เทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว:วุ้นแปลภาษา

One of the most difficult part about travelingis dealing with foreign languages. Although increasing internationalism and technologies such as Google Translate helps facilitate communication, there remains much to be desired. However, many tech initiatives such as the ‘WT2 Real-time earphone translator’ or Google’s ‘Pixel buds’ are attempting simultaneous, real-time translation that is available for all. In the end, can these technologies foster deeper intercultural exchanges, and leave us less a tourist but a ‘citizen of the world’?

ท่ามกลางบรรดาความยากลำบากของการท่องเที่ยวทั้งหลาย ความยากลำบากที่มาเป็นอันดับต้นๆ ก็คือความท้าทายในการสื่อสารพูดคุยกับคนในพื้นที่, จริงอยู่ ในปัจจุบันมีคนพูดภาษาอังกฤษได้มากขึ้นแล้ว และก็จริงอยู่ที่สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งก็มีการสนับสนุนให้ติดป้ายภาษาอังกฤษ ให้เรา, เหล่านักท่องเที่ยว, พอจะอ่านออกและพอจะเข้าใจได้ว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร แต่หลายครั้ง เราก็ยังพบว่าตัวเองตกอยู่ในสถานการณ์ที่เหมือนย้อนกลับไปยี่สิบปีก่อนอยู่ดี

ตอนที่ผมเดินทางไปต่างประเทศครั้งแรก (ญี่ปุ่น) เมื่อสิบกว่าปีก่อน ในตอนนั้นผมกังวลกับเรื่องภาษามากผมรู้มาก่อนบ้างว่าคนญี่ปุ่น (ในตอนนั้น) แทบไม่พูดภาษาอังกฤษ ป้ายต่างๆ ก็ยังคงเป็นภาษาญี่ปุ่นอยู่เสียเยอะรวมไปถึงตัวเลขราคาอาหารในร้านแบบดั้งเดิมด้วยที่จะไม่ใช้ภาษาอังกฤษ แต่จะเป็นตัวเลขคันจิ ด้วยความกังวลว่าตัวเองจะเที่ยวไม่สนุก เพราะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง ผมจึงต้องซื้อคอร์สเรียนเป็นไฟล์เสียง .mp3 อัดใส่เครื่องเล่น แล้วฟังเพื่อเตรียมตัวก่อนไป – ผมถึงกับท่องประโยคง่ายๆ อย่าง สุมิมาเซ็น โกเมนนาไซ เอกิวะโด โกะเดสก๊ะ เผื่อไว้ – ผมเป็นคนขี้กังวลในเรื่องแบบนี้

แต่ตอนนี้เหรอครับ – การไปญี่ปุ่นนี่แทบจะไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเรื่องภาษาอีกแล้ว – แต่ก็ยังมีอยู่บ้าง, มีอยู่บ้างที่เราตกอยู่ในสถานการณ์ช่องว่างทางการสื่อสาร, มีอยู่บ้างที่พนักงานเสิร์ฟไม่เข้าใจว่าเราต้องการสั่งอะไรในร้านกันแน่ และมีอยู่บ้างที่พอเกิดเหตุขัดข้องขึ้น เราก็คุยกันไม่รู้เรื่อง

ทุกวันนี้หลายคนคงใช้แอพพลิเคชันอย่าง Google Translate กันอย่างเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว และหลายคนก็คงทราบอีกว่าแอพพลิเคชัน Google Translate เริ่มมีความสามารถในการ ‘แปลภาพ’ เช่น เราสามารถเอามือถือจ่อไปที่ป้ายภาษาอื่น (เช่น ภาษาสเปน) เพื่อให้มันแปลเป็นภาษาอังกฤษได้เลยในเวลาที่ต้องการใช้ –ความสามารถเช่นนี้นับว่าเพิ่มความสะดวกให้นักท่องเที่ยวมากแล้ว แต่มันก็ยังไม่ไปถึงจุดที่ ‘ทำให้เราเข้าใจกันและกันโดยไม่มีช่องว่างทางภาษา’

ในอนาคตเทคโนโลยีจะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างทางการสื่อสารตรงนี้ได้อย่างไรเป็นไปได้ไหมที่เราจะพูดคุยกันรู้เรื่องเหมือนใช้ชุดคำศัพท์เดียวกัน? เป็นไปได้ไหมที่ผมจะไปที่ใดในโลกได้โดยไม่ต้องศึกษาภาษาของที่แห่งนั้นก่อน?

หลายคนบอกว่า – เป็นไปได้สิ – เป็นไปได้ที่เราจะประดิษฐ์ ‘วุ้นแปลภาษา’ เหมือนของวิเศษในการ์ตูนเรื่องโดราเอมอน

โครงการใน Kickstarter โครงการหนึ่ง ชื่อ WT2 Real-Time EarphoneTranslator ประกอบด้วยหูฟังสองชุด สำหรับคู่สนทนา เมื่อคุณต้องการสื่อสารกับคนต่างชาติ คุณก็เพียงแจกหูฟังข้างหนึ่งให้กับเขา มันจะทำหน้าที่แปลภาษาในประโยคของคุณสู่หูของเขา และแปลภาษาของเขาเข้าสู่หูของคุณตามเวลาจริง

