congo Basin หรือ ที่ราบลุ่มแม่น้ำคองโก:
เป็นป่าฝนเขตร้อนที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก รองลงมาจากแอมะซอน ที่นี่กำลังถูกทำลายอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการทำเหมือง การตัดไม้ทำลายป่าที่ผิดกฎหมาย และสงครามกองโจรต่างๆ มีข้อมูลบอกว่า พื้นที่ของคองโกเบซินหายไปถึงสองในสามในเวลาแค่ 50 ปี นั่นทำให้นักท่องเที่ยวพยายามไปเที่ยวเพื่อไปดูสัตว์ป่ากันมากขึ้น อย่างเช่น ช้างป่า และตัวโอกาปิ รวมทั้งได้ใกล้ชิดธรรมชาติด้วย
ไปดูหมีขาว:
การไปดูหมีขาวเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากภาพหมีขาวผอมโซ หรือหมีขาวไม่มีที่อยู่อาศัย ต้องเกาะอยู่บนก้อนน้ำแข็งเล็กๆ ทำให้หลายคนคิดว่าอยากไปดูหมีขาวก่อนจะสูญพันธุ์ไป นักท่องเที่ยวคนหนึ่งบอกกับนักวิจัยคนหนึ่งว่า เขาอยากพาลูกสาวมาดูหมีขาว เพราะเขาเชื่อว่ารุ่นหลานเป็นต้นไป จะไม่มีโอกาสได้ดูหมีขาวอีกแล้ว ยกเว้นในสวนสัตว์
ขึ้นภูเขาคิลิมันจาโร:
คิลิมันจาโรมีหิมะ และ เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ ก็เป็นคนทำให้ ‘หิมะแห่งภูเขาคิลิมันจาโร’ เป็นอมตะ คิลิมันจาโรเป็นภูเขาที่สูงที่สุดในแอฟริกา มันจึงมีหิมะปกคลุม แม้ว่าด้านล่างจะเป็นป่าฝนเขตร้อนก็ตาม แต่กระนั้น พบว่าภาวะโลกร้อนทำให้หิมะของคิลิมันจาโรหายไปแล้วราว 85% และมีการทำนายว่า ในอีก 20 ปี จะไม่เหลือหิมะสีขาวอีกแม้แต่หย่อมเดียว นักท่องเที่ยวจึงต้องพยายามไปดูให้ได้
เดดซี:
ทะเลเก่าแก่ของอิสราเอล (และที่จริงก็จอร์แดนด้วย) นี้ เป็นสถานที่ที่กำลัง จะหายไป ทะเลตายแห่งนี้หดตัวลงมากในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากแม่น้ำที่ไหลลงทะเลตายแห่งนี้ถูกนำน้ำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น เดดซีจึงมีน้ำไหลลงมาเติมน้อยลงเรื่อยๆ ตอนนี้พื้นที่ของเดดซีลดลงราวหนึ่งในสาม ชายฝั่งก็ร่นเข้ามาเรื่อยๆ โรงแรมที่เคยสร้างอยู่ติดริมฝั่งเดดซี ตอนนี้อยู่ห่างออกไปเป็นไมล์ เพราะน้ำลดลงถึงราว 80 ฟุต และความเค็ม ก็เพิ่มขึ้น ประมาณว่าอีกไม่กี่ปี เดดซีต้องแห้งเหือดหายไปแน่ๆ
มัลดีฟส์:
ประเทศที่เป็นเกาะเล็กๆ ในมหาสมุทรอินเดียแห่งนี้ จู่ๆ ก็มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นมหาศาล ทั้งนี้ก็เพราะนักท่องเที่ยวกลัวว่าถ้าระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มัลดีฟส์จะจมอยู่ใต้ทะเล ไม่มีส่วนไหนของมัลดีฟส์สูงกว่าระดับน้ำทะเลเกิน 2 เมตรเลย ดังนั้นถ้าภาวะโลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น มัลดีฟส์อาจไม่เหลืออยู่แน่ๆ
เวนิส อิตาลี:
ที่นี่ก็คล้ายๆ มัลดีฟส์ คือเริ่มมีน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี จัตุรัสเซนต์มาร์กของเวนิสจึงจมอยู่ใต้น้ำบ่อยครั้งมากขึ้นเรื่อยๆ และน้ำก็ท่วมหนักมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่ออิตาลีมีฝนตกหนักเป็นประวัติการณ์ ผสานรวมกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ก็ทำให้เวนิสจมอยู่ใต้น้ำ แต่ดูเหมือนจะยิ่งกลายเป็นตัวเร่งเร้าให้นักท่องเที่ยวไปเยือน
มาชูปิกชู เปรู:
โบราณสถานของชาวอินคาดึงดูดนักท่องเที่ยวปีละหลายล้านคน ซึ่งเกินขีดจำกัดที่ยูเนสโกอนุญาตให้คนเข้าเยี่ยมชมมาชูปิกชูได้เพียงวันละ 2,500 คนเท่านั้น หลายคนเชื่อว่า มาชูปิกชูอาจพังทลายลงมาเมื่อไรก็ได้ เพราะตั้งอยู่บนเขาสูงและที่ลาดชัน แล้วถ้าภาวะโลกร้อนทำให้ฝนตกหนักขึ้นเรื่อยๆ ดินอาจอุ้มน้ำแล้วรักษาตัวเองเอาไว้ไม่ได้ จึงอาจถล่มลงมาได้ ทุกเมื่อ
เกาะกาลาปากอส:
ที่นี่ก็เป็นอีกแห่งหนึ่งที่หลายคนอยากไปเยือน เพราะคิดว่าอีกไม่นานอาจล่มสลาย ไม่ใช่แค่เพราะภาวะโลกร้อนเท่านั้น แต่เพราะยิ่งคนไปมาก ก็ยิ่งนำเอาสิ่งมีชีวิตสปีชีส์อื่นๆ ที่ไม่ได้มีอยู่บนหมู่เกาะกาลาปากอสเข้าไปแพร่หลายด้วย จึงทำลายสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์เฉพาะของกาลาปากอสที่ ชาร์ลส์ ดาร์วิน เคยค้นพบ
พีระมิด อียิปต์:
แม้แต่พีระมิดเอง หลายคนก็ยังจัดว่าอยู่ในข่ายของ Last-Chance Tourism เพราะพีระมิดต้องเผชิญหน้ากับมลพิษและการกัดเซาะเนื่องจากฝนกรดมากขึ้น จะเห็นว่ามีหลายแห่งเหลือเกิน ที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเยือนมากขึ้น ด้วยเหตุผลที่ว่าสถานที่เหล่านี้กำลังจะล้มหายตายจากไปแล้ว มัลดีฟส์นั้น มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นถึง 68% นับตั้งแต่ปี 2003 ถึง 2018 ส่วนกาลาปากอสก็มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 38% (ที่เพิ่มน้อยกว่าเพราะไปยากกว่า) อุทยานแห่งชาติเกลเซียร์ในมอนทานา (ซึ่งหดตัวลงเรื่อยๆ) ก็มีนักท่องเที่ยว ไปเยือนเพิ่มขึ้นมากกว่า 15%
หลายคนอาจมองว่า การท่องเที่ยวเป็นเรื่องที่ดี เพราะช่วยกระจายรายได้ ให้กับท้องถิ่น จะได้เอาไปจัดการกับปัญหาต่างๆ ได้ แล้วในที่สุด สถานที่เหล่านี้ก็จะได้ไม่หายไป
แต่คุณอาจต้องลองฉุกคิดสักนิดนะครับ ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถานที่เหล่านี้ ไม่ใช่ปัญหาท้องถิ่น แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับโลก นั่นคือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือที่เราเรียกว่าภาวะโลกร้อน ดังนั้นการไปเยือนพื้นที่เหล่านั้นอาจก่อให้เกิดปัญหามากกว่าช่วยแก้ปัญหาก็ได้
