Health is the New Wealth โครงการศึกษาห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย

งานวิจัย กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว (ททท.)

 

  • หลัง COVID-19 ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ
  • ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงสุขภาพในลักษณะผสมผสาน สามารถเพิ่มมูลค่าของบริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยได้เป็นอย่างดี

 

“สุขภาพ” กลายเป็นสิ่งมีค่าที่ชาวโลกต้องการมากขึ้นในโลกยุคหลังโควิด-19 หลังจากต้องเผชิญกับวิกฤตจากโรคระบาดและระบบสาธารณสุขที่ไม่พร้อมในหลายประเทศ ผู้บริโภคเริ่มหันมาใส่ใจและจับจ่ายเพื่อสุขภาพที่ดีมากขึ้น สินค้าและบริการเพื่อสุขภาพไม่ใช่สิ่งที่เราจะแสวงหาเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วย หรือเพื่อการรักษาโรคเท่านั้น แต่รวมถึงการแพทย์เชิงป้องกันและการแพทย์ทางเลือก ที่สามารถแสวงหาได้ตลอดเวลาตามกำลังทรัพย์ที่มี ส่งผลให้อุตสาหกรรมการให้บริการทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมเชิงสุขภาพมีแนวโน้มที่จะเติบโตมากขึ้น รวมทั้งมีศักยภาพในการเติบโตผ่านการร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ที่เคยแยกออกจากกัน ทั้งนี้เพื่อรองรับบริบทที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และความต้องการที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภค

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019  (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยอย่างรุนแรง โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้ประเมินว่าในปี 2563 จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยลดลงมากกว่าร้อยละ 80 ส่งผลให้ประมาณการรายได้จากการท่องเที่ยวในปี 2563 เท่ากับ 3.3 แสนล้านบาท หรือลดลง 83% จากปี 2562

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก โดยไทยเคยได้รับอันดับที่ 1 จาก 184 ประเทศในการจัดอันดับ Global COVID-19 Index (GCI) เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีภาพลักษณ์ที่เข้มแข็งด้านบริการสุขภาพ ระบบสาธารณสุขของไทยได้รับการจัดอันดับให้มีความมั่นคงเป็นอันดับที่ 6 จาก 195 ประเทศตามดัชนี Global Health Security Index 2019 และเป็นอันดับที่ 1 ของเอเชีย บวกกับภาพลักษณ์ที่ดีด้าน Hospitality และการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนที่มีชื่อเสียง ทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมในการส่งเสริมให้เป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ชั้นนำของภูมิภาคหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19

 

ในการดำเนินการดังกล่าว จำเป็นต้องมีการศึกษาข้อมูลโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply-chain) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยอย่างละเอียดครบถ้วน บทบาทของผู้เล่นแต่ละภาคส่วน รวมทั้งศึกษาโอกาสทางความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ในการนี้กองวิจัยการตลาดการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงได้จัดทำโครงการศึกษาห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical Tourism) เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในระยะต่อไป

 

แนวโน้มการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยภายหลังสถานการณ์ COVID-19

 

 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าภายหลังจากสถานการณ์ COVID-19 แล้ว ภาพรวมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นได้มาก เนื่องจากมีปัจจัยสนับสนุนหลายประการ ได้แก่

 

  1. การควบคุมสถานการณ์และความปลอดภัยจากวิกฤต COVID-19 ที่ดีของประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่ง เช่น อินเดีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ซึ่งประสบปัญหาการระบาดที่รุนแรงกว่าไทย

 

  1. โรงพยาบาลเอกชนไทยมีความพร้อมสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของโลก โดยจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้ประกอบการโรงพยาบาลพบว่าเหตุปัจจัยสำคัญที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมารับบริการทางการแพทย์ในประเทศไทย เนื่องจากมีความเชื่อมั่นต่อการรักษาของแพทย์ (Confidence in Medical Treatment)
  2. โรงพยาบาลและโรงแรมมีการร่วมมือเป็นพันธมิตรกันมากขึ้นจากโครงการสถานกักกันโรคแห่งรัฐ (Alternative State Quarantine) ซึ่งมีโอกาสในการพัฒนาสร้างความร่วมมือในการให้บริการอื่น ๆ ที่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อไป

