สรุปสาระสำคัญ จากการสัมมนาภายในงาน ITB Berlin 2019

MEGA TOPIC:

IN-DESTINATION SERVICES

เมื่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีความซับซ้อนมากขึ้นตามพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ตลาดการท่องเที่ยวจึงเป็นไปในลักษณะที่ลูกค้า คาดหวังกับสินค้าและบริการที่มีเอกลักษณ์ ไม่ซ้ำแบบใคร โดยเฉพาะประสบการณ์การท่องเที่ยวที่จะได้รับ และจากที่ทุกวันนี้ ผู้คนส่วนใหญ่ใช้สมาร์ทโฟน ทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการปรับเปลี่ยนความต้องการของผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการหรือแบรนด์ต่างๆจึงต้องมีกลยุทธ์เชิงรุกนำนวัตกรรมทางเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้พัฒนาศักยภาพทางการตลาด โดยมี 2 ปัจจัยสำคัญที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ คือ Personalisation และ Artificial Intelligence (AI) ด้วยการใช้ Machine learning และ chatbot ซึ่งร้อยละ 40 ของทั้ง ผู้บริโภคและผู้ประกอบการใช้ chatbot เพื่อเป็นตัวกลางให้ทั้งสองฝ่ายได้เข้าถึงข้อมูลและความต้องการเชิงลึก มีการทำ Matching Customer เพื่อสามารถนำเสนอขายสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์หรือใกล้เคียงกับความต้องการในรูปแบบของ Tailor-Made ซึ่งวิธีนี้สามารถสร้างปริมาณเม็ดเงินหมุนเวียนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

และจากที่ผู้ประกอบการร่วมงานกับชุมชนหลายๆ แห่งนั้น สามารถแก้ปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง (Overcrowding) ได้ เนื่องจากการทำงานร่มกับชุมชนหลายพื้นที่ เท่ากับสร้างความหลากหลายให้กับแหล่งท่องเที่ยว และส่งผลให้การท่องเที่ยวมีการกระจายตัว แต่การส่งเสริมให้นักท่องเที่ยว เดินทางไปยังแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ นอกจากแหล่งท่องเที่ยวหลักนั้น พื้นที่ดังกล่าวจะต้องมีระบบสาธารณูปโภคที่พร้อมรองรับ รวมถึงที่พัก เพราะหากไปแล้ว พวกเขาจะพักที่ไหน? คงไม่มีโรงแรมใดที่อยากเปิดในชุมชนเล็กๆ นักท่องเที่ยวมีจำนวนน้อยนิด เพราะฉะนั้น Airbnb จึงสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนได้ และหากราคาถูกด้วยแล้ว ก็ย่อมทำให้การตัดสินใจ เดินทางไปเที่ยวในชุมชนนั้นง่ายยิ่งขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ การพยายามผลักดันให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปยังสถานที่แนะนำใหม่ๆ ให้ได้

การคาดการณ์สถานการณ์เศรษฐกิจโลก

ปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก คือการเปลี่ยนแปลงเชิงลบและความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยความเสี่ยงเหล่านี้ประกอบไปด้วย สัญญาณอันตรายจากการทำสงครามการค้า (Trade War) ความเสี่ยงจากผลลัพธ์ของ Brexit และสถานการณ์ความเปราะบางทางเศรษฐกิจของประเทศใน Eurozone โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอิตาลี ที่สภาวะทางเศรษฐกิจอยู่ในช่วงตกต่ำ (Recession) ภายใต้ความเสี่ยงเหล่านี้ ผู้กำหนดนโยบาย(Policymakers) ต้องมีกลยุทธ์ในการลดความผันผวนและสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค

สภาวะทางเศรษฐกิจโลก

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงแกว่งตัวลง (Downswing) แต่ยังไม่อยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) สำหรับกลุ่ม Emerging and Developing Asia (ประกอบด้วย บังคลาเทศ, ภูฏาน, บรูไน, กัมพูชา, จีน, ฟิจิ, อินเดีย, อินโดนีเซีย, คิริบาติ, ลาว, มาเลเซีย, มัลดีฟส์, หมู่เกาะมาร์แชลส์, ไมโครนีเซีย, มองโกเลีย, เมียนมาร์, เนปาล, ปาเลา, ปาปัวนิวกินี, ฟิลิปปินส์, ซามัว, หมู่เกาะโซโลมอน, ศรีลังกา, ไทย, ติมอร์ เลสเต, ตองกา, ตูวาลู, วานูอาตู และ เวียดนาม) โดยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 สภาวะทางเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้อยู่ในช่วงเศรษฐกิจถดถอย แต่อย่างไรก็ดี ผลสำรวจนี้ให้ความสำคัญโดยสะท้อนภาพหลักบนการพัฒนาเศรษฐกิจของจีน อินเดีย ขณะที่จีนอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนัก แต่อินเดียอยู่ในสภาวะเติบโตอย่างโดดเด่น (Strong boom)

ประเทศไทยซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่ม ASEAN-5 (ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และไทย) ซึ่งเป็นกลุ่มย่อยภายใต้กลุ่ม Emerging and Developing Asia ถึงแม้ภาพรวมกลุ่มใหญ่จะอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่เมื่อดูในกลุ่ม ASEAN-5 กลับมีสภาวะทางเศรษฐกิจที่ดี โดยมีการปรับตัวทางเศรษฐกิจขนาดเล็กดีขึ้นเล็กน้อย (Slight upswing) ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2019 แต่ความคาดหวังทางเศรษฐกิจ (Economic Expectation) ของกลุ่ม ASEAN-5 กลับหันเห ไปในทิศทางลบ

สรุปผลปี 2018

ในปี 2018 นับเป็นปีที่ดีของเศรษฐกิจโลก โดย GDP ทั่วโลกเติบโตเพิ่มขึ้น แต่มีการชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี การท่องเที่ยวนับเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก เพราะการท่องเที่ยว ระหว่างประเทศนั้นมีจำนวนสูงที่สุดเท่าที่เคยมีมา การเดินทางขาออก (Outbound trip) ทั่วโลกมีจำนวน 1.4 พันล้านทริป ในปี 2018 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5

10 อันดับประเทศที่ใช้จ่ายระหว่างการเดินทางระหว่างประเทศมากที่สุดประจำปี 2018 (Top Global Outbound Spenders) แบ่งเป็น 2 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม Golden Markets

มีการใช้จ่ายมากกว่า 2,000 ยูโรต่อทริป

1. คูเวต 2. ซาอุดิอาระเบีย 3. ออสเตรเลีย 4. บราซิล 5. จีน

กลุ่ม Silver Markets

มีการใช้จ่าย 1,500-2,000 ยูโรต่อทริป

6. สหรัฐอเมริกา 7. อินเดีย 8. กาตาร์ 9. ญี่ปุ่น 10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

10 ประเทศจุดหมายปลายทางที่ประสบความสำเร็จสูงสุดประจำปี 2018 (Top ten destinations 2018)

วัตถุประสงค์หลักในการเดินทางไปต่างประเทศ คือ ไปเยี่ยมเยือนเพื่อนและญาติ ร้อยละ 14 เพื่อธุรกิจ ร้อยละ 14 และเพื่อพักผ่อน ร้อยละ 72 นอกจากนี้ยังมีการเดินทางไปต่างประเทศในอุตสาหกรรม MICE เพื่อการประชุม สัมมนา ถึงร้อยละ 46

อัตราการเติบโตของการเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศแต่ละประเภทในระหว่างปี 2007-2018 (Outbound Growth by Type of Holiday 2007-2018)

มุมมองนักท่องเที่ยวต่อ Overtourism

ผลสำรวจของ IPK พบว่านักท่องเที่ยวร้อยละ 28 รู้สึกว่าจุดหมายปลายทางที่พวกเขาเดินทางไป กำลังประสบกับปัญหาจำนวนนักท่องเที่ยวมากเกินศักยภาพการรองรับ (Overtourism) ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อประสบการณ์การพักผ่อนของพวกเขา ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 30% ในขณะที่ร้อยละ 72 ไม่รู้สึกถึงปัญหานี้ โดยนักท่องเที่ยวชาวเอเชียมีความอ่อนไหวต่อผลกระทบของ Overtourism มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 19 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของชนชาติอื่นๆ ในขณะที่ชาวยุโรปและละตินอเมริกาอ่อนไหวน้อยที่สุด (อเมริกาเหนือ ร้อยละ 13 ละตินอเมริกา ร้อยละ 11 ยุโรป ร้อยละ 9)

เมืองและจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวรู้สึกถึงผลกระทบจาก Overtourism เมื่อเดินทางไปเยือนในปี 2018 คือ ซีอาน ปักกิ่ง เม็กซิโก มอสโก เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก กรุงเทพฯ อิสตันบูล ฟลอเรนซ์ และโรม

ทุกๆ ปีมีจำนวนนักท่องเที่ยวรู้สึกว่าทริปท่องเที่ยวของพวกเขาได้รับผลกระทบด้านลบจากปัญหา Overtourism เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ชาวบ้านและผู้พักอาศัยในชุมชนก็มองว่าปัญหา Overtourism สร้างความสูญเสียและลดคุณค่าบรรยากาศความเป็นอยู่อันแท้จริง เพราะฉะนั้น หลายๆ สถานที่จึงมีมาตรการแก้ปัญหาด้วยการเก็บเงิน เช่น นักทัศนาจรที่เดินทางมายังเวนิสต้องจ่ายค่าเข้าเมือง 3 ยูโร โดยระเบียบดังกล่าวเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 เป็นต้นไป หรือที่ ชิเชนอิตซา (Chichen Itza) คิดราคาค่าเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เพราะหากไม่มีแผนการบริหารจัดการจำนวนนักท่องเที่ยวที่ดีแล้ว สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นจะต้องสูญสิ้นไปในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน

ร้อยละ 20 ของนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศใช้โซเชียลมีเดียเป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล แต่กลับมีเพียงร้อยละ 34 เท่านั้นที่เชื่อถือข้อมูลในสื่อโซเชียลมีเดีย ขณะที่ร้อยละ 65 เชื่อถือข้อมูลในสื่อรูปแบบเก่าๆ มากกว่า เช่น บริษัททัวร์ เพื่อนหรือคนรู้จัก และหนังสือคู่มือท่องเที่ยว ที่ยังคงมีความสำคัญต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ด้วยเหตุนี้ ข้อมูลออนไลน์เมื่อผนวกกับข้อมูลเชิงลึกด้านอื่นๆ คือองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยว ดังนั้น ‘Online plus offline’กลายเป็นมาตรฐานใหม่ของการเสพข้อมูลและการจอง (The new information & booking standard)

คาดการณ์ปี 2019

เศรษฐกิจโลกปี 2019 เริ่มเข้าสู่ภาวะซบเซา แต่ยังคงมีการเติบโตอยู่ ส่วนหนึ่งเพราะได้รับผลกระทบจากสาเหตุการเมืองที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศ ส่วนการก่อการร้ายเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยว โดยนักท่องเที่ยวชาวเอเชียอ่อนไหวต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายมากที่สุด คือ ร้อยละ 57 แต่ก็มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางระหว่างประเทศถึงร้อยละ 62 ที่คิดว่าความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ก่อการร้ายไม่ส่งผลต่อพฤติกรรมการเดินทางของพวกเขา นอกจากนี้อาชญากรรมและเรื่องสุขอนามัยก็จะเป็นอีก 2 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกจุดหมายปลายทาง

สรุปแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศในปี 2019

ในปี 2019 นี้ การเดินทางระหว่างประเทศจะเติบโตขึ้น โดยนักท่องเที่ยวยังนิยมเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศเช่นเดิม ถึงแม้จะมีสัญญาณเตือนเศรษฐกิจที่ซบเซา ความหวาดกลัวต่อเหตุการณ์การก่อการร้าย ยังคงส่งผลต่อการตัดสินใจในการเดินทางของนักท่องเที่ยว ในขณะที่บางประเทศได้รับผลกระทบจากปัญหา Overtourism ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการจัดการนักท่องเที่ยวที่ดีกว่าเดิม และการควบคุมผู้ประกอบการทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้เข้มงวดยิ่งขึ้น

แปล: บัณฑิต เอนกพูนสินสุข

เรียบเรียง: พัชรวรรณ วรพล

Share This Story !

2.4 min read,Views: 679,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    เมษายน 20, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    เมษายน 20, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    เมษายน 20, 2025