ตัวอย่างเช่นการไปดูหมีขาวที่ขั้วโลกเหนือ ซึ่งผู้คนนิยมแห่แหนไปดูกันที่เมืองเชอร์ชิล ในมานิโทบาของแคนาดา เพราะเป็นจุดที่ดูหมีขาวในธรรมชาติได้ง่ายที่สุดนั้น ถ้าเราเดินทางไปที่นี่เพื่อดูหมีขาว เราจะทิ้ง ‘รอยเท้าคาร์บอน’ เอาไว้เป็นปริมาณมากถึง 8.61 ตันต่อคนต่อทริป
คุณอาจไม่รู้สึกอะไรกับตัวเลขนี้ แต่ต้องลองเทียบกับตัวเลข 10.9 ตันต่อคนดูนะครับ นี่คือตัวเลขรอยเท้าคาร์บอนที่คนสหราชอาณาจักร
สร้างขึ้นจากการใช้พลังงานและทำสิ่งต่างๆ ในชีวิตทั้งหมดรวมกันเป็นเวลาหนึ่งปี
ใช่ครับ – หนึ่งปี!
เพราะฉะนั้น การไปดูหมีขาวจึงอาจไม่ใช่การ ‘ช่วย’ หมีขาว แต่อาจเป็นการซ้ำเติมหมีขาวให้ยิ่งต้องสูญสิ้นถิ่นที่อยู่ และใกล้จะสูญพันธุ์มากขึ้นไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกันกับการไปดูแนวปะการังใหญ่ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลียหรือที่เบลิซ
บางคนบอกว่า การท่องเที่ยวแนว Last-Chance Tourism นั้น ช่วยสร้างการตระหนักรู้เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับผู้คนทั่วไป ซึ่งก็คงสร้างอยู่หรอกนะครับ แต่ถามว่าเมื่อสร้างการตระหนักรู้พวกนี้ขึ้นมาได้แล้ว มันสามารถ ‘ชดเชย’ (Offset) ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการเดินทางได้หรือเปล่า เพราะทุกการเดินทางจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเสมอ
มีการสำรวจพบว่า นักท่องเที่ยวที่ล่องเรือครุยส์หรูหราไปชมทวีปแอนตาร์กติกานั้น 59% เชื่อว่าการเดินทางของตัวเองไม่ได้มีผลกระทบอะไรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ทำให้ภาวะโลกร้อนแย่ลง แต่กระนั้นก็มีเพียง 7% ที่กล้าบอกว่า ตัวเองสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเนื่องจากการเดินทางของตัวเองได้
The Independent รายงานว่า Eke Eijgelaar ซึ่งเป็นนักวิจัยจาก Centre for Sustainability, Tourism and Transport ที่มหาวิทยาลัย Breda of Applied Science ในเนเธอร์แลนด์ บอกว่าเขาก็ไม่เชื่อเช่นกันว่าการท่องเที่ยวแนวนี้จะช่วยยกระดับการรับรู้ของนักท่องเที่ยวจนถึงขั้นที่มีผลดีต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการเดินทางไปยังสถานที่ที่เปราะบางทางสภาพแวดล้อมเหล่านี้จริงๆ
เขาบอกว่า ผลกระทบจากการเดินทางไกลเหล่านี้ใหญ่มาก ยิ่งอยากเดินทางด้วยความรวดเร็วและหรูหรามากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งสร้างรอยเท้าคาร์บอนมากขึ้นเท่านั้น เช่น นักท่องเที่ยวจากยุโรปที่อยากไปดูเกรทแบร์ริเออร์รีฟ หรือ แอนตาร์กติกา ถ้ามีนักท่องเที่ยวเหล่านี้ 500 ล้านคน เดินทางในทริปเดียว