 

  1. การพัฒนาการรักษาผ่านระบบทางไกล (Telemedicine) ของโรงพยาบาลไทย โดยการรักษาผ่านระบบทางไกลมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น เป็น Megatrend ของโลก ทำให้แพทย์มีโอกาสที่จะพบผู้ป่วยต่างชาติมากขึ้นโดยสามารถประเมินอาการและค่าใช้จ่ายในการรักษาผ่านระบบทางไกลได้ส่งผลให้การเปิดรับผู้ป่วยชาวต่างชาติสะดวกขึ้น

 

  1. จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะห่วงใยและดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน (Preventive Medicine) รวมทั้งมองหาทางเลือกในการดูแลรักษาสุขภาพ เช่น การแพทย์แบบผสมผสาน (Integrative Medicine)

 

  1. การท่องเที่ยวแบบพำนักระยะยาว (Long Stay) มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางสังคมไปสู่สังคมสูงวัยในหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วในภูมิภาคอเมริกา ยุโรป และเอเชีย

 

โครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน (Supply-chain) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย

 

การศึกษาในครั้งนี้สามารถจัดแบ่งผู้เล่นภายในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยออกได้เป็น 9 กลุ่ม โดยแบ่งออกเป็น ผู้มีบทบาทหลักผู้มีบทบาทสนับสนุน ผู้มีบทบาทประกอบ ได้ตามนี้

 

ผู้มีบทบาทหลัก

 

กลุ่มที่ 1 ผู้ให้บริการทางการแพทย์ 

เป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทาน (Supply-chain) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ประกอบด้วย โรงพยาบาล สถานพยาบาล ศูนย์การแพทย์ ศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ

 

ผู้มีบทบาทสนับสนุน

 

กลุ่มที่ 2 ผู้เกี่ยวข้องในขั้นตอนการเตรียมการและวางแผนเดินทางท่องเที่ยว

มีหน้าที่ให้ข้อมูล คำปรึกษา รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการจองและวางแผนการเดินทางในประเทศต้นทาง ประกอบด้วย Website/Application สำนักงานตัวแทนโรงพยาบาลและโรงพยาบาลเครือข่าย ผู้แทนการค้า ตัวแทนท่องเที่ยว (Travel Agency) ตัวแทนหรือที่ปรึกษาด้านสุขภาพ (Health/Medical Agency) บริษัทประกันสุขภาพ คู่สัญญาในต่างประเทศ การบอกเล่าจาก Influencer ผู้ที่ได้รับความเคารพในสังคม เพื่อน หรือญาติ

 

กลุ่มที่ 3 ผู้ให้บริการเดินทางและขนย้ายผู้ป่วยระหว่างประเทศ 

ประกอบด้วยสายการบิน ธุรกิจบริการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และรถพยาบาลสำหรับประเทศที่มีเขตแดนติดกับประเทศไทย

 

กลุ่มที่ 4 ผู้ให้บริการการท่องเที่ยวภายในประเทศ

ประกอบด้วย โรงแรม ที่พัก สถานบริการเชิงสุขภาพ (Wellness & Spa) ร้านอาหาร ร้านค้า ผู้ให้บริการการเดินทางภายในประเทศ กิจกรรมท่องเที่ยว และแหล่งท่องเที่ยว

 

ผู้มีบทบาทประกอบ

 

กลุ่มที่ 5 หน่วยงานรับรองมาตรฐานและกำกับดูแลบุคลากรทางการแพทย์ ประกอบด้วย หน่วยงานรับรองมาตรฐานสถานพยาบาล ทั้งระดับประเทศ

ได้แก่ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน)และระดับสากลได้แก่ Joint Commission International (JCI) Global Health  Accreditation (GHA) หน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพ ได้แก่ แพทยสภา สภาการพยาบาล และหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนทางการแพทย์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยมี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้รับบริการเชิงสุขภาพตามพันธกิจด้านคุ้มครองผู้บริโภค