ผู้สร้างโครงการนี้บอกว่า “การใช้แอพฯ เพื่อแปลภาษามันก็ดี แต่มันไม่ได้ทำงานตามเวลาจริง” “การสื่อสารที่แท้จริงนั้นต้องเกิดขึ้นโดยเป็นธรรมชาติ และเป็นการสื่อสารต่อหน้า หากไม่มีการจับจ้องสายตาซึ่งกันและกัน และไม่มีภาษากายเสียแล้ว การสื่อสารก็จะเกิดขึ้นอย่างอิหลัก-อิเหลื่อ หรือเป็นไปไม่ได้เลย” ในตอนนี้โครงการหูฟัง WT2 สนับสนุนการแปลหกคู่ภาษา คือ ภาษาอังกฤษ จีน ฝรั่งเศส เยอรมัน ญี่ปุ่น และสแปนิช โดยใช้เวลาแปล (ในแต่ละประโยค) ช้ากว่าเวลาพูดจริง 1-3วินาที นั่นหมายความว่า หากคุณพูดจบประโยคตอนนี้ กว่าที่คู่สนทนาจะได้ยิน ก็อาจจะใช้เวลาอีก 1-3 วินาที คล้ายกับการโทรศัพท์ทางไกลสมัยก่อน – หากสนใจ อาจลองเยี่ยมชมเว็บไซต์ของผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.wt2.co

นอกจากโครงการ WT2 แล้ว ก็ยังมีโครงการอื่นๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อ‘แปลภาษาตามเวลาจริง’ เช่นเดียวกัน ที่น่าสนใจและอาจสร้างผลกระทบในวงกว้างคือการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ ‘Pixel Buds’ ของกูเกิลในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

Pixel Buds เป็นหูฟังบลูทูธที่สามารถใช้งานร่วมกับโทรศัพท์มือถือPixel 2 มันสามารถแปลภาษาตามเวลาจริงได้ใน 40 คู่ภาษา (รวมภาษาไทย!) Adam Champy ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของกูเกิลบอกว่า“[Pixel Buds] ทำให้คุณเหมือนกับมีล่ามส่วนตัวในทุกที่ที่คุณไป สมมติว่าคุณอยู่ในย่านลิตเติลอิตาลี และอยากสั่งพิซซ่าให้ดูโปร คุณก็เพียงกดปุ่มด้านขวาของหูฟังแล้วพูดว่า ‘Help me speak Italian’ เท่านั้นเอง”

ต้องยอมรับว่าการทะยานขึ้นของการเรียนรู้จักรกลและปัญญาประดิษฐ์ช่วยขยายขอบเขตความสามารถของเทคโนโลยี ให้เดินไปในจุดที่เราอาจคิดว่าเป็นเพียงความฝันมาก่อน – ระบบ ‘แปลภาษาตามเวลาจริง’เคยมีให้เห็นในนิยายวิทยาศาสตร์หรือการ์ตูนโดราเอมอนเท่านั้น แต่ในตอนนี้ มันก็ก้าวออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ถึงแม้จะยังมีข้อบกพร่อง (เช่น การแปลผิดพลาด หรือไม่เข้าใจทุกคำที่พูด หรือทำงานช้านิดหน่อย) อยู่บ้าง แต่เหล่านี้ก็เป็นข้อผิดพลาดที่จะถูกแก้ไขและปรับปรุงได้อย่างง่ายดายในอนาคต

เทคโนโลยีการแปลตามเวลาจริงจะดำเนินไปถึงจุดไหน? SpenserMestel คอลัมนิสต์จาก The Atlantic ตั้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า“เทคโนโลยีการแปลตามเวลาจริง จะทำให้คนสองคนตกหลุมรักกันได้ไหม?” ลองจินตนาการถึงบทสนทนาในบาร์ในญี่ปุ่น คุณเจอหนุ่ม(หรือสาว) ถูกใจคนหนึ่ง อยากคุยกับเขา เขาก็มีทีท่าสนใจคุณเช่นกันแต่เดิม การพูดคุยกันคงอิหลักอิเหลื่อหากทั้งคุณและเขาไม่รู้ภาษาของกันและกันทั้งคู่ มันอาจจบลงด้วยความขัดเขินด้วยการสนทนาเพียงเปลือกผิวแต่ด้วยเทคโนโลยีการแปลภาษาตามเวลาจริง คุณอาจสื่อสารกันถึงความคิด ความฝัน ความปรารถนาเบื้องลึก จนทำให้คุณตกหลุมรักกันได้ – เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาษาอะไรก็ไม่มีความหมาย

เป็นไปได้ไหมว่า ระบบแปลภาษาตามเวลาจริงจะทำให้การแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเข้มข้นขึ้นกว่าที่เป็นอยู่?

และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการทำให้เราหลุดพ้นจากสภาพนักท่องเที่ยวไปเป็นเพียง ‘ประชากรของโลกใบนี้’

เรื่องโดย : ทีปกร วุฒิพิทยามงคล

Share This Story !

2.5 min read,Views: 792,

Related projects

  • ¡Hola! Spanish Travelers

    กุมภาพันธ์ 11, 2025

  • ‘เรื่องเล่น’ เรื่องเล็กน้อยมหาศาล

    กุมภาพันธ์ 11, 2025

  • ‘DESERT SUPERCITY’ มหานคร แห่งทะเลทราย

    กุมภาพันธ์ 11, 2025