ก็จะเท่ากับรอยเท้าคาร์บอนตลอดปีของคนอังกฤษหรือคนเนเธอร์แลนด์ 250 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม บางคนบอกว่าการท่องเที่ยวแนวนี้จะทำให้เกิดเงินทองและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งนำมาสู่การอนุรักษ์ได้ เช่น ประธานาธิบดีของมัลดีฟส์ อย่าง Abdulla Yameen เคยบอกไว้ว่า ถ้ามีการท่องเที่ยวมามัลดีฟส์กันเยอะๆ ก็จะทำให้เกิดกองทุนเพื่อนำมาใช้ปรับเปลี่ยนสภาวะโลกร้อน เขาเองทำแผนเพื่อเพิ่มนักท่องเที่ยวจาก 1.3 ล้านคน เป็น 7 ล้านคน ภายในเวลา 10 ปี
สำหรับมัลดีฟส์ ตัวเลขเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์หรือมีข้อดีจริงๆ ก็ได้ เพราะมัลดีฟส์ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแน่ๆ อยู่แล้ว ถ้ามีคนมาเที่ยว นำเงินเข้ามา ก็อาจช่วยให้มัลดีฟส์มีต้นทุนสำหรับต่อสู้กับภาวะโลกร้อนได้ โดยไม่ได้เพิ่มผลเสียให้มัลดีฟส์จากเดิมสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นที่อื่น อาจไม่ได้ให้ผลลัพธ์แบบเดียวกัน
ตัวอย่างเช่น เกรทแบร์ริเออร์รีฟ ซึ่งมีแผนการคล้ายๆ กัน คือถ้ามีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากๆ ก็จะมีเงินอุดหนุนเพื่อช่วยปกป้องปะการังมากขึ้น แต่ข้อเสียก็คือ เมื่อคนไปเยือนเกรทแบร์ริเออร์รีฟกันมาก กลับไปทำลายแนวปะการัง เช่น การใช้โลชั่นกันแดดลงน้ำ ส่งผลเสียต่อปะการังมากทีเดียว ถึงขั้นมีงานวิจัยรองรับ นักวิทยาศาสตร์บอกว่า เกรทแบร์ริเออร์รีฟนั้น หายไปแล้วมากกว่าครึ่งหนึ่งนับจากปี 1985
Eke Eijgelaar บอกว่าการท่องเที่ยวแนวนี้กำลังอยู่ในขาขึ้น คนจะหาสถานที่ใหม่ๆ ที่มีลักษณะ ‘แปลก’ (Exotic) มากขึ้น และส่วนใหญ่สถานที่ที่เปราะบางทางธรรมชาติ ก็มีลักษณะแบบนี้ด้วย การเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่ จะทำให้พื้นที่เหล่านั้นยิ่งประสบปัญหา เพราะเมื่อนักท่องเที่ยวเพิ่มจำนวนมากขึ้น การจัดการก็ยากขึ้น หรือในบางกรณี (เช่น คองโกเบซิน จีน หรือไมโครนีเซีย) ก็มีการจัดการที่ไม่เหมาะสม หรือไม่มีการควบคุมดูแลเลยด้วยซ้ำ
พื้นที่อย่างแอนตาร์กติกานั้น แม้จะเปราะบางก็จริง แต่ด้วยสนธิสัญญาแอนตาร์กติกา ที่ลงนามโดย 12 ประเทศในปี 1959 ก็มีผลให้เกิดการคุ้มครองทวีปแห่งนี้เอาไว้ เช่น เรือไม่ได้จอดให้นักท่องเที่ยวลงไป เป็นต้น
ในเรื่องนี้ องค์กรเกี่ยวกับการท่องเที่ยวแอนตาร์กติกาโดยตรง คือ IAATO (International Association of Antarctica Tour Operators) บอกว่าต้องร่วมมือกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ หลากหลายกลุ่ม เพื่อเฝ้ามองและเก็บข้อมูลระยะยาว ดูว่าอะไรคือสิ่งที่ทำได้ อะไรคือสิ่งที่ทำไม่ได้ โดยต้องหาสมดุลระหว่างความนิยมของนักท่องเที่ยวกับการปกป้องธรรมชาติ เพราะถ้าหากว่ามันเป็นเทรนด์ที่เฟื่องฟู ก็จะต้อง มีนักท่องเที่ยวเดินทางมามากขึ้นเรื่อยๆ การไม่ทำอะไรเลยจึงเป็นเรื่อง