 

กลุ่มที่ 6 หน่วยงานสนับสนุนหรือส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ 

ประกอบด้วย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) รวมถึง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสุขภาพ (HEPA) ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดตั้ง

 

กลุ่มที่ 7 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการประชุมและสัมมนาทางการแพทย์

ประกอบด้วย สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เป็นอีกผู้เล่นที่สามารถสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ผ่านการจัดการประชุมเชิงวิชาการหรือนิทรรศการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ

 

กลุ่มที่ 8 ธุรกิจการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง 

เป็นผู้เล่นที่มีส่วนสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมการแพทย์โดยตรง ประกอบด้วยยาและเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และ Digital Healthcare

 

กลุ่มที่ 9 สถาบันการศึกษาผู้ผลิต

และให้การฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ประกอบด้วย สถาบันการศึกษาที่เปิดหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อผลิตบุคลากรทางการแพทย์และพยาบาล มีบทบาทสำคัญในการผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพเพื่อรักษามาตรฐานบริการทางการแพทย์ของไทย

 

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value-chain Analysis) ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย

 

การวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยในการศึกษานี้ เป็นการวิเคราะห์กิจกรรมที่มีการดำเนินงานโดยกลุ่มผู้เล่นในห่วงโซ่อุปทาน มีเป้าหมายเพื่อสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับนักท่องเที่ยว

เชิงการแพทย์ หรือชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศเพื่อวัตถุประสงค์เชิงสุขภาพ โดยการศึกษาพบว่านอกจากกิจกรรมเชิงการแพทย์และการรักษาพยาบาลซึ่งดำเนินการโดยผู้ให้บริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาล สถานพยาบาล แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบริการเชิงสุขภาพและการท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม เช่น ผู้ประกอบการโรงแรม ที่พัก ผู้ให้บริการสุขภาพแบบแพทย์แผนไทย โดยพบว่ามีการคาบเกี่ยวระหว่างผู้ประกอบการ 3 ประเภทที่อยู่ภายใต้ข้อกฎหมายที่กำกับดูแลแตกต่างกัน ได้แก่

 

  1. โรงพยาบาล/สถานพยาบาล อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานพยาบาล
  2. สถานบริการเชิงสุขภาพ (Wellness & Spa) อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
  3. โรงแรม/ที่พัก อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติโรงแรม แม้เป็นธุรกิจต่างประเภทกัน แต่ความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการทั้ง 3 ประเภท ได้แก่ โรงพยาบาล/สถานพยาบาล สถานบริการเชิงสุขภาพ และโรงแรม/ที่พัก ส่งผลให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการเชิงสุขภาพในลักษณะผสมผสานที่มีคุณค่า สอดคล้องกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีก 4 ประเภท (รวมเป็น 7 ประเภท) ซึ่งมีศักยภาพในการเติบโตสูง สามารถเพิ่มมูลค่าของบริการการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทยได้เป็นอย่างดี โดยธุรกิจหรือบริการที่เพิ่มเติม 4 ประเภทได้แก่

 

 

แนวทางการพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยว เชิงการแพทย์ของไทย

 

จากการวิเคราะห์ห่วงโซ่คุณค่า (Value-chain Analysis) ที่กล่าวมาข้างต้น การศึกษาได้เสนอแนวทางพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ใน 3 ประเด็นสำคัญ ได้แก่

 

  1. การพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อเพิ่มคุณค่าของการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ผ่านการผสมผสานการให้บริการทางการแพทย์ร่วมกับการบริการรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความสอดคล้องกัน พัฒนาเป็นสินค้าและบริการด้านการแพทย์ที่มีมูลค่าสูง โดยการร่วมมือระหว่างกลุ่มธุรกิจที่แตกต่าง 3 ประเภท โรงพยาบาล สถานบริการเชิงสุขภาพ โรงแรม ทำให้เกิดสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น 4 กลุ่ม โดยอาจเรียกว่าเป็น “Lifestyle Medical Tourism” ได้แก่ ศูนย์การแพทย์เพื่อสุขภาพ ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพในสถานพยาบาล Hospital to Hotel (Hospitel) และ Wellness Resort