ที่สุ่มเสี่ยงมาก
ตัวอย่างการท่องเที่ยวที่มีการควบคุมอย่างเคร่งครัด ก็คือเกาะกาลาปากอส มีการควบคุมดูแลนักท่องเที่ยว ว่าสามารถเดินตรงไหนได้บ้าง และในแต่ละวันจะเข้าไปในพื้นที่ไหนได้บ้าง โดยจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนพื้นที่เหล่านี้ไปเรื่อยๆ ทุกๆ วัน เพื่อป้องกันการบ่อนเซาะพังทลายของดินและเปิดโอกาสให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัว รวมทั้งรักษาระดับการท่องเที่ยวในกาลาปากอสให้ไม่เพิ่มมากเกินไป ในช่วงปี 2014-2015 จึงมีการท่องเที่ยว เพิ่มขึ้นเพียง 4% แม้ว่าความต้องการจริงจะสูงกว่านั้นมากก็ตามที
ในงานวิจัยเรื่อง Last-Chance Tourism: The Boom, Doom and Gloom of Visiting Vanishing Destinations ของนักวิจัยอย่าง Jackie Dawson และคณะ (ที่มาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย เช่น
ออตตาวา, นิวซีแลนด์, อ็อกแลนด์) บอกว่าในปัจจุบันนี้ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีการโปรโมตการท่องเที่ยวแนวนี้มากขึ้น แต่ที่มากที่สุดก็คือการท่องเที่ยวในแถบอาร์กติกซึ่งมีราคาแพง และสื่อก็ประโคมข่าวทุกวันว่าขั้วโลกเหนือกำลังจะหายไป ข้อเสนอของนักวิจัยกลุ่มนี้คือ ถ้าการท่องเที่ยว
แนวนี้ยังอยู่ ก็ต้องเกิดควบคู่ไปกับการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบ (Responsible Tourism) และต้องพิจารณาคำถามหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะคำถามทางจริยธรรม ว่าระหว่างการทำกำไร ทำเงิน กับการที่สถานที่ ผู้คน สัตว์ (อย่างหมีขาว) จะหายสาบสูญหรือเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่อาจหวนกลับนั้น อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำมากกว่ากัน รวมทั้งควรต้องเปรียบเทียบด้วยกว่า Last-Chance Tourism กับ Dark Tourism นั้น เหมือนหรือต่างกันอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องของแรงขับเคลื่อน (Motivation) ที่จะเที่ยวในลักษณะนี้
หลายคนอาจเห็นว่า การไปดูไปเห็นก่อนที่สิ่งนั้นๆ จะหายไปนั้น เป็นเรื่องธรรมดา มนุษย์ย่อมอยากเห็นสิ่งที่จะไม่มีให้ดูอีกต่อไปแล้ว ทำให้สิ่งนั้นๆ มีคุณค่ามากขึ้น แต่เรื่องย้อนแย้งก็คือ การเดินทางไปพบเห็นสิ่งเหล่านั้นนั่นแหละ ที่อาจยิ่งเร่งกระบวนการทำลายสิ่งนั้นๆ ให้เร็วขึ้นไปอีก
น่าแปลก – ที่มนุษย์ชอบทำเรื่องย้อนแย้งทำนองนี้อยู่เสมอ
เรื่อง : โตมร ศุขปรีชา