 

 

ทั้งนี้ “ศูนย์การแพทย์เพื่อสุขภาพ” เป็นบริการที่รวมผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องทั้ง 3 ประเภทไว้ด้วยกัน โดยมีการให้บริการทุกองค์ประกอบ ทั้งการรักษาพยาบาล การดูแลสุขภาพแขนงอื่น ๆ และการพักค้าง จากจุดเด่นของการผสมผสานบริการที่เกี่ยวข้องได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ศูนย์การแพทย์เพื่อสุขภาพเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีมูลค่าสูง เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มศักยภาพและมีแนวโน้มเติบโตที่ดี แต่ในปัจจุบันยังมีผู้เล่นในตลาดไม่มากนัก

 

  1. การสร้างความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทาน ความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน นับว่ามีความสำคัญในการอำนวยความสะดวกและสร้างความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามารับบริการเชิงสุขภาพในประเทศไทย โดยการร่วมมืออย่างเข้มแข็งระหว่างผู้ประกอบการและหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่ในการตรวจสอบและส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สำหรับชาวต่างชาติ รวมทั้งการสร้างความรู้จักระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องภายในห่วงโซ่อุปทานเพื่อสร้างความเข้าใจบทบาทระหว่างกัน อาจจะลดปัญหาการหลอกลวงนักท่องเที่ยวหรือการดำเนินธุรกิจที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ตลอดจนสามารถสร้างประโยชน์เชิงการตลาดจากการสร้างแบรนด์และการประชาสัมพันธ์ร่วมกัน

    – การทำ Co-branding ระหว่างผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เช่น โรงพยาบาล โรงแรม หรือสายการบิน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางด้านภาพลักษณ์ และเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันในมิติต่าง ๆ

    – ควรมีการพัฒนาระบบเพื่อลดความยุ่งยากในการเตรียมเอกสารเพื่อขอเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเพื่อรับบริการทางการแพทย์ รวมทั้งการขยายระยะเวลา VISA สำหรับนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าว

    – หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลควรกำหนดมาตรการคัดกรองตัวแทนท่องเที่ยว (Travel Agency) การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้กับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อลดปัญหาตัวแทนท่องเที่ยวที่ไม่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง

    – การผลักดันให้มีหน่วยงานกลางทำหน้าที่สนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โดยควรจัดตั้งศูนย์กลางที่มีหน้าที่ประสานงานและให้คำปรึกษาแก่นักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ ตลอดจนมีหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศด้วย ทั้งนี้ ควรสามารถทำงานต่อยอดจากกฎระเบียบหรือข้อบังคับด้านการให้ความคุ้มครองที่มีอยู่แล้วในการกำกับของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

 

  1. การส่งเสริมผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ นอกจากการเดินทางมาเพื่อรับบริการทางการแพทย์แล้ว หากมีการนำเสนอสินค้าหรือบริการเชิงสุขภาพรูปแบบอื่น ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือสินค้า/ผลิตภัณฑ์ที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่น อาทิ สมุนไพรไทย อาหารเพื่อสุขภาพจากวัตถุดิบปลอดสารพิษ ก็จะเป็นการสร้างคุณค่าเพิ่มจากการนำเสนอผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบในประเทศ ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ระดับท้องถิ่น อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำเอกลักษณ์ของการให้บริการสุขภาพแบบไทย ๆ ซึ่งจะสร้างความประทับใจและความผูกพันต่อแบรนด์ประเทศไทยในกลุ่มลูกค้า

 

อ่านงานวิจัย โครงการศึกษาห่วงโซ่อุปทานการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของไทย 

ฉบับเต็มได้ที่ https://intelligencecenter.tat.or.th/articles/12311

 

 

Share This Story !

2.9 min read,Views: 3248,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    ตุลาคม 4, 2024

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    ตุลาคม 4, 2024